Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านกลุ่ม Save นาบอน ปักหลักหน้ากระทรวงพลังงาน วันที่ 2 ยืนยันไม่กลับจนกว่าจะได้ความชัดเจนเรื่อง SEA กรณีชุมชนนาบอน เมืองนครศรีธรรมราช เหมาะสมสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือไม่ 

 

19 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (19 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่หน้าทางเข้ากระทรวงพลังงาน อาคาร บี ชาวบ้านจากกลุ่ม Saveนาบอน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้าน ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เดินทางมาปักหลัก เพื่อติดตามข้อเรียกร้องการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ในพื้นที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ว่าเหมาะสมสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือไม่ เป็นวันที่ 2 

Save นาบอน ปักหลักหน้ากระทรวงพลังงาน เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า วานนี้ (18 ก.ค.) มีเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ลงมาเจรจากับชาวบ้านถึง 3 รอบ และวันนี้ (19 ก.ค.) อีก 1 รอบช่วงประมาณใกล้เที่ยงวัน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าทางกระทรวงพลังงานจะทำ SEA หรือไม่

สุธี หอมเดช ชาวบ้านนาบอน อายุ 47 ปี เผยว่า พวกเขาเดินทางโดยใช้รถไฟจากบ้านเกิดมาที่กระทรวงพลังงาน จ.กรุงเทพฯ โดยใช้เวลา 18 ชั่วโมง รวมระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร (กม.) เพื่อติดตามกระบวนการทำ SEA ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยทำหนังสือมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าภาพทำ SEA แต่ทางกระทรวงพลังงานกลับปฏิเสธ โดยระบุว่าเป็นโครงการขนาดเล็กของเอกชน จึงไม่สามารถทำ SEA ได้

เว็บไซต์ The Active รายงานว่า เมื่อปลายปี 2564 ชาวบ้านนาบอน เคยลงมาปักหลักประท้วงที่ กทม. เป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ชุมชน จำนวน 2 โรง และยื่นข้อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลทำ SEA เพื่อประเมินว่าพื้นที่นาบอน เหมาะกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ 

ต่อมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในเอกสารคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อเดินหน้ากระบวนการจัดทำ SEA โดยพิจารณาว่า สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล กลางชุมชน ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช มีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องด้วยชาวบ้านมีความกังวลว่าโรงไฟฟ้าจะตั้งอยู่ใจกลางชุมชน อาจส่งผลกระทบระยะยาวกับทั้งประชาชน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

สาระสำคัญของคำสั่งมีด้วยกัน 4 ข้อ ประกอบด้วย 

  1. ให้มีคณะกรรมการกลาง 1 ชุด มี 3 หน่วยงานหลักรับผิดชอบ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นเลขานุการ และ ตัวแทนชาวบ้านนาบอน เป็นเลขานุการร่วม
  2. วางกรอบการศึกษา ว่า นาบอน มีความพร้อมหรือไม่ ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้ากลางชุมชน
  3. การออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าต้องยุติไว้ก่อน จนกว่า ผล SEA จะได้ข้อสรุป หากเหมาะสมให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อ
  4. มอบหมายให้ คณะกรรมการจังหวัดนครศรีธรรมราช เยียวยา 13 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบขณะนี้  

อย่างไรก็ตาม หลังจากนายกฯ ลงนามคำสั่งดังกล่าว ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าเรื่องการทำ SEA อีกเลย

“พวกผมมาแล้วได้หนังสือที่ลงนามของนายกฯ ไปเรียบร้อย แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ผลักกันไปผลักกันมา พวกผมจะพึ่งใครได้ พวกผมมาครั้งนี้มีอย่างเดียวคือต้องได้รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพรับทำ SEA ให้พวกผม หน่วยงานไหน กระทรวงพลังงานเหรอ ต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจน เป็นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงจะกลับ” สุธี กล่าว

วิชัย รัตนานก อายุ 50 กว่าปี ชาวบ้านนาบอน ที่มาร่วมปักหลักหน้ากระทรวงพลังงาน ระบุว่า เขาอยากให้ทำ SEA ในพื้นที่นาบอนว่า พื้นที่ชุมชนเหมาะกับการใช้ประโยชน์อย่างไร และหวัง SEA จะเป็นบรรทัดฐานด้วยว่า ถ้าชุมชนนาบอน ไม่เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม การบังคับใช้จะไม่เกิดขึ้นแค่ในกรณีของโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และโครงการของรัฐในชุมชนอื่นๆ ด้วย

“แผนพัฒนาของเราไม่ได้มองถึงพื้นที่ แต่มองจากข้างบนลงไปทำโครงการ EIA เวิร์กช็อปให้เข้ากับโครงการ แต่ความเป็นจริงต้องดูรายละเอียดในพื้นที่ว่าเหมาะสมจะทำอะไร อุตสาหกรรมประเภทไหน การท่องเที่ยว” วิชัย ระบุ

สุธี มองว่า SEA ต้องจัดทำโดยคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง และมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ชาวบ้าน นักวิชาการ และอื่นๆ เพื่อร่วมประเมินว่าพื้นที่ อ.นาบอน เหมาะสมกับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหรือไม่

สุธี ระบุด้วยว่าเขาร่วมคัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งแต่ปี 2560 ตอนนั้นมีนายหน้ามากว้านซื้อที่ดินในชุมชนนาบอน โดยอ้างว่าจะมาสร้างตลาดรับซื้อสินค้าเกษตรจากชาวบ้าน ชาวบ้านก็แบ่งที่ขายให้ เพราะมองว่าชุมชนจะได้ผลประโยชน์ แต่ภายหลังในปี 2561 และ 2562 กลับกลายเป็นโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล นาบอน 1 และ 2 กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 50 เมกะวัตต์ 

สถานการณ์ที่นาบอน ตอนนี้มีเจ้าของโครงการเข้ามาปรับพื้นที่โดยใช้รถแบล็กโฮล และเครื่องจักร ขุดตอไม้ โดยยังไม่มีการถมที่ อย่างไรก็ตาม เจ้าของโครงการนำเครื่องจักรออกไปแล้ว หลังนายกฯ เซ็นคำสั่งให้ทำ SEA

“อำเภอชุมชนนาบอน ไม่ใช่ปฏิเสธความเจริญทางภาคอุตสาหกรรม ถ้าเป็นการต่อยอดพืชผลทางการเกษตรให้พี่น้อง อันนี้รับได้ แต่ต้องไม่ใหญ่จนขนาดว่าคนข้างนอกเอามาลงโดยที่พี่น้องชุมชนไม่รับรู้อะไรเลย ไม่ได้มีส่วนอะไรเลย … สิ่งแวดล้อมต้องไม่เสีย และพี่น้องในชุมชนต้องอยู่ได้ ไม่มีการเบียดเบียนพี่น้องชุมชน” สุธี กล่าวย้ำ พร้อมระบุว่า พวกเขาเดินทางมาไกล และตั้งความหวังว่ากระทรวงพลังงานจะแก้ปัญหาให้ได้ 

“พวกผมมาจากนครศรีธรรมราช ระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร ตั้งความหวังไว้กับกระทรวงพลังงานว่าจะแก้ปัญหาให้กับพวกผมได้ การหาเจ้าภาพทำ SEA ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ของหน่วยงานขนาดใหญ่แบบนี้ ซึ่งทุกท่านหันหลังไปดูตึกขนาดนี้ กระทรวง (พลังงาน) ใหญ่ขนาดนี้ การทำ SEA ให้กับพี่น้องอำเภอนาบอน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ต้องใช้งบประมาณบ้าง แต่ท่านต้องเสียสละให้กับแผ่นดิน และพี่น้องประชาชน… การช่วยเหลือต่อลมหายใจให้พี่น้องเป็นบุญใหญ่” สุธี ทิ้งท้าย 

ด้านวิชัย ทิ้งท้ายว่า เขามองว่าการทำ SEA ไม่น่าจะเป็นปัญหาถ้าภาครัฐมีความจริงใจ ซึ่งต้องถามกลับไปที่ภาครัฐว่ามีวาระแอบแฝงหรือไม่

ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่มาร่วมปักหลักหน้ากระทรวงพลังงาน กล่าวด้วยว่า ถ้าพวกเขาไม่เดือดร้อนจริง คงไม่มาถึงที่ กทม. อยู่ที่บ้านนาบอน มีความสุขมากกว่า 

บรรยากาศการปักหลักของชาวบ้านนาบอนเป็นไปอย่างร้อนระอุในช่วงกลางวัน โดยอุณหภูมิสูงถึง 34 องศาเซลเซียส โดยชาวบ้านอาศัยอยู่ใต้ร่มผ้าใบของกระทรวงพลังงาน ขณะที่ด้านหน้าที่ปักหลักของชาวบ้าน มีป้ายผ้าระบุข้อความว่า “รัฐบาลเบี้ยว SEA นาบอน” และมีการทำพิธีมูเตลูสาปแช่งพลเอกประยุทธ์อีกด้วย

ทั้งนี้ ชาวบ้านบอกกับผู้สื่อข่าวว่า หากทางกระทรวงพลังงานไม่รับทำ SEA ทางชาวบ้านจะเคลื่อนขบวนไปกดดันผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และทำเนียบรัฐบาล เพื่อจี้ให้ภาครัฐทำตามที่เคยสัญญา

พิธีมูเตลูของชาวบ้านนาบอน (ซ้าย) ภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ (ขวา) พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

บรรยากาศการปักหลักชุมนุมของ Save นาบอน เมื่อเวลา 19.00 น. (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ หยุดอาณาจักรทรงเมตตา)

ล่าสุด วันนี้ (19 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 20.10 น. ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ที่หน้ากระทรวงพลังงาน เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ มีการเก็บร่มที่ให้ชาวบ้านนาบอนยืมใช้ปักหลักชุมนุม และไฟเตือนจราจรกลางคืนเวลาที่นอนข้างถนน ถ้าเกิดฝนตก ชาวบ้านอาจเปียกฝนได้ 

ประสิทธิ์ชัย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่มาเก็บร่ม และสัญญาณไฟ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า หัวหน้าสั่งมาว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็นของส่วนกลาง และมีความจำเป็นต้องใช้ จึงให้มาเก็บไป  

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านนาบอนยืนยันว่าจะปักหลักชุมนุมต่อไปจนกว่าจะมีความ ชัดเจนเรื่องการทำ SEA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net