'ทะลุวัง' รายงานตัวคดี 112-116 ที่ สน.ปทุมวัน ปมทำโพลขบวนเสด็จที่พารากอน

ใบปอ 'ทะลุวัง' พร้อมพวก รวม 6 คน รายงานตัวตามหมายเรียก ม.112 และ 116 ที่ สน.ปทุมวัน เหตุทำโพลขบวนเสด็จทำให้คนเดือดร้อนหรือไม่ที่พารากอน-'เอิบ' กลุ่ม Saveนาบอน มารายงานตัวคดีหมิ่นประมาท หลังเรียกร้องให้มีการยุติการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน กทม. เมื่อปีที่แล้ว 'ทะลุฟ้า' เชื่อตั้งใจใช้กฎหมายปิดปาก ปชช.
 

ใบปอ (คนที่ 2 จากขวา) และพวก รายงานตัวคดี ม.112 และ 116 ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อ 10 มี.ค. 65

10 มี.ค. 65 สำนักข่าว The Reporters ถ่ายทอดสดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” กลุ่มสาธารณะ รายงานวันนี้ (10 มี.ค.) นักกิจกรรม ‘ทะลุวัง’ และพวกรวม 6 คน รายงานตัวตามหมายเรียกข้อหา ม.112 ม.116 ม.138 และ ม.368 ที่ สน.ปทุมวัน จ.กรุงเทพฯ  จากการทำกิจกรรม โพล ‘ขบวนเสด็จทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่’ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ.2565 ท่ามกลางประชาชนบางส่วนที่มารอให้กำลังใจ

สำหรับ ม.138 คือ ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ม. 368 คือ ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 เฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ 'มังกรปฏิวัติ Draconis Revolution' ระบุว่ามีประชาชนที่ถูกออกหมายเรียกมารายงานตัววันนี้ (10 มี.ค.) ทั้งหมด 7 คน และเป็นเยาวชน 2 คน ประกอบด้วย 1. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 2. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ 3. อรวรรณ ภู่พงษ์ 4. วรเวช เปรมกมล 5. เนติพร เสน่ห์สังคม 6. วรัณยา แซ่ง้อ 7. ฐากูร กิจมานะเมตตามิตร์ 8. สุไอย์ หมัดป้องตัว (เยาวชน) และ 9. ณัฐกรณ์ ชูเสนาะ (เยาวชน)

แต่มาเพียง 5 คน และเยาวชน 1 คน โดยทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรม รายงานตัวแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่อีก 2 คน ขอเลื่อนนัดรายงานตัวออกไปวันอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายด้านสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับสื่อก่อนการรายงานตัวว่า วันนี้นักกิจกรรมมารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา ม.116 และ ม.112 เนื่องจากกรณีทำโพลขบวนเสด็จ 

ศศินันท์ ตั้งข้อสังเกตว่าโดยพฤติการณ์ของผู้ต้องหาไม่ได้มีความร้ายแรง แต่มีความน่ากังวลเนื่องจากในคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่พอคุยกับผู้กำกับ สน.ปทุมวัน จะนำตัวผู้ต้องหาไปทำเรื่องฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เลย ถ้าฝากขัง แสดงว่ามีการควบคุมตัว แสดงว่ากระบวนการนี้ไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ 

นอกจากนี้ ศศินันท์ ยกตัวอย่างว่า หากดูในคดีของหมอกระต่าย ตำรวจมีการให้ประกันตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักประกัน เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่กรณีนี้ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่กลับจะถูกฝากขัง ซึ่งเธอย้ำว่าผู้ถูกกล่าวหาควรได้รับการประกันตัว

ขณะที่ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม ‘Mobdata’ ระบุว่า เวลา 9.43 น. ‘ใบปอ’ กลุ่มนักกิจกรรม ‘ทะลุวัง’ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ขอให้จับตาคดีวันนี้ด้วย เพราะทางทนายมีการแจ้งว่าจะมีการฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง จ.กรุงเทพฯ

"รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันคือการฟังเสียงของประชาชน เรามีให้เลือกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราไม่ได้จำกัดสิทธิ์ จำกัดเสียงใคร มันเป็นแค่การตั้งคำถามอย่างหนึ่งแล้วก็ไปฟังว่าเขาคิดเห็นอย่างไร ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดี" ใบปอ กล่าว 

ใบปอ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง ขณะให้สัมภาษณ์ (ภาพจาก Chana La)
 

เวลาต่อมา 10.40 น. ประชาชนที่มาให้กำลังใจ มีการนำโบว์สีแดงมาผูกที่บริเวณรั้วเหล็กกั้นหน้า สน.ปทุมวัน พร้อมตะโกนว่า “เราไม่ต้องการ 112”

เวลาประมาณ 13.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานบนแพลตฟอร์ม ทวิตเตอร์ แอ็กเคานต์ ‘@TLHR2014’ เผยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ถูกนำตัวขึ้นรถตู้จากด้านหลัง สน.ปทุมวัน เพื่อเดินทางไปไต่สวนฝากขัง หรือคัดค้านการฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ขณะที่ด้านหน้า สน. ยังมีประชาชนรวมตัวเปิดเพลงให้กำลังใจนักกิจกรรม ขณะที่ผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนถูกแยกนำตัวไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

 

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อ 15.05 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวนคัดค้านการขอฝากขังนักกิจกรรมทั้ง 5 คน จากกรณีโพลความเดือนร้อนจากขบวนเสด็จเสร็จแล้ว ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาแถลงผ่านทนายว่า ขั้นตอนการสอบสวนที่เหลือเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนเอง ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งกับหลักฐานที่จะสอบเพิ่มได้ และทุกคนมีที่อยู่แน่นอน ขณะนี้ผู้พิพากษาออกจากห้องเพื่อจัดทำคำสั่งอยู่

ต่อมา ศาลมีความเห็นว่า เนื่องจากพนักงานสอบสวนขอเวลาในการสอบพยาน 10 คน และรอผลตรวจประวัติอาชญากรรม ศาลจึงอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 1 ตั้งแต่ 10-21 มี.ค. 65 รวม 12 วัน แม้ในทางไต่สวนคัดค้านการฝากขัง พนักงานสอบสวนจะรับว่าผู้ถูกกล่าวหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มีพฤติการหลบหนี และไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม

เมื่อเวลา 17.09 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อเวลา 15.30 น. ศาลครอบครัวและเยาวชนกลาง อนุญาตประกันตัว สุไอย์ เยาวชนอายุ 14 ปี วางหลักทรัพย์ 20,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข และในเวลา 16.30 น. ศาลอาญา กทม.ใต้อนุญาตประกันตัว ปชช. 5 คน คนละ 200,000 บาท พร้อม 4 เงื่อนไข ประกอบด้วย 1. ห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ 2. ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง 3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล 4. ให้ติดอุปกรณ์กำไล (EM)

 

'Saveนาบอน' รายงานตัว

นอกจากกลุ่มนักกิจกรรม ทะลุวัง ที่เดินทางมารายงานตัวคดี ม.112 และ 116 ตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว ในช่วงเที่ยงเมื่อเวลา 12.30 น. นายเอิบ สารานิตย์ ชาวบ้านจาก อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เดินทางเข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน เนื่องจากถูก ถูก พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาท หลังนายเอิบ ขึ้นปราศรัยพาดพิงเรื่องการถือครองหุ้นบริษัท บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ACE) ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่นาบอน 

เวลา 12.30 น. กลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรม นายเอิบ สารานิตย์ และประชาชนกลุ่มSaveนาบอนอื่นๆ เดินขบวนจากหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือ BACC แยกปทุมวัน ไปรายงานตัวคดีหมิ่นประมาทที่ สน.ปทุมวัน 

ช่วงเดินขบวนมาที่ สน.ปทุมวัน เวลา 12.43 น. (ภาพจาก ZEE)

ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม Mobdata รายงานวันนี้ว่า เมื่อเวลา 12.43 น. ขบวนเดินเท้าของกลุ่มทะลุฟ้า และ Saveนาบอน เดินทางมาถึงหน้า สน.ปทุมวัน โดยมี พี นักกิจกรรมจากกลุ่ม ทะลุฟ้า เป็นผู้ปราศรัยระบุว่า การฟ้องหมิ่นประมาทนายเอิบ สารานิตย์ ในวันนี้ถือเป็น SLAPP หรือการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน

เวลา 12.48 น. ประชาชนและขบวนจากทะลุฟ้าบริเวณถนนฝั่งตรงข้าม สน.ปทุมวัน มีผู้เข้าร่วมจำนวนประมาณ 80 คน ด้านหน้า สน.มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการประมาณ 15 คน โดยยังคงมีการตั้งรั้วแผงเหล็กยาวปิดทางเดินฟุตบาท

เวลา 13.02 น. เอิบ สารนิตย์ เข้าไปรายงานตัวใน สน.ปทุมวัน โดยทะลุฟ้าประกาศผ่านเครื่องเสียงเชิญชวนให้นำโบว์สีแดงไปผูกที่แผงรั้วเพื่อเป็นการให้กำลังใจ รวมทั้งมีทีมงานทะลุฟ้านำป้ายผ้า ปรากฏข้อความว่า “save ลุงเอิบ” และ “saveนาบอน” ไปผูกไว้ที่รั้ว

เอิบ สารนิตย์ สมาชิกจาก Saveนาบอน (ภาพจาก ZEE)

เวลา 13.17 น. ภายหลังการติดป้ายยาวข้อความ “Save นาบอน” เพิ่มตรงทางเข้ารั้วเหล็ก มีเจ้าหน้าที่เสริมกำลังเพิ่มอีก 20 คน และมีการประกาศว่า ไม่ให้ติดป้ายกีดขวางทางเข้า-ออก โดยกลุ่มทะลุฟ้ายอมปลดป้ายและเปลี่ยนไปติดที่รั้วสังกะสีด้านข้างแทน

เวลา 13.27 น. ศักดิ์ สมาชิก Saveนาบอน ปราศรัยระหว่างที่เอิบเข้าไปรายงานตัวว่า วันนี้ไม่ได้ต้องการมาดูหมิ่นดูแคลนเจ้าหน้าที่ตำรวจ แค่เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจนายเอิบก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และกล่าวถึงเหตุการณ์อันเป็นที่มาของคดีว่า ในวันนั้นชาวบ้านนาบอนไปปักหลักเพื่อรอพบ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา แต่กลับไม่มีการลงมาพูดคุยกัน 

iLaw รายงานว่า 13.50 น. ตัวแทนจากกลุ่ม #นครเสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เขาคือคนรุ่นถัดไปที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศและน้ำในชุมชนจากโรงงานไฟ้า พร้อมตั้งคำถามว่า “อีกกี่ครั้งที่ทุนศักดินาหากินบนความทุกข์ของประชาชน และอีกกี่ครั้งที่ตำรวจใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนที่ออกมาปกป้องทรัพยากรของตนเอง”

14.00 น. ลุงเอิบออกมาจากการรายงานตัวใน สน.ปทุมวัน ก่อนจะปราศรัยเล่าว่า ข้อกล่าวหานี้สืบเนื่องจากตนได้ปราศรัยพาดพิงถึงการถือหุ้นบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ผู้ให้บริการธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชุมชน ของพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และการดำเนินกิจการของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนการฆ่าคนตัวเล็กตัวน้อย 

ลุงเอิบ กล่าวว่า วันนี้ตนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากทำตามรัฐธรรมนูญทุกประการ พร้อมยืนยันว่าในฐานะสภาองค์กรตำบลทุ่งสง ตนเองมีหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน และจะขอสู้ต่อไปเพื่อลูกหลาน วันนี้ขอขอบคุณลูกหลานของเราที่ออกมาให้กำลังใจ นี่คือการสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและสิทธิ และเวลา 14.20 น. ผู้จัดกิจกรรมประกาศยุติกิจกรรม

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม Saveนาบอน เคยมาปักหลักชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัด กทม. เมื่อ 16 ธ.ค. 65 โดยเรียกร้องให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ACE) ซึ่งเป็นเจ้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลภายใน ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้ลงมาเจรจากับชาวบ้าน และยุติการก่อสร้างโรงงานชีวมวล จำนวน 2 โรง กำลังผลิตโรงละ 25 เมกะวัตต์ แต่ไม่สัมฤทธิ์ผล จึงยกระดกับการชุมนุมไปปักหลักที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนินนอก และหน้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลาต่อมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ - มีการอัปเดตข่าวเป็นปัจจุบันเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 65 เวลา 21.15 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท