รัฐประหารพม่า จากเครื่องบินรบถึงประหารนักโทษทางการเมือง

องค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนรุมประณามการละเมิดสิทธิฯล่าสุดของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าต่อการประหารชีวิตนักกิจกรรมทางการเมือง 4 ราย พร้อมเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและอาเซียนให้จริงจังและทำงานเชิงรุกต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อประชาชนในประเทศพม่า

 

27 ก.ค.2565 องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International หรือ PI) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อไร้พรมแดน และสำนักข่าว The Reporters  จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “#เล่าหน่อยเกิดอะไรขึ้นกับรัฐประหารพม่า จากเครื่องบินรบ แล้วจะจบที่ประหารนักโทษทางการเมืองไหม?”

การรัฐประหารของประเทศพม่าเป็นวังวนรัฐประหาร เผยตัวเลขประชาชนที่ถูกสังหารจากความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าอย่างไม่เป็นทางการถึง 5,900 กว่าคน

ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International  กล่าวในเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า การประหารชีวิตของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหารของประเทศพม่าในครั้งนี้เกิดขึ้นภายระยะเวลากว่า 30 ปีที่ไม่เคยมีการประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองมาเป็นระยะเวลานาน โดยครอบครัวและนักโทษทางการเมืองที่ถูกประหารก็ไม่ทราบมาก่อนล่วงหน้าและไม่มีสิทธิ์ที่อุทธรณ์ หรือเข้าถึงทนายความและกระบวนการยุติธรรม และครอบครัวก็ไม่สามารถที่จะรับศพหรือดำเนินการใดๆทางศาสนา ทำให้ไม่สามารถเยียวยาจิตใจได้เลย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความโหดร้ายในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารพม่า 

ตัวแทนจาก Protection International กล่าวเพิ่มเติมว่า การรัฐประหารของประเทศพม่าเป็นวังวนรัฐประหารและไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น โดยในปี 1988 ประชาชนและนักศึกษาได้มีการประท้วงในลักษณะแบบนี้มาก่อนหน้านี้จนมาถึงการทำรัฐประหารรอบล่าสุดในวันที่ 1 ก.พ.ของปีแล้ว ซึ่งหากนับเป็นระยะเวลาก็เป็น 542 วันแล้วที่รัฐบาลทหารพม่านำโดยนายพลมินอ่องลาย ปฏิบัติการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่เพิ่งมาจากการเลือกตั้งและ ทำให้ประเทศพม่าที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยต้องกลับสู่ภายใต้เผด็จการทหารอีกครั้ง และเราก็จะได้เห็นและได้ยินภาพและเรื่องราวที่ประชาชนแทบจะทุกคนมาแสดงออกถึงความไม่พอใจในการเข้ายึดอำนาจของกองทัพและลุกลามบานปลายยืดเยื้อจนถึงตอนนี้ก็ปีกว่าแล้ว

ปรานมกล่าวว่า หากเรานับจำนวนตัวเลขของประชาชนที่ถูกสังหารโดยรัฐบาลทหารพม่ารวมถึงนักกิจกรรมทางการล่าสุดที่ถูกประหารชีวิตไปอีก 4 คน ตอนนี้มีประมาณ 5,900 กว่าคนตัวเลขนี้ไม่เป็นทางการ นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้คนเยอะมากที่ต้องกลายเป็นผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศ นอกจากนี้แรงงานพม่าที่อยู่ในประเทศไทยก็อยู่ด้วยความยากลำบากเพราะไม่สามารถที่จะกลับบ้านได้และส่งผลกระทบต่อการต่อสถานภาพทางบุคคลในการทำงานในประเทศไทย และหลายคนก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และรู้สึกไม่ปลอดภัย

ตัวแทนจาก Protection International  กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้แรงงานข้ามชาติก็ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการประหาร 4  นักกิจกรรรมทางการเมืองในประเทศพม่าด้วยโดยประณามการประหารชีวิตว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงและมีข้อเรียกร้องหลัก 4 ข้อให้กองทัพพม่าคืนอำนาจให้ประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย และต้องยุติบทบาทการควบคุมอำนาจโดยเร็ว และให้ประชาคมอาเซียนต้องยืดหยัดและมีมาตรการอย่างเด็ดขาดชัดเจนที่ต้องเคารพฉันทามติอาเซีย 5 ข้อ รวมถึงเร่งรัดให้มีการยุติความรุนแรงและฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่พม่าโดยเร็ว นอกจากนี้ยัง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างของกองทัพพม่ารวมถึงการใช้โทษประหารชีวิตกับคนที่เห็นต่างกับรัฐบาลกับกองทัพ และควรมีบทบาทร่วมกับประชาคมอาเซียนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า และในส่วนกลไกของสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศควรมีบทบาทมากขึ้นในการพยายามยุติความรุนแรงในพม่า และสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า   

“เราต้องมาช่วยกันเรียกร้องกับรัฐบาลไทยที่บอกว่าเป็นเพื่อนกับรัฐบาลทหารพม่าให้มายุติความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นนี้ต่อประชาชนในพม่าและที่ต้องเข้ามาในประเทศไทย และในปี 1988 ของการประท้วงในพม่าประเทศไทยเคยมีบทบาทที่มากกว่าตอนนี้” ปรานมระบุ 

'อังคณา' ระบุข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านประเทศเมียนมาของสหประชาชาติถามถึงฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน พร้อมเรียกร้ององค์กรระหว่างประเทศลุกขึ้นมาแสดงเจตจำนงในการที่จะต่อต้านอย่างจริงจัง

ขณะที่อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติกล่าวว่า  ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติด้านสถานการณ์ในประเทศพม่าก็ได้เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศพม่าอยู่เป็นประจำ โดยล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคุณทอม แอนดรูว์ เข้าเป็นผู้เชี่ยวชาญฯ คนใหม่ และได้พยายามขอเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศพม่าแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่  23 มิ.ย. ที่ผ่านมา คุณทอมได้เดินทางไปที่ประเทศมาเลเซียและได้พบกับชนกลุ่มน้อยและประชาชนจากพม่าที่อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย และได้มีแถลงการณ์หลังสิ้นสุดการเยือนประเทศมาเลเซียโดยบันทึกไว้ว่ามีคนที่ถูกจับกุมคุมขังทั้งหมดในประเทศพม่ามีทั้งผู้หญิงและเด็กด้วยน่าจะประมาณ 14,000  คน และมีจำนวนของผู้ที่จะต้องผลัดถิ่นในประเทศของตนเองประมาณ 700,000 คน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติกล่าวว่า ล่าสุดกรณีที่มีการประหารชีวิตนักกิจกรรมทางการเมือง  4  คนนั้น วันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันที่ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาและข้าหลวงใหญ่สิทธมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ที่รุนแรงที่สุดฉบับหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาของสหประชาชาติประณามกรณีการประหารชีวิตของทั้ง 4  คนและทั้งสองหน่วยงานก็เห็นตรงกันว่าไม่ต้องพูดถึงหลักนิติธรรมเลย การพิจารณาคดีไม่ได้เป็นไปโดยเปิดเผย ญาติไม่สามารถที่จะเข้าเยี่ยมหรือรับฟังการพิจารณาคดีได้ ใช้กลไกของศาลทหาร 

อังคณากล่าวเพิ่มเติมว่า คุณมิเชลซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติระบุว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือมีประชาชนในพม่ากว่า 2,564 คนที่เสียชีวิตเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และกว่า 30 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจากการควบคุมตัวของทหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากการปฏิบัติการที่โหดร้ายในขณะที่ถูกควบคุมตัว  นอกจากนี้ทหารปฏิวัติเข้ามามีการประหารชีวิตคนทั้งหมด117คน  มีเด็กอยู่  2 คนในจำนวนนี้ด้วย เมื่อวันที่  3 มิ.ย.ที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติได้แสดงความกังวลต่อการตัดสินใจที่เมียนมายังคงจะใช้วิธีการประหารชีวิตต่อไป เขาได้เรียกร้องต่อกองทัพของเมียนมาให้ยุติโทษประหารชีวิตและได้ย้ำข้อเรียกร้องให้เคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อผู้ที่ถูกจับกุมในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประท้วง การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านประเทศเมียนมาของสหประชาชาติเองก็ได้ถามถึงฉันทามติ  5 ข้อของอาเซียนว่าทำไมพม่าถึงไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่มีมาไว้ โดยเป็นฉันทามติที่มาจากการประชุมผู้นำอาเซียนเอง  โดยคุณทอม แอนดรูว์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านประเทศเมียนมาของสหประชาชาติใช้คำว่า "เมียนมาเหมือนกับล้อเล่นกับฉันทามติที่ได้เป็นข้อตกลงร่วมกันของอาเซียน และไม่เคารต่อฉันทามติ" ซึ่งการประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว (2564) โดยมีกษัติรย์บรูไนเป็นประธานในการประชุมและได้พูดถึงเรื่องความมั่นคงในอาเซียน ความมั่นคงทางการเมืองมีความสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียน ทั้งเรื่องความมั่นคงและการสร้างสันติภาพในอาเซียนที่ปรากฎอยู่ในกฏบัตรอาเซียนธรรมาภิบาล หลักประชาธิปไตยและการเคารพในกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และในแถลงการณ์ในข้อที่ 8 พูดถึงประเทศพม่าโดยตรง โดยได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศพม่า รวมถึงรายงานการเสียชีวิตด้วยความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้นำอาเซียนจึงเห็นด้วยกับฉันทามติ 5 ประเด็นที่แนบมาพร้อมกับแถลงการณ์

โดยฉันทามิติ 5 ข้อมีรายละเอียดดังนี้ 1. ต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที และทุกฝ่ายต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา 2. ต้องมีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องเริ่มมีการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขโดยสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา 3.ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องของไกล่เกลี่ยของกระบวนการเจรจาโดยได้รับความช่วยเหลือจากเลขาธิการอาเซียน 4.ประเทศอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประเทศเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเมียนมา 5. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนและคณะจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ ก็เรียกร้องไปถึงฉันทามติ 5 ข้อที่เมียนมาเป็นผู้ที่อยู่ร่วมในการที่จะยอมรับฉันทามตินี้ด้วย  

“การประหารชีวิตเมื่อวานจะทำให้มีแรงต้านมากยิ่งขึ้น สหประชาชาติเองก็ได้เรียกร้องไปยังประเทศต่างๆ ว่าเราจะอดทนกันอีกนานแค่ไหน เราจะปล่อยให้เมียนมากระทำการแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ จึงจะลุกขึ้นมาแสดงเจตจำนงในการที่จะต่อต้านอย่างจริงจัง” อังคณาระบุ 

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนเรียกร้องรัฐบาลไทยยอมรับความว่ารัฐบาลพม่าปฏิบัติการต่อประชาชนในประเทศด้วยความโหดร้ายแลละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ

พรสุข เกิดสว่าง ตัวแทนเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 1 ก.พ.64 ชายแดนไม่เคยสงบเลย 1 เดือนหลังจากนั้นคือในช่วงเดือน มี.ค.64 เป็นครั้งแรก พื้นที่ชายแดนบริเวณ อ.แม่สะเรียง และสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีการใช้เครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดบริเวณฝั่งแม่น้ำสาละวินซึ่งห่างจากเส้นเขตแดนไทยนิดเดียว ในคำอธิบายของกองทัพอากาศ ถ้าเครื่องบินรบของพม่าเข้ามาใกล้พื้นที่ชายแดนไทย 50 ไมล์ ก็จะมีคำเตือน หรือมีเครื่องบินของไทยขึ้นฟ้าไปเพื่อเตือน แต่เราจะเห็นว่านับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64  ระเบิดที่ถูกทิ้งลงใกล้แม่น้ำสาละวินและอยู่ในระยะเกินกว่า 50 ไมล์อยู่แล้ว เรียกว่าประชิดริมฝั่งเลย จนถึงตอนนี้ แต่ก็ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น และทางการพม่าก็ไม่เคยมีคำขอโทษใดๆ กับประเทศไทยเลย

พรสุข กล่าวต่อว่า  ตลอดเวลาที่ผ่านมามีคนที่หนีภัยมาเข้าประเทศไทยหลายรอบ จนไม่สามารถที่จะนับจำนวนได้ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาความมั่นของชาติอยู่ตลอด แต่ถ้าเราคุยกับชาวบ้านไทยในพื้นที่ปัญหาความมั่นคงของเขาคือปัญหาที่เครื่องบินมันรุกล้ำชายแดนเข้ามาคือเวลายิงกันแล้วก็มีสะเก็ดระเบิด กระสุนปืนใหญ่เข้ามาตกฝั่งไทย สิ่งนี้เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา แต่ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ปัญหาความมั่นของเขา ผู้ลี้ภัยเป็นญาติพี่น้องที่จะสามารถจัดการดูแลกันได้ ตราบใดที่ไม่ได้เข้ามาขนาดหลายพันในเวลาเดียวกัน ในระดับนี้ชุมชนสามารถดูแลได้ แต่กลับถูกมองเป็นปัญหาความมั่นคงตลอดเวลา

พรสุข กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามปัญหาความมั่นคงจริงๆ มาจากปฏิบัติการของกองทัพพม่า เป็นปัญหาความมั่นคงชายแดน และท่าทีของรัฐบาลไทยที่มีต่อคนที่หนีการประหัตประหารของพม่าเข้ามาในไทย เป็นหนึ่งในท่าทีที่เราสามารถที่จะแสดงออกต่อการกระทำของกองทัพหรือทหารพม่า แต่ที่ผ่านมาเราก็รีรอมากในการอนุญาตให้คนข้ามแดนมา เราพยายามผลักดันเขากลับไปอย่างรวดเร็ว ในกรณีผู้ลี้ที่เป็นนักการเมือง นักกิจกรรม สื่อมวลชน คนเหล่านี้หนีเข้ามาในไทยโดยที่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ อยู่ในสภาพคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ละวันต้องเอาตัวรอดเอง คอยหลับซ่อน ตำรวจและการรีดไถต่าง ๆ นานาสารพัด สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ต่างจากเหตุการณ์ในปี 1988 ผู้ลี้ภัยในขณะนี้ไม่ใช่คนหนุ่มสาว หรือนักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่มีทุกวัยมีครอบครัวมาด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะมีท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อคนกลุ่มนี้ได้แล้ว เมื่อเราเห็นได้ชัดเจนว่าในพม่าไม่มีความปลอดภัย นักกิจกรรม 2 คนนั้นไม่ว่าโลกจะพยายามคัดค้านการประหารชีวิตอย่างไร รัฐบาลพม่าก็ทำอยู่ดี และทำอย่างท้าทายด้วย เหมือนเป็นการส่งสารบางอย่างว่านี่คือสิ่งที่เราจะทำ 

ข้อเสนอแนะคือรัฐไทยจะต้องไม่ผลักดันกลับผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่เป็นชาวบ้านที่อยู่ริมชายแดนที่ลี้ภัยมา หรือผู้ลี้ภัยที่เป็นนักกิจกรรมซึ่งอาจจะนี้มาพร้อมกับชาวบ้านส่วนนี้ และถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีกระบวนการคัดกรองและให้คุ้มครองทางด้านกฎหมาย เพราะเขาต้องตกค้างอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ไม่ใช่จะไปประเทศที่ 3 ได้ทันที และไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม มาแล้วก็ผลักกลับ เหมือนกับเล่นเกมอะไรบางอย่างอยู่เป็นปีแล้ว สิ่งนี้บอกได้ชัดเจนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นภายในพม่ามันไม่ได้เป็นกิจการภายในที่ประเทศอื่นๆ ไม่สามารถหรือไม่สมควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะความเดือดร้อนมาประชิดชายแดนแล้ว  แม้แต่กระสุนก็มาตกอยู่ที่นี่ ดังนั้นท่าทีของรัฐไทยจึงไม่ต้องมาเกรงอกเกรงใจอะไรกันและต้องทำได้แล้ว   ส่วนการจัดการผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เพียงให้ทหารจัดการเพียงฝ่ายเดียว แต่ท้องถิ่นจำนวนมากสามารถช่วยดูแลได้โดยได้รับการสนับสนุนจากภายนอกเพราะเขาเป็นญาติพี่น้องกันอยู่แล้ว

“คำถามคือรัฐบาลไทยจะยอมรับความจริงหรือไม่ว่าคณะทหารที่ปกครองประเทศเพื่อนบ้านเขาเป็นอย่างไร หรือเราจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อยู่เหมือนเดิม หนึ่งในท่าทีที่เราจะสามารถแสดงได้ชัดเจนก็คือท่าทีที่เรามีต่อเขาหนีการประหัตประหารมาขอความคุ้มครองในบ้านเรา ท่าทีที่ไทยจะมีต่อผู้ลี้ภัยต้องชัดเจนได้แล้ว หรือท่าทีที่เราจะมีต่อการส่งมอบความช่วยเหลือให้กับผู้ผลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศพม่าขนาดนี้ ซึ่งเพิ่มมาเป็นจำนวน 7 แสนคนภายในปีเดียว บวกกับที่มีอยู่แล้ว 3 แสนคน จึงเป็นตัวเลขร่วม 1 ล้านคนที่อยู่ในพม่า ตรงนี้เป็นจำนวนคนที่จะล้มตายเพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถบันทึกไว้ได้ ทั้งการเจ็บป่วย ขาดอาหาร เป็นความสูญเสียที่จะไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้ รัฐบาลไทยจึงต้องยอมรับความจริงได้แล้วว่ารัฐบาลพม่าเป็นแบบนี้ และให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยได้แล้ว ไม่ว่าจะผลักไปอย่างไร เขาก็ยังมีตัวตนอยู่ ไม่สามารถเอาไปซ่อนไว้ตรงไหนได้”พรสุขกล่าว 

'ก้าวไกล' กังวลและเศร้าเสียใจต่อความรุนแรงล่าสุดที่เกิดขึ้นในพม่า พร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยแสดงออกให้ชัดเจนถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า และทวงถามแนวทางการแก้ปัญหาและรับผิดชอบกรณีเครื่องบินรบพม่าบินรุกล้ำน่านฟ้าประเทศไทย

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอมาโดยตลอด คือ 1. ทั้งรัฐบาลไทยและพม่าต้องตอบคำถามกับประชาชนว่าในช่วงที่มีการบินรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาเป็นการบินแบบใด เราเป็นห่วงในเรื่องที่รัฐบาลไทยชอบพูดอยู่เสมอว่าตัวเองมีแสนยานุภาพในการป้องกันความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน แต่เราเห็นทั้งการละเลยและปฏิบัติการที่ช้ามาก จึงเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งว่ารัฐบาลไทยควรจะออกมาตอบสนองกับเรื่องที่เกิดขึ้นให้เร็วกว่านี้ 2. มีภาพปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ว่าแม่ทัพภาคที่ 3 ไปประชุมพูดคุยกับทางกองทัพพม่า จึงมีข้อสงสัยจากประชาชนว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่เรากำลังดำเนินการสืบสวนและสอบสวนในชั้น กมธ.อยู่  และ3.จะรับผิดชอบอย่างไรต่อกรณีเครื่องบินๆ ล้ำเข้ามาในน่านฟ้าของไทยแล้วเกิดเหตุการณ์สำคัญ คือทำให้ทรัพย์สินของประชาชนฝั่งไทยเกิดความเสียหาย นักเรียนต้องหยุดเรียน และผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้คือว่า กมธ.การต่างประเทศหรือกมธ.ทหาร ต้องเข้ามามีส่วนสอบสวนหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ด้วย

เบญจา กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการประหารผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า พรรคก้าวไกลรู้สึกเป็นห่วงกังวลและเศร้าเสียใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ต่อการกระทำอันโหดร้ายของกองทัพพม่าต่อประชาชนหรือผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งนี้คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าอยู่ในด้านไหน ซึ่งเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยให้แสดงออกชัดเจนถึงเรียกร้องการคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วผ่านการเลือกตั้งด้วยกระบวนการที่บริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย  รวมทั้งคิดว่าต้องเรียกร้องไปยังสหประชาชาติให้เข้ามารวบรวมข้อเท็จจริงและสอบสวนเรื่องนี้ด้วย

“ รัฐบาลไทยต้องยืนให้ชัดว่าเรามีกระดูกสันหลังในการที่จะยืนตรงอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนในด้านไหน  เรื่องนี้เป็นคุณค่าสากลที่เราควรต้องนับถือร่วมกัน แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้เลย เราจึงยังคงต้องทำงานหนักต่อเพื่อให้รัฐบาลไทยออกมาแสดงออกถึงท่าทีที่ชัดเจนได้แล้ว” เบญจากล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท