Skip to main content
sharethis

คำวินิจฉัยหลายประเด็นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง การตัดสินคดีที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อบทบาทของศาลสูงสุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการควบคุมของผู้พิพากษาอนุรักษ์นิยม การให้อำนาจตีความรัฐธรรมนูญแก่ผู้พิพากษาเพียงไม่กี่หยิบมือเป็นลักษณะพิเศษของอเมริกา ไทย และประเทศอื่นๆ บางส่วนในโลก แต่ประเทศพัฒนาแล้วและเป็นประชาธิปไตยกว่าอเมริกาหลายแห่งไม่มีการให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการในลักษณะดังกล่าว

 

ผู้ประท้วงสนับสนุนสิทธิการทำแท้งที่ Foley Square แมนฮัตตัน นิวยอร์ก เมื่อ 3 พฤษภาคม 2565 (ที่มา: Wikipedia/Legoktm)

ในช่วงนี้ บทบาทของศาลสูงสุดในสหรัฐอเมริกาถูกตั้งคำถามอย่างมาก เพราะคำวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ที่ถูกตัดสินออกมา ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญอเมริกามีสัดส่วนผู้พิพากษาอยู่ที่ 6 - 3 กล่าวคือเป็นผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยม 3 คน และผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีก 6 คน คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความถดถอยทางด้านความปลอดภัยในชีวิต สิทธิมนุษยชน สิทธิผู้หญิง สิทธิการเลือกตั้ง และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาขึ้นหลายอย่าง

เช่น

  • จำกัดสิทธิการทำแท้ง เมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของอเมริกาได้เปลี่ยนคำวินิจฉัยในคดีระหว่าง Roe กับ Wade ส่งผลให้มลรัฐต่างๆ มีอำนาจในการออกกฎหมายห้ามทำแท้งได้ คำวินิจฉัยนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้หญิงในอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะยากจนและเป็นกลุ่มผิวสี การทำแท้งยังสามารถทำได้ในบางมลรัฐ ซึ่งเป็นรัฐของฝ่ายเสรีนิยม (เช่น แคลิฟอร์เนีย) แต่การเดินทางไปยังมลรัฐเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงเพื่อเดินทางไปทำแท้งในรัฐเหล่านี้ยังไม่ทราบว่าจะผ่านรัฐสภาได้หรือไม่
  • เสรีภาพการถือครองปืน หลังมีเหตุกราดยิงขึ้นหลายร้อยครั้งในสหรัฐอเมริกาในปีนี้ ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยให้กฎหมายห้ามพกอาวุธปืนในที่สาธารณะของมลรัฐนิวยอร์กขัดต่อรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยในครั้งนี้อาจเป็นบรรทัดฐานต่อการออกกฎหมายในเมืองหรือมลรัฐอื่นๆ ด้วย ก่อนหน้านี้นิวยอร์กออกกฎหมายห้ามพกอาวุธในที่สาธารณะยกเว้นมีเหตุจำเป็น โดยผู้ได้รับอนุญาตจะต้องมีใบรับรองและใช้เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยในกรณีพิเศษเท่านั้น
  • การรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่นานมานี้ ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยให้จำกัดอำนาจของกรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency) ในการกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางด้านสภาพอากาศ
  • ลดการแบ่งกั้นระหว่างรัฐกับศาสนา ที่ผ่านมาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาหลายอย่างส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างรัฐและศาสนาบางลงทุกที ตั้งแต่การวินิจฉัยให้ประโยชน์ต่อโค้ชโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐวอชิงตัน ซึ่งถูกไล่ออกหลังจากเขาไม่ยอมเลิกสวดภาวนาร่วมกับผู้เล่นในสนามหลังจบการแข่งขัน นอกจากนี้ ศาลยังสนับสนุนให้นำภาษีของประชาชนมาจ่ายให้กับนักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนศาสนา ภายใต้โครงการทุนการศึกษาในพื้นที่ชนบทยากไร้ที่ยังไม่มีโรงเรียนของรัฐอยู่ใกล้เคียง และกรณีอื่นๆ
  • ลดสิทธิของพลเมืองในการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยยกเลิกสิทธิของพลเมืองในการฟ้องร้องตำรวจที่ละเมิดสิทธิของพลเมืองในการเข้าถึงทนายความของพลเมือง โดยศาลจะเป็นผู้ตรวจสอบเองว่าตำรวจละเมิดสิทธิของพลเมืองด้วยการตรวจค้นพลเมืองอย่างไร้เหตุผลหรือไม่  หรือบางครั้งตำรวจจะเป็นผู้ตรวจสอบเอง

นอกจากจะวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ สิ่งที่น่ากลัวและเหมือนไทยขึ้นทุกที คือการที่ศาลกำลังจะใช้อำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับระบบการเมืองด้วย โดยล่าสุดศาลจะรับพิจารณาคดีระหว่าง Moore และ Harper ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ประเด็นในการวินิจฉัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วยการให้มลรัฐสามารถผ่านกฎหมายได้อย่างอิสระ (independent state legislature theory) หากศาลวินิจฉัยเข้าข้างฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีก มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาจะสามารถออกแบบกระบวนการเลือกตั้งคณะผู้แทนที่จะลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดี (หรือ electoral college) ของตัวเองได้ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากรัฐสภา ผู้ว่าการรัฐ หรือรัฐบาลกลาง และอาจส่งผลต่อการปรับพื้นที่เขตเลือกตั้ง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตนเอง (gerrymandering) หรือเลวร้ายกว่านั้นมณรัฐต่างๆ อาจสามารถแต่งตั้งคณะผู้แทนเลือกประธานาธิบดีของตนเองแทนการเลือกตั้งด้วย

การแทรกแซงเข้ามาในระบบเลือกตั้งของฝ่ายตุลาการทำให้ศาลสูงสุดของอเมริกามีลักษณะคล้ายกับศาลรัฐธรรมนูญของไทยขึ้นไปทุกที นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกลางร้ายทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา เพราะที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้วถึง 2 ครั้ง ถอดถอนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คน ยังไม่รวมการยุบพรรคมาแล้วไม่น้อยกว่า 110 พรรค โดยหนึ่งในนั้นคือพรรคไทยรักไทย พรรคในสังกัดของพรรครักไทย และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนหลายล้านคน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนในการสร้างวิกฤติการทางการเมือง ที่นำไปสู่การรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 ยังไม่รวมว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะใช้อำนาจในการวินิจฉัยกรอบระยะเวลา 8 ปีการดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ และระบบเลือกตั้งแบบหาร 500 ด้วย

แม้สหรัฐอเมริกาจะมีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมากว่า 235 ปี และไม่มีการกลั่นแกล้งละเมิดสิทธินักกิจกรรมทางการเมืองเหมือนกับไทย แต่การลุกฮือเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ บุกเข้ามาในอาคารรัฐสภาเพื่อพยายามล้มผลการเลือกตั้งและก่อการรัฐประหาร ทำให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งเปราะบาง แม้แต่ในประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำโลกเสรีก็ตาม ขณะที่สภาวะประชาธิปไตยถดถอยลงทั่วโลก ความถดถอยทางประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับประเทศอื่นๆ และอาจทำให้โลก "เลี้ยวขวา" หรือมีระบอบอำนาจนิยมเพิ่มขึ้นอีก เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อประเด็นต่างๆ รวมถึง ความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตยในอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในโลก การเข้าใจปัญหาของอำนาจศาลสูงสุดในอเมริกาจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ

ความเหมือนและความต่าง

ศาลสูงสดของสหรัฐอเมริกาแตกต่างกับศาลรัฐธรรมนูญของไทย ทั้งในแง่ของอำนาจหน้าที่และที่มา ในแง่ของอำนาจหน้าที่ ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกามีบทบาทเหมือนกับศาลฎีกาของไทย กล่าวคือมีหน้าที่ทบทวนมติของศาลอุทธรณ์ และวินิจฉัยให้คดีเป็นขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดของอเมริกามีอำนาจในการตีความและวินิจฉัยรัฐธรรมนูญเหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญของไทยด้วย ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงควบอำนาจหน้าที่ถึง 2 ศาล หากเทียบกับระบบตุลาการของไทย

ในแง่ของที่มา ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกามาจากการเสนอชื่อของประธานาธิบดี และการเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภา ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา หลังได้รับการแต่งตั้งแล้วจะสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะลาออก ผู้พิพากษาศาลสูงสุดจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นประธานาธิบดีในช่วงนั้น และเสียงข้างมากของวุฒิสภาจะเห็นชอบหรือไม่ ในแง่นี้ กระบวนการแต่งตั้งผู้พิพากษาจึงมีความยึดโยงกับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงหลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่คณะกรรมการคัดเลือกยังคงมาจากการแต่งตั้งไม่มากก็น้อย

แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาก็มีความเหมือนกันกับศาลรัฐธรรมนูญของไทยอยู่หลายอย่าง นอกจากจะเริ่มเข้ามาแทรกแซงการเมืองมากขึ้นทุกทีอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีความเหมือนในเรื่องอื่นๆ เช่น ปัจจุบันมีผู้พิพากษา 9 คนเท่ากัน เคยวินิจฉัยคว่ำโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือศาลสูงสุดอเมริกามีอำนาจในการตีความวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ (หรือ judicial review) เหมือนกับของศาลรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่มีเพียงในบางประเทศ

ความคล้ายคลึงระหว่าง New Deal กับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของไทย

รู้หรือไม่ว่า ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ เคยพยายามออกกฎหมายปฏิรูปกระบวนการตุลาการ โดยพยายามเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาของศาลสูงสุดให้มากขึ้น เพื่อให้ตนเองสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาเข้าไปเพิ่ม และทำให้ฝ่ายตนเองมีเสียงข้างมากในศาลสูงสุดได้ เหตุผลที่เขาทำเช่นนี้เพราะศาลสูงสุดที่ถูกควบคุมของผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีมติยับยั้งนโยบาย New Deal ของเขา ซึ่งรวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ ที่ทำขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการจ้างงาน หลังจากที่ประเทศเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930

ในประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติคว่ำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ด้วยการวินิจฉัยให้ พ.ร.บ. กู้เงิน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเช่นเดียวกัน โดยสุพจน์ ไข่มุกต์ ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งในขณะนั้นให้ความเห็นเมื่อ ม.ค. 2557 ว่า "ถนนลูกรังอะ ให้หมดจากประเทศไทยก่อน" ต่อมาใน พ.ศ. 61 พบว่าสุพจน์ ไข่มุกต์ ได้มีโอกาสขึ้นรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ประเทศไต้หวัน นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างมาก เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้คว่ำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในประเทศไทย

จำเป็นต้องมีหรือไม่

ลักษณะร่วมกันระหว่างศาลรัฐธรรมนูญของไทยและศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา คืออำนาจในการตีความวินิจฉัยรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิม

ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ระบุในเว็บไซต์เองว่าอำนาจในการตีความวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ ไม่มีตัวบทรองรับอยู่ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด แต่เป็นอำนาจที่ศาลสูงสุดสถาปนาขึ้นเอง จากการไต่สวนคดีระหว่าง Madison และ Marbury ใน ค.ศ. 1803 โดยเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้พิพากษาทั่วไปในสมัยของประธานาธิบดีจอห์น อาดัมส์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว แต่จอห์น มาร์แชล เลขาธิการแห่งรัฐที่อยู่ฝ่ายคู่แข่งของจอห์น อาดัมส์ในขณะนั้นไม่ยอมลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง จึงมีการฟ้องร้องศาลสูงสุดให้ออกคำสั่งบังคับให้จอห์น มาร์แชล อนุมัติคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าการกระทำของจอห์น มาร์แชล ผิดกฎหมายจริง อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเพื่อมอบอำนาจให้ตุลาการพิจารณาคดีในลักษณะนี้ เป็นการขยายอำนาจของตุลาการเกินกว่าขอบเขตที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลสูงสุดอ้างว่าตนมีอำนาจในการตีความขอบเขตของรัฐธรรมนูญได้ จึงมีคำสั่งให้กฎหมายดังกล่าวที่ผ่านโดยรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ และดังนั้น ศาลสูงสุดจึงไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งบังคับให้จอห์น มาร์แชล เซ็นคำสั่งแต่งตั้งผู้พิพากษาดังกล่าว คดีนี้นับเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการไต่สวนคดีอื่นๆ ในเวลาต่อมา  หลังจากคดีดังกล่าวเป็นต้นมา ศาลสูงสุดจึงมีอำนาจวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ

ไทยเองก็ไม่เคยมีศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน จนกระทั่งมีการก่อตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2489 โดยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของรัฐสภา และหมดวาระไปพร้อมกับกำหนดอายุของสภา หลังจากนั้นเป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีต่อเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญอื่นๆ รวมถึง พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มา กระบวนการแต่งตั้ง บทบาทและความเป็นกลางในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

น่าสนใจว่า ประเทศอื่นๆ ในโลกก็ไม่มีการมอบอำนาจวินิจฉัยรัฐธรรมนูญให้กับฝ่ายตุลาการเช่นนี้ เช่น นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ฟินแลน ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และสวิสเซอร์แลนด์ บางประเทศอาจมีศาลที่ได้รับมอบอำนาจให้วินิจฉัยรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการจำกัดอำนาจไว้อย่างมาก เช่น ฝรั่งเศสอาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยเฉพาะกิจขึ้นมาโดยรัฐสภาหรือนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากกฎหมายผ่านสภาแล้ว แต่ประธานาธิบดียังไม่ลงนาม โดยคณะกรรมการนี้ตั้งขึ้นมาในลักษณะเฉพาะกิจเท่านั้นและไม่ได้มีสถานะเป็นตุลาการ

แคนาดาเป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ กล่าวคือ ศาลสูงสุดมีอำนาจในการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ แต่แม้ศาลจะวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังโต้แย้งต่อศาลได้ โดยมีสิทธิบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต่อไปได้อีกเป็นระยะเวลา 5 ปี และสามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวใหม่ได้อย่างไม่จำกัด ประเทศต่างๆ เหล่านี้วางอยู่บนหลักการว่าด้วยอำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา (parliamentary supremecy) น่าสนใจว่าประเทศเหล่านี้มีตัวเลขดัชนีเสรีภาพและระดับการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

เนื่องจากถูกตั้งคำถามต่อความจำเป็น ที่ผ่านมาจึงมีกระแสต่อต้านศาลสูงสุดในสหรัฐอเมริกาเป็นระยะ จาโคแบง สื่อฝ่ายซ้ายของสหรัฐอเมริกาได้ลงบทความเรียกร้องให้จำกัดอำนาจของศาลสูงสุด ทั้งโดยการเรียกร้องให้ปลดผู้พิพากษาที่มีประวัติถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาเพื่อให้ฝ่ายเสรีนิยมกลับมาเป็นเสียงข้างมากอีกครั้ง และวิธีการอื่นๆ ด้านประเทศไทยก็มีกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรอิสระเช่นกัน น่าจับตาว่าหลังจากนี้ศาลสูงสุดของอเมริกาและศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะมีคำวินิจฉัยต่างๆ ออกมาอีกเป็นอย่างไร และหลังจากนี้รูปแบบขององค์กรเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไรก็ต่อไป

ที่มาข้อมูล : 

  • About the Supreme Court https://www.uscourts.gov/about-federal-courts/educational-resources/about-educational-outreach/activity-resources/about
  • In Defense of Court-Packing https://jacobin.com/2018/06/supreme-court-packing-fdr-justices-appointments 
  • Court Deals Blow to Thai Government by Halting $62 Billion Rail Project. https://www.nytimes.com/2014/03/13/business/international/court-deals-blow-to-thai-government-by-halting-62-billion-rail-project.html
  • The Immense and Disturbing Power of Judicial Review https://www.secondratedemocracy.com/the-problem-of-judicial-review/
  • อัยการสั่งไม่ฟ้อง 'เพนกวิน' คดีถูกเลขาฯ ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหา 'ดูหมิ่นศาล' https://prachatai.com/journal/2022/06/99233
  • รัฐประหารในประเทศไทย https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net