Skip to main content
sharethis

19 ก.ค. 65 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวน 11 คน วันแรก เวลา 16.40 น. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า นายศักดิ์สยามปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ โดย หจก.บุรีเจริญ ก่อตั้งในปี 2539 มีตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือบ้านของนายศักดิ์สยาม ในขณะนั้น เมื่อมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก.นี้ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น พอยุค คสช. นายศักดิ์สยามก็กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด ในปี 2558 โดยเพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง จนเมื่อปี 2561 ที่มีข่าวการเลือกตั้ง นายศักดิ์สยามโอนหุ้นทั้งหมดไปให้นอมินีในวันรุ่งขึ้นทันที และย้ายที่ตั้งสำนักงานบุรีเจริญออกจากบ้านของตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน

เขาอภิปรายว่า นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อคนถือหุ้นให้ลูกจ้างมาเป็นนอมินี หรือมีการซื้อขายหุ้นจริง เพราะไม่พบหลักฐานว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเลย หากมีการซื้อขายกันจริง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายต่ำกว่า สูงกว่าราคาทุนที่ 120 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม หรือผู้ถือหุ้นคนใหม่ ก็จำเป็นต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีหรือหากซื้อขายเท่าราคาทุน นายศักดิ์สยามก็ต้องระบุเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ก็ไม่ปรากฏเงินก้อนนี้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่น ป.ป.ช. ในปี 2562

“ในปี 2562 ท่านยื่นทรัพย์สินในการเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ 115 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดบวกเงินฝากอยู่ประมาณ 76 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ เกือบทั้งหมดระบุว่าได้มาก่อนปี 2561 แทบทั้งสิ้น คำถามคือ เงิน 120 ล้านบาทก้อนนี้หายไปไหน” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

นอกจากจะซุกหุ้นแล้ว นายศักดิ์สยามยังนำ หจก.บุรีเจริญ มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยหลายงานก็มีความผิดปกติ คือ ราคาที่ชนะประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยไม่ถึง 0.3% และมีคู่เทียบเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรค ภท. 5 ล้านบาทในปี 2562 แบบนี้เอาไปให้ใครดูเขาก็ว่าฮั้ว ชัดขนาดนี้ เอาธุรกิจตัวเองเข้ามารับงานกระทรวงที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีก็ว่าผิดแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่เป็นการฮั้วประมูลอย่างชัดเจน

ปกรณ์วุฒิยังตั้งข้อสังเกตว่า นอมินีคนนี้แจ้งข้อมูลรายได้น้อยมากจนน่าสงสัย ทั้งที่เขาสามารถซื้อต่อที่ดินในพื้นที่พิพาทเขากระโดง ต่อจากบิดาของนายศักดิ์สยาม และซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญ ทั้งหมดมาจากนายศักดิ์สยามได้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คนนี้เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในธุรกิจ 4 แห่ง แต่มีสถานะทิ้งร้างไป 3 แห่ง ส่วนอีกแห่งที่เหลือไม่มีรายได้เลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และข้อมูลจากประกันสังคมและกรมสรรพากรในช่วงปี 2558-2563 ยังพบว่า เขาแสดงรายได้เพียงปีละประมาณ 100,000 บาท หรือเดือนละ 9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) ธุรกิจครอบครัวของตระกูลชิดชอบ มาตั้งแต่ปี 2558 ไล่เลี่ยกับช่วงที่นายศักดิ์สยามเป็นกรรมการบริษัท ศิลาชัย

นอกจากนี้ งบดุลของบริษัทศิลาชัยในปี 2561-2562 ยังระบุว่า ลูกจ้างคนนี้กลายมาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ระยะยาว 221.5 ล้านบาทของบริษัท จนปี 2564 สรุปสุดท้าย บริษัทนี้เป็นหนี้ลูกจ้างอยู่ 250.2 ล้านบาท และในขณะที่บริษัทศิลาชัยจะขาดทุนและติดหนี้ก้อนโตกับคนนี้ ในปี 2562 บริษัทศิลาชัยยังบริจาคให้พรรคภูมิใจไทยไป 4.7 ล้าน ก็บริจาคให้พรรคไปอีก 2.77 ล้านบาท พร้อมกับให้ หจก.บุรีเจริญ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ บริจาคให้พรรคไป 4.8 ล้านบาท และในปี 2563-2564 ยังให้บริษัทศิลาชัย กู้เพิ่มอีก 100 กว่าล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นการกู้เงินไม่มีสัญญา ไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ

“ถ้าเราลองเปลี่ยนชื่อ พฤติการณ์นี้ทั้งหมดจาก นายเอ เป็นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และบริษัทศิลาชัยเป็นเหมือนกงสี ทุกอย่างก็ดูเรียบง่าย ตัวเลขกำไรขาดทุนก็อาจไม่สำคัญมากนัก ถึงบริษัทจะขาดทุนและเป็นหนี้อยู่เป็นร้อยล้าน แต่ก็เป็นหนี้คนในครอบครัว เอาเงินไปบริจาคให้พรรคการเมืองตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

ต่อมาวันที่ 20 ก.ค. 65 นายศักดิ์สยามชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านว่าไม่ได้ใช้ลูกจ้างเป็น "นอมินี" ถือหุ้น หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น 119.5 ล้านบาท แต่ขายให้เพื่อน ชี้ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะซื้อขายก่อนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ศักดิ์สยามได้นำเอกสารที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการโอนเงินจากนธนาคารธนชาต สาขาบุรีรัมย์ ที่รับโอนจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งนายศักดิ์สยามระบุว่าเป็นเพื่อน จากธนาคารธนชาต สาขาบางบัวทอง จำนวน 3 ครั้ง ตั้งแต่ เดือน ส.ค. 2560 ถึงเดือน ม.ค. 2561 รวม 119.5 ล้านบาท "มีการซื้อขายกันจริงครับจากคุณศุภวัฒน์ ซึ่งเป็นเพื่อนของผม" นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม ยังแสดงหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกล่าวถึงเหตุที่ทำไมไม่ยืนหลักฐานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรณีที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียวคือกรณีที่มีการเพิ่มเงินลงทุนหรือจดใหม่ ส่วนกรณีการโอนหุ้นไม่ต้องยื่น

"ต้องเรียนครับว่าตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2561 ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของ หจก. บุรีเจริญ อย่างไรทั้งสิ้น ส่วนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้น เป็นเรื่องส่วนตัวของผมที่จะนำไปใช้อะไร คิดว่าคงไม่ต้องนำมารายงานกับเพื่อนสมาชิก"

ส่วนกรณีที่ไม่มีรายงานในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายศักดิ์สยามชี้แจงว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นขณะที่เขายังไม่เข้าสู่ตำแหน่ง

"ผมเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2562 แล้ว ตามกฎหมายแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่มี ณ ขณะนั้น ภายใน 30 วัน ซึ่งได้แจ้งไปเรียบร้อย และมีเอกสารต่าง ๆ ประกาศชัดเจน เพราะฉะนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับที่้ต้องมาชี้แจง" รมว. คมนาคม กล่าว

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายว่า นายศักดิ์สยามใช้อำนาจจัดงบประมาณของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ไปที่ จ.บุรีรัมย์ มากกว่าปกติ นายศักดิ์สยาม ได้นำข้อมูลคำของบฯ ย้อนหลัง 10 ปี ของทางหลวงตั้งแต่ 2557-2564 โดยบอกว่า มีการของบฯ ไปมากทุกปี ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ได้รับการจัดสรรไม่เกิน 1 ใน 3 เพราะมีทั้งการจัดตั้งงบของโครงการขนาดใหญ่และงบปีเดียว การพิจารณาโครงการต่าง ๆ กรมทางหลวง จะเสนอโครงการที่มีความพร้อม และศึกษามาอย่างดีแล้วมาที่กระทรวง ผ่านรองปลัด ปลัดกระทรวง ก่อนรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อลงนามและเสนอไปยังสำนักงบประมาณตามขั้นตอน

ส่วนที่ฝ่ายค้านอภิปรายว่างบฯ โครงการก่อสร้างของคมนาคมไปกระจุกตัวที่ จ.บุรีรัมย์ ว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา จ.บุรีรัมย์ ไม่ได้งบประมาณมากไปกว่าจังหวัดอื่น ถ้าเทียบเคียงกับ อยุธยา นครราชสีมา นครปฐม จังหวัดเหล่านี้ได้งบฯ จัดสรรมากกว่าบุรีรัมย์

ส่วนข้อกล่าวหาการฮั้วประมูล รมว.ศักดิ์สยาม ตอบว่า การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างยึดมั่นระเบียบกฎหมาย ตลอด ส่วนประเด็นการฮั้วราคาหรือไม่ใน จ.บุรีรัมย์ นายศักดิ์สยาม ได้นำเสนอสไลด์ข้อมูลชื่อบริษัทที่ประมูลได้งานก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มีจำนวน 35 บริษัท "ถามเหมือนกันครับว่า ถ้ามีการฮั้วประมูลงานทำไมบริษัทที่ได้งาน จึงมีมากถึง 35 บริษัท ถ้าฮั้วน่าจะมีเพียง 1-2 บริษัทเท่านั้น"

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-62232465 และ https://www.bangkokbiznews.com/politics/1016252

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net