Skip to main content
sharethis

'ภูมิใจไทย' ระบุพรรคไม่เคยใช้ประเด็น 'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ' หาเสียง แจงความสำเร็จ 'กัญชาการแพทย์ - GRAB ถูกกฎหมาย - ปลดผู้ค้ำกู้ยืม กยศ.' - รองโฆษก รบ. ระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ปรับไม่ถึง 425 บาท เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2565 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าจากกรณีที่เพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งได้ให้ข้อมูลเรื่องพรรคการเมือง กับนโยบายหาเสียงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีบางส่วนระบุว่า พรรคภูมิใจไทย เคยหาเสียงด้วยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท ต่อวันนั้น 

ล่าสุดนายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงระบุว่าพรรคภูมิใจไทย สนับสนุนให้มีการตรวจสอบนโยบายพรรคการเมือง และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตามขอเรียนว่าเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ทางพรรคภูมิใจไทยไม่เคยใช้ประเด็นนี้หาเสียง ตรงนี้ต้องเรียนทำความเข้าใจแก่สังคม ที่ตนให้ความสำคัญกับการอธิบายในเรื่องดังกล่าว เพราะพรรคภูมิใจไทย คือ พรรคปฏิบัติการ เราหาเสียง แล้วเราต้องพยายาม ทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น สโลแกนของพรรคคือ พูดแล้วทำ ดังนั้น เรื่องที่เป็นนโยบาย เราต้องให้ความสำคัญ เมื่อมีคนมาบอกว่า เราขายฝัน เราก็ต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน

ที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทย ได้ยืนยันตัวตนของพรรค ผ่านผลงานที่สำคัญ ซึ่งเราหาเสียงไว้ เช่น นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ปัจจุบันนี้ นับว่า เกิดขึ้นแล้ว มีการปลดล็อกให้ใช้กัญชา เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย และส่งเสริมสุขภาพ เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์อย่างถูกกฎหมาย เป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีความก้าวหน้าเชิงนโยบายข้างต้น มากที่สุดในเอเชีย ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ก็อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา เพื่อควบคุมการใช้ ให้ตรงตามเป้าหมายมากที่สุด นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทย ยังประสบความสำเร็จกับการผลักดันให้ GRAB เป็นบริการที่ถูกกฎหมาย เป็นอาชีพใหม่ ที่ไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป ทั้งยังขจัดปัญหาพิพาทกับผู้ให้บริการเดิม ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย ยังเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ผู้ที่มีความประสงค์จะกู้เงิน กยศ. ไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของความสำเร็จที่พรรคทำให้เกิดขึ้นจริง ยังไม่นับเรื่อง การจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมแก่ อสม.อีกเดือนละ 500 บาท การให้บริการฟอกไตฟรี นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ การจัดหาเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง กระจายไปทุกภูมิภาค การเซ็นสัญญาสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา เป็นต้น

รองโฆษก รบ. ระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ปรับไม่ถึง 425 บาท เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

เว็บไซต์ TNN รายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 256 ว่า น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึง กรณี รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กรณีคณะกรรมการค่าจ้างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2565 ว่า ต้องขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความตั้งใจของรัฐบาลว่า การปรับค่าจ้างให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่ม เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเงินเฟ้อสูงขึ้น ยิ่งสถานการณ์หวั่นไหวทางเศรษฐกิจอาจทำให้มีการปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นได้ 

ที่ผ่านมารัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้กำชับให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ  ดูแลแรงงาน โดยให้หาแนวทางดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เร็วที่สุดเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย 

น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทย ที่เป็นฝ่ายค้านต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เกณฑ์สำหรับการปรับอัตราค่าแรงได้นำตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ของแต่ละจังหวัดชัดเจน และนำมาเทียบกับภาวะเงินเฟ้อ นำมาคำนวณจนได้ข้อสรุปแบ่งเป็น 9 อัตรา และมีระดับค่าแรงตั้งแต่ 328 - 354 บาท  ตามที่ทราบกันซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ร่วมหารือมาโดยตลอดจนได้ข้อสรุป เพื่อเสนอ ครม. ที่คาดว่าจะประกาศใช้ ภายใน 1 ต.ค. 2565 

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่ารัฐบาล ไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท เท่ากันทั่วประเทศได้ตามนโยบายหาเสียงไว้จนปลายอายุรัฐบาลว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากมาตรการทางด้านสาธารณสุข โดยตัวเลขอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นได้มีการหารือทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการมาแล้วเบื้องต้นว่าอยู่ในจุดที่ยอมรับได้

อีกทั้งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือและเยียวยาทั้งนายจ้างและลูกจ้างผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และไม่เกิดการว่างงานขึ้น รวมเงินกู้ผ่านธนาคารของรัฐเพื่อให้พลิกฟื้นธุรกิจ โดยข้อมูลในปี 2564 รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการผ่านโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,532.08 ล้านบาท โครงการ ม33 เรารักกัน คนละ 6,000 บาท  มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 48,185.85 ล้านบาท

ลดอัตราเงินสมทบให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39และลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดเหลือร้อยละ 60 ของอัตราเงินสมทบปกติที่จัดเก็บ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนพยุงในระบบเศรษฐกิจกว่า 1,874 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจยังมีมาตรการลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ให้กลุ่มเปราะบาง และสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งโครงการคนละครึ่ง เข้าสู่ระยะที่ 5 แล้วด้วย

“ที่สำคัญประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศ รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังและมีความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น การลงทุนในอนาคต จึงไม่ได้ยึดเอาผลทางการเมือง เพื่อดึงคะแนนเสียงเป็นหลักในเวลานี้  แต่ให้ผลประโยชน์ของประเทศและพี่น้องประชาชนเป็นตัวนำ โดยไม่ทอดทิ้งผู้ใช้แรงงานที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ ไม่เพียงเพิ่มรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น”น.ส.ทิพานัน กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net