Skip to main content
sharethis

บ่ายวันนี้ทนายอานนท์ ยื่นหนังสือคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมให้ตรวจสอบว่า อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีศาลอาญาที่สั่งให้ตรวจพยานหลักฐานใหม่อีกครั้งในคดีที่ทนายอานนท์โพสต์จดหมาย #ราษฏรสาส์น ถึง ร. 10 ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้พิพากษาที่มีอำนาจออกคำสั่งในคดีว่าเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายหรือไม่และให้ย้ายไปช่วยงานในศาลอื่นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบ

31 ส.ค.2565 13.30 น.ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก อานนท์ นำภา พร้อมเพื่อนทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอธิบดีศาลอาญาเพื่อให้สอบสวนการกระทำของ อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีศาลอาญาที่เข้ามาสั่งให้มีการตรวจพยานหลักฐานในคดีที่อานนท์ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการโพสต์จดหมาย #ราษฏรสาส์น ถึง ร. 10ใหม่อีกครั้ง โดยอรรถการไม่ได้เป็นผู้พิพากษาที่มีอำนาจออกคำสั่งในคดีว่าเป็นการแทรกแซงก้าวกายในคดีหรือไม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าทาง ก.ต.ได้ส่งตัวแทนลงมารับหนังสือไป

ก่อนหน้านี้ศูนย์ทนายฯ รายงานถึงการยื่นหนังสือครั้งนี้ของอานนท์สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมามีการตรวจพยานหลักฐานในคดีที่อานนท์ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการที่เขาโพสต์ภาพจดหมายที่มีข้อความถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งในการตรวจพยานหลักฐานได้เสร็จสิ้นลงและศาลได้นัดวันสืบพยานไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม 3 วันต่อมาในวันที่ 21 ก.ค. อรรถการ ฟูเจริญ ในฐานะรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกคำสั่งให้ทำการตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดีนี้ โดยระบุเหตุผลว่ายังมีการกำหนดให้สืบพยานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดประเด็นพิพาทในคดีและพยานความเห็น และมีหมายแจ้งถึงอานนท์ว่าศาลอาญามีคำสั่งให้ตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมในวันที่ 5 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยมีอรรถการลงชื่อในหมายแจ้งนี้

อานนท์ในฐานะจำเลยเห็นว่าตนได้รับความเสียหาย เพราะอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี โดยคดีนี้ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้พิจารณาแนวทางการต่อสู้คดีและมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลนั้น ย่อมต้องถือว่าผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้ใช้ดุลพินิจมีคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นอำนาจตามกฎหมายที่เป็นอิสระของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี ดังนั้นอรรถการซึ่งไม่ได้เป็นผู้พิพากษาในคดีจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งในคดีนี้ การออกคำสั่งให้ตรวจพยานหลักฐานเพิ่มจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม และรัฐธรรมนูญ

ในรายงานชี้ว่าการกระทำของอรรถการในฐานะที่เป็นระดับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารอาจเข้าข่ายเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการที่เป็นองค์คณะในคดีหรือทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม เพราะอาจทำให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีเกิดความหวั่นไหวในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกระทบต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นและกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง และอรรถการยังมีตำแหน่งสูงจึงขอให้ประธานศาลมีคำสั่งโอนย้ายอรรถการไปช่วยทำงานในศาลอื่นและตำแหน่งอื่นเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างโปร่งใสเป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net