Skip to main content
sharethis

คลิปการพูดปราศรัยต่อต้านสถาบันกษัตริย์ของ 'ลิซ ทรัสส์' นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ถูกขุดขึ้นมานำเสนออีกครั้ง ขณะเธอยังอายุน้อยและสังกัดพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบัน เธอเปลี่ยนจุดยืนมาเป็นผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนราชวงศ์อังกฤษ และได้เข้าพบกับพระราชินีอลิซาเบธเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

คลิปวิดิโอดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งโดยสำนักข่าวต่างประเทศหลายแหล่ง หลัง 'แมรี่ อลิซาเบธ ทรัสส์' หรือ 'ลิซ ทรัสส์' ได้เป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรี เฉือนชนะ 'ริชี สุนัค' ด้วยคะแนนร้อยละ 57 ในการแข่งขันเลือกตั้งเป็นการภายในของพรรคอนุรักษ์นิยม ผลคะแนนดังกล่าวนับว่าสูสีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

ใน พ.ศ. 2537 เธอเคยขึ้นพูดปราศรัยในงานประชุมใหญ่ของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ในฐานะหัวหน้าขบวนการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และถูกบันทึกวิดิโอเก็บไว้ การปราศรัยของเธอมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และไม่เห็นด้วยกับระบบสืบทอดอำนาจผ่านวงศ์ตระกูลอย่างชัดเจน

"ฉันไม่ได้ต่อต้านสมาชิกราชวงศ์คนใดเป็นพิเศษ แต่ฉันต่อต้านความคิดว่าคนบางกลุ่มสามารถเป็นผู้ปกครองได้เพียงเพราะชาติกำเนิด ความคิดว่าคนบางกลุ่มควรเป็นประมุขของรัฐได้ เพียงเพราะครอบครัวที่เขาเกิดมา" ลิซ ทรัสส์ กล่าวบนเวที ขณะที่เธออายุได้ 19 ปีและยังเป็นเยาวชนของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย

"ฉันคิดว่ามันน่าอัปยศ" เธอกล่าว พร้อมยืนยันว่าเธอไม่ใช่แค่คนเดียวที่มีความเห็นเช่นนี้

"ฉันเพิ่งถูกรายการข่าวภาคค่ำของบีบีซีสัมภาษณ์ เมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมา เราถูกถ่ายวิดิโอขณะสอบถามประชาชนทั่วไปว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เราพบกับกลุ่มคน 3 คน ฉันเดาว่าน่าจะอายุประมาณ 50 หรือ 60 ปี ดูเป็นชนชั้นกลางทั่วไป ค่อนข้างฉลาด และอันที่จริงดูค่อนข้างเป็นฝ่ายปฏิกิริยา ถ้าพูดตรงๆ"

"เราถามความเห็นของพวกเขาต่อสถาบันกษัตริย์ พวกคุณไหมว่าพวกเขาพูดว่าอะไร พวกเขาบอกว่า 'ยกเลิกไปเลย พอกันที' เราไม่สามารถหาคนสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ภายนอกรอยัลพาวิลเลี่ยนได้แม้แต่คนเดียว นับว่าตลกร้ายทีเดียว"

ลิซ ทรัสส์ กล่าวอีกว่า "เราเชื่อในความเป็นธรรมและสามัญสำนึก เราเชื่อในการจัดทำประชามติในประเด็นทางรัฐธรรมนูญที่สำคัญ เราไม่เชื่อว่าคนบางกลุ่มควรปกครองเพียงเพราะชาติกำเนิด และไม่เชื่อว่าประชาชนควรอยู่นิ่งเฉยหรือปิดปากตัวเองเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา"

จุดยืนที่เปลี่ยนไป

ขณะที่เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ นิก โรบินสัน ผู้สื่อข่าวของบีบีซีเคยสอบถามเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการสัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้ว รวมถึง จุดยืนอื่นๆ ในอดีตของเธอ เช่น การต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ และการขับไล่มากาเร็ต แทชเชอร์ ทั้งที่ปัจจุบันเธอถูกตั้งฉายาโดยสื่อต่างๆ ว่าเป็น 'มากาเร็ต แทชเชอร์ คนใหม่'

เธอตอบว่าในขณะนั้น เธอยังคงอายุน้อย พ่อแม่ของเธอเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า โรงเรียนของเธอส่วนใหญ่เป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า ในช่วงดังกล่าวโลกยังอยู่ในสงครามเย็น ชีวิตต่างออกไปจากปัจจุบันอย่างมาก และเธอเองก็ชอบสำรวจแนวคิดและการถกเถียงทางความคิดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเธอจึงเริ่มเข้าใจ "ความสำคัญที่แท้จริงของเศรษฐกิจเสรี และความสามารถของผู้คนในการคิดนวัตกรรมของตัวเอง และธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต่างๆ" เธอเริ่มเข้าใจมากขึ้นด้วยว่า "ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเราคือระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่คอยสนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสรี"

ในการดีเบตทางโทรทัศน์จัดโดยสำนักข่าวสกายนิวส์ เธอบอกว่าพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 "สุภาพเกินไปมาก" จนไม่กล้าต่อว่าจุดยืนในอดีตของเธอ เมื่อถูกถามว่าเธอจะขอโทษต่อพระราชินีหรือไม่ หากพระราชินีพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เธอบอกว่า "เธอผิดที่พูดแบบนั้นออกไปในตอนนั้น"

ลิซ ทรัสส์ เคยเข้าเฝ้าพระราชินีหลายครั้งแล้ว เช่น การเข้าเฝ้าที่พระราชวังวินเซอร์เมื่อ ต.ค. ปีที่แล้ว และการเข้าเฝ้าครั้งล่าสุดเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ก่อนการประกาศคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังบอริส จอห์นสัน ถูกบีบให้ลาออกหลังพบว่าเขาจัดงานสังสรรค์ โดยฝ่าฝืนมาตรการควบคุมไวรัสโควิด 19

ก่อนการเป็นนายกรัฐมนตรี เธอเคยบอกกับนักข่าวอีกครั้งหนึ่งด้วยว่า "ตอนนั้นฉันยังเป็นวัยรุ่นอยู่ และฉันเชื่อจริงๆ ว่าคนที่ไม่เคยเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดๆ เลย และความคิดเหมือนเดิมตั้งแต่อายุ 16 ถึงอายุ 46 ก็คืออย่างแรกเลย พวกเขาไม่ใช่คนปกติเหมือนกับที่ฉันเป็น"

หลังพระราชวังศ์บักกิงแฮมมีประกาศออกมาว่า พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ได้รับคำแนะนำให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากเป็นห่วงเกี่ยวกับสุขภาพของพระองค์ เป็นแถลงการณ์ที่มีการเผยแพร่ออกมาไม่บ่อยนัก แม้จะยืนยันว่าพระองค์ยังคงสบายดีก็ตาม ลิซ ทรัสส์ ระบุว่าเป็นห่วงสุขภาพของพระองค์เช่นเดียวกับประชาชนทั่วอังกฤษ

เส้นทางสายการเมือง

ลิซ ทรัสส์ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2518 ปัจจุบันอายุ 47 ปี พ่อของเธอเป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ แม่ของเธอเป็นพยาบาล พ่อแม่ของเธอเป็นเชื่อในอุดมคติแบบเสรีนิยม ทั้งคู่เคยเข้าร่วมการรณรงค์เพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ในสหราชอาณาจักร และเคยพาเธอไปเข้าร่วมการประท้วงขับไล่มากาเร็ต แทชเชอร์ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เธอจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เธอดูเหมือนจะเปลี่ยนจุดยืนไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในปี 2539 เธอสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐกิจ เธอไปทำงานให้กับบริษัทเชลล์และได้เป็นนักบัญชีที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้กับบริษัทในเวลาต่อมา

เธอพบกับฮิว โอ'เลียรี่ ประกอบอาชีพนักบัญชีเช่นกัน ในงานประชุมของพรรคอนุรักษ์นิยมในปี 2540 ทั้งคู่ชวนกันไปเล่นสเก็ตน้ำแข็ง แล้วเขาเท้าแพลงในการเดตครั้งแรกของทั้งคู่ ต่อมาเธอแต่งงานกับเขาในปี 2543 ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 คน ชื่อลิเบอร์ตี้และฟรานซ์

เธอเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้กับพรรคอนุรักษ์นิยมหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่เธอจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นของเอลแธมเซาท์ในเขตกรินิชใน พ.ศ. 2549

ระหว่างรอเข้าไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่นและรัฐสภา เธอทำงานให้กับบริษัทโทรคมนาคมเคเบิลแอนด์ไวร์เลส และรีฟอร์ม คณะทำงานระดับสมองเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ที่มีนักการเมืองจากพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นกรรมการบริหาร แต่ระดับความโปร่งใสของที่มาเงินบริจาคไม่สู้ดีนัก

หลังจากได้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ไม่นานนัก ความทะเยอทะยานในการเข้าสู่การเมืองระดับชาติของเธอก็พบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ เมื่อสำนักข่าวเดลีเมล์เปิดเผยว่าเธอมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับมาร์ก ฟิลด์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีเงาของพรรคอนุรักษ์นิยม

ข่าวนี้ส่งผลให้ชีวิตการแต่งงานของมาร์ก ฟิลด์ ต้องยุติลงหลังอยู่กับภรรยามากว่า 12 ปี แต่ ฮิว โอ'เลียรี่ สามีของลิซ ทรัสส์ กลับไม่ถือโทษโกรธเธอและใช้ชีวิตสมรสกับเธอต่อไป เธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกครั้งใน พ.ศ. 2552 และได้รับเลือกตั้งใน พ.ศ. 2553  

หลังจากได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เธอก็เริ่มได้รับตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในรัฐบาลหลายชุดภายใต้การนำของพรรคอนุรักษ์นิยม เธอเคยมีจุดยืนต่อต้านการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร แต่หลังจากผลประชามติออกมาว่าให้ออกจากสหภาพยุโรป เธอก็เปลี่ยนจุดยืนมาเห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว

ลิซ ทรัซ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่สหราชอาณาจักรเผชิญกับวิกฤติค่าครองชีพครั้งใหญ่ในประเทศ ปัญหาสืบเนื่องจากการออกจากสหภาพยุโรป และความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ นอกจากนี้เธอยังต้องกำหนดบทบาทท่าทีของสหราชอาณาจักรในประเด็นเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียอีกด้วย

สหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไรภายใต้การนำของเธอ นับเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด

แปลและเรียบเรียงจาก

  • How Liz Truss, Britain's next prime minister, went from anti-monarchist rebel to the next Margaret Thatcher https://www.abc.net.au/news/2022-09-06/who-is-liz-truss-britains-next-prime-minister/101404932
  • Footage of Liz Truss calling for Royal Family to be abolished resurfaces on day she will meet Queen https://www.dailyrecord.co.uk/news/politics/video-liz-truss-calling-royal-27885198
  • 'You were against the Queen!' Liz Truss on the spot as BBC host confronts Republican past https://www.express.co.uk/news/politics/1534760/Liz-Truss-BBC-Republican-Monarchy-Queen-Nick-Robinson-VN
  • Young Liz Truss branded monarchy 'disgraceful' as new anti-royal rant emerges https://www.express.co.uk/news/uk/1665570/liz-truss-news-monarchy-royal-family-prime-minister-spt 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net