Skip to main content
sharethis

จากการประเมินสถานการณ์แรงงานทาสยุคใหม่ทั่วโลก โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มูลนิธิวอล์กฟรี และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ล่าสุดพบว่าในปี 2564 มีคนจำนวน 50 ล้านคน กำลังอยู่ในสถานการณ์แรงงานทาสยุคใหม่ ในจำนวนนี้ 28 ล้านคน ตกเป็นแรงงานบังคับและ 22 ล้านคน ถูกบังคับสมรส


ที่มาภาพ: Trafficking in Persons Office USA (อ้างใน ILO)

13 ก.ย. 2565 เว็บไซต์ ILO รายงานว่าจากการประเมินสถานการณ์แรงงานทาสยุคใหม่ทั่วโลกโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มูลนิธิวอล์กฟรี และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ล่าสุดพบว่าในปี 2564 มีคนจำนวน 50 ล้านคน กำลังอยู่ในสถานการณ์แรงงานทาสยุคใหม่ ในจำนวนนี้ 28 ล้านคน ตกเป็นแรงงานบังคับและ 22 ล้านคน ถูกบังคับสมรส

จำนวนผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์แรงงานทาสยุคใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2564 มีผู้ที่ตกเป็นแรงงานทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้น 10 ล้านคนเมื่อเทียบกับการประเมินสถานการณ์แรงงานทาสยุคใหม่ทั่วโลกในปี 2559 โดยสตรีและเด็กยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น

แรงงานทาสยุคใหม่เกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก และเกิดขึ้นโดยไม่แบ่งชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนา โดยมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) ของแรงงานบังคับทั้งหมดและหนึ่งในสี่ของผู้ที่ถูกบังคับสมรสสามารถพบได้ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง และประเทศที่มีรายได้สูง

แรงงานบังคับ

กรณีของแรงงานบังคับส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86) พบในภาคเอกชน แรงงานบังคับในภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ คิดเป็นร้อยละ 63 ของแรงงานบังคับทั้งหมด ในขณะที่การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ที่มีการบังคับคิดเป็น ร้อยละ 23 ของจำนวนแรงงานบังคับทั้งหมด เกือบ 4 ใน 5 ของผู้ที่ถูกบังคับเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์เป็นผู้หญิงหรือเด็กหญิง

แรงงานบังคับโดยรัฐ คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนแรงงานบังคับทั้งหมด

เกือบ 1 ใน 8 ของแรงงานบังคับเป็นเด็ก (3.3 ล้านคน) โดยมากกว่าครึ่งของเด็กเหล่านี้ถูกหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์

การบังคับสมรส

ประมาณ 22 ล้านคนถูกบังคับสมรสในปี 2564  นี่ชี้ว่าผู้ถูกบังคับสมรสมีจำนวนเพิ่มขึ้น 6.6 ล้านคน นับตั้งแต่การประเมินทั่วโลกในปี 2559

อนึ่ง การบังคับสมรสที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอายุ 16 ปี หรือต่ำกว่า น่าจะมีจำนวนมากกว่าประมาณการปัจจุบันอยู่มาก เนื่องจากประมาณการเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของคำจำกัดความที่แคบและไม่ได้มีการรวมการแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณีเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ การสมรสในเด็กถือเป็นการบังคับ เนื่องจากเด็กไม่สามารถให้ความยินยอมตามกฎหมายในการสมรสได้

การบังคับสมรสเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับทัศนคติและการประพฤติปฏิบัติแบบชายเป็นใหญ่ที่มีมาช้านาน และยังมีลักษณะเฉพาะในเชิงบริบทค่อนข้างสูง การบังคับสมรสส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 85) เกิดจากแรงกดดันจากครอบครัว แม้ว่า 2 ใน 3 (ร้อยละ 65) ของผู้ที่ถูกบังคับสมรสจะพบในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชาชกร พบว่าการบังคับสมรสเกิดขึ้นสูงสุดในกลุ่มประเทศอาหรับ โดย 4.8 คน ในทุกๆ 1,000 คนในภูมิภาคนี้ถูกบังคับสมรส

แรงงานข้ามชาติมีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่งต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน

แรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะถูกบังคับใช้แรงงานมากกว่าแรงงานผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่แรงงานข้ามชาติถึงสามเท่า ในขณะที่การย้ายถิ่นเพื่อการทำงาน โดยส่วนใหญ่มีผลเชิงบวกต่อบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม แต่ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อการตกเป็นแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุจากการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ หรือการย้ายถิ่นที่บริหารจัดการไม่ดี หรือแนวปฏิบัติในการจัดหางานไม่เป็นธรรมหรือไร้จริยธรรม
 
“เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่สถานการณ์แรงงานทาสยุคใหม่ไม่ดีขึ้นเลย ไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ยังคงเกิดขึ้นนี้ได้” กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว “เราทราบว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไรและเราก็รู้ว่ามันสามารถทำได้ นโยบายและข้อบังคับระดับชาติที่มีประสิทธิภาพคือรากฐานสำคัญ  กระนั้นรัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้เพียงลำพังแต่ฝ่ายเดียว มาตรฐานสากลให้พื้นฐานที่ดีและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย สหภาพ องค์กรนายจ้าง ภาคประชาสังคม และคนธรรมดาทั่วไป ต่างมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง”

อันโตนิโอ วิตอริโน ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการทำให้การโยกย้ายถิ่นฐานทั้งหมดมีความปลอดภัย เป็นระเบียบและปกติ การลดความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติต่อการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ขึ้นอยู่กับ เรื่องแรกและเรื่องสำคัญคือกรอบนโยบายและกฎหมายแห่งชาติที่เคารพ คุ้มครองและทำให้แรงงานข้ามชาติทุกคน รวมทั้งผู้ที่อาจตัดสินใจย้ายถิ่น ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในทุกขั้นตอนของกระบวนการย้ายถิ่น โดยมิต้องคำนึงถึงสถานภาพการย้ายถิ่นของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งสังคมต้องทำงานร่วมกันเพื่อพลิกแนวโน้มที่น่าตกใจนี้ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงการนำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (Global Compact on Migration) ไปปฏิบัติ”

เกรซ ฟอร์เรส ผู้อำนวยการ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิวอล์กฟรี กล่าวว่า “แรงงานทาสยุคใหม่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทว่า ในปี 2565 แรงงานทาสยุคใหม่ยังคงค้ำจุนเศรษฐกิจโลกของเราอยู่ มันคือปัญหาที่มนุษย์ก่อขึ้นซึ่งเชื่อมโยงกับทั้งความเป็นทาสในอดีตและความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่ ช่วงเวลาที่วิกฤตต่างๆ ทวีความรุนแรงขึ้น เจตจำนงทางการเมืองที่แท้จริงคือเป็นกุญแจสำคัญในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้”

การยุติแรงงานทาสยุคใหม่

รายงานฉบับนี้เสนอข้อแนะนำหลายประการ ซึ่งถ้านำมาดำเนินการด้วยกันอย่างรวดเร็ว จะทำให้มีความก้าวหน้าอย่างยิ่งต่อการยุติแรงงานทาสยุคใหม่  ข้อแนะนำครอบคลุมถึงการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายและการตรวจแรงงาน การยุติการบังคับใช้แรงงานโดยรัฐ มาตรการที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิมในการต่อต้านการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน การขยายการคุ้มครองทางสังคม และการเสริมสร้างประสิทธิภาพการคุ้มครองทางกฎหมาย รวมถึงการเพิ่มอายุในการแต่งงานเป็น 18 ปี โดยไม่มีข้อยกเว้น มาตรการอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการจัดการความเสี่ยงเรื่องการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น การส่งเสริมการจัดหางานที่เป็นธรรมและมีจริยธรรม และการสนับสนุนผู้หญิง เด็กหญิงและบุคคลที่มีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น


แรงงานทาสยุคใหม่ ตามที่กำหนดไว้ในรายงานฉบับนี้ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ แรงงานบังคับและการบังคับสมรส ทั้งสองกรณีหมายถึงสถานการณ์ที่มีการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ไม่สามารถปฏิเสธ หรือไม่สามารถออกจากสถานการณ์นั้นได้ อันเนื่องจากการข่มขู่ ความรุนแรง การบังคับ การหลอกลวง การใช้อำนาจโดยมิชอบ แรงงานบังคับ ตามที่ได้กำหนดในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานบังคับ ฉบับที่ 29 ค.ศ.1930  อ้างถึง งานหรือบริการทุกชนิดที่เกณฑ์เอาจากบุคคลใดๆ โดยขู่เข็ญว่าจะลงโทษ และซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่ได้สมัครใจที่จะทำงานนั้นเอง ‘ภาคเอกชน’ หมายรวมถึง รูปแบบแรงงานบังคับทุกรูปแบบที่ไม่รวมแรงงานบังคับโดยรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net