Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เผยอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกสร้างงานถึง 12.7 ล้านตำแหน่งทั่วโลกเมื่อปี 2564


ที่มาภาพ: Stéphane Bellerose/UNDP

1 ต.ค. 2565 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ได้เผยแพร่รายงาน Renewable Energy and Jobs: Annual Review 2022 เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา พบว่าการจ้างงานทั่วโลกในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกพุ่งสูงถึง 12.7 ล้านคน ในปี 2564 มีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้น 700,000 ตำแหน่ง ในระยะเวลาเพียง 1 ปี แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และวิกฤตด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานยังระบุตั้งแต่ปี 2555-2564 การจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีตลาดในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก เกือบ 2 ใน 3 ของงานทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ประเทศจีนเพียงประเทศเดียวมีสัดส่วนการจ้างงานรวมร้อยละ 42 ของยอดรวมตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกทั่วโลก ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและบราซิลที่ร้อยละ 10 เท่ากัน, สหรัฐอเมริกาและอินเดียที่ร้อยละ 7 เท่ากัน

การจ้างงานในภาคพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar photovoltaic) เติบโตเร็วที่สุด ในปี 2564 โดยสามารถสร้างงานได้กว่า 4.291 ล้านตำแหน่ง ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกทั้งหมด ตามมาด้วยภาคเชื้อเพลิงชีวภาพ (Liquid biofuels) 2.421 ล้านตำแหน่ง, ภาคพลังงานจากน้ำ (Hydropower) 2.37 ล้านตำแหน่ง, ภาคพลังงานลม (Wind energy) 1.371 ล้านตำแหน่ง, ภาคพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ (Solar heating/cooling) 7.69 แสนตำแหน่ง, ภาคเชื้อเพลิงชีวมวลแข็ง (Solid biomass) 7.16 แสนตำแหน่ง, ภาคไบโอก๊าซ (Biogas) 3.07 แสนตำแหน่ง, ภาคความร้อนใต้พิภพ (Geothermal energy) 1.96 แสนตำแหน่ง, ภาคพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น (CSP) 7.9 หมื่นตำแหน่ง, ภาคพลังงานขยะ 3 หมื่นตำแหน่ง และภาคอื่น ๆ รวมกันอีก 1.26 แสนตำแหน่ง

รายงานนี้เน้นย้ำถึงพัฒนาการระดับภูมิภาคและในระดับประเทศที่โดดเด่น ซึ่งรวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ (PV) และผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่น่าจับตา, ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่สำคัญที่สุดและกำลังสร้างงานจำนวนมากขึ้นในภาคพลังงานกระแสลมนอกชายฝั่ง, ส่วนที่อินเดียได้เพิ่มแผงโซลาร์เซลล์กำลังการผลิตรวมถึง 10 กิกะวัตต์ ซึ่งได้สร้างงานติดตั้งจำนวนมาก แต่ก็ยังต้องพึ่งพาแผงโซลาร์เซลล์นำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ยุโรปมีสัดส่วนการผลิตพลังงานลมประมาณร้อยละ 40 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์พลังงานลมที่สำคัญที่สุด กำลังพยายามสร้างอุตสาหกรรมการผลิตโซลาร์เซลล์ขึ้นใหม่ 

ในทวีปอเมริกา เม็กซิโกถือเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำของใบพัดกังหันลม, บราซิลยังคงเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ยังเพิ่มงานจำนวนมากในการติดตั้งระบบพลังงานลมและโซลาร์เซลล์, สหรัฐอเมริกากำลังเริ่มสร้างฐานอุตสาหกรรมภายในประเทศสำหรับภาคพลังงานลมนอกชายฝั่งที่กำลังเติบโต 

ส่วนในแอฟริกาแม้บทบาทของพลังงานทางเลือกยังคงมีอยู่อย่างจำกัด แต่รายงานระบุว่ามีโอกาสการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสนับสนุนการค้าในท้องถิ่น เกษตรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ

รายงานของ ILO และ IRENA ประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ทดแทนการสูญเสียงานแบบเก่า โดยคาดว่าในปี 2573 การจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกจะสูงถึง 139 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้ 74 ล้านตำแหน่ง จะอยู่ในภาคยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ๆ และยังเน้นว่าการขยายตัวของพลังงานทางเลือกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้วยชุดนโยบายแบบองค์รวม ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมสำหรับคนทำงานเพื่อให้แน่ใจว่างานนั้นเหมาะสม มีคุณภาพ ได้รับค่าตอบแทนที่ดี และต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

 

ที่มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net