Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมกว่า 67 เครือข่าย 15 บุคคล ยื่น จม.เปิดผนึกพร้อมข้อเรียกร้อง 5 ข้อถึงองค์กรผู้จัดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 4 “สนับสนุนกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ในเอเชียแปซิฟิก กระตุ้นให้รัฐบาลไทยดำเนินงานตามหลักการ

 

19 ก.ย.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (19 ก.ย.) ภาคประชาสังคมกว่า 67 เครือข่าย 15 บุคคล ออกจดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรผู้จัดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 4 “สนับสนุนกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.นี้

"ขอกระตุ้นเตือนให้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลไทย เพื่อการคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม และการฟ้องคดีปิดปากอย่างอื่น รัฐบาลไทยต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการเพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของตนเอง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติฯ ที่ระบุว่า “เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัท รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และเหมาะสม” จดหมายเปิดผนึกระบุ   

พร้อมทั้งมี 4 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ประกอบด้วย 1. กระตุ้นให้การประชุมนี้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะของคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ  2. ให้มีการพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อมาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้เกิดทิศทางการใช้งานที่ชัดเจน รวมทั้งการนิยามคำว่า “โดยไม่สุจริต’

3. การหมิ่นประมาท แม้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง ก็ไม่ใช่ความผิดที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่ควรถือว่า หรือได้รับการปฏิบัติเป็นความผิดอาญา ซึ่งมีบทลงโทษจำคุก และ/หรือค่าปรับจำนวนมาก  4. เรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนทุกฝ่าย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ใช้ทรัพยากรและอำนาจของตนเพื่อประกันว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง จะยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที  และ 5. ในปี 2562 แผนปฏิบัติการระดับชาติของไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นแผนฉบับแรกในเอเชีย เรากระตุ้นให้ UNRBHR ประเมินอย่างเป็นอิสระต่อผลลัพธ์ จุดแข็ง และจุดอ่อนของแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 1 และทบทวนร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอาจพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ เช่นกัน

รายละเอียดจดหมายมีดังนี้ : 

 

จดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรผู้จัดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 4 “สนับสนุนกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2565

วันที่ 19 กันยายน 2565

เรียน   องค์กรร่วมจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women), โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP),  กลไกพิเศษชองคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) 

พวกเรา ซึ่งเป็นหน่วยงานและบุคคลที่มีรายชื่อด้านท้าย ต้องการให้หน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่ทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เข้าแทรกแซงและชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้มีการแก้ไขอย่างเป็นผลต่อสถานการณ์ของการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Women and HRDs) ในประเทศไทย

ในเดือนมีนาคม 2562 ได้มีการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งมีผลบังคับใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อำนาจศาลในการพิจารณาไม่รับฟ้องคดีอาญา กรณีที่ศาลเห็นว่าเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเพื่อกลั่นแกล้งรวมทั้ง (1) เพื่อคุกคาม (2) เพื่อเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง (3) เพื่อประโยชน์ใด ๆ อันมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ (4) เป็นการฟ้องคดีด้วยเจตนาไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดความหวังว่า จะมีการนำกฎหมายใหม่นี้มาใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) ในช่วงต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีไทยได้เห็นชอบและรับรอง แผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 1 (2562-2565)

ในวันที่ 7 มิถุนายน 2563 มีการจัดทำจดหมายเปิดผนึกลงนามโดย 53 หน่วยงานและ 23 บุคคล เพื่อมอบให้กับผู้จัดการประชุมออนไลน์แห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน: ความท้าทายใหม่ แนวทางใหม่ เอเชียและแปซิฟิก ก่อนจะมีการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2563 

จดหมายดังกล่าวแสดงความกังวลว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ และกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่สามารถให้ความคุ้มครองและความสนับสนุนแก่ผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ปลอดพ้นจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นการละเมิดต่อหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนได้ จดหมายยังเน้นให้เห็นการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม และการฟ้องคดีปิดปากที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการละเมิดเสาหลักสามประการของหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

หลังผ่านไปสองปี เราต้องการแสดงความกังวลอย่างมากอีกครั้ง เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าและรัฐบาลไทยยังไม่ได้ปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งดูเหมือนจะได้รับการออกแบบมาเพื่อปิดปากผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเปิดโปงการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงต่อคนงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม 

คดีที่มักมีการนำมาฟ้องต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือคดีหมิ่นประมาท ต่างจากอีกหลายประเทศ คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย (ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง มาตรา 326 ถึง 333) และ 90% ของคดีเหล่านี้ได้รับการพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นการฟ้องคดีที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม และการฟ้องคดีปิดปากทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว และเป็นการปิดปากผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และชุมชน ซึ่งกำลังถูก (หรือเสี่ยงจะถูก) ละเมิดสิทธิ

ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา นับแต่การทำรัฐประหาร มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกว่า 450 คนตกเป็นเหยื่อการข่มขู่และการคุกคามด้วยการฟ้องคดีปิดปาก โดยมีการฟ้องคดีเหล่านี้มากกว่า 10 ครั้งนับแต่มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ และในระหว่างการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 1

ตัวอย่างในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนสำคัญสามคน 

ในเดือนตุลาคม 2562 สี่วันก่อนที่แผนปฏิบัติการระดับชาติของไทยจะมีผลบังคับใช้ และเจ็ดเดือนก่อนจะมีการประกาศใช้กฎหมายใหม่เพื่อต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และสมาชิกของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจ ( UN WGEID) ถูกฟ้องด้วยคดีหมิ่นประมาททางอาญา โดย บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ในเดือนมิถุนายน 2563 และต่อมายังมีการฟ้องคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกสองคน ได้แก่ พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort พื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ คดีหมิ่นประมาทต่อผู้หญิงเหล่านี้อาจส่งผลให้ถูกจำคุกตั้งแต่ 8-42 ปี และถูกปรับตั้งแต่ 900,000 บาท – 5 ล้านบาท 

ในปี 2559 บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องคดีต่อแรงงานข้ามชาติ 14 คนจากเมียนมา กล่าวหาว่าพวกเขาแจ้งข้อมูลเท็จต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคดีที่พวกเขาฟ้องต่อศาลแรงงานเกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน และการละเมิดกฎหมายแรงงาน ทางบริษัทยังได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อผู้ที่แชร์ข่าว หรือเปิดโปงการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท รวมถึงคดีที่ฟ้องสุชาณี คลัวเทรอ อดีตนักข่าวซึ่งได้รีทวิตข่าวเกี่ยวกับการฟ้องคดีแรงงานของคนงาน รวมทั้งการฟ้องคดีต่อสุธารี วรรณศิริ และงามศุกร์ รัตนเสถียร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาศาลได้ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อคนงาน 14 คน โดยชี้ว่าข้อมูลที่พวกเขาให้กับ กสม.เป็นความจริง และพวกเขาได้ใช้สิทธิของตนโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศาลฎีกาพิพากษาให้คนงานได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างเป็นเงินจำนวน 1.7 ล้านบาท และศาลยังสั่งไม่รับฟ้องหรือยกฟ้องคดีต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ศาลฎีกายกฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อสุชาณี  คลัวเทรอ ที่เป็นนักข่าว

อย่างไรก็ดี คดีหมิ่นประมาทต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งอังคณา, พุทธณี และธนภรณ์ ยังอยู่ระหว่างชั้นไต่สวนมูลฟ้องที่กินเวลาเกือบสามปีแล้ว โดยข้อหาต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแสดงความสนับสนุน และให้กำลังใจผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องโดยบริษัทธรรมเกษตร จำกัดในขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในข้อหาเกี่ยวข้องกับการทวิตข้อความของอังคณาที่ระบุว่า “ยืนหยัดเคียงข้างผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, ยุติการฟ้องคดีปิดปาก” 

ในวันที่ 12 กันยายน 2565 ไม่กี่วันก่อนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ครั้งที่ 4 จะเริ่มขึ้น ศาลอาญากรุงเทพ มีคำสั่งให้รับพิจารณาคดีหมิ่นประมาทต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการไต่สวนจะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 และศาลได้ให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนประกันตัวออกไปโดยไม่ต้องวางหลักประกัน จนถึงปัจจุบัน บริษัทธรรมเกษตร จำกัดได้ฟ้องอย่างน้อย 39 คดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 22 คน ในขณะที่มาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อนุญาตให้ศาลสามารถยกฟ้องคดีและห้ามการฟ้องซ้ำ กรณีที่การฟ้องคดีของเอกชนนั้นเป็นการ “ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย” นับแต่มีการประกาศใช้กฎหมายใหม่ แม้ผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะขอให้ศาลใช้อำนาจตามมาตรา 161/1 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีศาลใดดำเนินการตามนั้น โดยในกฎหมายไม่มีการนิยามคำต่าง ๆ เช่น “โดยไม่สุจริต” และการตีความจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล 

หนึ่งในสี่องค์ประกอบหลักของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนคือ แผนปฏิบัติการเพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้การคุ้มครอง หรือรับรองอย่างเป็นผลต่อการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ และข้อบทที่เกี่ยวกับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีสถานะตามกฎหมาย โดยเป็นเพียงมติของฝ่ายบริหารของรัฐบาลไทยและมีสถานะเป็นเพียง “กฎ” ตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงไม่มีน้ำหนักในกระบวนการยุติธรรม หรือไม่มีผลในเชิงการบังคับใช้

เราไม่อาจประเมินผลกระทบของการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมจากภาคธุรกิจต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่ำเกินไป เพราะการคุกคามทำให้เสียทั้งเวลาและทรัพยากร ซึ่งเวลาและทรัพยากรนั้นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอาจนำมาใช้เพื่อดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและพัฒนาสังคมอย่างอื่นได้ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนสำคัญต้องเสียเวลา และทรัพยากรอันมีค่าเพื่อต่อสู้คดีในศาล ซึ่งมักใช้เวลาหลายปี ในขณะที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า รวมทั้งผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน มักจะมีทรัพยากรน้อยกว่า และมีเวลาจำกัด จึงเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อพวกเธอและครอบครัว

การถูกดำเนินคดีไม่เพียงทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย หากยังส่งผลกระทบด้านลบอย่างรุนแรงต่อสภาพอารมณ์และคุณภาพชีวิต ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องต่อสู้อย่างยาวนานกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปกป้องชุมชนในหลายด้าน การทำงานปกป้องสิทธิมักไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับค่าตอบแทน และมักไม่มีจุดสิ้นสุด ในบริบทที่ถูกฟ้องด้วยคดีหมิ่นประมาทหรือคดีปิดปาก จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรง 

หากยังคงปล่อยให้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่มีการตรวจสอบจากรัฐบาล การทำงานที่สำคัญเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน จะยิ่งเสียงอันตรายและไม่มั่นคงมากขึ้น การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ย่อมจะทำให้ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย

การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 2 จบลงด้วยการรับฟังความเห็นทางออนไลน์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 โดยไม่มีการประเมินอย่างเหมาะสมต่อการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 1 การประเมินแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 1 เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนที่เป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ยกตัวอย่างเช่น มีการจัดประชุมกี่ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกี่คน ฯลฯ แทนที่จะเป็นข้อมูลว่าใครเป็นผู้เข้าร่วม และมีระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างไรบ้าง ร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 2 ยังคงไม่ได้กำหนดวิธีการประเมินผลอย่างรอบด้าน เช่นเดียวกับแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ก่อนหน้านี้ ยังคงไม่มีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติหรือข้อบทที่ชัดเจนเพื่อการสั่งปรับ หรือลงโทษหน่วยงานธุรกิจ ซึ่งตรวจพบว่ามีความผิดฐานพยายามที่จะใช้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ควรจะต้องมีบทลงโทษทั้งทางการเมือง การเงิน และศาล ต่อผู้ที่รับผิดชอบต่อการโจมตีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือผู้ที่เพิกเฉยต่อหน้าที่ในการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีเช่นนี้ รวมทั้งการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม

ด้วยเหตุดังกล่าว พวกเราซึ่งลงนามด้านท้าย จึงขอกระตุ้นเตือนให้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลไทย เพื่อการคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม และการฟ้องคดีปิดปากอย่างอื่น รัฐบาลไทยต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการเพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของตนเอง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติฯ ที่ระบุว่า “เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัท รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และเหมาะสม”  

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ต่อรัฐบาลไทย: 

1.      เรากระตุ้นให้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ และผู้จัดการประชุม เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)และข้อเสนอแนะของคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ (Working Group on the issue of human rights and transitional corporations and other business enterprises – WG on BHR) เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 26  มีนาคม – 4 เมษายน  2561

2.      ให้มีการพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อมาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้เกิดทิศทางการใช้งานที่ชัดเจน รวมทั้งการนิยามคำว่า “โดยไม่สุจริต’

3.      การหมิ่นประมาท แม้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง ก็ไม่ใช่ความผิดที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่ควรถือว่า หรือได้รับการปฏิบัติเป็นความผิดอาญา ซึ่งมีบทลงโทษจำคุก และ/หรือค่าปรับจำนวนมาก บทลงโทษเช่นนี้ควรใช้เฉพาะกับอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น เราจึงกระตุ้น UNRBHR และหน่วยงานอื่น ๆ ให้กระตุ้นอย่างแข็งขันเพื่อให้รัฐบาลไทยยกเลิกการเอาผิดทางอาญากับการหมิ่นประมาท 

4.      เราเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนทุกฝ่าย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ใช้ทรัพยากรและอำนาจของตนเพื่อประกันว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง จะยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที โดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนหน่วยงานธุรกิจที่ดีที่แสดงพันธกิจอย่างจริงจังต่อสิทธิมนุษยชน 

5.   ในปี 2562 แผนปฏิบัติการระดับชาติของไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นแผนฉบับแรกในเอเชีย เรากระตุ้นให้ UNRBHR ประเมินอย่างเป็นอิสระต่อผลลัพธ์ จุดแข็ง และจุดอ่อนของแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 1 และทบทวนร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอาจพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ เช่นกัน

 

ลงนามโดย

1.      กลุ่มกอผือรื้อเผด็จการ

2.      กลุ่มชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล

3.      มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์

4.      เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

5.       เครือข่ายสลัมสี่ภาค

6.       สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

7.      กลุ่มด้วยใจรัก

8.      มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 

9.      โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่

10.   กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

11.   เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

12.   กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์  (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน  จ.ชัยภูมิ)

13.   กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด  6  หมู่บ้าน  (คัดค้านเหมืองทองคำ  ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง  จ.เลย)

14.   กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส  (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช  อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)

15.   กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร)

16.   กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได  (คัดค้านการทำเหมืองหิน  ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา  จ.หนองบัวลำภู)

17.   กลุ่มรักษ์บ้านแหง  (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง  อ.งาว  จ.ลำปาง)

18.   กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์)

19.   สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา (คัดค้านการทำเหมืองหินปูน ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา)

20.   กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด (คัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตช) อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

21.   สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

22.   ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

23.   เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

24.   ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (PDMT)

25.   สมัชชาคนจน

26.   สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

27.   มูลนิธิศักยภาพชุมชน

28.   มูลนิธิเพือสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์

29.   มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

30.   เพื่อนไร้พรมแดน

31.   มูลนิธิมานุษยะ

32.   โปรเจกต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Project SEAVANA) 

33.   คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน

34.   Global Women’s Strike (Canada, India, Ireland, Peru, Thailand, UK, USA)

35.   Selma James, International Wages for Housework Campaign

36.   International Prostitutes Collective network

37.   Legal Action for Women, UK

38.   WinVisible (women with visible and invisible disabilities) 

39.   Queer Strike, UK

40.   Payday men’s network (UK)

41.   Payday men’s network(USA)

42.   Lawyers' Rights Watch, Canada 

43.   Radical Grandma Collective, USA

44.   Black Women for Wages for Housework, USA

45.   Women of Color/Global Women’s Strike,USA

46.   Women of Color/Global Women’s Strike, UK

47.   Future Light Center from Myanmar.

48.   Protection International (PI)

49.   Asociación de Trabajadoras del Hogar a Domicilio y de Maquila. ATRAHDOM ,GUATEMALA

50.   Local 631 of the National Farmers Union, Unity Saskatchewan, Canada

51.   Women in Action on Mining in Asia

52.   Migrant care, Indonesia

53.   Pacific Focal Point Migration

54.   North South Initiative, Malaysia

55.   Malaysians Against Death Penalty and Torture (MADPET), Malaysia

56.   Worker Hub for Change (WH4C), Malaysia

57.   Network of Action for Migrants in Malaysia, Malaysia

58.   National Union of Transport Equipment & Allied Industries Workers, Malaysia

59.   Sarawak Dayak Iban Association. (SADIA.hq.), East Malaysia.

60.   LILAK (Purple Action for Indigenous Women's Rights), Philippines,

61.   We Women Lanka Network, Sri Lanka

62.   National Fisheries Solidarity movement, Sri Lanka

63.   Jagaran, Nepal

64.   Worec (women’s rehabilitation center ) ,Nepal

65.   Tarangini Foundation – Nepal

66.   National alliance of Women Human rights Defender – Nepal.

67.   The Asian Forum for Human Rights and Development (Forum-Asia)

 

รายชื่อที่ร่วมลงนาม(บุคคล)

1. Roshni Tariqyati Tanzeem (Pakistan)

2. The William Gomes Podcast, UK

3. Margaret Prescod (USA)

4. Phoebe Jones (USA)

5. Dean Kendall (USA)

6. ชุทิมา ชื่นหัวใจ

7.สมฤดี พิมลนาถเกษร

8. นิธิ รุ่งธนาภิรมย์

9. สุชานัน นนทสูติ

10.กัมพล ยาลัย

11. พบพร ขุมทอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net