Skip to main content
sharethis

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ 'โควิด-19' ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ ก็ต่างต้องดิ้นรนหาทางออก ซึ่งการ ‘ก่อหนี้’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่พวกเขาต้อง ‘จำใจเลือก’ โดยสิ้นปี 2564 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนหนี้ครัวเรือน 90.1% ต่อ GDP

  • จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ 'โควิด-19' ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ ก็ต่างต้องดิ้นรนหาทางออก ซึ่งการ ‘ก่อหนี้’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่พวกเขาต้อง ‘จำใจเลือก’
  • ณ สิ้นปี 2563 หนี้ครัวเรือนของไทยทะลุ 14 ล้านล้านบาท ถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 18 ปี คิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับ GDP, ส่วนในปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1%
  • ช่วงโควิด-19 ยังส่งผลกระทบทำให้ประชาชนมีภาระหนี้จาก ‘บัตรเครดิต’ และ ‘สินเชื่อ’ ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม พบว่าในรอบปี 2564 จากการพิพากษาคดีรวม 1,560,026 คดี เป็นคดีแพ่งถึง 1,030,906 คดี ข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลแพ่งอันดับ 1 คือ 'คดีบัตรเครดิต' สูงถึง 155,801 ข้อหา รองลงมาคือ 'สินเชื่อบุคคล' 133,954 ข้อหา และ 'กู้ยืม' 101,551 ข้อหา
  • แต่สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้นพบว่ายังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ 'KTC' ผู้ให้บริการบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท, ในปี 2564 KTC สร้างสถิติใหม่ในการทำกำไรสูงสุด ทั้งในงบการเงินเฉพาะกิจการและงบการเงินรวมเป็นจำนวน 6,251 ล้านบาท และ 5,879 ล้านบาท ตามลำดับ
  • สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย การสร้างหนี้สินในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่อง ทั้งการหยิบยืมจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนรู้จัก แล้วไม่ใช้คืน ทำให้ผู้ถูกหยิบยืมบางรายก็ต้องเปลี่ยนสถานะจากเจ้าหนี้ ไปกู้หนี้ยืมสินจากบุคคลต่อๆ ไปอีกไม่รู้จักจบสิ้น และยังรวมถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ จากการทวงหนี้ของผู้รับจ้างทวงหนี้นอกระบบ ทั้งการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย และอาชญากรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนี้สิน เป็นต้น

การดิ้นรนของคนตัวเล็กตัวน้อย

เมื่อรายได้ไม่พอรายจ่าย การ ‘ก่อหนี้’ ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ ต้อง ‘จำใจเลือก’ | แฟ้มภาพประชาไท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ 'โควิด-19' ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สาเหตุทั้งจากรายได้ที่ลดลง การขาดรายได้จากตกงาน การหยุดงาน และการเปลี่ยนอาชีพอย่างกะทันหัน เป็นต้น

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ ก็ต่างหาหนทางดิ้นรน ซึ่งการ ‘ก่อหนี้’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่พวกเขาต้อง ‘จำใจเลือก’

จากมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มข้นในช่วงแรกๆ ระหว่างปี 2563-2564 นั้น ได้ก่อให้เกิดการ ‘เปลี่ยนอาชีพ’ จำนวนมหาศาล อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องคลุกคลีและมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนด้วยกัน ซึ่งอาชีพค้าขายในตลาดนัดก็เป็นหนึ่งในนั้น

A ชายวัย 40 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพรับเหมาทั่วไป อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ช่วงก่อนโควิด-19 ประกอบอาชีพขายของตามตลาดนัด พอโควิด-19 ระบาด รัฐมีการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ตลาดนัดที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเขาต้องปิดตัวลง

“ระยะแรกๆ คิดว่าเดี๋ยวก็คงกลับมาขายใหม่ได้ แต่เวลาผ่านไปสักเดือนก็เริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องหางานใหม่แล้ว” A ระบุ จากนั้นเขาจึงได้งานที่บริษัทขนส่งลอจิสติกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอาชีพที่เติบโตสวนทางกับอาชีพอื่นๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนมาก

และเขาเองก็เริ่มได้ก่อนหนี้สินในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการนำเงินที่ลูกค้าจ่ายค่าขนส่งที่ต้องส่งให้กับบริษัท (ลูกค้าประเภทเก็บเงินปลายทาง) มาใช้จ่ายก่อน พอถึงกำหนดเวลาที่จะส่งให้บริษัทเขาก็หยิบยืมคนอื่นมาให้บริษัท หมุนเงินวนเวียนสร้างเจ้าหนี้หลายราย เมื่อเกิดปัญหาหมุนเงินไม่ทัน เขาจึงถูกบริษัทให้ออกจากงาน ปัจจุบันเขามาทำอาชีพรับเหมาทั่วไป ทั้งงานก่อสร้าง หรือติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นโซลาร์เซลล์ และกล้องวงจรปิด ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนเหมือนครั้งยังทำงานที่บริษัทขนส่งลอจิสติก

“เราอยู่กับเงิน นานๆ ไปมันก็อดใจไม่ได้ที่ต้องเอาเงินเขามาใช้ก่อน และหมุนเงินไม่ทันจริงๆ เลยต้องออกจากงานประจำอีกครั้งทั้งๆ ที่มั่นคง ตอนนี้มาทำรับเหมาเอง รายได้ก็ไม่แน่นอนแล้ว” A กล่าว

เช่นเดียวกับอาชีพที่ไม่มั่นคงอย่างฟรีแลนซ์ ในช่วงการระบาดใหญ่ คนทำอาชีพนี้กลับต้องพบกับความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นทวีคูณ

B หญิงวัย 25 ปี อาชีพฟรีแลนซ์ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่าช่วงต้นการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 เป็นช่วงที่เธอออกจากงานประจำเพื่อมาทำอาชีพฟรีแลนซ์ด้านการออกแบบกราฟิกพอดี แรกๆ นั้นเธอเองยังได้เงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมจากการออกจากงานประจำ และได้รับเงินช่วยเหลือจากนโยบายต่างๆ ของรัฐที่ออกมา รวมทั้งยังมีเงินเก็บจากการทำงานประจำเธอจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

แต่พอล่วงมาในปี 2564 เมื่อเงินเก็บและช่วยเหลือต่าง ๆ เริ่มร่อยหรอไป ประกอบกับอาชีพฟรีแลนซ์ที่เธอวางแผนออกมาทำนั้นไม่ได้เป็นไปตามเป้า โดยเธอสังเกตว่าในช่วงโควิด-19 นั้นมีคนรับทำกราฟิกจำนวนมากซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีคนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากในช่วงการระบาด ทำให้เธอต้องอาศัยหยิบยืมเงินจากเพื่อนมาเป็นค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในเดือนที่เธอไม่มีงานฟรีแลนซ์เข้ามา

“ไม่มีใครอยากยืมเงินคนอื่นหรอก หากไม่ลำบากจริงๆ” B กล่าว

ส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในโรงงานผลิตได้รับผลกระทบมากมายในช่วงโควิด-19 ทั้งการถูกเลิกจ้าง ถูกลดเวลาการทำงานทั้งเวลาปกติและการทำงานล่วงเวลา (OT) หรือแม้กระทั่งการถูกให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้รายได้ของกลุ่มแรงงานลดลง กระทบโดยตรงต่อหนี้สินที่แรงงานเหล่านี้ก่อไว้ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการเช่าซื้อและผ่อนชำระสินค้า

เจ้าหน้าที่จัดเก็บหนี้สินระดับอาวุโสของธุรกิจเช่าซื้อและผ่อนชำระสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.ลำพูน ระบุกับผู้สื่อข่าวว่าในช่วงโควิด-19 การตามเก็บเงินค่าผ่อนสินค้าของลูกค้าในพื้นที่ จ.ลำพูน ก็ประสบปัญหาเช่นกัน แม้กระทั่งพนักงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านี้ในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็มีสัญญาณปัญหาการเก็บหนี้ไม่ได้ตามเป้ามาก่อนแล้วเพราะหลายโรงงานเริ่มลดการทำโอทีอันเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของพนักงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม จากนั้นในช่วงโควิด-19 นายจ้างก็ยังใช้เป็นข้ออ้างในการปิดโรงงานหรือเลิกจ้างก็ยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สินเห็นได้ชัดขึ้น

“มันมองได้สองแบบ แบบแรกคือเขาอาจใช้โควิดเป็นข้ออ้างที่ไม่จ่ายหนี้เรา โดยเฉพาะค่าโทรศัพท์มือถือเงินผ่อนรายเดือน ทั้งที่เขาควรวางแผนการจ่ายเงินแต่ละงวดไว้เมื่อตอนซื้อแล้ว และเขาก็ไม่ตกงานอะไร ได้เงินเดือนจากโรงงานตลอดแต่ก็อ้างว่าเพราะโควิดยังไม่ขอจ่ายได้ไหม แบบที่สองคือรายได้ลด (ไม่มีโอที-หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง) หรือตกงานจริงๆ อันนี้ก็น่าเห็นใจ” เขากล่าว “เพราะแม้แต่ตัวเจ้าหน้าที่เก็บหนี้สินเองก็ยังมีความกลัวว่าจะตกงานไหมในช่วงโควิด จากยอดเก็บเงิน (หนี้สิน) ไม่เข้าเป้านี่แหล่ะ”

ภาพรวมสถานการณ์หนี้สินช่วงโควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ณ สิ้นปี 2563 หนี้ครัวเรือนของไทยทะลุ 14 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับ GDP ในปี 2563 [1] ส่วนในปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% โครงสร้างหนี้ครัวเรือนภาพรวม ณ สิ้นปี 2564 หนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น 1. เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม 2.เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 3. เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม [2]

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์ทางการเงินของภาคครัวเรือนไทยจากข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดยืดเยื้อ โดยแม้ครัวเรือนไทยในปี 2564 จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,352 บาทต่อเดือน ขยับขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่ 26,018 บาทต่อเดือนในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด แต่ภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนก็ขยับสูงขึ้นตามมาอยู่ที่ 21,616 บาทต่อเดือนด้วยเช่นกัน (จาก 20,742 บาทต่อเดือนในปี 2562) โดยค่าใช้จ่ายของครัวเรือนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% ต่อรายได้ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนว่า หากครัวเรือนมีภาระอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาระผ่อนหนี้ ก็จะทำให้มีเงินเหลือสำหรับเก็บสะสมเป็นเงินออมน้อยลง

ข้อมูลในฝั่งหนี้สิน ก็สะท้อนว่าครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมากขึ้น โดยในผลสำรวจฯ พบว่าสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้ขยับขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 มาที่ 51.5% ในปี 2564 โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นบางส่วนมาจากแหล่งกู้เงินนอกระบบ โดยหากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้สินในปี 2564 พบว่าสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินนอกระบบอย่างเดียว และสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งในและนอกระบบขยับขึ้นมาที่ 5.2% และ 4.0% จากที่มีสัดส่วน 4.7% และ 3.5% ในปี 2562 ตามลำดับ นอกจากนี้ระดับหนี้สินเฉลี่ยยังเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ของครัวเรือนด้วยเช่นกัน โดยจำนวนหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 205,679 บาทในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.25 เท่าเมื่อเทียบกับระดับหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 164,005 บาท ในปี 2562 ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 1.05 เท่า เท่านั้น [3]

หนี้จาก ‘บัตรเครดิต’ และ ‘สินเชื่อ’ ในช่วงโควิด-19

ช่วงโควิด-19 ยังส่งผลกระทบทำให้ประชาชนมีภาระหนี้จาก ‘บัตรเครดิต’ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย | ที่มาภาพ: stevepb (Pixabay License)

ช่วงโควิด-19 ยังส่งผลกระทบทำให้ประชาชนมีภาระหนี้จาก ‘บัตรเครดิต’ และ ‘สินเชื่อ’ ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยหนึ่งในมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5 ซึ่งมาตรการนี้จะใช้จนถึงสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ยังขยายเพดานวงเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้โดยไม่จำกัดผู้ให้สินเชื่อ เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลสามารถขยายเพดานวงเงินกู้จากเดิมรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท รวมทั้งขยายระยะเวลาชำระหนี้ จากเดิม 6 เดือน เป็น 12 เดือน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบที่ใช้สินเชื่อในระบบจนเต็มเพดานหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ [4] ซึ่งทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ออกสินเชื่อสำหรับประชาชนในช่วงโควิด-19 มาอย่างมากมาย

C ชายวัย 39 ปี อาชีพพนักงานบริษัท อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ระบุว่าในช่วงโควิด-19 ถึงแม้เขาจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องอาชีพและรายได้ เพราะยังทำงานเป็นปกติ ในช่วง Work From Home เขาชี้ว่ายังได้ประหยัดค่าเดินทางด้วยซ้ำ แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัดสำหรับเขาและครอบครัว คือการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ ที่ทยอยออกมาในช่วงโควิด

“โดยปกติผมกับภรรยาจะมีบัตรเครดิตคนละใบ เราจะควบคุมการใช้ไม่ให้วงเงินเยอะเกินไป แต่พอมาช่วงโควิดเขาลดการจ่ายขั้นต่ำรายเดือนลง เราก็ซื้อนั่นซื้อนี่ทางออนไลน์เพิ่ม รู้ตัวอีกทีบัตรทั้งสองใบก็เกือบเต็มวงเงิน” C กล่าว และเสริมว่า “แอปพลิเคชันธนาคารที่ผมใช้ก็มีสินเชื่อช่วงโควิดให้กูด้วย ผมลองกดดูก็พบว่ากู้ได้”

เมื่อเราให้ข้อมูลกับ C ว่ามาตรการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5 นี้อาจจะมีถึงสิ้นปี 2565 นี้เท่านั้น และอาจขยับกลับไปเป็น ร้อยละ 10 เช่นเดิมก่อนเกิดโควิด-19* C ก็กล่าวถึงความกังวลของเขาว่าจากที่เคยจ่ายค่าบัตรเครดิตขั้นต่ำ 2,500 บาท ก็จะกลายเป็น 5,000 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระเป็นเท่าตัว “จากนี้ไปคงต้องลดการใช้จ่ายผ่านบัตรลงทั้งผมและภรรยา ไหนจะต้องทยอยจ่ายหนี้รายเดือนที่กู้จากแอปพลิเคชันธนาคารมาอีก” เขากล่าว

(* หมายเหตุ: จาก มาตรการแก้หนี้ระยะยาวของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตตลอดทั้งปี 2566 กำหนดไว้ที่ 8% จากปกติที่ 10% อัพเดทข้อมูลเมื่อ ม.ค. 2566)

แม้จะยืดเวลาในการใช้หนี้สินไปได้แค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะถูกฟ้อง และมีการยึด อายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามหนี้สินในบัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ เหล่านั้น ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม พบว่าในรอบปี 2564 มีการพิจารณาพิพากษาคดี รวม 1,560,026 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีแพ่งถึง 1,030,906 คดี และเมื่อพิจารณาสถิติข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักรในของคดีทางแพ่งสูงสุด คือ 'คดีบัตรเครดิต' สูงถึง 155,801 ข้อหา รองลงมาคือ 'สินเชื่อบุคคล' 133,954 ข้อหา และ 'กู้ยืม' 101,551 ข้อหา [5] ตัวเลขนี้สะท้อนวิกฤตทางการเงินจากผลพวงของการระบาดของโควิด-19 ที่ในปี 2565 คนตัวเล็กตัวน้อยก็ยังต้องเผชิญต่อไป

แต่สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้นพบว่ายังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ 'KTC' ผู้ให้บริการบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อบุคคล เปิดเผยว่าในปี 2563 มีกำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท, ในปี 2564 KTC สร้างสถิติใหม่ในการทำกำไรสูงสุด ทั้งในงบการเงินเฉพาะกิจการ และงบการเงินรวมเป็นจำนวน 6,251 ล้านบาท และ 5,879 ล้านบาท ตามลำดับ, ส่วนในไตรมาส 2/2565 KTC มีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกและไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 3,641 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.9%) และ 1,894 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 12.7%) ตามลำดับ [6] [7] [8]

สถานการณ์เงินออมและการนำเงินเก็บออกมาใช้

แม้ว่าในภาพรวมทั้งประเทศเงินออมของภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ในรูปเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะขยับขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 12.28 ล้านล้านบาทในปี 2563 มาอยู่ที่ประมาณ 12.87 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79.5% เมื่อเทียบกับ GDP และ 88.2% เมื่อเทียบกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน [9] ซึ่งหากมองภาพในระดับครัวเรือน สถานะทางการเงินและระดับเงินออมของแต่ละครัวเรือนย่อมมีความแตกต่างกัน โดยในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย รวมถึงจีน ต่างพบว่าเงินออมที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่บ่งชี้ว่าเงินออมที่เพิ่มขึ้นในไทยส่วนใหญ่ก็กระจุกตัวอยู่ในบัญชีขนาดใหญ่เช่นกัน โดยนับตั้งแต่ มี.ค. 2563 - พ.ค. 2564 เงินฝากในบัญชีที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 91% ของปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด [10] แต่จากผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมถึง 67.7% [11] เลยทีเดียว

นอกจากนี้การนำเงินเก็บออมมาใช้ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับครัวเรือนที่ไม่ได้มีรายได้สูง ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,274 คน ของสวนดุสิตโพลในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงที่สุดในไทย (เดือน ส.ค. 2564) พบว่าเมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่านำเงินออมมาใช้มากน้อยเพียงใด 42.63% ระบุว่าใช้ไปบ้างบางส่วน 19.36% ระบุว่าใช้ไปเกือบหมดแล้ว และ 12.64% ระบุว่าใช้ไปหมดแล้ว, เมื่อถามว่าคาดว่าจะประคองตัวเองต่อไปได้อีกประมาณเท่าใด ส่วนใหญ่ 37.37% ระบุว่าไม่เกิน 3 เดือน [12]

ความเดือดร้อนที่เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่

‘หมวกกันน็อค’ ศัพท์ที่ใช้เรียก “ผู้รับจ้างทวงหนี้นอกระบบ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักมีข่าวคราวเรื่องใช้ความรุนแรงและไม่เคารพกฎหมายในการติดตามหนี้นอกระบบ | ที่มาภาพ: เพจ Anti หมวกกันน็อค Online

การสร้างหนี้สินในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่อง ทั้งการหยิบยืมจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนรู้จัก แล้วไม่ใช้คืน ทำให้ผู้ถูกหยิบยืมบางรายก็ต้องเปลี่ยนสถานะจากเจ้าหนี้ ไปกู้หนี้ยืมสินจากบุคคลต่อๆ ไปอีกไม่รู้จักจบสิ้น และยังรวมถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ จากการทวงหนี้ของผู้รับจ้างทวงหนี้นอกระบบ ทั้งการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย และอาชญากรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนี้สิน เป็นต้น

“เท่าที่เห็น ตัวอย่างผลกระทบเช่นร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว หลายร้านต้องปิดตัวไปเนื่องจาก ‘หมวกกันน็อค’ (ศัพท์ใช้เรียกผู้รับจ้างทวงหนี้นอกระบบ) ตามไปเฝ้า ตามรังควาญเขา อันนี้ก็เห็นเยอะช่วงโควิด หรือหลายครั้งก็มีการกระทบกระทั่งกันจนเป็นคดีความ” เจ้าหน้าที่จัดเก็บหนี้สินระดับอาวุโสของธุรกิจเช่าซื้อและผ่อนชำระแห่งหนึ่งใน จ.ลำพูน กล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มว่าเจ้าหน้าที่ทวงหนี้ถูกกฎหมายจะต้องทวงหนี้ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งในกรณีของเขาบริษัทได้จัดอบรมให้ตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศบังคับใช้ ส่วนกรณีการทวงหนี้นอกระบบนั้นคงไม่มีใครทำตามกฎหมายนี้

“เราเองเป็นคนตามเก็บหนี้ ก็เข้าใจเจ้าหนี้และคนมีหน้าที่นี้ ถ้าศึกษาดูดีๆ กฎหมายไทยให้ประโยชน์ลูกหนี้มาก จนบางครั้งคนตามเก็บหนี้และเจ้าหนี้เขาก็มีอารมณ์โกรธเหมือนกัน แต่ตามกฎหมายเราไปประจาน หรือลงไม้ลงมือไม่ได้อยู่แล้ว แต่พวกเก็บหนี้นอกระบบนี่เขามีทุกรูปแบบ เพราะเขาถือว่าเขาอยู่นอกกฎหมายอยู่แล้ว” เจ้าหน้าที่จัดเก็บหนี้สินระดับอาวุโสของธุรกิจเช่าซื้อและผ่อนชำระแห่งหนึ่งใน จ.ลำพูน ระบุ

“ผลกระทบต่อเจ้าหนี้เขาก็มีนะ โดยเฉพาะที่เขาทำธุรกิจถูกกฎหมายมันส่งผลต่อธุรกิจเขาแน่นอน ถ้าบริษัทเหล่านี้ทยอยปิดตัวไปเศรษฐกิจไทยจะแย่แค่ไหน” เขากล่าวก่อนจบให้สัมภาษณ์

การก่อหนี้สินไม่ว่าจะในช่วงโควิด-19 หรือในช่วงเวลาอื่น หากไม่ใช้คืนกันก็มักจะสร้างปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างญาติและเพื่อนฝูงด้วยเช่นกัน

B กล่าวว่าแม้เธอจะเกรงใจที่ต้องหยิบยืมเงินจากเพื่อนและคนรู้จักในช่วงโควิด-19 และสัญญาว่าจะคืนให้เมื่อได้รับงานใหม่ๆ แต่ในฐานะฟรีแลนซ์ กว่าจะได้งานมาแต่ละครั้งก็ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนได้ และเมื่อทำงานได้รับค่าตอบแทนแล้วเธอก็ต้องกันเงินส่วนใหญ่ไว้สำหรับการใช้จ่ายส่วนตัวของเธอเอง จึงแทบที่จะไม่เหลือ จึงไม่ได้ใช้คืนเพื่อนที่หยิบยืมมา และแม้เพื่อนไม่ทวง เธอเองก็ไม่กล้าที่จะติดต่อพูดคุยกับเพื่อนเช่นเดิม ในขณะที่เธอยังไม่มีเงินก้อนไปคืนเพื่อน

“แม้เขาไม่ทวง แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ไม่เหมือนเดิม คือเราเองก็ไม่กล้าติดต่อพูดคุย จนกว่าจะมีเงินไปคืนเขา” B กล่าว

นอกเหนือจากสินเชื่อถูกกฎหมายแล้ว พบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนกู้ยืมเงินผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบแบบผิดกฎหมายนั่นเอง

สำหรับ A นอกจากการหมุนเงินของเขาก็ได้สร้างปัญหาความสัมพันธ์กับคนรู้จักที่เขาหยิบยืมแล้ว เขาก็ยังหันไปหาเจ้าหนี้นิรนามอย่าง ‘แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ’ ซึ่งเขาดูเหมือนจะภาคภูมิใจมิใช่น้อยที่สามารถกู้เงินผิดกฎหมายเหล่านี้ได้และโต้กลับด้วยการไม่จ่ายหนี้สินที่กู้มาได้นั้น โดย A ระบุว่าในช่วงโควิด-19 นี้มีกรุ้ปในเฟสบุ๊คที่แนะนำวิธีการกู้เงินจากแอปพลิเคชันและยังมีการสอนเทคนิค รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเบี้ยวหนี้ให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งโดยส่วนตัวของ A นั้นใช้วิธีการทิ้งเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้สมัครรับสินเชื่อจากแอปพลิเคชันเหล่านั้นไปเลย แล้วเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่

ตัวอย่างคำแนะนำในกรุ้ปโซเชียลมีเดียที่มีการแนะนำวิธีการกู้เงินจากแอปพลิเคชัน รวมทั้งสอนเทคนิคและแลกเปลี่ยนข้อมูลการเบี้ยวหนี้

จากการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พบว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีการหลอกลวงให้ลูกหนี้เข้าไปลงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ โดยให้กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลและอนุญาตให้แอปพลิเคชันนั้นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผ่านทาง Facebook LINE โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่หมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกู้ยืมเงินดังกล่าว ผู้กู้จะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน โดยแอปพลิเคชันเงินกู้ดังกล่าวจะมีการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น กู้ยืมเงิน 4,000 บาท ผู้กู้จะได้รับเงินเพียง 2,600 บาท โดยเงิน 4,000 บาทจะต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 14 วัน หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนจะมีค่าปรับตามจำนวนอัตราที่แอปพลิเคชันนั้นกำหนดไว้ เช่น กู้เงิน 4,000 บาทหากส่งคืนล่าช้าจะมีค่าปรับวันละ 400 - 600 บาท และจะมีการทวงถามไปยังบุคคลใกล้ชิดของผู้กู้ตามที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดโทรศัพท์ที่แอปพลิเคชันนั้นได้ข้อมูลไป นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่คุกคามจากการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้อีกด้วย [13]

สถิติของศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 - 30 เม.ย. 2565 มีการแจ้งการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 1,361 เรื่อง โดยการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 3 อันดับ คือ การปล่อยกู้ออนไลน์, การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย [14]

ตัวอย่างภาพข่าวความรุนแรงของการทวงหนี้ในช่วงโควิด-19 จากโซเชียลมีเดีย

จากการสำรวจตามหน้าสื่อต่างๆ พบว่ากรณีการทวงหนี้ของแก้งค์ปล่อยเงินกู้นอกระบบเหล่านี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดการจ่ายเงินมักจะมีการข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้อับอาย หลายกรณีถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกาย พยายามทำลายทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งลุกลามไปถึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิด มีการนำข้อมูลในบัตรประชาชนผู้กู้ไปใช้สร้างความเสียหายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปขายต่อ นำไปแอบอ้างหลอกลวงผู้อื่นเป็นทอดๆ หรือนำไปกระทำการผิดกฎหมายด้วยวิธีการต่างๆ นานาอีกมากมาย

เมื่อเราตั้งคำถามกับ A ว่าไม่กลัวข้อมูลส่วนตัวที่กรอกไปในแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบจะหลุดรอดไปหรือนำไปใช้สร้างความเสียหายให้กับตนเอง ครอบครัว หรือการแก้แค้นเอาคืนในรูปแบบต่างๆ ของแก้งค์เหล่านี้ที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้งหรือ? ท่าทางทีเล่นทีจริงและความภาคภูมิใจที่ได้สร้างความเสียหายแก่เหล่าผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบของ A กลับเหือดหายไปอย่างได้ชัด เขาทอดสายตาออกไปพร้อมกับถอนหายใจกล่าวว่า “คงปล่อยให้มันเป็นเรื่องของอนาคต”.

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม : 
[1] “หนี้ครัวเรือน” ทะลุ 14 ล้านล้านบาท กสิกรไทยชี้พุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี (ประชาชาติธุรกิจ, 1 เมษายน 2564)
[2] โควิด ฉุดฐานะการเงินครัวเรือนเปราะบาง หนี้ปี 64 แตะ 14.58 ล้านล้านบาท (ประชาชาติธุรกิจ, 1 เมษายน 2565)
[3] เพิ่งอ้าง
[4] ธปท.ยังให้จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ถึงสิ้นปี 2565 (Thai PBS, 20 สิงหาคม 2564)
[5] 2 ปีโควิด สถิติพบหนี้คดีบัตรเครดิต-สินเชื่อพุ่ง ขณะที่ศาลคุ้มครองผู้บริโภคยุคใหม่ ช้อปออนไลน์ได้ของไม่ตรงปกฟ้องได้ (workpointTODAY, 14 มกราคม 2565)
[6] KTC กำไรปี 63 ที่ 5.3พันล้าน คาดปี64ผลงานเติบโตสวย (กรุงเทพธุรกิจ, 9 กุมภาพันธ์ 2564)
[7] KTC กำไรปี 64 นิวไฮ 5.8 พันล้าน ปักธงปี 65 พอร์ตสินเชื่อทะลุแสนล้าน (กรุงเทพธุรกิจ, 21 มกราคม 2565)
[8] KTC แจงกำไร Q2/65 โต 12.7% ตามยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นคาดทั้งปีทะลุเป้า (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 21 กรกฎาคม 2565)
[9] โควิด ฉุดฐานะการเงินครัวเรือนเปราะบาง หนี้ปี 64 แตะ 14.58 ล้านล้านบาท (ประชาชาติธุรกิจ, 1 เมษายน 2565)
[10] เงินออมที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงวิกฤติโควิด จะถูกนำมาใช้จ่ายมากขึ้นหรือไม่ (ไทยรัฐออนไลน์, 30 กรกฎาคม 2564)
[11] ผลสำรวจแรงงานปี 65 พบหนี้ครัวเรือนพุ่งถึง 99% สูงสุดรอบ 14 ปี (ผู้จัดการออนไลน์, 28 เมษายน 2565)
[12] สวนดุสิตโพล: การใช้จ่ายของคนไทยในยุคโควิด-19 (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 23 สิงหาคม 2564)
[13] DSI แจ้งเตือนการกู้ยืมเงินผ่าน Application (กรมสอบสวนคดีพิเศษ, 8 เมษายน 2563)
[14] ตร.เตือนภัยกู้เงินนอกระบบ แนะวิธีหลีกเลี่ยง-ป้องกัน แก๊งทวงหนี้โหด (ไทยรัฐออนไลน์, 19 พฤษภาคม 2565)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net