ค่าเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 16 ปี ผลพวงจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย หวังสู้อัตราเงินเฟ้อ

ค่าเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 16 ปี ที่ระดับ 37.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ผลพวงจากนโยบายขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้อัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ ขณะที่ไทย หลายภาคส่วนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยในสัปดาห์หน้า ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐหรือไม่   

อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นบาท วันที่ 26 ก.ย.65 (ที่มา เว็บไซต์ https://www.google.com/finance)

26 ก.ย.2565 วันนี้ (26 ก.ย. 65) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี อยู่ที่ระดับ 37.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ส่วนในเมืองไทย จับตาธนาคารกลางแห่งประเทศไทยว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 28 ก.ย. นี้ หรือไม่ 

บีบีซีไทย รายงานว่า การอ่อนตัวต่อเนื่องของเงินบาทไทย เป็นผลพวงมาจากนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหวังสู้ค่าเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มขึ้น ทีเอ็นเอ็นออนไลน์ รายงานแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ในมุมมองของธนาคารกสิกรไทย ที่ให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ที่ระดับ 37.00 - 37.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามรอบสัปดาห์ คือผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ในวันพุธที่ 28 ก.ย. นี้ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยและมุมมองต่อสถานการณ์เงินบาท รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค 

ไทยรัฐออนไลน์ สรุปไว้ว่า ค่าเงินบาทอ่อน คือ การที่เงินบาทไทยสามารถแลกเป็นสกุลเงินต่างประเทศที่เป็นสกุลหลัก เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาได้น้อยลง ในทางกลับกันเงินดอลลาร์สหรัฐก็สามารถแลกเป็นเงินบาทไทยได้มากขึ้น หรือเงินบาทไทยมีมูลค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศ นอกเหนือจากการที่เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ไทยรัฐออนไลน์ ยังสรุปสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2022 นี้สรุปได้ว่ามาจากเหตุหลักๆ ได้แก่ ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย วิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อกินเวลาหลายเดือน และราคาสินค้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ

บีบีซีไทย รายงานแนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยของไทย จากบทสัมภาษณ์ อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป น่าจะมีการปรับขึ้น 0.25%-0.50% ปลายเดือนนี้ และ ครั้งต่อไป 0.25% อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.25-1.50% ในช่วงปลายปี

อนุสรณ์ อธิบายว่า ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยไทย กับดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะถ่างกว้าง 2.50-2.75% ผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเงินบาทกับพันธบัตรก็จะยิ่งกว้าง เงินทุนระยะสั้นคงไหลออกบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล เพราะไม่ได้กระทบอะไรกับคนส่วนใหญ่ เป็นหน้าที่ของนักลงทุนในตลาดการเงินต้องบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนกันเอง ในระยะต่อไป ธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งเงินกู้และเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยในตลาดโดยรวมก็เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินของครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยที่อัตราเงินเฟ้อก็อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเงินเฟ้อไทยมีปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ใช่อุปสงค์ขยายตัวร้อนแรง

อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธปท. กล่าวว่า หากแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 28 ก.ย.นี้ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมและขนาดเล็กเพิ่มเติมจากต้นทุนทางการเงิน ภาระหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ภาระหนี้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลงสำหรับกิจการที่ยอดขายยังไม่ฟื้นตัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท