Skip to main content
sharethis

กสทช.มีมติเสียงข้างมาก 4:2 ให้งบ กกท.ไปซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมาถ่ายทอดสด เสียงข้างน้อยแย้งเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ “ศิริกัญญา” เตรียมร้อง ป.ป.ช.พร้อมตั้งกระทู้ถาม “ประยุทธ์” ในสภา

9 พ.ย.2565 The Reporters รายงานถึงผลการประชุมของคณะกรรมการ กสทช.ในเรื่องที่การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ขอการสนับสนุนงบ 1,600 ล้านบาทเพื่อไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายจำนวน 64 นัดซึ่งมีประเด็นต่อเนื่องมาตั้งแต่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นหน้าที่ตนที่จะต้องทำให้คนไทยได้ดูทุกคนและให้ใช้งบประมาณจาก กสทช.

รายงานระบุว่าในการประชุมที่มีกรรมการ กสทช.ทั้งหมด 6 คน มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2เสียงให้อนุมัติเป็นเงินจำนวน 600 ล้านบาทและให้ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามระเบียบต่อไป

The Reporters ระบุรายชื่อของกรรมการเสียงข้างที่อนุมัติทั้ง 4 คนได้แก่ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช., พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ด้านกิจการกระจายเสียง, ต่อพงศ์ เสลานนท์ ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และพล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร ด้านกฎหมาย กสทช. ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับเหตุผลที่อนุมัติคือเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการรับชมกีฬาตามกฎประเภทกีฬา 7 ชนิดที่ กสทช.กำหนดไว้ แต่กรรมการบางคนถึงจะเห็นด้วยแต่จำนวนงบประมาณอาจไม่จำเป็นต้องถึง 600 ล้านบาทก็ได้

รายงานระบุถึงกรรมการ 2 คนที่เป็นเสียงข้างน้อยคือพิรงรอง รามสูต กรรมการด้านกิจกรรารโทรทัศน์และ ศุภัช ศุภชลาศัย ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มีความเห็นว่าการใช้เงินจากกองทุนในเรื่องนี้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน

หลัง กสทช.มีมติทางด้าน กกท.ก็เร่งประชุมเพื่อหาแนวทางเจรจาหาแหล่งทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาทและจะขอส่วนลดจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพราะราคา 1,600 ล้านบาทเป็นราคาประเมินก่อนหน้านี้ แต่คาดว่าจะมากกว่านี้เพราะใกล้เวลาการแข่งขันและมีค่าใช้จ่ายอื่นอีก

สำหรับเหตุผลของกรรมการเสียงข้างมากนั้นตามข่าวประชาสัมพันท์ของ สำนักงาน กสทช.ระบุถึงไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.กล่าวในประเด็นนี้ว่าคณะกรรมการมีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนั้นเลขาฯ กสทช. ยังระบุต่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง กสทช. สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อีกทั้งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)

นักวิชาการประสานเสียงค้าน กสทช. อนุมัติเงินซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก

ศิริกัญญาเตรียมฟ้อง ป.ป.ช.และตั้งกระทู้ถาม “ประยุทธ์” ในสภา

นอกจากนั้น The Reporters รายงานถึงด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่แสดงท่าทีคัดค้านตั้งแต่เมื่อวานนี้ วันนี้ยังกล่าวถึงมติ กสทช.อนุมัติเงิน กทปส. 600 ล้านบาทให้ กกท.ด้วยว่าเหตุผลของ กสทช.เป็นการตีความกฎหมายบิดเบือนเพื่ออนุมัติเพราะวัตถุประสงค์ของกองทุนตาม ตามมาตรา 52 (1) พ.ร.บ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่มีเนื้อหากำหนดวัตถุประสงค์เพื่อช่วยคนพิการคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสได้มีการเข้าถึงการกระจายเสียงของวิทยุโทรทัศน์เสมือนบุคคลทั่วไป ซึ่งหากใช้สามัญสำนึกพิจารณาก็เห็นว่าเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกไม่เข้าวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังกล่าวชี้ชวนจับตาว่าที่จะมีการหาส่วนที่ยังขาดอีก 1,000 ล้านบาทมาจากที่ไหนซึ่งมีอาจมีการใช้โมเดลเดียวกับการถ่ายทอดสดโอลิมปิกที่ กสทช.สมทบเงินกับกองทุนพัฒนากีฬาที่ขณะนี้ไม่รู้ว่ายังเหลือเงินอยู่เท่าไหร่ซึ่งเข้าใจว่าโอลิมปิกมีความสำคัญและเข้าถึงประชาชนจริงๆ เพราะมีนักกีฬาไทยเข้าร่วมด้วยแต่ต่างกับฟุตบอลโลกที่ไม่ได้มีเงื่อนไขแบบเดียวกันนี้ และกฎ Must Have และ Must Carry ก็ยังเป็นปัญหา

ศิริกัญญาระบุว่าเรื่องมติของ กสทช.ครั้งนี้จะมีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ด้วย

“เดียร์” เสนอแก้กฎ Must Have Must Carry

ก่อนที่ กสทช.จะมีมติทาง วทันยา บุนนาค หรือ เดียร์ อดีต ส.ส.พลังประชารัฐและผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทย รุ่นไม่เกิน 23 ปี ที่ปัจจุบันนี้เป็นประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ขอสนับสนุนงบประมาณจาก กสทช.เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ฉายฟุตบอลโลกเป็นมูลค่า 1,600 ล้านบาท พร้อมตั้งคำถามว่ารัฐสมควรเอาเงินของ กสทช.มาใช้ในกรณีนี้หรือไม่

วทันยาระบุว่ากฎ Must Carry หรือ Must Have ที่ กสทช.ออกมาหลังการประมูลทีวีดิจิทัล เพื่อไม่ให้เกิดการปิดกั้นการถ่ายทอดสดเวทีระดับชาติจากผู้ประมูลลิขสิทธิ์อย่างที่เคยเกิดในกรณีฟุตบอลโลก 2014 ที่ตอนแรกเหมือนออกมาเพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกเอาเปรียบแต่เวลาผ่านไปกลับกลายเป็นว่ากฎดังกล่าวเป็นการบิดเบือนและแทรกแซงกลไกตลาดในการซื้อขายลิขสิทธิ์เพราะราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดรายการแปรผันตามฐานจำนวนผู้ชมที่ยิ่งคนดูมากราคายิ่งแพงขึ้นตาม รายการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีคนติดตามทุกเพศทุกวัยจึงมีมูลค่าสูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับรายการถ่ายทอดสดอื่นๆ

วทันยาชี้ปัญหาว่ากฎ Must Carry ของ กสทช.ทำให้เจ้าของธุรกิจไม่อยากลงทุนเพราะไม่สามารถหารายได้และกำไรจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้เพราะไม่ได้สิทธิ์เป็นการเฉพาะทำให้เอกชนรายอื่นไม่ต้องจ่ายเงินเพราะจะได้สิทธิ์ไปถ่ายทอดสดในช่องตัวเองจากกฎของ กสทช. ทำให้ไม่มีช่องโทรทัศน์หรือเจ้าของแพลตฟอร์มจะอยากประมูลซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดเพราะไม่ได้ประโยชน์และยังมีโอกาสจะขาดทุนด้วย โดยเธอชี้ว่าที่เมื่อก่อนไม่มีปัญหานี้เพราะช่อง 3 5 7 9 หรือ “ทีวีพูล” ร่วมกันลงทุนซื้อมาถ่ายและจัดสรรไปตามสัดสวนที่ลงทุน หากผู้ประกอบการรายอื่นอยากได้เนื้อหารวมไปถึงผู้ที่ต้องการให้สินค้าตัวเองออกอากาศระหว่างถ่ายทอดก็ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้กับกลุ่มสถานีดังกล่าวถือเป็นการหารายได้ของผู้ประมูลลิขสิทธิ์ที่ปฏิบัติกันมา

“หากจะแก้ปัญหาให้ถูกต้องก็ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุด้วยการทบทวนกฎ Must Carry ใหม่ ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ (ซึ่งอาจใช้ไม่ได้กับกรณีบอลโลกปีนี้) ด้วยการให้รัฐหาเงินมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะจากการะดมทุนในบริษัท บิ๊กคอร์ปให้ช่วยอุดหนุน หรือจะจากงบรัฐ ที่ทำให้เกิดคำถามตามมาของคนที่ไม่ใช่แฟนบอลว่าแล้วทำไมต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้กับเรื่องที่เขาไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นด้วยการใช้กลไกธุรกิจ เพื่อไม่สร้างภาระให้รัฐ และประชาชนเหมือนเช่นในอดีตที่ก็เคยทำกันมาอยู่แล้ว” อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติระบุ

‘ชนินทร์ เพื่อไทย’ ชี้ 1,600 ล้านแพงไป มีใครรอรับตังค์ทอนหรือไม่

ก่อน กสทช.จะมีมตินอกจากวทันยาจะออกมาแสดงความเห็นแล้ว ทางฝ่ายสื่อพรรคเพื่อไทยยังรายงานถึงความเห็นของชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันนี้ (9 พ.ย.65) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. ประชุมพิจารณาเตรียมใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เป็นค่าลิขสิทธิ์ 1,600 ล้านบาทในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก Qatar 2022 ระหว่างวันที่ 21 พ.ย. – 18 ธ.ค. 65 หลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้การกีฬาแห่งประเทศไทยประสาน กสทช. นั้น มองว่าการจะซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในราคาดังกล่าว เป็นราคาที่แพงเกินควร แพงกว่าประเทศอื่นเป็นเท่าตัว พรรคเพื่อไทย มองว่า คนไทยควรได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก แต่ต้องมีราคาที่สมเหตุสมผล เพราะในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง หลายคนยังตกงาน ไม่มีงานทำ การจะใช้เงินงบประมาณในทุกภาคส่วนต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลรองรับที่เหมาะสม เพราะประชาชนอาจตั้งคำถามได้ว่าจะมี ‘มีใครรอรับตังค์ทอน ส่อทุจริตหรือไม่’

พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคฝ่ายค้านซึ่งมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติมีความกังวลในเรื่องนี้ ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ปล่อยปละละเลยให้ไทยต้องจ่ายแพง กสทช.เองควรต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วน และต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าทำไม ไทยต้องจ่ายแพงกว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลโดยใช้เงินภาษีของประชาชนตลอด 8 ปีก็ทำได้ไมดีนัก ดังนั้นในครั้งนี้การใช้จ่ายงบทุกอย่างต้อง ‘ไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายมือเติบ’ เพราะประเทศไทยก็อับอายมากพอแล้วจากอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เฉพาะในปี 2564 คะแนนของไทยลดลง จาก 36 เหลือ 35 คะแนน อันดับร่วงลงจากอันดับที่ 104 ในปี 2563 มาอยู่อันดับที่ 110 ในปี 64 ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีความรู้ความสามารถในการซื้อของได้ในราคาสมเหตุสมผลในภาวะข้าวยากหมากแพงแบบนี้ ก็ไม่สมควรเป็นรัฐบาลซึ่งต้องเป็นที่พึ่งที่หวังของพี่น้องประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net