Skip to main content
sharethis
  • มติรัฐสภาปัดตกร่างปลดล็อกท้องถิ่น รับหลักการ 254 เสียง ไม่รับหลักการ 245 เสียง งดออกเสียง 129 เสียง ในจำนวนนี้มี ส.ว.เห็นชอบจำนวน 6 เสียง
  • พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์พรรคต่อกรณีที่มีการพยามโจมตีว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่เป็นความจริงที่ผ่านมา

7 ธ.ค.2565 จากที่วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่ประชุมรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่าง “ปลดล็อกท้องถิ่น” จากการเสนอของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน นั้น ล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา อ่านผลการลงมติว่า ที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนรับหลักการ 254 เสียง ไม่รับหลักการ 245 เสียง งดออกเสียง 129 เสียง คะแนนรับหลักการมีนำนวนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา คือน้อยกว่า 361 เสียง ในจำนวนนี้มี ส.ว.เห็นชอบจำนวน 6 เสียง น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ส.ว. คือน้อยกว่า 83 เสียง ดังนั้นมติที่ประชุมคือไม่รับหลักการ

'ก้าวไกล' แจงร่างปลดล็อกท้องถิ่น ยันพรรคไม่มีนโยบายยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

 

ขณะที่ก่อนหน้านั้น พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์พรรคก้าวไกล ต่อกรณีที่มีการพยามโจมตีว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่เป็นความจริงที่ผ่านมา

โดยระบุว่า 

คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนที่เข้าชื่อจำนวน 80,772 คน ภายใต้ชื่อแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น”

หัวใจสำคัญของข้อเสนอคือการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเองและยกระดับการพัฒนาของพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ตัวแทนของประชาชนผู้เสนอร่าง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างฯ โดยสมาชิกรัฐสภาจากหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นในเชิงสนุบสนันกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ แม้อาจมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด

ทางเราได้พยายามชี้แจงและตอบทุกข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป แต่เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบางท่านอาจยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสถานะและบทบาทของข้าราชการส่วนภูมิภาค และ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ (เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะความกังวลที่ถูกสะท้อนในแถลงการณ์ของ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 (6 ธันวาคม 2565) ทางเราจึงขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนดังกล่าว

1. ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องที่ มีลักษณะที่แตกต่างกัน - ส่วนภูมิภาคประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ (อ้างอิง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 มาตรา 51) ซึ่งข้าราชการมาจากการแต่งตั้ง ในขณะที่ส่วนท้องที่ประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือก และถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ้างอิง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อเสนอใดๆ เกี่ยวกับราชการส่วนท้องที่ ดังนั้น จึงไม่นำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด

2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอ ไม่ได้เสนอให้มีการเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยทันที เพียงแต่เสนอให้มีการเปิดบทสนทนาให้สังคมพิจารณาถึงบทบาทและความจำเป็นของราชการส่วนภูมิภาค และให้คณะรัฐมนตรีจัดแผนรองรับอย่างชัดเจนและรอบคอบ ก่อนจะให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เป็นผู้ตัดสินว่าจะมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ ผ่านประชามติที่จะจัดขึ้นภายใน 5 ปี โดยมีแผนงานเตรียมรับมือหากผลประชามติออกมาให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

3. หากประชาชนเห็นชอบในประชามติให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เราสามารถวางหลักประกันได้ว่า:
- ข้าราชการส่วนภูมิภาคจะไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียผลประโยชน์และความก้าวหน้าทางอาชีพ เพียงแต่เปลี่ยนสังกัดไปอยู่กับส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น
- เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ ซึ่งรวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จะยังคงอยู่เช่นเดิม และสามารถมาตกลงร่วมกันได้ว่าจะถูกกำกับดูแลภายใต้สังกัดใด และเปิดช่องให้มีการออกแบบรูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์กว่าเดิมในเรื่องของค่าตอบแทน ความก้าวหน้าทางอาชีพ และการทำงานที่ยึดโยงกับประชาชน

ทั้งนี้ ทางเราขอยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรานำเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภา ถูกออกแบบบนพื้นฐานของการเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่

ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่ารัฐสภาจะมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวันนี้ โดยเรายินดีนำข้อเสนอแนะของทุกฝ่าย มาพิจารณาเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net