Skip to main content
sharethis

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) แถลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 2565 ชี้ปีนี้ไทยมีความก้าวหน้า 10 เรื่อง มีความถดถอย 10 เรื่อง

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ณ สำนักงานนักเรียนคริสเตียน  สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ทำการนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ประจำปี2565 เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล (10 ธันวาคมของทุกปี) ทั้งนี้การนำเสนอรายงานดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ สสส. ทำเป็นประจำทุกปี   ซึ่งครั้งนี้ สสส. ได้จัดการนำเสนอรายงาน นำโดย ศราวุฒิ ประทุมราช  ประธาน สสส. ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์  รองประธาน สสส. ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำรายงาน  ร่วมด้วย สุนทรี เซ่งกิ่ง ที่ปรึกษา สสส. และวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ สสส.  
    
โดยในการจัดทำรายงานฉบับนี้ คณะทำงานจัดทำรายงานได้ใช้กรอบแนวคิดสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยให้การรับรอง เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยรัฐ ภาคธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม  ซึ่งในปีนี้ ทาง สสส. ได้หยิบยกสถานการณ์ 10 เรื่องที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้นจากในอดีตที่ผ่านมา  ขณะเดียวกันยังมีอีก 10 สถานการณ์ที่ สสส. เห็นว่ารัฐไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข หรือบ่งชี้ว่ารัฐไทยได้ละเลยที่จะพัฒนาให้สิทธิมนุษยชนประเด็นต่างๆเกิดผลในทางปฏิบัติ รวมถึงบางกรณีรัฐไทยยังเป็นผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีรายละเอียดดังนี้

เรื่องถดถอยที่ 1  การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม การคุกคาม และสอดแนมผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

มีกรณีที่เกิดขึ้นชัดเจนดังเช่น การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC 2022”  ซึ่งนอกจากละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมแล้ว ในขั้นตอนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุโดยไม่ยึดหลักการปฏิบัติแบบ “จากเบาไปหนัก” จนทำให้มีประชาชนบาดเจ็บรุนแรงจำนวนมาก   ทั้งยังเข้าข่ายว่า เจ้าพนักงานไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่จะต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการจัดการชุมนุมก่อน เท่ากับว่าเจ้าพนักงานตำรวจเป็นฝ่ายกระทำผิดขั้นตอนทางกฎหมายที่อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองอีกด้วย 
    
นอกจากนี้ในกรณีการจัดการชุมนุมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง หรือการชุมนุมจากปัญหาสิทธิชุมชน ความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ชุมนุมยังต้องเผชิญการถูกคุกคามจากรัฐในหลากหลายรูปแบบ  โดยมีกรณีที่เด่นชัดเช่น การชุมนุมของ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ซึ่งข้อมูลจากการรายงานโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า  ตลอดปี 2565 มีจำนวนประชาชน นิสิตนักศึกษา นักเรียนที่ร่วมการชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐรวมอย่างน้อย 224 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนจำนวน 20 คน ซึ่งมีการใช้การมาตรการจับกุมผู้ชุมนุมไปคุมขังไว้ในเรือนจำ อันละเมิดต่อหลักการที่ผู้ต้องหาในคดีที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์  ทั้งยังพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ถูกนำไปคุมขังไว้ในเรือนจำด้วย
    
อีกกรณีที่น่ากังวลอย่างมากคือการนำเทคโนโลยีสปายแวร์ (spyware) เข้ามาใช้ในการสอดแนมเพิ่มจากการสอดแนมทางกายภาพอย่างที่เคยพบเห็นกัน โดยพบว่ามีเหยื่อที่ถูกคุกคามด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวในไทยอย่างน้อย 35 ราย 

เรื่องถดถอยที่ 2 การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112  หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (บางครั้งเรียก หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์)

ยังคงเป็นปัญหาที่สะท้อนถึงความถดถอยเรื่องเสรีภาพในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในประเทศไทย โดยในปี 2565 พบว่า มีการดำเนินคดีด้วยการตั้งข้อหาดังกล่าว 55 คดี  มีผู้ถูกตั้งข้อหา 68 คน ผู้ต้องหาในคดีเหล่านี้มักต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดีตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่หลายรายต้องยื่นหลายครั้งจึงได้รับอนุญาต และเมื่อมีการอนุญาตก็มักมีการเรียกหลักประกันในการปล่อยตัวในอัตราที่สูง โดยเฉลี่ยคดีละ 1 แสนบาทต่อราย พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการกำหนดให้ใส่กำไล EM  ทั้งหมดนี้เป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการว่า  “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
    
ส่วนปัญหาเกี่ยวกับตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้อนี้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เคยมีการออกบทสรุปเชิงสังเกตเกี่ยวกับการทบทวนรายงาน สานการณ์ของประเทศไทย ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ครั้งที่สอง เมื่อปี 2560โดยแนะนำให้รัฐไทยทบทวนแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ 19 แห่ง ICCPR ในเรื่องสิทธิที่จะมีความคิดเห็น เสรีภาพการแสดงออก  ทั้งในการจัดทำกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (UPR) โดยองค์การสหประชาชาติ รอบที่ 3 เมื่อปี 2564  หลายประเทศได้เสนอแนะให้รัฐไทยยกเลิกการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในฐานความผิดตาม ป.อาญา มาตรา112   ซึ่งก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทย  ทั้งๆที่ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงแค่การเสนอให้ “แก้ไข”  ไม่ได้เสนอให้ “ยกเลิก” กฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด

เรื่องถดถอยที่ 3 การนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

ในรอบปี 2565 มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนโดยทั่วไปว่า  พนักงานสอบสวนมักนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเป็นผู้กระทำผิด พร้อมกับนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ อันเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการที่ว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”  นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้ต้องหาและญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลได้รับความเสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงอีกด้วย
    
ส่วนการนำผู้ต้องหาไปชี้สถานที่เกิดเหตุ เพื่อประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหานั้น เป็นสิ่งที่ศาลจะนำมายืนยันความผิดของผู้ต้องหาไม่ได้ ถือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ เว้นแต่กรณีจำเป็น ซึ่งหากจะดำเนินการดังกล่าว ต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในสถานที่นำชี้ด้วย   ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ อ้างอิงได้จากแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 7562/2537 แต่ทุกวันนี้พนักงานสอบสวนก็ยังปฏิบัติกันโดยผิดไปจากแนวคำพิพากษานี้กันอยู่

เรื่องถดถอยที่ 4 การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด?

ในรอบปี 2565 มีกรณีที่ปรากฏเป็นจำนวนมากว่า เจ้าพนักงานรัฐได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาโดยผิดไปจากหลักการตามรัฐธรรมนูญที่ว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”  โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม  หรือถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112   มักถูกปฏิบัติเสมือนเป็นผู้ต้องหาที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดไปแล้ว   ผู้ต้องหาเหล่านี้มักถูกนำไปคุมขังในเรือนจำ  เผชิญความยากลำบากในการใช้สิทธิขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว  แม้ขอปล่อยตัวชั่วคราวได้สำเร็จ ก็ยังต้องถูกวางเงื่อนไขจำกัดสิทธิต่างๆ ตั้งแต่เรื่องสิทธิการแสดงออก สิทธิการชุมนุม  ถูกยื่นเงื่อนไขให้วางหลักปลักกันในการปล่อยตัวเป็นวงเงินที่สูง รวมถึงถูกติดกำไล EM

เรื่องถดถอยที่ 5 กรณีเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู

อันถือเป็นเหตุการณ์การใช้อาวุธปืนกราดยิงประชาชนในที่สาธารณะที่อุกอาจสะเทือนขวัญอีกครั้งหนึ่ง จากที่เมื่อปี 2563 มีเหตุกราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้า โดยมีผู้ก่อเหตุเป็นทหารในราชการ  ส่วนครั้งนี้ในปี2565 ผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการไปแล้ว  ซึ่ง2เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยของประชาชน ด้วยเหตุที่รัฐบกพร่องในการควบคุมการเข้าถึง พกพาอาวุธปืนของบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นทหาร ตำรวจ แม้ในยามนอกเวลาปฏิบัติราชการ หรือแม้แต่กับผู้ที่พ้นจากราชการในเหล่าทัพไปแล้ว  และสำหรับเหตุการณ์ในปี2565นี้ เหตุยังเกิดขึ้นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งผู้เสียชีวิตยังเป็นเด็กเล็กถึง 24 ราย ซึ่งยังได้บางชี้ความล้มเหลวด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐอีกประการ นั่นคือการที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ ไม่อาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอย่างที่ควรต้องเป็น

เรื่องถดถอยที่ 6 สิทธิชุมชน

แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายสำหรับประชาชนตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 จนมาถึงฉบับปัจจุบัน ประกอบกับการมีกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม ที่กำหนดการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่สุดท้าย การมีส่วนร่วมของประชาชนมักไม่เกิดผลหรือมีความหมายในทางปฏิบัติ  หลายครั้งประชาชนถูกกีดกันการมีส่วนร่วมในกระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว หรือแม้ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ก็มักถูกปฏิบัติให้เป็นเพียงพิธีการ จนทำให้เกิดความขัดแย้งในหลายพื้นที่ หลายกรณี  ทั้งในปีนี้ ยังมีกรณีของแสงเดือน ตินยอด ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษายืนยันความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน แม้ว่าเป็นการอยู่อาศัยบนที่ดินที่ถือครองกันมาตั้งแต่ก่อนการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวน  โดยในคำพิพากษานั้น แม้ว่าแสงเดือนจะได้รับการให้รอลงอาญาสำหรับโทษจำคุก แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ถือเป็นการชี้ว่าแสงเดือนเป็นผู้กระทำความผิดจริง ทั้งคำพิพากษายังคงให้ดำเนินโทษปรับเป็นเงินต่อไป  ที่สำคัญคือ ศาลได้สั่งให้แสงเดือนต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากพื้นที่ เท่ากับว่าแสงเดือนไม่มีสิทธิอยู่อาศัยบนที่ดินที่ควรเป็นของตนโดยชอบธรรมอีกต่อไป

เรื่องถดถอยที่ 7 สิทธิของผู้ลี้ภัยชาวพม่า

สืบเนื่องจากการรัฐประหารโดยกองทัพทหารแห่งเมียนมา  ตั้งแต่ปี 2564 ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องหนีภัยสงคราม หนีภาวะความอดอยากหิวโหยจากภาวะเศรษฐกิจภายใต้การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาในไทยจำนวนมาก  ซึ่งในปี 2565 กองทัพเมียนมาใช้การโจมตีทางอากาศบริเวณเมืองเลเกะก่อ ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้มีประชาชนเมียนมาต้องหนีภัยสงครามข้ามมาฝั่งไทยจำนวนมาก โดยฝ่ายความมั่นคงของไทยจะพาผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่มีสภาพย่ำแย่ พบปัญหาอาหารบูด ห้องน้ำไม่เพียงพอ ทั้งเสี่ยงต่อการถูกลูกหลงจากกระสุนปืนใหญ่  และที่สุดคือ มักมีการใช้กำลังทหารพรานเข้าไปผลักดันประชาชนเมียนมาที่หนีตายข้ามมายังฝั่งไทยให้ต้องกลับไปเผชิญเคราะห์กรรมที่ฝั่งเมียนมา   ทั้งมีกรณีที่ชาวเมียนมาพยายามตั้งค่ายลี้ภัยริมแม่น้ำเมย โดยมีองค์กรระหว่างประเทศพร้อมให้ทุนช่วยเหลือ แต่ก็ดำเนินการไม่ได้เพราะทางการไทยไม่อนุญาตโดยไม่ทราบเหตุผล  
    
และยังมีกรณีปรากฏอีกว่า ตำรวจไทยได้ทำการเรียกเก็บส่วยจากผู้ลี้ภัยที่ต้องการอยู่ในเขตประเทศไทย ผู้ลี้ภัยมากมายแม้ยอมจ่ายส่วย แต่ก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยงกับสถานการณ์เป็นผู้หนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หลายคนกลายเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งหมดนี้คือแสดงถึงความไร้มนุษยธรรมของรัฐไทยที่จงใจไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้ที่ลี้ภัยไปยังประเทศอื่น ให้รอดพ้นจากการประหัตประหารที่เกิดขึ้นในประเทศที่ตนเป็นพลเมืองอยู่ได้

เรื่องถดถอยที่ 8 เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ากับคำสัญญาลมปาก

แม้ว่าคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน  มีผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยร่วมเป็นคณะกรรมการ ได้มีมติตั้งแต่ปี2563แล้วว่า ให้ปรับระบบสวัสดิการเงินอุดหนุนบุตรอายุ 0-6ปี จากที่เป็นรูปแบบเงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนที่มีเด็ก(ตามเงื่อนไขบ่งชี้ภาวะความยากจนตามที่รัฐกำหนด) เปลี่ยนมาเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าคือ จ่ายให้กับเด็กไทยทุกคน ยกเลิกเกณฑ์การคัดกรองความยากจนที่ใช้อยู่ออกไป โดยให้มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณแผ่นดิน2565  แต่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กลับไม่ดำเนินในการของบประมาณแผ่นดินมาเพื่อให้การจ่ายเงินอุดหนุนบุตรเป็นไปตามมติ กดยช.  ทั้งๆที่การจะจ่ายเงินอุดหนุนบุตรให้เป็นแบบถ้วนหน้านั้นใช้งบประมาณเพียงแค่ราวๆ 4หมื่นล้านบาท ซึ่ง พม. สามารถที่จะขอ “งบกลาง” ที่มีถึง5.8แสนล้านบาทมาใช้ได้ โดยขอเงินจากงบกลางเพียง 2.1 หมื่นล้านบาท ก็จะทำให้เด็กไทย 2.2 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 4.2 ล้านคน ได้รับสวัสดิการนี้ โดยมิได้เป็นภาระทางการคลังอย่างที่รัฐมักกล่าวอ้าง ซึ่งยิ่งในภาวะโรคระบาดโควิด-19เช่นนี้ เงินอุดหนุนบุตรเดือนละ 600 บาทจะยิ่งมีความสำคัญมากๆ แต่ พม. กลับไม่ดำเนินการของบกลางมาใช้เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าวและเพื่อให้เป็นไปตามมติ กดยช.  ซ้ำในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินปี2566 (ทำในปี2565 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน2566) รัฐบาลก็มิได้นำมติ กดยช. ดังกล่าวมาพิจารณาในการจัดทำงบประมาณอีกเลย  ถือเป็นการที่รัฐได้เพิกเฉยต่อพันธกรณีในการดูแลเด็กและครอบครัวตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ 

เรื่องถดถอยที่ 9  คนพิการกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ซึ่งจากงานวิจัยที่ได้เก็บตัวอย่างจากเด็ก ผู้หญิง บุคคลข้ามเพศทั้งหมด 51 คน จาก 31 จังหวัด โดยที่ทุกคนในกลุ่มตัวอย่างการวิจัยนี้ มีมิติความเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางทับซ้อนอยู่อีกชั้นคือภาวะความ “พิการ”   ผลการวิจัยพบว่าบุคคลเหล่านี้ถูกกระทำความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ โดยรูปแบบความรุนแรงที่สูงที่สุดคือการถูก “ข่มขืน”  รองลงมาคือการถูก “รุมโทรม”  และปรากฏภาวะการถูกกระทำความรุนแรงรูปแบบอื่นๆทั้งการทำร้ายร่างกาย  การใช้วาจารุนแรง การละเลยทอดทิ้ง การค้ามนุษย์ การฉ้อโกง การละเมิดสิทธิด้านสุขภาพ(ตัดมดลูก)  โดยเกือบจะทั้งหมดผู้กระทำความรุนแรงเป็นเพศชายซึ่งมีสถานะเป็นพ่อ ญาติ สามีของผู้ถูกกระทำ  ที่น่ากังวลคือ อัตราส่วนกรณีความรุนแรงที่ได้มีการแจ้งความ(เจ้าพนักงานรับแจ้งความแล้ว)มีต่ำกว่ากรณีที่ไม่ได้มีการแจ้งความ  และในรายละเอียดของคดีที่เจ้าพนักงานรับแจ้งความนั้น ได้มีการเอาผิดผู้ก่อเหตุเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก จำนวนมากคือเอาผิดผู้กระทำไม่ได้ หรือคดีไม่มีความคืบหน้า ทั้งยังมีกรณีน่าตกใจคือ มีลัทธิที่เชื่อว่า การนำเด็กผู้หญิงที่พิการแต่กำเนิดไปให้ผู้ชายในลัทธิทำการข่มขืน จะบำบัดภาวะความพิการได้  ซึ่งมีครอบครัวที่หลงเชื่อจำนวนมาก

แม้กรณีเหล่านี้จะเป็นความรุนแรงระหว่างปัจเจกบุคคล ต่อด้วยการที่กรณีเหล่านี้มีอัตราส่วนของการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติรรมอยู่ในระดับที่สูงมาก จึงบ่งชี้ว่ารัฐไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีภาวะความเป็นผู้พิการทับซ้อนอยู่  ทั้งสะท้อนถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทยในการคุ้มครองความรุนแรงต่อผู้พิการ 

เรื่องถดถอยที่ 10 ยกเลิกคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง

โดยที่ “ประกันสังคม” คือระบบหลักประกันที่มีเงินกองทุนจากการจ่ายสมทบกันระหว่างนายจ้าง แรงงาน และรัฐบาล  พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 จึงมีสาระสำคัญประการหนึ่งอันเกิดจากการผลักดันของขบวนการแรงงานคือ ให้มีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ใน “คณะกรรมการประกันสังคม”  ฝ่ายละ 7 คน มาจากการ “เลือกตั้ง”  แต่การเลือกตั้งคณะกรรมการในสัดส่วนผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตน แต่การเลือกตั้งคณะกรรมการฯในสัดส่วนผู้แทน2ฝ่ายดังกล่าวก็ถูกเลื่อนโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)   กระทั่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่....) พ.ศ..... ที่มีการแก้ไขในสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของคณะกรรมการประกันสังคมจากผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คือ ให้เป็น “ไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”  หมายความว่าจะไม่มีกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนที่มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง

แม้ร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับ ครม. จะยังต้องรอผ่านเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภาก่อน จึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต แต่ในวันนี้การกระทำของรัฐบาลก็ได้แสดงออกชัดเจนแล้วถึงเจตนาที่จะกีดกันไม่ให้แรงงานกว่า 24 ล้านคน ในระบบประกันสังคม ได้มีส่วนร่วมที่จะกำหนดชีวิตของตนเอง ในการร่วมเป็นเจ้าของและบริหารกองทุนที่ได้เงินมาจากการร่วมจ่ายสมทบของแรงงานผู้ประกันตน 

แม้ปีนี้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยจะมีความถดถอยถึง 10 เรื่อง แต่ สสส. ก็ยังมองเห็นว่ามีสิ่งบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในปี2565 อีกถึง 10 เรื่องเช่นกัน ดังนี้

เรื่องก้าวหน้าที่ 1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

ซึ่งได้ภาคประชาสังคมได้ผลักดันเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา จนในที่สุดก็ได้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 (จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วันนับจากวันดังกล่าว)  ซึ่งหมายถึงว่าจากนี้เราจะมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนจาก “การทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และการกระทำให้บุคคล “สูญหาย” ที่เกิดจากการกระทำหรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐจากการกระทำการดังกล่าว  รวมถึงผู้ถูกกระทำ/ครอบครัวผู้ถูกกระทำ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ชดเชยเยียวยาความสูญเสีย เสียหายอีกด้วย 
    
อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้มาซึ่งกฎหมายฉบับนี้ รายละเอียดบางประการที่สำคัญได้ถูกตัดหายไปในช่วงกระบวนการพิจารณาทางรัฐสภา เช่น ขาดข้อความผิดฐานย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขาดข้อห้ามไม่ให้นิรโทษกรรมผู้ก่อการทรมานหรือบังคับหายสาบสูญ  ไม่ได้กำหนดให้ผู้แทนผู้เสียหายเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง  การไม่ให้บันทึกวิดีโอระหว่างควบคุมตัว  การให้อำนาจกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงแค่ในการตรวจสอบเหตุเฉพาะตามเรื่องที่มีการยื่นร้องเรียนเข้ามา  ขาดการกำหนดห้ามไม่ให้ศาลยอมรับพยานหลักฐานที่มาจากการทรมานผู้ต้องหา เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้องผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกันในอนาคต 

เรื่องก้าวหน้าที่ 2 พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565

เพราะ “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied)”   รัฐสภาของไทยได้ให้ความเห็นชอบในการตราพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565ขึ้นมา โดยกฎหมายนี้ได้ถูกตราขึ้นมาเพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  และผ่านขั้นตอนทางรัฐสภาจนได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา   ซึ่งหัวใจสำคัญของกฎหมายนี้คือ การกำหนดให้หน่วยงานต่างๆในกระบวนการยุติธรรมทั้งที่อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร องค์กรศาล องค์กรอิสระ ต้องกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาเรื่องต่างๆที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆอย่างชัดเจน  กำหนดให้หน่วยงานต่างๆมีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะเพื่อตรวจสอบกรณีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนจากความล่าช้าในการดำเนินงานของหน่วยงาน แล้วแจ้งผลการตรวจสอบภายใน50วันนับแต่รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เหล่านี้คือการอำนวยให้สิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมมีความรวดเร็ว หรือมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์วางแผนในเรื่องที่หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมต่างๆรับผิดชอบอยู่ได้

เรื่องก้าวหน้าที่ 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565

ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 นั้น เป็นกฎหมายที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนที่ได้กระทำผิดกฎหมายเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำความผิดเพราะภาวะความยากจนบีบบังคับนั้น ได้รับโอกาสที่จะรับการพิจารณาโทษในรูปแบบที่ไม่ใช่โทษอาญา  โดยปรับเปลี่ยนโทษอาญาบางประการที่มุ่งการปรับเป็นเงิน(ตามท้ายบัญชีของกฎหมายนี้)  ให้กลายมาเป็นมาตรการ “ปรับเป็นพินัย” ที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่ให้มีสภาพเป็นโทษอาญา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับที่ต้องชำระให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดให้สอดคล้องกัน  และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนการชำระค่าปรับได้ โดยไม่มีการกักขังแทนค่าปรับดังเช่นที่เป็นอยู่ในคดีอาญา ที่สำคัญคือ ผู้กระทำผิดที่เข้าข่ายที่จะได้รับพิจารณาโทษตามกฎหมายนี้ จะไม่ต้องมี “ประวัติอาชญากรรม” ติดตัว  ทั้งนี้เพื่อเป็นการขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ในแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย

เรื่องก้าวหน้าที่ 4 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 (PDPA)

มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 หลังจากเลื่อนการประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี  นับเป็นกฎหมายที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิด ทั้งกำหนดให้การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใด ต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือตามที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองประชาชนในยุคนี้ที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกดิจิทัลที่มีการใช้ข้อมูลของประชาชนที่จะได้รับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เรื่องก้าวหน้าที่ 5 สิทธิของผู้เสียหายซึ่งเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

สืบเนื่องจากกรณีแรงงานข้ามชาติหญิงรายหนึ่งที่เข้าเมืองโดยไม่ผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกคนร้ายข่มขืนกระทำชำเรา จึงเดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เธอได้ยื่นขอรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายคดีอาญา อันเป็นสิทธิที่พึงควรได้เนื่องจากเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544  แต่คณะอนุกรรมการของกระทรวงยุติธรรม กลับมีคำสั่งยกคำขอ ไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายให้ โดยอ้างว่า “เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว ผู้เสียหายจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนค่าเสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แต่คณะกรรมการฯ ยังคงยืนตามวินิจฉัยเดิมของคณะอนุกรรมการฯ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายโครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการและความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติ (Services & Access) ร่วมกันช่วยเหลือ และพาแรงงานหญิงข้ามชาติผู้เสียหายรายนี้ไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลาง ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ 
    
จนในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ศาลอุทธรณ์กลาง อ่านคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนค่าเสียหายคดีอาญา โดยศาลได้ชี้ว่า การที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้น ไม่ได้เป็นต้นเหตุให้ผู้เสียหายคนดังกล่าวถูกข่มขืนอันจะถือว่าผู้เสียหายผู้นี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น ศาลจึงไม่เป็นพ้องกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ และมีคำสั่งให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนผู้เสียหายแก่แรงงานหญิงผู้นี้    
    
คำพิพากษาดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่รัฐต้องคุ้มครองบุคคลทุกคนบนผืนแผ่นดินจากอาชญากรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ  เหตุแห่งการที่บุคคลหนึ่ง “เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” จึงไม่อาจนำมาใช้กล่าวอ้างในการปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐไทย ในกรณีที่บุคคลนั้นกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรมบนแผ่นดินไทยได้อีกต่อไป

เรื่องก้าวหน้าที่ 6 ไม่มีข้อความใดในกฎหมายที่แบ่งแยกระหว่างลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยกับลูกจ้างที่ไม่มีสัญชาติไทย

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565  ศาลแรงงานภาค 5 ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ จำนวน 35 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีหมายเลขดำที่ ร 212-246/2564 เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่มีคำสั่งไม่อนุมัติจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติจากการที่นายจ้างได้ค้างจ่ายค่าจ้างคนงาน ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างและเงินชดเชย  ซึ่งศาลได้ชี้ว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองลูกจ้างทุกคน โดยไม่มีข้อความใดแบ่งแยกระหว่างลูกจ้างที่สัญชาติไทยกับลูกจ้างที่ไม่มีสัญชาติไทย  และแม้ว่าลูกจ้างแรงงานข้ามชาติมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไม่สามารถจะยกเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ได้  

คำพิพากษาคดีนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยการที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติ 35  รายนี้ โดยอาศัยหลักการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ และหลักการที่ว่าแรงงานทุกคนที่ทำงานในประเทศไทยควรมีสิทธิเข้าถึงและได้รับการเยียวยา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่บัญญัติห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

เรื่องก้าวหน้าที่ 7 ปลดล็อคการผลิตสุราเพื่อการค้าและเพื่อการบริโภค

รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565  มาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขออนุญาตการผลิต ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ และเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาตให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการผลิตสุราได้ง่ายขึ้น  ถือได้ว่าเป็นทำให้ประชาชนเข้าถึงเสรีภาพด้านการในการค้า การประกอบอาชีพอย่างเป็นธรรมในธุรกิจสุราที่ถูกจำกัดภายใต้อำนาจกฎหมายเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตรมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาก่อนมีกฎกระทรวงการคลังฉบับนี้   กรมสรรพสามิตร ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนทุน ขนาดเครื่องจักร และปริมาณในการผลิตสุราไว้ในระดับที่สูงมาก จนส่งผลให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถที่จะผลิตสุราได้ จึงเป็นการสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงการเสรีภาพในการประกอบอาชีพอันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

เรื่องก้าวหน้าที่ 8 สิทธิการสวนกางเกงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความหญิง

ที่ผ่านมาทนายความหญิง ซึ่งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  มักถูกผู้พิพากษาตำหนิติเตียน ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเหตุแห่งการแต่งกาย หรือถูกห้ามว่าความ จากการที่สวมใส่กางเกงไปศาล  จนนำมาสู่การลงรายชื่อจากนักกฎหมาย และประชาชนในแคมเปญ "ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล"  เป็นการรณรงค์สาธารณะ ทั้งได้ส่งเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา สภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภา  ต่อมาจึงได้มีทนายความหญิงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางระหว่างเพศ(วลพ.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 เพื่อให้วินิจฉัยว่า ข้อบังคับของสภาทนายความฯและเนติบัณฑิตยสภา ที่กำหนดให้ทนายหญิงต้องสวมกระโปรงตามแบบสากลนิยม เป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยเรียกร้องให้แก้ไขข้อบังคับดังกล่าว
    
ในที่สุด เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565  วลพ. จึงได้วินิจฉัยออกมาว่า การบังคับใช้ข้อบังคับฯ หรือการกำหนดวิธีปฏิบัติของ ทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว  ต้องบังคับใช้ข้อบังคับในลักษณะที่ไม่เป็นการขัด หรือแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศตามที่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 กำหนดไว้  จึงให้ทั้ง2หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติเพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกง หรือกระโปรงเมื่อสวมครุยขณะว่าความในศาลได้ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบ  ถือเป็นอีกความก้าวหน้าในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ

เรื่องก้าวหน้าที่ 9 สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ป.อาญา) ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ที่มีการแก้ไขให้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง)อย่างปลอดภัยโดยแพทย์วิชาชีพ  แก่ผู้หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไว้ในมาตรา 301 ของประมวลกฎหมายอาญา  ทั้งยังมีมาตรา 305 ที่กำหนดเงื่อนไขในกรณีการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 301 ว่า  หากรับบริการโดยผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา 5 กรณี ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิด แล้วได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เป็น 7 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา  แต่ที่ผ่านมาหลังมีกฎหมายนี้ ผู้ตั้งครรภ์จำนวนมากยังถูกสถานพยาบาลปฏิเสธการให้บริการทำแท้งโดยที่ไม่ทำการส่งต่อผู้ตั้งครรภ์ไปยังสถานพยาบาลที่พร้อมให้บริการทำแท้งด้วย  
    
นอกจากนี้ ป.อาญา มาตรา305 (5) ที่ได้กำหนดว่าผู้ตั้งครรภ์ที่อายุเกิน12สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยืนยันขอยุติการตั้งครรภ์(ทำแท้ง)ได้ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประกาศ  ก็ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดผลได้  เพราะต้องรอให้มีประกาศกระทรวงออกมารองรับก่อน จึงเป็นอีกเหตุให้ผู้ตั้งครรภ์จำนวนมากไม่ได้รับการตรวจและให้คำปรึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจทำแท้ง
    
กระทั่งในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2565 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว จึงถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น ที่ผู้มีอายุครรภ์ไม่เกิน20สัปดาห์ จะสามารถเข้าถึงสิทธิเข้ารับการตรวจและให้คำปรึกษาทางเลือก เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะทำแท้ง หรือจะตั้งครรภ์ต่อไป โดยยึดหลักการมีอิสระที่จะตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งในเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะตัดสินใจทำแท้ง หรือตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อ หรือจำเป็นต้องตั้งครรภ์ต่อ(ไม่สามารถทำแท้งได้โดยเหตุด้านสุขภาพ)  นับว่าเป็นความก้าวหน้าในเรื่องเสรีภาพทางเพศที่เกี่ยวกับร่างกาย สิทธิด้านสุขภาพ ที่ยังต้องติดตามผลในทางปฏิบัติกันต่อไปอีก

เรื่องก้าวหน้าที่ 10 สมรสเท่าเทียม  

วันที่ 16 มิถุนายน 2565  ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) มาตรา 1448  หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการแก้ไข ป.พ.พ. ในเรื่องการสมรสให้เป็นสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวของบุคคลทุกเพศสภาพ(จากที่ปัจจุบัน การ “สมรส” เป็นสิทธิระหว่างคู่รักชายกับหญิงเท่านั้น) ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับคณะรัฐมนตรี (ร่างกฎหมายที่ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2556 แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อในช่วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารปี 2557), ร่างแก้ไขเพิ่มเพิ่มเติม ป.พ.พ. โดยคณะรัฐมนตรี และร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับพรรคประชาธิปัตย์  ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ในวาระที่ 1 แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้  ซึ่งบัดนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว
     
จากนี้ยังต้องรอว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรวาระที่2และ3เมื่อใด  จะได้ไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาโดยวุฒิสภาหรือไม่  ผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร  และสุดท้ายหากร่างกฎหมายจะได้รับการเห็นชอบเพื่อประกาศใช้ จะออกมาเป็นกฎหมายฉบับใด ระหว่างการเป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม(ป.พ.พ. ถูกแก้ไขให้คู่รักทุกเพศสภาพสามารถสมรสกันได้ดังเช่นคู่รักชายกับหญิง) หรือจะเป็นกฎหมายคู่ชีวิต ที่เป็นการจดทะเบียนอีกประเภทแยกไปจากการจดทะเบียนสมรส (จดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต”) โดยออกแบบมารองแค่คู่รักเพศเดียวกัน(Homosexual) อันอาจจะเป็นปัญหาในบังคับใช้สำหรับกรณีคู่รักมีเพศสภาพที่แตกต่างหลากหลายออกไปอีก ทั้งยังเป็นการแบ่งแยกสถานภาพของคู่รักที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และให้คู่ชีวิตรับสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายไม่เท่ากับ “คู่สมรส” 
    
แต่อย่างไรก็ดี จุดนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้าในประเด็นความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในด้านสิทธิการจัดตั้งครอบครัว ที่เดินมาได้ถึงอีกระดับหนึ่งหลังจากการรอคอยอย่างยาวนาน ที่น่าติดตาม ขับเคลื่อนกันต่อไป

แม้ 10 เรื่องหลังที่ยกมานี้ จะถือว่าเป็นความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน แต่ในบางเรื่อง ถือว่ายังอยู่ในจุดที่ต้องติดตาม ขับเคลื่อนให้มีการแก้ไข ปรับปรุง ยกระดับให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก รวมถึงต้องติดตามดูรูปธรรมที่จะบังเกิดเป็นสิทธิที่ถือว่าก้าวหน้าได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป  

ติดตามรับชมการนำเสนอ อธิบายรายละเอียดย้อนหลังได้ที่ Facebook Fanpage ของ สสส. ตามลิ้งค์นี้ https://fb.watch/hjwamSm1hE/ 

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม หรืออ่านทางออนไลน์ ได้จากเว็บไซต์ สสส. ตามลิ้งค์นี้ 
http://ucl.or.th/?p=4550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net