Skip to main content
sharethis

โฆษกกองทัพเรือเปิดเผยรายชื่อกำลังพล ที่เสียชีวิตจากผลการพิสูจน์อัตลักษณ์เพิ่มอีก 8 นาย รวม 18 นาย ส่วนสูญหายเหลือ 11 นาย ‘พิจารณ์ ก้าวไกล’ แนะ ตั้งบุคคลที่สาม สอบเหตุ เผยเคยถามใน กมธ.ทหารแล้ว แต่ไม่ได้คำตอบ ชี้ระยะยาว ต้องตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ให้ตัวแทนพลเรือนร่วมตรวจสอบ สร้างความโปร่งใส

26 ธ.ค. 2565 ความคืบหน้ากรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ช่วงดึกของวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา นั้น ล่าสุด วันนี้ (26 ธ.ค.) เวลา 18.29 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กองทัพเรือ Royal Thai Navy' รายงานว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นำกำลังพลกองทัพเรือ ร่วมรับร่างกำลังพลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางจำนวน 4 นาย ที่ได้เคลื่อนร่างจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง มายังสนามบินอู่ตะเภา ประกอบด้วย จ่าตรี ศราวุธ นาดี สังกัดเรือหลวงสุโขทัย พลทหาร สิทธิพงษ์ หงษ์ทอง สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พลทหาร จิราวัฒน์ ธูปหอม สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และพลทหาร วรพงษ์ บุญละคร สังกัดหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง

จากนั้นจะเคลื่อนศพไปยังฌาปนสถานกองทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีทหารกองเกียรติยศรับรถขบวนเคลื่อนย้ายร่าง ตลอดเส้นทางผ่านอย่างสมเกียรติ ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้ง 4 นาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยตั้งบำเพ็ญกุศล ฯ กิจการฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ โดยเย็นวันนี้จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเวลา 17.00 น. โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นผู้อัญเชิญพวงมาลาพระราชทาน วางหน้าหีบศพกำลังพลที่เสียชีวิต

โฆษกกองทัพเรือเปิดเผยรายชื่อกำลังพล ที่เสียชีวิตจากผลการพิสูจน์อัตลักษณ์เพิ่มอีก 8 นาย

พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากผลการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 8 นาย ที่มีหลักฐานบ่งชี้ก่อนหน้านี้ว่าเป็นกำลังพลกองทัพเรือ มีรายชื่อดังนี้ 1. จ่าเอก บุญเลิศ ทองทิพย์ 2. จ่าเอกชูชัย เชิดชิด 3. จ่าโท ธวัชชัย สาพิราช 4. จ่าตรี สถาพร สมเหนือ 5. จ่าตรี นพณัฐ คำวงค์ 6. จ่าตรี ศุภกิจ ทิวาลัย 7. พลทหาร ปรีชา รักษาภักดี และ 8. พลทหาร จำลอง แสนแก

สรุปการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (วันที่ 26 ธ.ค. 2565) เวลา 17.30 น. ยอดกำลังพล 105 นาย รอดชีวิต จำนวน 76 นาย เสียชีวิตรวม 18 นาย ประกอบด้วย 1. เรือโท สามารถ แก้วผลึก 2. พันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์ 3. จ่าเอก จักร์พงศ์ พูลผล 4. จ่าตรี ศราวุธ นาดี 5. พลทหาร อัครเดช โพธิ์บัติ 6. พันจ่าเอก สมเกียรติ หมายชอบ 7. พลทหาร จิราวัฒน์ ธูปหอม 8. พลทหาร สิทธิพงษ์ หงษ์ทอง 9. พันจ่าเอก อำนาจ พิมที 10. พลทหาร วรพงษ์ บุญละคร 11. จ่าเอก บุญเลิศ ทองทิพย์ 12. จ่าเอกชูชัย เชิดชิด 13. จ่าโท ธวัชชัย สาพิราช 14. จ่าตรี สถาพร สมเหนือ 15. จ่าตรี นพณัฐ คำวงค์ 16. จ่าตรี ศุภกิจ ทิวาลัย 17. พลทหาร ปรีชา รักษาภักดี และ 18. พลทหาร จำลอง แสนแก

คงเหลือผู้สูญหายจำนวน 11 นาย ( ยังไม่นับรวมเคสที่เจอล่าสุดในวันนี้ 1 นาย ซึ่งรอผลและหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นกำลังพลกองทัพเรือ จึงจะมีการตัดยอด) รายชื่อกำลังพลที่ยังคงสูญหาย รวม 11 นาย

กำลังพล เรือหลวงสุโขทัย จำนวน 7 นาย 1. ว่าที่ นาวาตรี พลรัตน์ สิโรดม 2. พันจ่าเอก คุณากร จริยศ 3. จ่าโท สหรัฐ อีสา 4. จ่าตรี โสภณ วงษ์สนิท 5. จ่าตรี สิริธิติ งามทอง 6. พลทหาร ชลัช อ้อยทอง 7. พลทหาร ชัยชนะ ช่างวาด กำลังพล หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 2 นาย 1.พันจ่าเอก จิราวัฒน์ เจริญศิลป์ 2. พลทหาร ทวีศักดิ์ แซ่เซียว กำลังพล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จำนวน 2 นาย 1. จ่าเอก ไพร ร่วมญาติ 2. พลทหาร อับดุลอาซิส มะแอ

‘พิจารณ์’ แนะ ตั้งบุคคลที่สาม สอบเหตุ 

ขณะที่ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกองทัพเรือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมี พล.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือเป็นประธานว่า เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งสังคมให้ความสนใจ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยขาดความเชื่อมั่นในการตรวจสอบกันเองของกองทัพ จึงเห็นว่าควรใช้บุคคลที่สาม (Third Party Investigator) เข้ามาตรวจสอบคู่ขนาน โดยเสนอให้มีตัวแทนจากฝั่งรัฐสภาร่วมด้วย

“การตั้งคณะกรรมการที่มีแต่ทหารตรวจสอบกันเอง จะทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและความตรงไปตรงมาของกองทัพ ยิ่งเมื่อมีข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปางว่าอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการซ่อมบำรุงและการตรวจรับงานซ่อมต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ยิ่งทำให้ประชาชนมองว่าปัญหาการจัดซื้อที่ด้อยคุณภาพของกองทัพ ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของเรือและความปลอดภัยของกำลังพล” 
พิจารณ์กล่าว

พิจารณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ในกรรมาธิการการทหาร ตนได้สอบถามกองทัพเรือ ว่าสามารถดึงบุคคลภายนอกเข้าร่วมตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ได้หรือไม่ แต่กองทัพเรือไม่ได้ตอบคำถาม ในภายหลังเพจ Thai Armed Forced (TAF) ซึ่งเป็นเพจที่เกาะติดเหตุเรือล่มนี้อย่างใกล้ชิด ได้เสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ จากภายนอกเข้าร่วมตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม หากกังวลว่าข้อเสนอของตนที่ให้มี ส.ส. ร่วมตรวจสอบด้วย อาจทำให้เกิดการแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ก็สามารถให้ ส.ส. เป็นสักขีพยานหรือร่วมสังเกตการณ์ในการตรวจสอบได้

พิจารณ์กล่าวด้วยว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มีบุคคลที่สาม ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของกรณีเรือหลวงสุโขทัยล่ม แต่ในระยะยาว แนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอมาตลอดคือ การปฏิรูปกองทัพ และการปรับปรุงให้ราชการไทยก้าวหน้า ด้วยการจัดตั้ง ‘ผู้ตรวจการกองทัพ’ ซึ่งเป็นตัวแทนพลเรือนที่เป็นอิสระจากกองทัพและทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนรัฐสภาหรือประชาชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของกองทัพจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีมาตรฐาน โดยบทบาทนี้อาจครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือการกระทำที่ขัดหลักกองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ รายได้ของกองทัพ และโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และการพิจารณาและสืบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร นอกจากนี้ ต้องสร้างรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐทั้งหมด เพราะข้อมูลของรัฐก็คือข้อมูลที่ประชาชนเป็นเจ้าของ หากจะปกปิด หน่วยงานต้องร้องขอว่าเป็นข้อมูลลับ โดยมีเหตุผลที่สมควรเท่านั้น รวมถึงเสริมตัวแทนจับโกงภาคประชาชน ซึ่งคือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดกระบวนการในงานที่มีมูลค่าสูงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net