'saveบางกลอย' เปิดปมศูนย์ฝึกศิลปาชีพบางกลอย ให้ค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ-สภาพการทำงานย่ำแย่ 

ผู้ประสานงาน ภาคี Saveบางกลอย ให้สัมภาษณ์เปิดปมปัญหาศูนย์ฝึกศิลปาชีพบ้านบางกลอย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้ค่าแรงชาวบ้านต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออยู่ที่ 120-160 บาท และชาวบ้านต้องทำงานในสภาพแวดล้อมอันย่ำแย่ 

 

8 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ อัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงาน ภาคีsaveบางกลอย ถึงประเด็นการจ่ายค่าจ้างทอผ้าให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ 1 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และได้เงินเดือนไม่ตรงกำหนดเวลา อีกทั้ง ชาวบ้านต้องทอผ้าในสภาพที่ทำงานที่แสงไฟไม่พอ

อัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงานภาคี saveบางกลอย

ค่าจ้างทอผ้าชาวบ้านบางกลอย 120-160 บาท

ก่อนหน้านี้ ผู้ประสานงานภาคีsaveบางกลอย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อ 1 ม.ค. 2566 ระบุปัญหาของค่าจ้างทอผ้าของชาวชาติพันธุ์ดังนี้ 

"ก่อนจะทำเรื่องท่องเที่ยวโดยอ้างว่าช่วยเหลือพวกเรา ช่วยจัดการเรื้องค่าแรงในโรงทอผ้าให้เราก่อน ค่าแรงวันละ 120-160 ต่ำกว่ากฏหมายแรงงานขั้นต่ำ ค่าผ้าที่ใช้เวลาปัก-ทอ 6-8 เดือน 2,000-4,000บาท โครงการขอลดค่าผ้าลงเมตรละ 100 แทนที่เวลายิ่งนานค่าฝีมือจะเพิ่ม แต่กลับถูกตัดราคาลง แถมปัญหาค้างจ่ายค่าแรงรายเดือนกลับทับถมนานกว่าเดิม ได้โปรดช่วยพวกเราตรงนี้ก่อนจะสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านไม่ได้เต็มใจ" ผู้ประสานงานภาคี ระบุ

ผู้ประสานงานภาคีฯ ระบุว่า คนที่ได้ค่าจ้างจำนวน 160 บาทมีเพียง 2 คน เนื่องจากพวกเขาสามารถทำงานเอกสาร และก็ 140 บาท สำหรับคนที่ทอผ้าแบบยกลาย และ 120 บาทสำหรับคนที่ทอผ้าแบบปกติ หรือปักผ้า 

ทั้งนี้ เมื่อ ก.ย. 2565 อ้างอิงที่ประชุม คณะกรรมการค่าจ้างมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2565 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้น ระบุว่าค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างในจังหวัดเพชรบุรี ไม่ควรต่ำกว่า 335 บาท

อัญชลี ระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีปัญหา แต่มีการพูดถึงมาเกือบ 2 ปีแล้ว ตอนนั้นมีการติดต่อไปที่คนดูแลศูนย์ฝึกศิลปาชีพว่า ทำไมค่าแรงของชาวบ้านไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ ทางเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่า ชาวบ้านนอกจากจะได้ค่าจ้างทอผ้ารายวันแล้ว จะได้ค่าทอเป็นหลักพัน หลังจากทอเสร็จ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ประสานงานภาคี saveบางกลอย ระบุต่อว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้าน ทุกคนตอบเหมือนกันว่า ‘ผ้าแต่ละผืนที่เขาทำสำเร็จ และได้เงินหลักพัน เขาต้องใช้เวลา 6 ถึง 8 เดือน พอเสร็จแล้ว ต้องรออีก 2 เดือน หมายถึงว่าเขาต้องรออีก 10 เดือน ถึงจะได้เงินหลักพัน ซึ่งมันก็จะอยู่ประมาณ 5-6 พันบาท ไม่เกิน 6 พันบาท เมื่อเอาไปรวมกับค่าแรงรายวันก็ได้ไม่เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ดี ทำให้ชาวบ้านเผชิญกับปัญหาหนี้สินมาตลอด’

ข้อมูลล่าสุดของภาคีsaveบางกลอย ระบุด้วยว่า ผู้ดูแลศูนย์ฝึกศิลปาชีพเคยค้างค่าจ้างนานที่สุดถึง 4 เดือน ก่อนนำรีบนำมาจ่ายให้ชาวบ้านภายหลัง โดยไม่มีการระบุเหตุผลที่เหมาะสมว่าทำไมถึงค้างค่าจ้างนานขนาดนี้ 

สำหรับชาวบ้านที่ทำงานในศูนย์ฝึกศิลปาชีพ มีจำนวนราว 50 คน โดยเป็นชาวบ้านจากบางกลอยหมู่ 1 และบ้านโป่งลึก คนที่ทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และมีปัญหาเรื่องไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินแต่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ 

"มีคู่ตายายคู่หนึ่งไม่มีที่ดินเลย และการทำงานในโรงทอผ้าสำหรับผู้ชายเสียศักดิ์ศรีมาก แต่คุณตาคนนี้ต้องมาเข้าโรงทอผ้าเพราะปัญหาที่ดิน เพราะฉะนั้นมันสะท้อนชัดมากว่า คนที่อยู่ในโรงทอผ้ามันมีปัญหาอยู่แล้ว บางรายคือคนที่อยากกลับใจแผ่นดิน เพราะมีปัญหาที่ดินไม่สามารถปลูกอะไรได้" ผู้ประสานงานภาคี ระบุ

อัญชลี ยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นการเก็บข้อมูลระหว่างกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการเดินเข้าไปถามชาวบ้านเพื่อเก็บข้อมูล 

จนท.โยนไป-มา ไม่ทราบว่าใครดูแลศูนย์ศิลปาชีพ

เมื่อถามถึงคนที่กำหนดค่าจ้างเหล่านี้ให้ชาวบ้าน อัญชลี ยอมรับว่า เธอไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีใครออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ดูแลศูนย์ฝึกศิลปาชีพ

“เราพยายามถามเรื่องนี้ เขา (ผู้สื่อข่าว - ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์ศิลปาชีพ) ก็ไม่ยอมบอกเราตามตรง เขาไม่เคยให้คำตอบเราอย่างจริงใจเลยสักครั้งเดียว ไม่ว่าจะทหาร หรือมูลนิธิปิดทองหลังพระ หรือว่าตัวศิลปาชีพเอง โยนกันไปโยนกันมา เขาไม่ยอมให้ข้อมูลเลย มันเป็นโครงการที่ลึกลับมาก” อัญชลี กล่าว 

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอย เป็นปัญหาเรื้อรังตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐพาตัวชาวบ้านออกมาจากที่อยู่อาศัยตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือบริเวณบางกลอยบน เมื่อลงมาที่บางกลอยล่าง โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าถ้าชาวบ้านกะเหรี่ยงลงมาที่ด้านล่างแล้วจะมีการจัดสรรที่ดินให้อย่างเหมาะสม 

การบังคับอพยพชาวบ้านบางกลอยลงมา มีด้วยกัน 2 ครั้งใหญ่ คือ เมื่อปี 2539 และปี 2554 โดยครั้งนั้นเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มีการใช้ปฏิบัติการที่เรียกว่า "ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี" มีการเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้าน เพื่อบังคับพวกเขาออกจากใจแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านลงมาแล้ว ทางภาครัฐยังไม่ได้จัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านทั้งหมด บางส่วนไม่มีที่ดินทำกินสำหรับเพาะปลูก ขณะที่บางส่วนที่ได้รับที่ดินที่รัฐจัดสรร แต่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นดินปนหิน 

สภาพแวดล้อมที่ทำงานอันย่ำแย่-แสงสว่างไม่พอ

นอกจากปัญหาเรื่องค่าแรง ผู้ประสานงานภาคี saveบางกลอย ระบุว่า สภาพแวดล้อมการทำงานของชาวบ้านยังย่ำแย่ และแสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านบางรายสายตาเสีย บางรายต้องไปผ่าตัดสายตา 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องค่าจ้าง และสภาพที่ทำงานย่ำแย่ แต่ชาวบ้านจำเป็นต้องทนทำงานในศูนย์นี้ต่อไป เนื่องจากกังวลว่าตัวเองจะไม่มีรายได้ในช่วงสภาพเศรษฐกิจที่ข้าวยากหมากแพง

ยื่นศูนย์ดำรงธรรม ร้องเรียนเรื่องค่าแรง

อัญชลี ระบุว่า ความเคลื่อนไหวต่อจากนี้ อาจจะมีการยื่นข้อร้องเรียนถึงศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดเพชรบุรี ส่งเรื่องค่าแรงไปทางจังหวัด ว่าเข้าข่ายการเอาเปรียบแรงงานหรือไม่ 

"ทำไมให้ค่าแรงตามกฎหมายกำหนดไม่ได้ และทำไมถึงต้องค้างจ่ายชาวบ้าน ในเมื่อคุณเป็นโครงการพัฒนา แต่ทำไมถึงสร้างปัญหาชีวิตชาวบ้านให้เป็นหนี้สิน ในเมื่อคุณก็รู้อยู่แล้วว่าเขายากจน คุณถึงก่อกำเนิดโครงการนี้ขึ้นมา"

"อาจจะไม่ใช่แค่บางกลอย แต่ที่ไหนที่มีปัญหา อยากให้ช่วยกันออกมาคอลล์เอาท์เพื่อตัวเองด้วย เพราะคุณกำลังถูกเอาเปรียบมาก เป็นคนชายขอบก็แย่อยู่แล้ว ยังเหมือนถูกใช้แรงงานทาสอีกด้วย" อัญชลี ทิ้งท้าย

ด้านปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ระบุว่าทาง กสม.ติดตามประเด็นการค้างค่าจ้างชาวบ้านบางกลอยอย่างใกล้ชิด 

ปรีดา ระบุว่า เบื้องต้น ยังอยู่ในช่วงการประสานงาน เพื่อดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่หากไม่มีความคืบหน้า ประชาชนสามารถทำเรื่องร้องเรียนมาที่กรรมการสิทธิฯ ได้ โดยกรรมการสิทธิฯ จะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ ประสานคุ้มครองโดยการทำจดหมายอย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชี้แจงประเด็นดังกล่าว และอย่างที่สอง ก็ต้องมีการตรวจสอบถ้าเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ปรีดา คงแป้น กสม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท