Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านบางกลอย ร่อน จม.เปิดผนึกให้ กสม. เร่งช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีที่มาจากการจัดการของภาครัฐ ขณะที่เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 64 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริจาคเงินให้ชาวบ้าน 5 หมื่น เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ติดตั้งท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร ด้านผู้สังเกตการณ์ถาม ถือเป็นการผลักภาระให้ชาวบ้านใช่หรือไม่ ทั้งที่เรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของรัฐ

ป้ายหน้าหมู่บ้านบางกลอยล่าง ถ่ายเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64

26 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับรายงานจากชาวบ้านบางกลอยว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวทางชาวบ้านบางกลอย หมู่ 1 จ.เพชรบุรี ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ช่วยเหลือชาวบ้านด้านความมั่งคงทางอาหาร หลังช่วงที่ผ่านมา ชาวบ้านประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เนื่องจากที่ดินในหมู่บ้านไม่สามารถปลูกพืชได้ และการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบล่าสุดทำให้ชาวบ้านเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีเงินซื้ออาหาร 

ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ขณะนี้ชาวบ้านบางกลอยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนต้องบริโภคอาหารจากการรับบริจาค ได้แก่ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง ซึ่งเป็นการบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ เป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านหลายคน โดยเฉพาะภาวะขาดสารอาหาร 

ปัญหาที่เกิดกล่าวได้ว่าเกิดจากการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยจดหมาย ชี้แจงต้นตอปัญหาดังต่อไปนี้ 

นับตั้งแต่อุทยานแก่งกระจานมีคำสั่งให้ชาวบ้านบางกลอยอพยพลงมาที่ใจแผ่นดิน พร้อมกับสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินให้ ปรากฏว่าที่ดินที่ชาวบ้านได้รับการจัดสรร เป็นพื้นที่ดินปนหิน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ อีกทั้ง ชาวบ้านบางคนยังไม่ได้ที่ดินจากรัฐ 

ประการต่อมา กติกาของภาครัฐโดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้วิถีชีวิตดั้งเดิม เก็บของป่า ล่าสัตว์ได้ 

สุดท้าย การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดจากการทำงานอันผิดพลาดของรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวบ้านอย่างหนัก ชาวบ้านที่เดินทางเข้าไปทำงานนอกหมู่บ้าน ถูกเลิกจ้าง และขาดรายได้ ขณะเดียวกัน โรงทอผ้าของศูนย์ศิลปาชีพซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยล่าง มีการค้างค่าแรงชาวบ้าน โดยชาวบ้านต้องใช้เวลานาน 2-3 เดือน กว่าจะได้เงินค่าแรงในแต่ละครั้ง อีกทั้ง ค่าแรงของชาวบ้านที่ทำงานในศูนย์นั้น ยังต่ำกว่ามาตรฐานค่าแรงต่อวัน โดยชาวบ้านได้เพียง 120 130 และ 160 บาท ตามลำดับ 

ป้ายหน้าศูนย์ศิลปาชีพ บ้านบางกลอย ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ในจดหมายเปิดผนึกระบุด้วยว่า ชาวบ้านเรียกร้องให้ กสม. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพที่ดินและที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอยในช่วงเวลานี้ รวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตราการช่วยเหลือและเยียวยาชาวบ้านในระยะยาว เนื่องจากปัญหาเหล่านี้เกิดจากภาครัฐ 

ชาวบ้านเรียกร้อง ให้ กสม. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติแก่งกะจาน ตาม ม. 65  พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 ตลอดจนการที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินการโดยเข้มงวดต่อชาวบ้าน จนไม่สามารถเข้าไปเก็บหาอาหารจากป่าได้  

 กสม. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในด้านอาหาร โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการและการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอต่อประชากรในชุมชน รวมถึงการหามาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข โดยเปิดพื้นที่ให้คณะแพทย์อาสาเข้าไปตรวจอาการ พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งให้การรักษาตามอาการเบื้องต้นโดยเร่งด่วน

สุดท้าย ชาวบ้านต้องการให้ กสม. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

อุทยานหนุนเงิน 5 หมื่น ให้ชาวบางกลอยติดตั้งท่อน้ำเพื่อทำเกษตร ด้านผู้สังเกตการณ์ ถามเป็นการผลักภาระให้ชาวบ้านหรือไม่

ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 64 ระบุว่าเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบริจาคเงินให้แก่ชาวบ้านหมู่บ้านบางกลอยล่าง เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท ในโครงการผักปลอดภัย เพื่อสนับสนุนค่าติดตั้งท่อส่งน้ำที่ต่อเข้าไร่ของชาวบ้าน และค่าเมล็ดพันธุ์ผัก โดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายปลุ จีโป้ง เป็นผู้รับมอบและดูแลเงิน 

ป้ายสนับสนุนงบประมาณติดตั้งท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร ในหมู่บ้านบางกลอย หมู่ 1 เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
 

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมีความเห็นว่า เงิน 50,000 บาท สำหรับการซื้อท่อส่งน้ำสำหรับทุกคนในหมู่บ้านนั้น คาดว่าไม่เพียงพอสำหรับทุกคนแน่นอน เพราะคนที่ต้องใช้ท่อเหล่านี้มีมากกว่า 20 คน และการจัดหาซื้อท่อนั้น ชาวบ้านจะต้องเหมารถจากหมู่บ้าน เพื่อลงไปร้านค้าในเมือง ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงเมล็ดพันธุ์ผัก ก็ต้องจัดหาซื้อโดยวิธีเดียวกัน  

ขณะที่ผู้ประสานงานชาวบ้านบางกลอย มองว่า การจัดการเรื่องท่อส่งน้ำต่อเข้าพื้นที่ของชาวบ้านควรเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือภาครัฐ ในการจัดหาและติดตั้งทั้งหมด ไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน 

นอกจากนี้ ผู้ประสานงานตั้งข้อสงสัยว่า การให้เงินมาจำนวนหนึ่งแล้วให้ชาวบ้านไปจัดหาท่อน้ำมาติดตั้งเองถือเป็นการผลักภาระ และเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านหรือไม่ เพราะนี่คือหน้าที่ของภาครัฐ และเงินจำนวน 50,000 บาทที่อุทยานฯ มอบแก่ชาวบ้านบางกลอย เพื่อสนับสนุนการติดตั้งท่อน้ำนั้น ไม่เพียงพอ เนื่องจากชาวบ้านขาดทุนทรัพย์อย่างหนักจากปัญหาที่ดินไม่สามารถเพาะปลูก และสถานการณ์โควิด-19 จนทำให้ชาวบ้านตกงาน และขาดรายได้ แม้แต่เงินเพื่อซื้ออาหารยังไม่มี 

“โครงการนี้ไม่ได้ทำด้วยความใส่ใจหรือต้องการแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน แต่ทำเพื่อสร้างภาพและผลักภาระให้ชาวบ้าน” ผู้ประสานงานชาวบ้าน ทิ้งท้าย 

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึกถึง กสม. 

เรื่อง  ร้องทุกข์และขอให้เร่งหามาตรการช่วยเหลือเยียวยา กรณีความเดือดร้อนด้านความมั่นคงทางอาหารและสุขภาวะ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี


เรียน    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ภายหลังการถูกอพยพโยกย้ายอย่างน้อย 2 ระลอก ในช่วงปี 2539 และ 2553-2554 ตลอดจนการผลักดันและการดำเนินคดีชาวบ้าน 28 รายที่พยายามกลับขึ้นไปอยู่อาศัยและทำกินในบริเวณบ้านบางกลอยบนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก โดยทุกวันนี้ ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนต้องบริโภคอาหารจากการรับบริจาค ได้แก่ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง ซึ่งเป็นการบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ เป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านหลายคน โดยเฉพาะภาวะขาดสารอาหาร
สาเหตุที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือกในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้นั้นมี 4 ประการ ได้แก่

1.    สาเหตุด้านที่ดินทำกิน พื้นที่จัดสรรรองรับการอพยพของชาวบ้านเมื่อปี 2539 นั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะระบบการเกษตรแบบ “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยลักษณะแปลงทำกินนั้นเต็มไปด้วยก้อนหินก้อนกรวด ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ไม่สามารถใช้อุปกรณ์การเกษตรขุดเจาะลงไปในดินได้ อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นทรายที่ไม่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ให้ความชุ่มชื้นแก่พืชพันธุ์ใดๆ นอกจากนั้นหลายครัวเรือนยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินภายหลังการอพยพ จึงไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารหรือสร้างรายได้ให้ครัวเรือนได้ 

2.    สาเหตุจากความไม่สอดคล้องของโครงการช่วยเหลือเยียวยาที่เข้าไปในชุมชน ภายหลังการอพยพโยกย้ายชุมชน ปรากฏความพยายามของหลายหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านปากท้องและอาชีพ โดยเฉพาะโครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่สนับสนุนระบบการเกษตรที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการผลิตบนพื้นที่สูง และไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องระบบชลประทานที่เพียงพอต่อความต้องการ หลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านหลายครัวเรือนตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองบนผืนดินที่ได้รับจัดสรรนั้น ผลที่ได้รับคือไม่มีผลิตผลทางการเกษตรเหลือเพียงพอในการบริโภคในครัวเรือน และไม่สามารถสร้างอาชีพหรือรายได้ให้ชุมชนได้อย่างแท้จริง

3.    สาเหตุจากกฎหมายด้านป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปหาพืชผักในป่ามาบริโภคได้ เนื่องจากมีการประกาศเกี่ยวกับ “ไม้หวงห้าม” และ “ของป่าหวงห้าม” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ทำให้พืชหลายชนิดที่ชาวบ้านเคยบริโภคกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่น หวายขม ลูกเนียง ใบเหลียง หน่อไม้ และเห็ด เป็นต้น รวมถึงปลาบางชนิดที่ชาวบ้านเคยบริโภคก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตลอดจนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ได้สำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ในอุทยานฯ ตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และยังได้แสดงถึงความเข้มงวดในการตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเคยเข้าไปหากิน ชาวบ้านจึงไม่สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้

4.    สาเหตุด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะซื้ออาหารจากร้านค้า เนื่องจากภาวะวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทำให้หลายคนถูกเลิกจ้างงานและไม่มีรายได้ ส่วนชาวบ้านที่ทำงานในโรงทอผ้าของศูนย์ฝึกศิลปาชีพก็ได้ค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ชาวบ้านแต่ละคนต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้รับค่าแรงตั้งแต่ 120 บาท 130 บาท และ 160 บาท ตามลำดับ และต้องใช้เวลาถึง 2-3 เดือน ชาวบ้านจึงจะได้รับค่าจ้างจำนวนดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมีเงินสำรองหรือทุนทรัพย์พอที่จะซื้ออาหารมาบริโภคในทุกวัน

จากทั้ง 4 สาเหตุหลักที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาวะของชาวบ้านบางกลอยล่างตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ดังปรากฏว่ามีชาวบ้านบางคนมีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีน้ำนมให้บุตร และพบว่ายิ่งนานวันเข้าผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นทุกวันโดยปราศจากการดูแลโดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่สถานการณ์ทางคดีความก็ยังคงดำเนินต่อไป ชาวบ้านบางกลอยล่างจึงได้ร้องทุกข์ และมีข้อเสนอแนะมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังต่อไปนี้

1.    ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอย ภายหลังการผลักดันให้เกิดการอพยพชาวบ้านลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย รวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตราการช่วยเหลือและเยียวยาชาวบ้านในระยะยาว เนื่องจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ละทิ้งและเมินเฉยต่อปัญหาความเดือดร้อน มิได้ให้การดูแลและอำนวยประโยชน์แก่ชาวบ้านตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ก่อนจะมีการอพยพโยกย้ายชุมชน

2.    ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติแก่งกะจาน ตามมาตรา 65 ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 ตลอดจนการที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินการโดยเข้มงวดต่อชาวบ้าน จนไม่สามารถเข้าไปเก็บหาอาหารจากป่าได้  

3.    ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในด้านอาหาร โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการและการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอต่อประชากรในชุมชน รวมถึงการหามาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข โดยเปิดพื้นที่ให้คณะแพทย์อาสาเข้าไปตรวจอาการ พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งให้การรักษาตามอาการเบื้องต้นโดยเร่งด่วน

4.    ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net