Skip to main content
sharethis

30 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา 'ทรูมันนี่เมียนมาร์' ได้แถลงยกเลิกหุ้นส่วนกับ 'ธนาคารกรีนเอเชียดีเวลลอปเม้นท์ (เอจีดี)' หลังจับมือให้บริการธุรกรรมการเงินออนไลน์ในพม่าด้วยกันมากว่า 8 ปี จากการตรวจสอบพบ 'เตซา' เจ้าของธนาคารเอจีดี ตกเป็นเป้าหมายมาตรการคว่ำบาตรใน 'Burma Act' กฎหมายฉบับใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ

จี ตา โรแมน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของทรูมันนี่เมียนมาร์(ขวา) และจ่อนีขิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมียนมาร์เอเปกซ์ (ซ้าย)

จดหมายข่าวของทรูมันนี่เมียนมาร์ระบุว่า บริษัทจะหันไปร่วมมือกับ 'ธนาคารเมียนมาร์เอเปกซ์ (เอ็มเอบี)' แทน ตรวจสอบพบเจ้าของธนาคารดังกล่าวคือ 'ชิตขิ่น' อดีตสมาชิกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ปัจจุบันยังถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลทหารพม่า จากการถูกตั้งข้อหา 'ทุจริตคอรัปชั่น' หลังรัฐประหาร ก.พ. 64

ทรูมันนี่เมียนมาร์ ซึ่งอยู่ในสังกัดของ 'ทรู คอร์ปอเรชั่น' บริษัทสัญชาติไทย ระบุในวันก่อนส่งท้ายปีเก่าว่า การเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนครั้งนี้มีผลตั้งแต่ 16 ธ.ค.​ 2565 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสที่ทรูมันนี่เมียนมาร์กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 และคำร้องได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางแห่งเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ

วัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ จี ตา โรแมน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของทรูมันนี่เมียนมาร์ระบุว่า เพื่อ "ทรูมันนี่จะได้สามารถให้บริการเติมเงินมือถือ ชำระเงิน โอนเงินภายในประเทศ บริการรับเงินจ่ายเงินกับผู้ให้บริการอีวอลเลตที่เกี่ยวข้องในเมียนมาร์ รวมถึง ผู้ถือบัญชีเอ็มเอบีได้ด้วยความรวดเร็วและความปลอดภัยสูงสุดต่อไป"

"การเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้าถึงบริการทางการเงินในเมียนมาร์ เป็นการประสานเทคโนโลยีทางการเงินและบริการธนาคารเข้าด้วยกัน และเราจะเพิ่มความเร็วและขยายการให้บริการแก่ประชาชนชาวเมียนมาร์ร่วมกัน" จี ตา โรแมน กล่าว

ทรูมันนี่เมียนมาร์ ก่อตั้งเมื่อพฤศจิกายน 2557 ปัจจุบันมีตัวแทนผู้ให้บริการ 23,000 แห่งทั่วประเทศพม่า สำหรับประเทศอื่นในตะวันออกเฉียงใต้ ทรูมันนี่ระบุว่ามีการเปิดให้บริการในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย เพื่อช่วยให้ชุมชนห่างไกลในเขตชนบทสามารถเข้าบริการทางการเงินได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น

ทิ้งนายทุนฝั่งทหาร

'ธนาคารกรีนเอเชียดีเวลลอปเม้นท์' ซึ่งทรูมันนี่เมียนมาร์ประกาศยกเลิกความเป็นหุ้นส่วน สำนักข่าวเมียนมานาวระบุว่าอยู่ในสังกัดของเครือ 'ตูกรุ๊ป' เจ้าของมีชื่อว่า 'เตซา' เป็นนายทุนของฝั่งรัฐบาลทหารพม่า ปัจจุบันตกเป็นเป้าของการคว่ำบาตรจากตะวันตก

หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2564 เตซาและธุรกิจในเครือตูกรุ๊ปของเขาถูกคว่ำบาตรโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ในข้อหาให้การสนับสนุนทางการเงินและการสนับสนุนทางด้านอาวุธแก่รัฐบาลทหารพม่า ต่อมา เขาและลูกชาย 2 คนก็มีชื่ออยู่ในลิสต์คว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 31 ม.ค. 2565

ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร พบข้อกล่าวหาว่า เตซาเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และบริการต่างๆ ให้แก่กองทัพพม่า และเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนเยือนรัสเซียเมื่อพฤษภาคม​ 2564 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารพม่า ในรายงานฉบับยาวของบลูมเบิร์ก เตซาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง

การคว่ำบาตรเตซาเป็นไปตามกรอบของคำสั่งเลขที่ 14014 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงวันที่ 11 ก.พ. 64 ที่กำหนดให้มีการแช่แข็งทรัพย์สิน และระงับไม่ให้เครือข่ายของนายพลพม่าเดินทางเข้าประเทศ โดยสั่งการให้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ

หนึ่งเดือนหลังการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปได้ทำคว่ำบาตรเตซาและบริษัทตูกรุ๊ปของเขาในเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ทรูมันนี่เมียนมาร์ยังคงเป็นหุ้นส่วนกับธนาคารเอจีดีอีกประมาณ 1 ปี จนกระทั่งรัฐสภาสหรัฐอเมริกามีการผ่านกฎหมายฉบับใหม่

วันที่การเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนของทรูเมียนมาร์มีผล (16 ธ.ค.​ 2565) เป็นวันเดียวกับที่วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมาย Burma Act มีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรพม่า และต่อมาประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ธ.ค. 65

นอกจากกฎหมายดังกล่าวจะ 'สนับสนุนและส่งเสริม' การคว่ำบาตรตามคำสั่งที่ 14014 ต่อบุคคลเช่นเตซาแล้ว ยัง 'บังคับ' ให้ประธานาธิบดีต้องคว่ำบาตรผู้ที่ 'ทราบว่าดำเนินกิจการอยู่ในภาคส่วนทางการทหารของเศรษฐกิจพม่า' ภายใน 30 วัน ข้อความส่วน 'ภาคบังคับนี้' ตรงกับที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวหาเตซาทุกตัวอักษร

กฎหมายดังกล่าวระบุว่าอีกว่า กระทรวงการคลังจะต้องเขียนรายงานแผนการคว่ำบาตรต่อสภาภายใน 60​ วันหลังประกาศใช้ และเสนอต่อสภาทุกปีตลอดระยะเวลา 8 ปี เพื่อรับประกันว่าทรัพย์สินที่ถูกแช่แข็งตามคำสั่ง 14014 จะยังคงถูกระงับต่อไป ในการถอนชื่อออกจากบัญชีดำ ประธานาธิบดีจะต้องส่งเอกสารรับรองคุณสมบัติต่อสภา

แม้เขาจะให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่าธุรกิจของเขาได้รับผลกระทบ และเขาต้องทำธุรกิจอยู่ในสิงคโปร์เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร ทว่า เตซา ก็ยังคงเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของพม่า ในวัยย่าง 58 ปี มีทรัพย์สิน 900 ล้านดอลลาร์ และเป็นเศรษฐีสัญชาติพม่าคนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสารฟอร์บส์เอเชีย

เตซาเคยถูกคว่ำบาตรโดยทางการสหรัฐฯ ครั้งหนึ่งแล้วจากเหตุการณ์ปฏิวัติจีวรใน พ.ศ. 2550 ต่อมาในสมัยรัฐบาลของบารัค โอบามา ได้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรต่อเขาในช่วงที่พม่ามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งใน พ.ศ.2559 เขาถูกคว่ำบาตรอีกครั้งหลังการรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2564

ในปี 2562 คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติระบุว่า บริษัทตูกรุ๊ปของเขาให้เงินสนับสนุนแก่กองทัพพม่า ในช่วงที่มีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในปี 2560 รายงานพบการฆาตกรรม ข่มขืน และเผาบ้านเรือนจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยกว่า 850,000 คน ขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังถูกฟ้องที่ศาลโลกในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ซบทุนค่าย 'เอ็นแอลดี'

ในความร่วมมือครั้งใหม่ระหว่างทรูมันนี่เมียนมาร์กับ 'ธนาคารเมียนมาร์เอเปกซ์ (เอ็มเอบี)' จ่อนิขิ่น หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเอ็มเอบี ยืนยันในจดหมายข่าวของทรูมันนี่ว่าธนาคารรู้สึก "มีความยินดีที่ได้เป็นหุ้นส่วนกับทรูมันนี่ในการให้บริการแก่ลูกค้าผู้มีอุปการะคุณให้ดียิ่งขึ้น"

เขาระบุอีกว่า "พวกเราที่เอ็มเอบีมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" เพื่อตอบสนองต่อ "ความต้องการธนาคารของประชาชนชาวพม่าอยู่เสมอ" และเขาเชื่อว่าความร่วมมือนี้กับทรูมันนี่ในครั้งนี้จะ "สร้างผลเชิงบวกต่อชีวิตของประชาชนชาวพม่า"

สำนักข่าวเมียนมานาวระบุว่าธนาคารดังกล่าวเป็นของ "ชิตขิ่น" เจ้าของเครือธุรกิจ "อีเด็นกรุ๊ป" วัย 75 ปี ประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท ตั้งแต่การก่อสร้าง โรงแรม อาหาร เครื่องดื่ม การเงิน น้ำมัน แก๊ส จนไปถึงสินค้าการเกษตร

ก่อนเข้าสู่วงการธุรกิจ ชิตขิ่นเคยเป็นสมาชิกของพรรคสันติบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และเป็นประธานสาขาอินเส่งของพรรคในปี 2532-2533 เขตดังกล่าวเป็นพื้นที่ค่อนข้างสำคัญในย่างกุ้ง ซึ่งยังคงเป็นเมืองหลวงของพม่าในขณะนั้น​ เขาถูกจำคุกในยุครัฐบาลทหารพม่าในทศวรรษ​ ค.ศ.​ 1990

หลังออกจากเรือนจำอดีตสมาชิกเอ็นแอลดีรายนี้เริ่มทำธุรกิจก่อสร้าง และเริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารในการสร้างกรุงเนปิดอว์ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เขาเคยถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรจากสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่าแต่ก็มีการยกเลิกมาตรการไป หลังพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีจะกลับมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2559

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าการกลับมาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโอกาสทางธุรกิจของเขามากนัก เว้นเพียงแค่ไม่ได้ "โอกาสพิเศษ" เท่านั้น ในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคเอ็นแอลดีระบุว่า 'ชิตขิ่น' เคยบริจาคข้าว 1 พันกระสอบให้พรรคเอาไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2559

รายงานของอิรวดีตั้งข้อสังเกตว่า ชิตขิ่นถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี เพราะขณะที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชิตขิ่นเป็นหนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่ ที่มอบเงินกว่า 1.5 ล้านดอลล่าร์ ให้รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีนำไปใช้ในการซื้อวัคซีนด้วย

หลังการรัฐประหารเมื่อกุมภาพันธ์ 2564 ชิตขิ่นได้ทำการขายหุ้นในบริษัทมายเทล ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลทหารพม่า เขาถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลทหารพม่าจากการถูกตั้งข้อหา 'ทุจริตคอรัปชั่น' และ 'ติดสินบน' โดยสมรู้ร่วมคิดกับรัฐมนตรีของพรรคเอ็นแอลดี

รัฐบาลทหารพม่าอ้างว่าหากชิตขิ่นมีความผิดอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี จากกรณีที่บริษัทของเขาติดสินบนรัฐมนตรี เพื่อจ่ายภาษีต่ำกว่ากำหนด ขายถ่านหินน้อยกว่าที่กำหนด และเก็งกำไรจากถ่านหิน ภายใต้สัมปทานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินทิกยิท ทำให้รัฐสูญเงินเป็นมูลค่า 13 ล้านดอลล่าร์

แหล่งข่าวของเมียนมานาวระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง โครงการดังกล่าวไม่ได้มีการประกอบกิจการมาเป็นเวลากว่า 3-4 ปีแล้ว และบริษัทอีเด็นกรุ๊ปต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก นอกจากนี้ ข้อตกลงต่างๆ ก็ได้ผ่านมติการประชุมร่วมกันมาแล้วทั้งหมด ไม่ได้มีการติดสินบนแต่อย่างใด

ประสิทธิภาพการคว่ำบาตร

ทรูมันนี่เมียนมาร์เป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติไทยหลายแห่งที่เปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินกิจการ ขณะที่นายพลพม่ากำลังเผชิญกับวิกฤติความชอบธรรม จากการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 และรัฐบาลทหารพม่ากำลังเผชิญแรงกดดันจากการคว่ำบาตร

ตัวอย่างเช่น เมื่อกรกฎาคม 2564 ปตท.สผ. ต้องขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินงานโครงการก๊าซยาดานา หลัง Total Energies ของฝรั่งเศสถอนตัวออกไป จากความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ตามมาด้วยกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์เพิ่งถอนการลงทุนจาก ปตท. (PTT) และ ปตท.น้ำมันและค้าปลีก (OR) ทั้งหมด เมื่อธันวาคม 2565

แรงกดดันจากนานาชาติ มีแนวโน้มว่าจะยังไม่ลดลงในเร็ววัน หลังการผ่านกฎหมาย Burma Act คาดว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจมีการตั้ง "ผู้ประสานงานพิเศษ" ขึ้นมาเพื่อพูดคุยกับฝ่ายต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเพิ่มประสิทธิภาพการตัดท่อน้ำเลี้ยงของรัฐบาลทหารมากขึ้นอีก

กฎหมายดังกล่าวระบุอีกว่า กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาจะต้องเสนอรายงานศึกษาความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตร Myanmar Oil and Gas Enterprise บริษัทท่อน้ำเลี้ยงที่สร้างรายได้มหาศาลแก่นายพล การคว่ำบาตรรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ยังเป็นข้อเรียกร้องของนักกิจกรรมและองค์กรสิทธิด้วย

ก้าวเข้าสู่ปี 2566 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าที่ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างหนัก ได้ออกมาประกาศว่าจะมีการจัดเลือกตั้ง หลังครบกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขาอ้างว่าหลังจัดเลือกตั้งเสร็จสิ้นจะมีการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะ "ตามมาตรฐานประชาธิปไตย"

แม้สัญญาว่าจะเลือกตั้ง แต่ชาติตะวันตกก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดหย่อนมาตรการคว่ำบาตรแต่อย่างใด นานาชาติยังคงมองว่าการจัดเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 เป็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากกองทัพจะเป็นผู้ควบคุมกระบวนการทั้งหมด และที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าพยายามปราบฝ่ายตรงข้ามการเมืองมาตลอด 2 ปี

ข้อมูลล่าสุดของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่านับแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองของกองทัพแล้ว 2,711 ราย มีผู้จับกุมโดยรัฐบาลพม่าแล้ว 17,041 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้วเพียง 3696 ราย ยังคงอยู่ในเรือนจำกว่า 13,321 ราย

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net