Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘ลูกหิน ทะลุแก๊ซ’ 105 วันในเรือนจำ กับคดีที่ยังไม่ตัดสินในข้อหาประทุษร้ายจากการด่า จนท.ที่เข้ามาดึงป้ายผู้ชุมนุม บอกเล่าเหตุการณ์ในวันถูกจับกุม การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ประสบการณ์ในเรือนจำ ผลกระทบที่เกิดจากการถูกดำเนินคดี และมองตัวเองในปี 66 

ลูกหิน หรือ อัครพล เงินเนย

นับตั้งแต่ปี 2563 การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชน ซึ่งนำโดยคนรุ่นใหม่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยยะสำคัญของยุคสมัย การแสดงออกและเรียกร้องของประชาชนกลายเป็นแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง แม้อาจกล่าวได้ว่าเป้าประสงค์ของผู้ชุมนุมที่ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นยังไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำในขวบปีที่ผ่านมาจำนวนของผู้ชุมนุมก็ลดน้อยลงไปกว่าครึ่ง หากกระแสคลื่นทางความคิดก็ได้ปลุกผู้คนในสังคมให้มีความตื่นตัวในเรื่องของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และสิทธิอันพึงมีในฐานะประชาชน ซึ่งรวมถึงการแสดงออกทางการเมืองที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ไล่เรียงตั้งแต่ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ที่รัฐอ้างว่าเป็นมาตรการควบคุมโรคระบาด ไปจนถึงข้อหารุนแรงอย่างมาตรา 116 และมาตรา 112 จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 27 ธ.ค. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,888 ราย คิดเป็นจำนวน 1,165 คดี

นอกจากวิธีการเข้าจับกุม และขั้นตอนการเข้าถึงทนายความที่หลายครั้งถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมยังได้กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหลายรายถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน หลายคนถูกคุมขังเป็นเวลาหลายเดือน ถูกลิดรอนสิทธิ์ประกันตัว สร้างความยากลำบากในการต่อสู้คดี ที่มากไปกว่านั้น สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ไม่ว่าจะถูกคุมขังหรือไม่ ก็ล้วนได้รับผลกระทบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ทุกคนสูญเสียโอกาส ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน การศึกษา รวมทั้งการถูกตีตราราวกับอาชญากร เราอาจรับรู้เรื่องราวของพวกเขาบางคนจากหน้าสื่อ ตามที่ชุมนุม หรือตามแคมเปญต่างๆ ทว่ายังมีผู้ถูกกล่าวหาอีกเป็นจำนวนมากที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี หลายข้อหาชวนให้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนของโทษกับสิ่งที่กระทำ ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐมองประชาชนผู้เห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อ เสียงของพวกเขาก็ยิ่งแผ่วเบา จนบางครั้งเราอาจไม่ได้ยิน

“ผมคิดว่าการติดกำไล EM เหมือนเป็นการฉุดรั้งเสรีภาพ ผมต้องใส่กางเกงขายาวตลอด ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากให้คนอื่นเห็น เราไม่รู้ว่าเขาจะคิดอย่างไร ตอนแรกที่ใส่ก็บาดเจ็บที่ข้อเท้า แม้ตอนนี้จะหายแล้ว แต่มันไม่เชิงว่ารู้สึกชิน แน่นอนว่าต้องดีกว่าตอนอยู่ในเรือนจำ แต่ตอนนี้ผมคิดเรื่องเงิน เรื่องครอบครัว คิดว่าชีวิตจะเอายังไงต่อ จะสมัครงานได้ไหม” ช่วงตอนหนึ่งจากการพูดคุยกับ ลูกหิน หรือ อัครพล เงินเนย กล่าว

สำหรับ ลูกหิน เขาคือหนึ่งในมวลชนอิสระที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองที่บริเวณแยกดินแดน หรือที่รู้จักในชื่อกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” คนหนุ่มที่เป็นเช่นภาพแทนของประชาชนคนธรรมดาที่ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่สังคม ด้วยหวังถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า แต่กลับต้องแลกมาด้วยการถูกดำเนินคดี และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 105 วัน โดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน

ลูกหิน หรือ อัครพล เงินเนย

จากนี้จะพาผู้อ่านไปพูดคุยกับ ลูกหิน เพื่อเข้าใจความคืบหน้าคดีที่เขาโดน เหตุการณ์ในวันถูกจับกุม การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ประสบการณ์ 105 วันในเรือนจำ ผลกระทบที่เกิดจากการถูกดำเนินคดี และมองตัวเองในปี 66 ดังนี้

ถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง อยู่ในขั้นตอนไหน

ลูกหิน : มี 4 คดี เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แต่คดีล่าสุดที่โดนจับเข้าเรือนจำจะเป็น พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ร.ก. ชุมนุม มั่วสุม ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้อหาสั่งให้หยุดแล้วไม่หยุด ในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ 105 วัน ก็ค่อนข้างลำบากมาก ตอนนี้คดีทั้งหมดอยู่ในชั้นศาล ในขั้นตอนการต่อสู้คดี

ถูกดำเนินคดีล่าสุดได้อย่างไร

สืบเนื่องมาจากวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง มีมวลชนอิสระจัดชุมนุม และเขียนป้ายไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ชุมนุมเราตัดสินใจจะเดินไปหน้าบ้านประยุทธ์ (ร.1 รอ.) แต่เจ้าหน้าที่เข้ามาขัดขวาง จนเกิดการปะทะกันกับตำรวจควบคุมฝูงชน เขาพยายามจะแย่งป้าย ตอนนั้นก็ชุลมุนกัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เหมารวมว่าผมเป็นหนึ่งในผู้กระทำผิด ทั้งที่ผมไม่ได้ทำอะไรเลย

แล้วเพราะอะไรจึงเป็นข้อหาประทุษร้าย คุณได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหาหรือเปล่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร

วันนั้นป้ายที่ผู้ชุมนุมถือมีสามแถว เหตุการณ์คือว่าแถวที่หนึ่งเดินนำหน้าไปแล้ว แต่แถวที่สองกับสามก็กำลังเดินตามให้ทัน แต่กลายเป็นว่าเราติดแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาเข้ามาขวางและพยายามดึงป้ายในแถวที่ป้าเป้า (วรวรรณ แซ่อั้ง) ถืออยู่ ผมไม่รู้จะทำยังไง ใจก็กลัวโดนคดี เลยใช้คำพูดด่าเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดึงป้าย แต่ตอนนั้นมีหลายคนที่เข้าไปแย่ง พยายามไม่ให้เจ้าหน้าที่เอาผ้าไป สุดท้ายกลายเป็นว่าเขาหาว่าพวกผมทำร้ายเจ้าหน้าที่

ถูกจับกุมวันที่เกิดเหตุการณ์เลยไหม

วันนั้นยังไม่ถูกจับกุม มาโดนอีกทีคือวันที่ 16 มิถุนายน ในตอนที่ถูกออกหมายจับเรายังไม่รู้ตัว มารู้ก็ตอนเย็นของวันนั้นแล้ว ผมไปมอบตัวที่สโมสรตำรวจ เหตุผลเพราะสองในแปดคนของกลุ่มผมถูกจับไปแล้ว จากการบุกจับที่บ้านพัก

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเราอย่างไร

ไม่มีความรุนแรงใด ๆ เพราะวันที่ผมไปมอบตัวมีสื่อมวลชนรออยู่ด้านหน้า ผมเดินเข้าไปบอกกับเจ้าหน้าที่ว่ามารายงานตัว เขาพาผมเข้าไปข้างในและแจ้งข้อหาตามที่บอก ระหว่างนั้นเขาก็ให้เซ็นเอกสาร รูปที่เขาใช้เป็นหลักฐานเป็นรูปผมกำลังยกกล่องโฟมสี่เหลี่ยมที่เอาไว้ขายน้ำหารายได้ในม็อบ ความจริงเหตุการณ์ในรูปนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง มีการปะทะกัน และผมกำลังยกกล่องหนี ผมพยายามถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าผมไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ตรงไหน จนกระทั่งผมเห็นในสำนวนคำฟ้องเขียนว่าบุคคลที่ถือกล่องคาดว่าในกล่องจะมีอาวุธ ซึ่งผมพยายามปฏิเสธ แต่สุดท้ายจบที่ผมถูกฝากขัง ทนายจะยื่นประกันตอนนั้นเลย แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ให้ประกัน เขาบอกว่าผมอาจไปกระทำผิดซ้ำอีก ผมนอนที่นั่นหนึ่งคืน หลังจากนั้นก็เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ถ้าวันที่ไปมอบตัวไม่มีสื่อมวลชน จะมีผลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อคุณแตกต่างไปหรือไม่

ผมคิดว่าถ้าไม่มีสื่อมวลชน หรือไม่มีมวลชนมารอ ก็อาจเกิดความรุนแรงเพื่อให้พูด ให้ยอมรับข้อกล่าวหา เพราะเวลาที่เขามาสอบสวนจริง ๆ อาจไม่ได้ใช้ตำรวจในเครื่องแบบ

พอเข้าไปในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้าง

มีทั้งดีและไม่ดี ส่วนที่ดีคือเขามองเราเป็นนักโทษการเมือง ก็จะไม่ค่อยมีใครมายุ่งวุ่นวาย ช่วงแรกอยู่แดนแรกรับ ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ออกไปไหนเลย เพราะเขาให้กักตัวโควิด พอถึงวันศุกร์แรก ทนายมาเยี่ยม บอกว่าได้ไปยื่นประกันให้ทั้งหมดแล้ว ผมก็หวังว่าจะมีข่าวดี ตอนนั้นทุกคนเครียดมาก ทุกคนลุ้นผลการประกัน เพราะต่างก็มีภาระรออยู่ข้างนอก ทั้งการงาน ทั้งครอบครัว มีน้องคนหนึ่งที่เข้าเรือนจำมาด้วยกันกินยาพาราเซตามอลไปประมาณ 70 เม็ด จนช็อค ส่วนอีกสองคนพยายามกรีดแขนเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว

ส่วนที่ไม่ดีจะเป็นเรื่องสภาพความเป็นอยู่โดยรวมของนักโทษ อย่างที่หลายคนรู้ ชีวิตในเรือนจำจะลำบากมาก ถ้าไม่มีคนจากข้างนอกคอยส่งของกินของใช้มาให้ เรื่องอาหารเป็นสิ่งที่แย่มากอย่างหนึ่งที่ผมอยากบอกให้คนข้างนอกได้รับรู้ และอยากให้ทางเรือนจำปรับปรุง พูดกันตรง ๆ คือขนาดข้าวสวยบางครั้งก็ยังไม่สุก บางครั้งจับเป็นก้อนแข็ง หรืออย่างแกง ก็มีแต่วิญญาณหมู วิญญาณไก่ อีกเรื่องคือการรักษาพยาบาล ช่วงเช้าเขาอาจดูแลเต็มที่ แต่ทำไมกลางคืนเขาถึงไม่ค่อยดูแล ถ้าคนมีโรคประจำตัวจะทำยังไง เขาบอกว่าถ้ามีปัญหาอะไรตอนกลางคืนให้กดกริ่งได้นะ แต่พอเวลาเรากดจริง กว่าจะขึ้นมาได้ก็เป็นชั่วโมง

ระหว่างอยู่ในเรือนจำ 105 วัน มีการยื่นขอประกันตัวกี่ครั้ง อย่างไรบ้าง

ทนายจะมาเยี่ยมสัปดาห์ละสองสามครั้ง การยื่นขอประกันตัวในชั้นตำรวจเรายื่นไปทั้งหมด 14 ครั้ง ในชั้นศาลอีกประมาณ 4-5 ครั้ง ทั้งหมดศาลไม่ให้ประกัน เขาบอกว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ระหว่างนั้นเรารอความหวังว่าจะได้กลับบ้านไหม จะได้เจอหน้าครอบครัวไหม จะเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกไหม ทุกคนหวังหมด แต่ทำอะไรไม่ได้ เราแสดงออกทางการเมืองในเรือนจำไม่ได้

พอถึงวันออกศาลครั้งที่สอง เป็นวันตรวจพยาน เราถามเขาว่าสามารถยื่นประกันได้ไหม เขาบอกว่าได้ อัยการไม่ค้านแล้ว แต่พอยื่นจริงก็ไม่ได้ ต้องรอยื่นอุทธรณ์ชั้นต้นก็ไม่ได้อีก สุดท้ายมาได้ประกันตัวที่อีกชั้นหนึ่ง

วันที่เราออก เขาจะให้พ่อแม่ของทุกคนมาเซ็นเรื่องกำไล EM ปัญหาคือไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีความพร้อมในการเดินทางมาเซ็นเอกสาร อย่างครอบครัวผม แม่ทำงานตลอด ไม่มีวันหยุด ส่วนป้าที่ตอนแรกจะมาก็มาไม่ได้เพราะยายไม่สบาย เป็นวันที่ผมช็อคมาก เมื่อรู้ว่ายายไม่สบายติดเตียง แต่ยังพยายามถามถึงผมตลอด ตอนนั้นผมไม่รู้จะทำยังไง โชคดีที่ยังมีคนรับมอบอำนาจจากป้ามาเซ็นเป็นผู้ปกครองแทน ซึ่งก็เป็นคนในม็อบนี่แหละ จนผมได้ประกันตัวออกมาด้วยเงินประกันหนึ่งหมื่นบาท พร้อมติดกำไล EM

ผลกระทบที่เกิดจากการถูกดำเนินคดี

ที่เสียเลยคือเรื่องงาน ก่อนนั้นผมยังรับงานได้ปกติ พวกงานอีเวนต์ต่าง ๆ พอเสียเรื่องงานไป ผลกระทบที่ตามมาก็คือเรื่องเงิน อีกส่วนคือเรื่องครอบครัว เรื่องการที่จะต้องดูแลยายที่นอนติดเตียง ซึ่งก็จะวนกลับมาที่เรื่องงานและเรื่องเงินด้วย เป็นความรู้สึกที่ไม่รู้จะทำยังไงต่อ ไม่รู้จะไปต่อยังไง

หลังจากออกจากเรือนจำ มีการติดตาม หรือมีการละเมิดสิทธิ์อะไรบ้างไหม

มีเรื่องหนึ่งที่คิดว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินไป คือละเมิดสิทธิ์ทางครอบครัวผม โดยการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบว่าครอบครัวอยู่ตรงไหน ยังไง โดยไม่มีการแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และพยายามเข้ามาถ่ายภาพที่อยู่อาศัย พอผมรู้เรื่องนี้จากป้าก็เลยย้ายยายที่นอนติดเตียงไปอยู่กับแม่

คาดการณ์อนาคตไว้อย่างไรบ้าง

ปี 2566 จะเป็นช่วงสืบโจทก์ ยังไม่รู้ว่าจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน แต่ผมก็ได้พูดความจริงทั้งหมดไปแล้ว เพื่อให้ทนายส่งต่อไปยังศาล หวังว่าศาลจะเห็นว่าผมไม่ได้ทำความผิดตามข้อกล่าวหา ผมหวังไว้แบบนั้น

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผย ก.ค. 63 - ธ.ค.65 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม-แสดงออก 1.8 พันคน

อนึ่ง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,888 ราย คิดเป็นจำนวน 1,165 คดี

ตลอดทั้งปี 2565 มีคดีความเพิ่มขึ้นทั้งหมดไม่น้อยกว่า 185 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 141 คน เฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือน มีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองคดีเกิดขึ้นเดือนละ 15 คดี เท่ากับทุกๆ 2 วันในรอบปีนี้ จะมีการดำเนินคดี 1 คดี ซึ่งก็ถือเป็นอัตราที่เข้มข้นระดับหนึ่ง แม้ไม่มากเท่าในช่วงปี 2564

จากจำนวนคดีทั้งหมดดังกล่าว มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 290 คดี ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 875 คดี อยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่างๆ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 75 หรือกว่า 3 ใน 4 ของคดีทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นคดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้วจำนวน 443 คดี ซึ่งยังต้องติดตามการต่อสู้คดีต่อไป

ข้อมูลถึง 30 พฤศจิกายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,886 คน ในจำนวน 1,159 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 22 คน คดีเพิ่มขึ้น 14 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,753 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 221 คน ในจำนวน 239 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 176 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี

จากจำนวนคดี 1,159 คดีดังกล่าว มีจำนวน 279 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยเป็นคดีที่เป็นการปรับในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาลจำนวน 160 คดี และมีคดีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 38 คดี  เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 880 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net