Skip to main content
sharethis

ชาวกะเหรี่ยงโปว์จาก 3 หมู่บ้าน ‘ลุ่มน้ำลำตะเพิน’ ยื่นหนังสือ ถึงประยุทธ์ให้เร่งแก้ปัญหาสิทธิในที่ดินจัดที่ทำกินชดเชย หลังถูกรัฐ เอกชน และอุทยานแย่งยึดที่ดินนานกว่า 30 ปี ย้ำชาวบ้านอยู่อย่างยากลำบาก ประยุทธ์บอก ‘จะดูให้’

24 ม.ค. 2566 ชาวกะเหรี่ยงโปว์ ‘ลุ่มน้ำลำตะเพิน’ จ.สุพรรณบุรี 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านป่าผาก-องค์พระ บ้านกล้วย และบ้านห้วยหินดำ ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ในระหว่างลงพื้นที่ปฏิบัติราชการใน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยชาวกะเหรี่ยงโปว์ลุ่มน้ำลำตะเพินเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนจำนวน 5,000 ไร่ หลังถูกรัฐและนายทุนเข้าแย่งยึดที่ดินทำกินดั้งเดิมของชุมชน ได้รับความเดือดร้อนมากว่า 30 ปี

หนังสือระบุว่า เนื่องด้วยชุมชนบ้านป่าผาก-องค์พระ บ้านกล้วย บ้านห้วยหินดำ (กรณีป่าผากมี 2 กรณี 15 ครอบครัวเดิม) เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโปว์ (โผล่ว) ลุ่มน้ำลำตะเพิน เป็นชุมชนดั้งเดิม มีประวัติศาสตร์อาศัยอยู่มานานกว่า 300 ปี และถูกยกให้เป็นแผ่นดินแห่งสัญญา ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมารัฐยกให้เป็นพื้นที่เอกชน สัมปทานป่าไม้ และให้นายทุนเช่าเข้าถึงทรัพยากร สร้างสถานีอาหารสัตว์ สุพรรณบุรี สร้างอ่างเก็บน้ำ และประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้เกิดผลกระทบมากมายต่อชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพินทั้ง 3 หมู่บ้าน ชาวบ้านต้องอยู่อย่างยากลำบาก ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกิน ไม่สามารถทำกินในแผ่นดินบรรพบุรุษของตนเอง และยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อไปไม้และระบบนิเวศ

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อ 27 มิ.ย. 2565 ได้มีการประชุมกับเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ณ ห้องประชุมเทศบาล ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี จากการประชุมหารือมีมติที่ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ระดับพื้นที่ กรณีบ้านกล้วย บ้านห้วยหินดำ และบ้านป่าผาก ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จำนวน 3 ข้อ ชาวบ้านลุ่มน้ำลำตะเพินทั้ง 3 หมู่บ้าน มีความประสงค์ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรพื้นที่ทำกิน จำนวน 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตตามวัฒนธรรมชุมชน

งจากยื่นหนังสือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า “จะดูให้ จะแก้ปัญหาให้” ด้านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ก็ย้ำกับชาวบ้านว่าจะดูให้ ไม่ต้องกังวล

ทั้งนี้ ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ลุ่มน้ำลำตะเพิน จ.สุพรรณบุรี ทั้ง 3 หมู่บ้าน ถูกรัฐประกาศเปลี่ยนจากพื้นที่ภูมิวัฒนธรรมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ในช่วงปี 2505-2506 ก่อนที่ในช่วงปี 2527-2529 รัฐจะยกพื้นที่ให้เอกชนำสัมปทานป่าไม้ ชาวบ้านจึงถูกอพยพออกจากพื้นที่ จนในปี 2532 รัฐได้ยกพื้นที่ให้บริษัทเอกชนปลูกป่า ภายใต้โครงการปลูกป่าของรัฐเพื่อให้ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกสัมปทานป่าไม้ โดยมีสัญญาเช่า 30 ปี ชาวบ้านจึงไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ได้ ต่อมาในปี 2539 กรมปศุสัตว์ได้ขอใช้พื้นที่ป่า 1,290 ไร่ เพื่อสร้างสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี และให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยไม่มีการชดเชยความเสียหาย และในปี 2540 ได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ก่อนที่ในปี 2541 รัฐประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net