'เรื่องราวนั้นคงอยู่ได้นานกว่าทรราช' ซัลมาน รัชดี ประกาศวางแผงหนังสือเล่มใหม่ แม้เคยถูกทำร้ายสาหัส

ถึงแม้จะโดนทำร้ายจากกลุ่มที่เกลียดชังแต่ 'ซัลมาน รัชดี' ก็ยังคงประกาศจะออกหนังสือเล่มใหม่ในเดือน ก.พ. 2566 ชื่อว่า "Victory City" หรือ "เมืองแห่งชัยชนะ" ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 เขาเคยถูกแทงบนเวทีจนพิการทางสายตาและแขนพิการข้างหนึ่ง เขาเป็นนักเขียนที่เคยถูกอดีตผู้นำอิหร่านประกาศ 'ฟัตวา' ให้มีคนเอาชีวิตจากหนังสือเล่มที่ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ศาสนา


ซัลมาน รัชดี นักเขียนชื่อดังระดับโลก ที่เคยถูกอดีตผู้นำอิหร่านประกาศ 'ฟัตวา' ให้มีคนเอาชีวิตจากหนังสือเล่มที่ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ศาสนา | แฟ้มภาพ: wikimedia

ซัลมาน รัชดี นักเขียนชื่อดังระดับโลกที่มีนิยายได้รับรางวัลอย่าง "ทารกเที่ยงคืน" (Midnight's Children) และ "โองการปีศาจ" (The Satanic Verses) บอกว่าเขากำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่ออกวางจำหน่ายในวันที่ 7 ก.พ. ที่จะถึงนี้ หลังจากเมื่อราว 6 เดือนที่แล้ว เกิดเหตุมีคนบุกทำร้ายรัชดีจนทำให้เขาพิการ เหตุเกิดที่เวทีชาทากัว รัฐนิวยอร์ก ในตอนที่รัชดีกำลังขึ้นเวทีบรรยาย

ถึงแม้เขาจะบาดเจ็บและถูกทำให้พิการตาบอดข้างหนึ่งกับใช้มือได้แค่ข้างเดียว แต่รัชดีก็บอกว่าเขามีกำหนดวางขายหนังสือเล่มใหม่ชื่อ "Victory City" ที่แปลตรงตัวว่า "เมืองชัยชนะ" สมิทธ์โซเนียนแมกกาซีนระบุว่านิยายเล่มใหม่นี้เขียนออกมาในลักษณะคล้ายกับมหากาพย์โบราณ เล่าเรื่องราวของ ปัมปา กัมปานา เด็กหญิงอายุ 9 ปี ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 14 หลังจากที่ปัมปาได้เห็นแม่ของตัวเองเสียชีวิตแล้วเธอก็ได้รับพรจากเทพี ผู้ที่มอบภารกิจให้เธอสร้างอารยธรรมใหม่จากจินตนาการของตัวเอง ปัมปามีชีวิตอยู่มากกว่า 200 ปี ได้เห็นจุดรุ่งเรืองและจุดที่ตกต่ำของ "เมืองชัยชนะ" ของเธอเอง

หนังสือเล่มนี้มีจุดขายว่าเป็น "คัมภีร์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังในการเล่าเรื่อง" และพลังที่ว่านี้ก็มีอยู่ในตัวของรัชดีอยู่อย่างท่วมท้น แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้รัชดีถูกตั้งเป้าหมายโจมตีจากกลุ่มคนที่เกลียดชังเรื่องราวจากปลายปากกาของเขาด้วย เรื่องที่ว่านี้คือกรณีหลังจากที่รัชดีตีพิมพ์นิยายที่ชื่อ "โองการปีศาจ" ในปี 2531 ผู้นำของอิหร่านในยุคนั้นคือ อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะ โคไมนี ได้ประกาศ "ฟัตวา" ต่อรัชดี เรียกร้องให้มีการเอาชีวิตผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารัชดีก็ต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามเอาชีวิต และการพยายามลอบสังหารเขาหลายครั้ง

เนื้อหาของ "โองการปีศาจ" นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของศาสดามูฮัมหมัดของอิสลาม มีการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ซึ่งหมายถึงการเล่าเรื่องแบบสะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงไปพร้อมๆ กับใช้องค์ประกอบความวิเศษเหนือธรรมชาติเข้ามาปะปนด้วย ชื่อของหนังสือดังกล่าวนี้นำมาจากคำว่า "Satanic Verses" ที่มีระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานสื่อถึงเทพีของชาวมักกะฮ์ยุคนอกศาสนา 3 องค์

แต่หนังสือเล่มดังกล่าวนี้ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น "สิ่งลบหลู่" ศาสนาอิสลามจากการที่มันได้อ้างอิงถึงเนื้อหาในคัมภีร์อัลกุรอาน จนทำให้มีทั้งการประท้วงต่อต้านและการพยายามสังหารนักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียแย่างรัชดี โดยที่การพยายามลอบสังหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2565 ที่สถาบันชาทากัว ในนิวยอร์ก ในตอนที่รัชดีขึ้นพูดบนเวที ก็มีคนที่ชื่อ ฮาดี มาตาร์ บุกขึ้นไปบนเวทีแล้วก็กระหน่ำแทงรัชดีซ้ำๆ ซึ่งรัชดีรอดชีวิตมาได้ แต่ตาของเขาก็สูญเสียการมองเห็นหนึ่งข้าง แล้วแขนของเขาก็ใช้การไม่ได้ไปข้างหนึ่ง

รัชดีเขียนเรื่อง "Victory City" มาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะถูกโจมตีที่ชาทากัว แล้วเขาก็หวังว่านิยายเล่มใหม่ของเขาจะได้รับการตีพิมพ์ในช่วงที่เขากำลังพักฟื้น เรื่องนี้มาจากคำบอกเล่าของ คอลัม แมคแคน นักเขียนนิยายที่เป็นเพื่อนกับรัชดี

แมคแคนบอกว่ารัชดียังคงมี "จิตวิญญาณแห่งความเกรี้ยวกราดอยู่ในตัว" และกล่าวถึงทัศนคติของรัชดีว่า เขาเป็นผู้ที่จะใช้ภาษาในฐานะ "อาวุธที่ทรงพลัง" และเชื่อว่าพลังจากงานเขียนของเขานั้น "แข็งแกร่งยิ่งกว่าอะไรก็ตามที่ถูกขว้างปาใส่ตัว"

สมิทธ์โซเนียนแมกกาซีนระบุว่า ทัศนคติเช่นนี้ถูกสอดแทรกเข้าไปในนิยายเรื่อง Victory City ด้วย แล้วมันได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงมากเป็นพิเศษถึงสิ่งที่รัชดีต้องเผชิญในชีวิตจริงของตัวเอง

แมคแคนกล่าวว่า "รัชดีได้พูดอะไรบางอย่างเอาไว้ได้ลึกซึ้งใน Victory City" รัชดีระบุไว้้ว่า "คุณจะไม่สามารถช่วงชิงการกระทำในสิ่งที่เป็นพื้นฐานอย่างการเล่าเรื่องไปจากผู้คนได้" ไม่ว่าจะในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับอันตราย หรือกระทั่งเผชิญหน้ากับความตาย รัชดีบอกว่าการเล่าเรื่องเป็นเสมือนเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนที่พวกเราทุกคนมีอยู่ในตัว

ในปีที่แล้ว (2565) หลังเกิดเหตุพยายามลอบสังหารรัชดี ก็มีการจัดประท้วงต่อต้านการทำร้ายรัชดี โดยมีผู้จัดการประท้วงคือห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก ร่วมมือกับองค์กรด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่าง PEN อเมริกา และผู้จัดพิมพ์หนังสือของรัชดีอย่างเพนกวินแรนดอมเฮาส์ ซึ่งมีนักเขียนชื่อดังหลายคนเข้าร่วมการประท้วงในครั้งนั้น

นิยาย Victory City ของรัชดีได้รับการวิจารณ์จากสื่อหลายสำนัก เช่น มาร์ติน ชิลตัน จากดิอินดิเพนเดนต์ชื่นชม Victory City ว่าเป็น "เรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวาอย่างท่วมท้นที่มาพร้อมกับข้อความที่มีคุณค่าที่ว่า เรื่องราวต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่คงอยู๋ได้นานกว่าเหล่าทรราช และถ้อยคำก็เป็นสิ่งที่สามารถได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง"

ขณะที่นักเขียน ฮารี คุนซรู เพื่อนของรัชดีอีกคนหนึ่งก็ระบุว่า Victory City นั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง "การใช้สมรรถภาพอย่างเต็มกำลัง" และ "การใช้พลังสร้างสรรค์อย่างสุดความสามารถ" ของรัชดี ขณะเดียวกันคุนซรูก็บอกว่ามันยังเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่ารัชดีนั้นเป็น "นักเขียนนิยายและนักเล่าเรื่องมากกว่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง"

เรียบเรียงจาก
In Salman Rushdie’s New Book, Stories Outlive Tyrants, Smithsonian, 26-01-2023
As Salman Rushdie Recovers, Renowned Writers Read Aloud From His Work, Smithsonian, 23-08-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Satanic_Verses
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท