Skip to main content
sharethis

กลุ่มทะลุวัง เดินเท้าไปยื่น 6,514 รายชื่อต่อประธานศาลฎีกา เพื่อสนับสนุน 3 ข้อ เรียกร้องของแบมและตะวัน ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องเป็นกลาง เป็นอิสระ ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพ รวมทั้งพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และ 116

30 ม.ค. 2566 โครงการ Mobdata Thailand รายงานว่า วันนี้ (30 ม.ค.) เวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หน้าหอประชุมใหญ่ กลุ่มทะลุวัง เดินเท้าไปยื่นรายชื่อต่อประธานศาลฎีกา เพื่อสนับสนุน 3 ข้อ เรียกร้อง ของตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ที่ศาลฎีกา โดยรายชื่อในเว็บไซต์ Change.org มีผู้ร่วมสนุบสนุนมากกว่า 6,514 รายชื่อ และ 16 รายชื่อ ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศ

รายงานระบุด้วยว่า ในวันนี้มี บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม กลุ่มทะลุวัง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24มิถุนา, เอกชัย หงส์กังวาน, ธนพร วิจันทร์ สหภาพแรงงาน,  อนุสรณ์ อุณโณ และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาร่วมเดินด้วย

เวลา 13.30 น. ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มธ.ท่าพระจันทร์ มวลชนประมาณ 80 คน มีการถือดอกทานตะวัน รูปภาพของผู้ต้องขังทางการเมือง แล้วไวนิลรูป QR code เขียนข้อความ “ร่วมสนับสนุน 3 ข้อเรียกขร้องของตะวันแบม” รวมตัวกันก่อนจะเดินเท้าไปยังศาลฎีกา ใช้เส้นทางผ่านสนามหลวง

ต่อมาขบวนมาหยุดที่หน้าป้ายศาลฎีกา ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง บุ้ง ทะลุวัง กล่าวว่าวันนี้เรามายื่นหนังสือเรื่องข้อเรียกร้องสิทธิประกันตัวและปฎิรูปกระบวรการยุติธรรมถึงประธานศาลฎีกา ทะลุวังได้รวบรวมรายชื่อของคนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องและลงชื่อในผ่านเว็บไซต์รณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Change.org (http://change.org/) โดยข้อเรียกร้องของตะวันและแบม มีดังนี้

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องเป็นกลาง เป็นอิสระ ผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116

เวลา 13.52 น. ขบวนเดินมาถึงหน้าศาลฎีกา สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า พวกเรามาที่นี่เพื่อบอกว่าศาลขาดความเป็นอิสระ มีนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุมและไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งการประกันตัวเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการที่ศาลตั้งเงื่อนไขห้ามวิพากษ์วิจารย์สถาบันกษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่วุ่นวาย และการติดกำไลอีเอ็มนั้นเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ได้มีในกฎหมาย แต่ศาลได้ปฏิบัติเกินไปกว่ากฎหมาย ศาลได้ละเมิดหลักการสำคัญคือในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มีความผิด 

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฝากคำถามต่อศาลฎีกาว่า เคยมีปรากฎการณ์ที่ผู้พิพากษาเป็นคนยื่นขอไต่สวนเพื่อถอนประกันด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ใดร้องขอหรือไม่ ปกติการไต่สวนเพื่อถอนประกันจะต้องมีพนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนเป็นผู้ร้องขอ แต่กรณีของใบปอ เก็ท ตะวัน และแบม เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาขอไต่สวนถอนประกันด้วยตัวเองและไม่เคยมีปรากฎมาก่อนของไทย นั่นทำให้มีคำถามถึงความเป็นอิสระและการถูกแทรกแทรงของผู้บริหารศาล 

ต่อมา เนติพร ทะลุวังยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา โดยมีธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบจากสำนักงานประธานศาลฎีกาเป็นตัวแทนออกมารับ

เนติพร กล่าวว่าถ้าวันหนึ่งศาลไม่เป็นที่พึ่งของประชาชนได้แล้ว ประชาชนจะอยู่ได้เช่น เธอเป็นพยานในการเรียกไต่สวนถอนประกันใบปอและเก็ทด้วยตัวเองโดยผู้พิพากษาพูดบนบัลลังก์กล่าวว่าศาลมีสิทธิที่จะหาเหตุและข้อมูลด้วยตนเอง ศาลไม่จำเป็นต้องพึ่งอัยการหรือตำรวจก็ได้ หากการยื่นหนังสือต่อศาลฎีกาในวันนี้ยังไม่มีการตอบรับภายใน 3 วัน กลุ่มทะลุวังและกลุ่มนักกิจกรรมจะกลับมาที่นี่พร้อมรายชื่อที่มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net