Skip to main content
sharethis

ฝุ่น PM2.5 เข้าขั้นวิกฤต กรุงเทพฯ ติดท็อป 5 ‘เมืองอากาศแย่สุดในโลก’ กรมควบคุมมลพิษเผยฝุ่นจิ๋วอยู่ยาวไปถึงวันที่ 7 กพ. หมอศิริราช เสนอ ‘ปิดเรียน-WFH’ ได้แล้ว

2 ก.พ. 66 สำนักข่าวทูเดย์รายงานตรงถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เข้าขั้นวิกฤต ระบุข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir เผยรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลกพบ กทม.ติดอันดับ 5 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของโลก

ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 62 - 139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3)

ระบุค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณ:

  1. แขวงบางนา เขตบางนา จ.กรุงเทพฯ
  2. ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี
  3. ต.บางโปรง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
  4. ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ
  5. ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
  6. ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
  7. ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม

กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3 - 9 ก.พ. 66

วันที่ 3-4 ก.พ. 66 พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และปิด โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และใต้ (พื้นที่ท้ายลม)

พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานช่วง 6-8 ก.พ. 66 แต่ควรเฝ้าระวังบริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 3-4 ก.พ. 66

ก.ควบคุมมลพิษ ยอมรับฝุ่นจิ๋วอยู่ยาวถึงวันที่ 7 กพ.

สำนักข่าวพีพีทีวีรายงานว่า ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เปิดเผย ถึง "การยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย"  ระบุว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีจุดความร้อน 1,200 จุด เป็นส่วนสำคัญทำให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ซึ่งในกรุงเทพฯ มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม มีผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยสาเหตุสำคัญมาจาก สภาพอากาศปิดในฤดูหนาว รวมถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น ทั้งการจราจร รถดีเซลเก่า และการเผาพื้นที่เกษตรที่มากขึ้น ทำให้ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานขึ้นมา

ซึ่งคาดการ์ณว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคงอยู่ไปกระทั่งวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จะกลับไปเป็นสีเหลือง

จากนั้นวันที่ 7 ก.พ. จะค่อยๆ กลับไปสู่ระดับสีเขียว โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และภาคเหนือ ด้วยสภาพอากาศปิด

ล่าสุด วันนี้จึงมีการใช้มาตรการระดับ 3 คือ ขอความร่วมมือเวิร์คฟอร์มโฮมในระดับพื้นที่นั้นๆ รวมถึงให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย ดูแลตัวเอง แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการในวงกว้าง  หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การมีข้อห้ามการไม่ให้เผาในบางช่วงเวลา ส่งผลให้เกษตรกรเร่งเผาพร้อมๆ กัน ยิ่งเกิดจุดความร้อน จนสร้างความเดือดร้อนเหมือนปัจจุบัน จึงต้องปรับแผนบริหารการเผาไม่ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน เชื่อว่าหากควบคุมการเผาได้จะไม่ต้องยกระดับมาตรการไปถึงระดับ 4 

พร้อมให้คำแนะนำว่า ประชาชน นักท่องเที่ยว ต้องระมัดระวังเรื่องค่าฝุ่น ขอให้เช็คค่าฝุ่นในแอปพลิเคชันอย่างสม่ำเสมอ และสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง

หมอศิริราช เสนอ ‘ปิดเรียน-WFH’ ได้แล้ว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก เตือนภัยวิกฤตฝุ่น PM2.5 สำหรับคนกรุงเทพสรุปใจความได้ว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อประชาชนทุกคน นอกจากแค่ให้ประชาชนปฏิบัติตัวแล้ว หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบทั้งหลาย ต้องบอกด้วยว่าตัวเองพยายามทำการแก้ไขเชิงระบบและมาตรการประทังปัญหาอะไรอยู่บ้าง มีปัญหาและอุปสรรคอะไรที่ขัดขวางอยู่ และต้องการการบูรณการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนอย่างไร โดยนพ.นิธิพัฒน์ เสนอว่าควรประกาศปิดสถานศึกษาและให้เรียนออนไลน์ได้แล้ว หน่วยงานรัฐ work from home ให้มากที่สุด หน่วยงานเอกชนขอความร่วมมือ ห้ามใช้ยานพาหนะส่วนตัวในบางพื้นที่ ในบางช่วงเวลา ห้ามจอดรถโดยไม่ดับเครื่องยนต์ ระงับการก่อสร้างชั่วคราวในทุกพื้นที่ ห้ามการเผา ปิ้ง ย่าง หรือการทำให้เกิดควันทุกชนิด ในที่โล่งแจ้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net