พนักงาน-ลูกจ้าง สธ. ทวงค่าเสี่ยงโควิด-สภาพจ้างงานที่เป็นธรรม จี้ 'อนุทิน' เร่งแก้

พนักงาน-ลูกจ้าง สธ. ทวงค่าเสี่ยงโควิด-สภาพจ้างงานที่เป็นธรรม-ค่าจ้างไม่สอดคล้องค่าครองชีพ จี้ อนุทินเร่งแก้

 

6 ก.พ. 66 ทีมสื่อสหภาพคนทำงานแจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า ตัวแทนสหภาพฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์การปักหลักของสหภาพลูกจ้างของรัฐฯ (สลท.) กลุ่มสายสนับสนุน 56 สายงาน เช่น พนักงานเปล คนขับรถพยาบาล ณ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามการเจรจาข้อเรียกร้อง 6 ข้อ เน้นทวงค่าเสี่ยงโควิด การบรรจุเป็นลูกจ้างถาวรสร้างความมั่นคงในอาชีพระยะยาว รวมถึงการปรับเพิ่มเงินค่าทำงานล่วงเวลา โดยมีผู้ปราศรัยทยอยขึ้นพูดถึงปัญหาค่าจ้างที่ไม่พอกับค่าครองชีพและความไม่เป็นธรรมที่บุคลากรโรงพยาบาลจำนวนมากมีความเสี่ยงติดเชื้อโรคเหมือนกับหมอ-พยาบาล แต่กลับไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ


 

เบื้องต้นโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐฯ ได้พูดคุยกับ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอพบอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่เป็นผลสำเร็จแม้จะได้ทำการติดต่อประสานก่อนล่วงหน้าหลายเดือน จึงยืนยันจะค้างคืนที่บริเวณหน้าสำนักปลัดกระทรวงต่อไปแม้ทาง สธ. และทางตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี จะแนะนำให้ยื่นเรื่องแล้วแยกย้ายก็ตาม

ข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) สายสนับสนุนบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณจากการกระทรวงการคลังโดยตรง ไม่ใช่เงินบำรุงของโรงพยาบาล (รพ.) ทำให้ไม่มั่นคงในการจ้างงาน ถูกกดขี่ค่าจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องปรับเงินเดือนประจำปี

2. ขอให้ สธ.ยกเลิกสัญญาการจ้างระยะสั้น 4 ปีของ พกส. ที่ไม่มีความมั่นคง ให้ปรับระบบสัญญาจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ โดยรอบปีที่ผ่านมามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมที่ให้ปรับลดสัญญาจ้างจาก 4 ปีเหลือ 1 ปี ทั้งที่มีระเบียบ พกส. รองรับ อาจมีการกระทำซ้ำในอนาคต

3. ขอให้ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงแบบลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการของ สธ.ทั้งหมด ขอให้ปรับเข้าสู่ระบบการจ้างงานเป็น พกส. ทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการทำงานและสวัสดิการให้มีลูกจ้าง สธ.เพียงสายงานเดียว คือ พกส.

4. ขอให้ พกส. และลูกจ้างฯ ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ เพราะมีความเสี่ยงเหมือนเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่นกัน

5. ค่าตอบแทนและค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง ซึ่งปัจจุบันได้รับน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 332 บาท ได้ค่าจ้างล่วงเวลาน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เฉลี่ย 300 บาท ซึ่งควรได้ขั้นต่ำเท่าค่าแรงขั้นต่ำ

6. ค่าเสี่ยงภัยโควิดของสายสนับสนุน ปัจจุบันได้กันแค่ 1 เดือน แต่สายวิชาชีพกลับได้กันครบ เหตุเพราะทางกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าเป็นเงินคนละงบประมาณ โดยค่าเสี่ยงภัยของสายวิชาชีพได้จากงบเงินกู้ แต่สายสนับสนุนเป็นงบประมาณ ซึ่งไม่เพียงพอ ตรงนี้เป็นการแบ่งแยกหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท