Skip to main content
sharethis

อัยการ นักขับเคลื่อนประเด็นทางเพศและนักกิจกรรมเปิด สาเหตุของการเลือกปฏิบัติทางเพศในกระบวนการยุติธรรม ถอดรื้อ ‘มายาคติ’ ในเรื่องเพศ เหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งวิเคราะห์ความพยายามในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญ

9 ก.พ.2566 กลุ่ม  ‘Nitihub’ จัดเสวนาออนไลน์ซึ่งเผยแพร่ผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Nitihub’  ในหัวข้อ "การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในกระบวนการยุติธรรม" เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด จอมเทียน จันสมรัก นักขับเคลื่อนประเด็นความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและสุขภาวะทางใจ ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และปพิชญานันท์ จารุอริยานนท์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ครช.) 

สาเหตุของการเลือกปฏิบัติทางเพศในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น

จอมเทียน นักขับเคลื่อนประเด็นความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและสุขภาวะทางใจ ชี้ให้เห็นถึง 3 สาเหตุที่ทำให้มีการเลือกปฏิบัติทางเพศในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น ดังนี้

1. ทัศนคติของเจ้าหน้าที่และผู้ที่ออกแบบกระบวนการยุติธรรม ที่ถูกปลูกฝังมาจากการเลี้ยงดู สังคม วัฒนธรรม ที่อยู่ภายใต้ความเป็นปิตาธิปไตย ความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ อำนาจนิยม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ บรรทัดฐานทางเพศในกระบวนการยุติธรรมสิ่งแหล่านี้ยังดำรงอยู่ และไม่ได้ส่งผลแค่กับเพศหญิง แต่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ

2. กระบวนการยุติธรรมไทยในชั้นต้นอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีการร่วมมือกันกับกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยให้อคติทางเพศมันน้อยลง หรือซัพพอร์ตกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความต้องการที่หลากหลายในปัจจุบัน คนไม่ได้แค่ต้องเข้าถึงกฎหมาย แต่ต้องเข้าถึงอย่างปลอดภัยและได้รับสิทธิ์ครบถ้วน โดยเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีศักยภาพ ความรู้ และความเข้าใจในเรื่องเพศอย่างเปิดกว้าง ร่วมกับการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือ NGO ต่าง ๆ

และ 3. เมื่อมันเกิดความรุนแรงที่มากขึ้น เราไม่มีช่องทางในการร้องเรียนที่ปลอดภัย โปร่งใส และมีการนำมาแก้ไขจริง เมื่อผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นอย่าง ตำรวจ ทำให้ตำรวจจะไม่ได้รับ feedback ไม่ได้รับการดูแลสภาพจิตใจ หรือลดภาระจากคนทำงานด้วยกันด้วย เมื่อมันไม่มีระบบที่ดีแล้ว ประเด็นบางอย่างที่มันไม่เป็นคดีอาญา บางอย่างที่ยังไม่ถูกระบุตามกฎหมาย หรือยังเป็นพื้นที่สีเทา(grey area) ที่แล้วแต่ดูแลพินิจของศาล มันจะเกิดปัญหาในการรายงานไปจนถึงการตัดสินคดี

“เมื่อมันเกิดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศขึ้นกับผู้หญิงสิ่งแรกที่สังคมทำมันไม่ใช่การแก้ไขที่การกระทำความผิดนั้น แต่มันกลับเป็นการควบคุมผู้หญิงให้มากขึ้นกว่าเดิม” จอมเทียนกล่าว

การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในกระบวนการยุติธรรมของไทย

มาร์ค อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยกประเด็นในการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในกระบวนการยุติธรรมของไทยมาอยู่ 3 ประเด็น

1. บุคคลในกระบวนการยุติธรรม

ผู้หญิงเพิ่งได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจได้ไม่นาน กระบวนการยุติธรรมสมัยก่อน(ไม่ใช่แค่ที่ไทย) ไม่ได้อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถสมัครสอบเป็นตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษาได้เลย แต่ปัจจุบันสิทธิเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นและมีวิวัฒนาการคืบคลานไปอย่างช้า ๆ ภายใต้บริบทสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น

กฎหมายปัจจุบันคุ้มครองผู้หญิงมากขึ้น โดยจัดให้หลาย ๆ อย่างต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนหญิง แต่กลับยกเลิกสิทธิผู้หญิงในการเข้าเรียนวิชาการตำรวจ โรงเรียนนายร้อยตำรวจอนุญาตให้ผู้หญิงเป็นนายร้อยตำรวจอยู่แค่ 10 ปี และก็ไม่อนุญาตมาสักพักใหญ่แล้ว การเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นการเรียนในวิชาการตำรวจทำให้บุคคลคนหนึ่งมี ความรู้และสกิลเฉพาะด้านมากกว่าการรับผู้หญิงเข้ามาแล้วก็เทรนเขาให้ตำรวจหญิง ซึ่งมันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สำนักงานอัยการไม่อนุญาตไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรู้สึกว่าเสี่ยงเกินไป และประเด็นนี้ยังเกี่ยวโยงถึงความเท่าเทียมทางเพศด้วย ซึ่งถ้าว่ากันตามรัฐธรรมนูญหรือกฎสากลในเรื่องของสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ พูดถึงเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ที่ไม่ใช่แค่การเลือกปฏิบัติเฉย ๆ แต่มันต้องไม่เป็นธรรมด้วยถึงจะเป็นประเด็นที่กฎหมายห้ามไว้

2. วิวัฒนาการความเสมอภาค

มาร์คยกตัวอย่างวิวัฒนาการความเสมอภาคไว้หลายประเด็นดังนี้

ความผิดเกี่ยวกับเพศ ในกรณีการข่มขืนแต่เดิมกฎหมายใช้คำว่าชายใดข่มขืนหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตน นั่นแสดงว่าสมัยก่อนผู้ชายเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำความผิดได้ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้ผู้ใดข่มขืนผู้อื่นแทน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเพศหลากหลายอื่น ๆ ก็ล้วนนับว่าเป็นบุคคลที่กฎหมายจัดการในกระบวนการว่าเป็นการกระทำความผิด และได้รับโทษเท่ากัน

เหตุแห่งการฟ้องหย่า แต่เดิมถ้าผู้หญิงไปคบชู้ผู้ชายสามารถฟ้องหย่าได้เลย แต่เป็นถ้าเป็นผู้ชายจะใช้คำว่าชายจะต้องเลี้ยงดูยกย่องผู้อื่นฉันภรรยา แสดงว่าถ้าเป็นการแอบซ่อนฟ้องย่าไม่ได้ แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้คำว่า สามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดู/ยกย่องผู้อื่นฉันภรรยาหรือสามี นั่นหมายความว่าต่อไปนี้เธอกับฉันเท่ากัน ใครจับใครได้ว่ามีคนอื่นนอกใจถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นเหตุในการฟ้องหย่าได้เหมือนกัน

การป้องกันศักดิ์ศรี คำพิพากษาฎีกาสมัยก่อนบอกว่าผู้ชายพบภรรยาตัวเองกำลังมีเพศสัมพันธ์กับชายชู้ สามารถฆ่าทิ้งได้เลย แล้วก็อ้างด้วยเหตุว่านี่เป็นการป้องกันศักดิ์ศรีของผู้ชาย แต่เวลากรณีที่เป็นผู้หญิงอ้างไม่ได้ และให้เป็นเรื่องการบันดาลโทสะแทน ปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้คำว่าชายและหญิงต่างก็มีสิทธิในการป้องกันเกียรติของตนเองเหมือนกัน

กระบวนการสอบสวน เดิมพนักงานสอบสวนที่ดำเนินการทั้งหมดเป็นชาย ปัจจุบันการค้นตัวตามป.วิอาญา มาตรา 85 วรรค 2 และการสอบสวนคำให้การผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงตามมาตรา 133 วรรค 4 ต้องทำด้วยพนักงานสอบสวนที่เป็นหญิงเท่านั้น

การได้สัญชาติ ปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้แค่ว่ามีเพียงกรณีที่หญิงซึ่งเป็นต่างด้าวสมรสกับชายผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะขอสัญชาติได้ แต่กลับกันกรณีชายต่างด้าวสมรสกับหญิงไทยนั้นกลับขอสัญชาติไม่ได้ มันแสดงให้เห็นว่าเรากำลังกำหนดคุณค่า(set value)ของการได้สัญชาติของผู้ชายกับผู้หญิงไม่เท่ากัน และเป็นประเด็นที่จะต้องแก้ไขกันต่อไป

3. สิทธิของบุคคลชายขอบ(LGBTQ+)

การสมรสเท่าเทียม บ้านเรายังมีการมองที่ต่างกันในการแก้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายยังดูแต่เฉพาะส่วนของเพศกำเนิดเฉย ๆ ไม่ได้มองไปในเรื่องของเพศสภาวะที่มันเปิดกว้างไปกว่ากรอบของเพศกำเนิด

การมีบุตรด้วยวิธีการอุ้มบุญ กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นคู่สมรส และต้องเป็นชาย-หญิงเท่านั้น เพราะฉะนั้นกรณีที่ต่อไปถ้าคุณจะจดทะเบียนกัน ถ้ากฎหมายหลักอนุญาตให้เพศเดียวกันสมรสกันได้ ก็อนุญาตให้บุคคลที่สมรสกันได้แม้จะเป็นเพศเดียวกันก็สามารถหาแม่อุ้มบุญ (surrogate mother)หรือทำการอุ้มบุญได้เช่นกัน แต่ตอนนี้ยังพิจารณาตามเพศจะกำหนดอยู่

การค้นตัวและสอบปากคำ ตอนนี้มีมาตรา 85 วรรค 2 และมาตรา 133 วรรค 4 ที่กำหนดว่าให้ทำกับเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น คำถามคือ แล้วถ้าสมมติผู้หญิงที่เขาแปลงเพศแล้วเป็นผู้ชายจะให้ผู้ชายไปจับตัวเขาก็อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือผู้ชายที่แปลงเพศเป็นผู้หญิงแล้วก็เหมือนกัน ตรงนี้ยังดูตามกรอบของเพศโดยกำเนิดอยู่ เพราะฉะนั้นโครงสร้างของการเข้าไปค้นตัวที่ทำโดยผู้ชายการสอบปากคำที่ทำโดยผู้ชาย และประเด็น sensitive หลาย ๆ อัน มันก็เลยยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะกฎหมายพูดแต่เฉพาะหญิงชายตามเพศกำเนิดเท่านั้น แสดงว่าเป็นบุคคลชายขอบไม่ถูกพูดถึงในตัวกฎหมาย และไม่รู้ว่าจะมีกระบวนการในการจัดการยังไงบ้าง

การคุมขัง กฎและระเบียบของทางราชทัณฑ์อาจมีกระบวนการในการแยกส่วน จัดที่พัก มีกระบวนการของการดูแลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ตาม แต่การยังจัดพวกเขาอยู่ในสถานที่คุมขังตามเพศกำเนิด ความวางใจ การอยู่อย่างรู้สึกถึงความรู้สึกสบายใจ ที่จะอยู่ในพื้นที่นั้นมันจึงไม่ได้มีไม่เยอะเท่าที่ควร และที่สำคัญที่สุดคือ เราจะได้ยินผู้ที่เคยเป็นผู้ที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำมีการพูดถึงปัญหาเรื่องของการทำอนาจารหรือกระทำชำเราในระหว่างที่อยู่ในที่คุมขังอยู่จำนวนไม่น้อยเลย และก็ยังเป็นปัญหาอยู่

นักกิจกรรมทางการเมืองผู้หญิงและ LGBTQ+ กับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

ชลธิชากล่าวว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหญิงหรือ lgbtq+ ไม่เพียงแต่ถูกเลือกปฏิบัติโดยกระบวนการยุติธรรมแค่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่างในประเด็นเรื่องทางการเมืองเท่านั้น แต่ว่าเราถูกเลือกปฏิบัติโดยมิติเรื่องของทางเพศด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้กระทบแค่ในเชิงของกายภาพอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันกระทบไปถึงสภาพจิตใจด้วย รู้สึกเหมือนกับถูกลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ลงไป

ประเด็นหนึ่งที่มันทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเพศคือ เรื่องของการขาดความอ่อนไหว(sensitive) ในประเด็นเรื่องเพศของเจ้าพนักงานในกระบวนการสืบสวนสอบสวน อย่างที่เรารู้กันว่านักกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยติดตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมหญิงและ lgbtq+ หลาย ๆ คนมันแสดงให้เห็นเลยว่าเจ้าหน้าที่เขาไม่ได้คำนึงถึงความอ่อนไหวตรงนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นการสะกดรอยตามตอนกลางคืน โทรมาถามข้อมูลต่าง ๆ โดยใช้คำพูดที่คุกคาม หรือคำพูดที่แสดงออกถึงอคติทางเพศอย่างชัดเจน ในพื้นที่การชุมนุมเองนักกิจกรรมหญิงและ lgbtq+ หลาย ๆ คนถูกเจ้าหน้าที่ผิวปาก แซว เดินเข้ามาโอบ/กอด รวมถึงมีการถ่ายรูปเพื่อไปใช้เป็นการส่วนตัว จนทำให้รู้สึกหวาดกลัวและสงสัย ผลที่มันเกิดขึ้นก็คือว่ามันทำให้พวกเราที่เป็นนักกิจกรรมหญิงหรือ lgbtq+ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในประเทศของเราได้เลย

รวมถึง ปัจจุบัน Social Media มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนวาระสำคัญทางสังคมในทุก ๆประเด็น แต่ว่าในขณะเดียวกันมันก็มีกระบวนการของ io หรือการใช้ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์มาโจมตีคนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องของความเป็นธรรมในสังคม ผู้หญิงและ lgbtq+ เองหลายคนก็ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีในโลกออนไลน์ และมันไม่ง่ายเลยที่ผู้หญิงหรือ lgbtq+ ที่มีประสบการณ์ถูกบูลลี่ โจมตี คุมคามทางเพศในโลกออนไลน์จะรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเจ้าหน้าที่กลับมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และให้กลับไปดำเนินการเอง รวมถึงยังต้องเจอกับคำพูดที่เป็นการดูถูกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก

ชลธิชา แจ้งเร็ว (แฟ้มภาพ)

ชลธิชาจึงชวนตั้งคำถามต่อกระบวนการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานถึงความผิดพลาดที่สุดท้ายมันทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกที่จะใช้คำพูดเหล่านั้น แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมา โดยที่ไม่ได้รู้สึกเลยว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น

“ในฐานะที่นักกิจกรรมเป็นผู้เสียหายมันก็จะมีการเลือกปฏิบัติที่ซ้ำซ้อนเข้ามาอีก คือนอกเหนือจากความเป็นหญิงแล้ว ก็ยังมีการถูกเลือกปฏิบัติกับความเชื่อทางการเมืองของตัวเองเข้าไปด้วย ทำให้กระบวนการดำเนินคดีด้วยเหตุแห่งเพศที่มีความท้าทายมากอยู่แต่เดิมยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก” จอมเทียนกล่าว

‘มายาคติ’ ในเรื่องเพศ เหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ

ปพิชญานันท์กล่าวว่า คำว่า ‘เพศ’ มันไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีบริบท เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม สิ่งหนึ่งที่เราอาจได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องตามธรรมชาติ ที่แบ่งเป็นหญิง-ชาย ตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จนเกิดเป็นมายาคติขึ้น เช่นว่า เพศหญิงจะมีความอ่อนโยน อ่อนไหว มีความเป็นแม่ สามารถตั้งท้องหรือมีบุตร และสืบพันธุ์ตามธรรมชาติได้ ในขณะเดียวกันผู้ชายก็จะมีภาพของความแข็งแกร่ง แข็งแรง มีความหื่นกระหายตามธรรมชาติ เป็นนักรบ นักสู้ นักปกครอง และเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นธรรมชาติ เราก็จะมองไม่เห็นมิติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ความขัดแย้ง อำนาจที่มันอยู่ในเรื่องเล่า เรื่องจริง หรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และการนำความรู้ชุดเดียวนี้ไปผลิตซ้ำโดยไม่ถูกตั้งคำถาม มันทำให้คนที่เขาอยู่นอกเหนือไปจากชุดความรู้นั้นต้องเผชิญกับความยากลำบาก และมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตจากความไม่เข้าใจในเรื่องเพศของกระบวนการทางกฎหมายต่าง ๆ

“ความเข้าใจเรื่องเพศที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับมัน พอวันนึงมันมามีบทบาทในพื้นที่ของทางกฎหมาย มันก็ส่งผลต่อชีวิตของคนในหลายระดับ และการมีคำอธิบายที่แค่อันเดียวก็เป็นการกีดกันคนให้ไม่สามารถได้รับสิทธิ์อย่างที่เขาควรได้รับ” ปพิชญานันท์กล่าว

ความพยายามในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญ

‘มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ รัฐธรรมนูญ 2560

ปพิชญานันท์กล่าวว่า มักมีข้อถกเถียงอยู่ 2 ประเด็น เมื่อมีคำว่า ‘ชายและหญิง’ ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรกคือ การกำหนดว่าให้มีแค่ชายและหญิงมันควรมีอยู่ไหม เพราะปัจจุบันเรื่องเพศไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพศชายหรือหญิงแล้ว แต่ยังมีคนที่เขานิยามตัวเองเป็นอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ อีกมากมาย การที่พูดแค่ชายและหญิงมันอาจจะส่อให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติในทางกฎหมายได้หรือเปล่า และอีกประเด็นหนึ่งคือการใช้คำว่า บุคคล เพื่อที่ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตามก็สามารถที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกัน แบบนั้นจะเป็นการละเลยเรื่องเพศชาย-หญิงที่มันไม่เคยเท่ากันมาก่อนหรือเปล่า ก็ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ แต่ในปัจจุบันกฎหมายหลาย ๆ ข้อก็มีการพยายามเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘บุคคล’ แทน ‘ชาย-หญิง’ แล้ว

ฉะนั้นแล้วเรื่องตัวบทที่เป็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่อีกส่วนหนึ่งมันอยู่ที่ความจริงใจที่ในกระบวนการต่าง ๆ ทางกฎหมายว่าอยากที่จะแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศนี้หรือเปล่า ในเชิงเนื้อหาก็ยังควรมีการเขียนเนื้อหาที่ยืนยันสิทธิ์หรือรับรองสิทธิ์เพื่อเป็นประโยชน์ในการตีความ ส่วนในภาคกระบวนการก็ควรมีความจริงใจ เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการดำเนินคดี

“มันไม่ใช่แค่เชิงเนื้อหาอย่างเดียว แต่มันเป็นเชิงกระบวนการด้วย” ปพิชญานันท์กล่าว

กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นพื้นที่นึงที่ทำให้เราเห็นอคติที่แฝงอยู่ในสังคมไทย เราสามารถเจออคติเหล่านี้ได้ตลอดเวลา ทั้งผ่านคำพูด การกระทำ และความคิดความรู้สึกของคนในสังคม ที่หล่อหลอมจนเลยเถิดไปถึงด้านกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตคนจริง ๆ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญเองในฐานะที่เป็นแบบกฎหมายสูงสุด และเป็นพื้นที่ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐก็อาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นสำคัญ เพราะว่ามันคือการที่ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างดียิ่งขึ้น

“เราก็วาดหวังว่าสังคมของเรามันจะมันจะดีกว่านี้ และเชื่อว่าทุกคนมีภาพของของสังคมที่ดีขึ้นในลักษณะต่าง ๆ ดังนั้น มันน่าจะดีกว่าถ้าเราลดอคติเรื่องเพศ แล้วก็มาอยู่ร่วมกันในสังคมที่มันดีกว่า” ปพิชญานันท์กล่าว

สำหรับ ศิริลักษณ์ ทาเป็ง ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท จาก คณะสังคมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net