Skip to main content
sharethis

‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ เสนอ ‘ยุทธศาสตร์และความเป็นไปได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการ’ ชี้ให้เห็นถึง ปัญหา เป้าหมาย ความเป็นไปได้ และยุทธศาสตร์เพื่อรัฐสวัสดิการ

“ทำไมผืนดินแต่ละผืนได้สัมผัสความชุ่มชื่นไม่เท่ากัน ทำไมบางพื้นที่ถึงไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับสายฝน ฝนตกกี่ครั้งก็ไม่สามารถที่จะส่งไปถึงดินได้ รูปธรรมของสิ่งนี้คืออะไร” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (ภาพจากเพจ We Fair)

‘ยุทธศาสตร์และความเป็นไปได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการ’ หนึ่งในหัวข้อประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม” ห้องสวัสดิการเพื่อทุกคน Welfare for All โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ และผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดโดย เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะ เมื่อวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ษัษฐรัมย์กล่าวว่า งบประมาณกว่า 3.2 ล้านบาทต่อปีที่ประเทศไทยตั้งไว้ให้ 7 แสนล้านเพื่อลดความยากจน และอีก 7 แสนล้านเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ งบประมาณเหล่านี้กลับไม่เคยถูกส่งตรงสู่ความต้องการของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถูกกระจายไปอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ราวกับว่าถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ดี เราต้องคลานเข่าไปขออนุญาตพวกเขา เพราะพวกเขากลัวอยู่เสมอว่า ถ้าประชาชนได้รับสวัสดิการมากเกินไป ประชาชนจะไม่มีวินัย ขี้เกียจและไม่ยอมทำงาน

“ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของโลกใบนี้ ประเทศหรืออาณาจักรที่ล่มสลายไม่ได้เกิดขึ้นจากการดูแลเด็ก คนแก่ หรือนักศึกษา แต่เกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นปกครองเมินเฉยต่อประชาชน” ษัษฐรัมย์ กล่าว

คำถามสำคัญคือ เราสามารถหวังทุกอย่างพร้อมกันได้ไหม บางคนอาจบอกว่าเราหวังมากเกินไป ประชาชนช่างโลภมากจะเอาทุกอย่าง เงิน 2,000 – 3,000 บาทในการเลี้ยงเด็กต่อเดือนมากเกินไปไหม เด็กที่จะได้เรียนหนังสือฟรีจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องประจานตนเพื่อกู้หนียืมสินนี้หวังมากเกินไปไหม ทำไมข้าราชการสามารถส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้ โดยที่รัฐบาลอุดหนุนให้ปีละ 25,000 บาท แต่ประชาชนธรรมดาทำไม่ได้ ทำไมข้าราชการสามารถมีเงินบำนาญโดยค่าเฉลี่ยนเริ่มต้นที่ปีละ 24,000 บาท ประชาชนธรรมดาร้องเพียงแค่ 3,000 บาทต่อเดือนกลับบอกว่าพวกเราหวังมากเกินไป เช่นนี้แล้วเราสามารถหวังทุกอย่างพร้อมกันได้ไหม

สิ่งหนึ่งที่ตนอยากย้ำคือ เวลาที่เราถูกบอกให้เจียมเนื้อเจียมตัว ถูกบอกให้หวังแต่น้อยๆ  เสนอแต่เพียงน้อยๆ เพื่อให้ชนชั้นนำเขาจะก้มหัวลงมาฟังเสียงทุกข์ยาก เสียงร้องไห้ของพวกเราบ้าง แล้วพวกเขาเคยหวังน้อยๆ ไหม พวกเขาสามารถบรรจุททหาร 45,000 นาย พร้อมกับตำรวจ 25,000 นาย ได้พร้อมกันโดยที่พวกเขาไม่ต้องรอฉันทานุมัติจากใคร พวกเขาสามารถเพิ่มงบประมาณหลายพันล้านด้วยกระดาษเพียงแค่ไม่กี่หน้า แต่เวลาเราต้องการเพิ่มบำนาญให้กับคนแก่ เราต้องร่างกฎหมายไป 5 - 6 ฉบับ และโดนปัดตกทั้งหมด

“พวกเราไม่จำเป็นต้องเจียมเนื้อเจียมตัว พวกเราสามารถที่จะโลภมาก และปรารถนาทุกอย่างได้ เพราะมันคือสิ่งที่เราควรได้ตั้งแต่แรกทั้งหมดคือหลักการว่าทำไมเราถึงคู่ควรกับการที่จะอยู่ในสังคมที่มันเท่าเทียมและยุติธรรมมากกว่านี้” ษัษฐรัมย์กล่าว

 

เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงเพื่อรัฐสวัสดิการ

เรื่องสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรัฐสวัสดิการคือ การท้าทายทัศนคติ ระบบสวัสดิการที่เราคุ้นเคยที่พูดถึงสวัสดิการเท่ากับคนยากจนอย่างเดียว เราจำเป็นต้องกำจัดแนวคิดแบบนี้ออกไปให้ได้ ทำให้สวัสดิการเป็นความคิดเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน หรือชนชั้นกลาง ต้องได้รับสิ่งนี้ ทำลายระบบแพ้คัดออก ทำลายเผด็จการของความคู่ควรที่คิดว่าคนนี้เก่ง ขยัน เลยสมควรมีชีวิตที่ดี ทั้งที่แค่คุณเป็นมนุษย์ คุณก็สมควรที่จะมีชีวิตที่ดีแล้ว ทำลายระบบเสรีนิยมใหม่ที่วัดคุณค่าสวัสดิการตามเงินในกระเป๋า ท้าทายความคิดปัจเจกนิยมที่คิดว่า เราไม่สามารถแก้ไขเรื่องเหล่านี้ได้ เราสามารถเอาตัวรอดคนเดียวจากเรื่องนี้ได้ ต้องทำลายสิ่งเหล่านี้ ลดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน คนเหล่านี้เมื่อมีเงินมากขึ้นก็มักเข้ามากำนหนดวิถีชีวิตและชะตากรรมของคนทั่วไปผ่านทางการเมือง และสร้างการรวมตัวของคนส่วนใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นรวมกัน(Collective Confidence) ว่าเราสมควรที่จะอยู่ในสังคมที่ยุติธรรมมากกว่านี้

4 นโยบายท้าทายค่านิยมสังคมไทยว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ

ตัวอย่างรูปธรรม เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงใน 4 นโยบายที่ท้าทายค่านิยมสังคมไทยว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ

1. เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน

  • เด็กมีพัฒนาการทางด้านสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นเพราะเด็กได้กินอาหารที่สำคัญต่อร่างกายครบทุกมื้อและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูของผู้ปกครองได้ในระดับหนึ่ง
  • ความเหลื่อมล้ำจากการไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ของเด็ก 40% จะลดลงเพราะพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทิ้งลูกเพื่อทำงานในช่วงที่สำคัญของพัฒนาการเด็ก รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กเมื่อโตขึ้น
  • อัตราที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ที่คิดเป็นสัดส่วนของเด็กยากจนที่ไม่ได้ทานนมแม่จะต้องลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เด็กมีค่าเฉลี่ยทางด้านร่างกายที่ต่ำกว่าเกณฑ์ลดลง เมื่อแม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกมากขึ้น

2. เรียนมหาวิทยาลัยฟรี มีเงินเดือน - ไม่มีหนี้

  • จำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาหรือออกจากระบบการศึกษากลางคันลดลง เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นภาระต่อครอบครัวลดลงหรือหายไป
  • จำนวน 5% ของผู้ที่เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพวกเขาจะไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งของพวกเขาเองและของครอบครัว อีกทั้งคุณภาพในด้านการพัฒนาความรู้จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะพวกเขาจะไม่ต้องแบ่งเวลาไปเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นภาระทางด้านร่างกายของผู้เรียน
  • ความยากจน สภาพความเป็นอยู่ และความด้อยโอกาสจะลดลงและไม่ถูกส่งต่อไปให้คนรุ่นถัดไป

3. ประกันสังคมถ้วนหน้า(ทุกคนมีประกันสังคม ทุกอาชีพรัฐจัดให้)

  • จำนวนผู้ที่ตกหล่นจากการชดเชยเงินประกันสังคมจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะตัดเรื่องเงื่อนไขที่ไม่จำเป็น และไม่ได้แบ่งสวัสดิการตามความยากจน แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
  • อัตราความมั่นคงในชีวิตของประชากรไทยจะเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องไปเผชิญกับความเสี่ยงที่ตนไม่สามารถคาดการณ์ได้
  • จะทำให้ค่าเฉลี่ยความสุขของผู้คนในประเทศเพิ่มมากขึ้นจากการที่ไม่ต้องทำงานหนัก มีเวลาว่างพักผ่อนมากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องความไม่มั่นคงของชีวิต และส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

4. บำนาญถ้วนหน้า

  • แรงงานที่ไม่มีหลักประกันรายได้ในช่วงวัยทำงานจนถึงหลังเกษียณมีจำนวนลดลง และความความยากจนของคนกลุ่มนี้จะลดลงตามไปด้วย
  • อัตราความมั่นคงของชีวิตหลังเกษียณจะเพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มเงินบำนาญให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
  • อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุจะลดลงจากการยกระดับประกันสุขภาพที่ถ้วนหน้า

ความเป็นไปได้ เปรียบเทียบเงื่อนไขตัวอย่าง สวัสดิการในประเทศต่างๆ

โลกนี้มีอุดมคติเรื่องชีวิตที่ดีแตกต่างกัน แต่มันไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ มันเกิดจากการต่อสู้ทางชนชั้นในการบอกว่าเท่าไหนที่เราจะพอ เท่าไหนคือความหรูหรา เท่าไหนคือความปกติ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่เกิดผ่านเงื่อนไขการต่อสู้

ถ้าไทยใช้ตัวแบบแบบสหรัฐอเมริกา

ตัวแบบของไทยที่ใช้อยู่เป็นตัวแบบที่ใกล้เคียงกับของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมันเป็นตัวแบบที่แย่ มีความเหลื่อมล้ำ ถ้าไทยยังคงยืนยันจะเอาตามแบบสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ความพินาศของประเทศ

ถ้าไทยใช้ตัวแบบแบบเอเชีย

ถ้าเรามองที่ใกล้เคียงเราไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ผมคิดว่าน่าสนใจ แต่ว่าตัวแบบของประเทศเหล่านี้เป็นตัวแบบที่เน้นไปที่สวัสดิการคนที่มีงานประจำทำ และพยายามวางเงื่อนไขสวัสดิการที่ผูกติดกับผลผลิตของประเทศ ซึ่งผมคิดว่าเป็นตัวแบบที่สร้างความกดดัน ความตึงเครียดในกับชีวิตมากเกินไป

ถ้าไทยใช้ตัวแบบแบบนอร์ดิก

อาจดูเป็นตัวแบบที่แพงเกินไป มีเก็บอัตราภาษีสูง นายทุนคงไม่สนใจ แต่ผมอยากขยายความว่า เมื่อบอกว่าประเทศเหล่านี้เก็บภาษี 40 – 50% ไม่ได้หมายความว่าคุณมีรายได้ 1 ล้าน คุณจะถูกเก็บภาษี 5 แสน ภาษีทั้งโลกคือภาษีอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันใด ดังนั้น ประเทศที่การเก็บอัตราภาษีสูงๆ ไม่ได้ทำให้คนรวยรวยน้อยลง คุณก็ยังมีชีวิตที่สุขสบาย ยังห่างไกลจากการที่ไม่มีข้าวกินหรือตกระกำลำบาก เพราะฉะนั้น ข้อเสนอของ We Fair เราเลือกใช้ตัวแบบนี้ การปรับใช้รัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิกอาจถูกมองว่าเป็นอุดมคติหรือมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากไทย แต่การปรับใช้สวัสดิการรูปแบบนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้ขัดกับความสัมพันธ์พื้นฐานในสังคมไทย และเป็นตัวแบบที่ภาคประชาสังคมพึงศึกษาและสื่อสารเพื่อให้เกิดการยอมรับในวงกว้างด้วยเช่นกัน

ยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลง

สิ่งหนึ่งที่เราต้องการก็คือ การเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ทุน อำนาจ และความนิยม ซึ่งแต่ละตัวแสดงในสังคมมีเป้าในสิ่งเหล่านี้แตกต่างกัน ข้าราชการอาจต้องการลำดับชั้น นายทุนต้องการกำไร นักการเมืองต้องการความนิยม รัฐบาลต้องการอำนาจ และประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในการผลักดันในแต่ละเงื่อนไขนั้นไม่ง่าย เพราะตัวแสดงแต่ละตัว ยิ่งไร้อำนาจก็ยิ่งแยกออกจากกัน ไม่สามาร๔ที่จะส่งเสียงรวมกันได้ แต่กลุ่มคนที่มีอำนาจเขามีสมาคมของเขา มีสภาอุตสาหกรรม มีหอการค้า ที่ทำให้พวกเขาสามารถคุยกันได้อย่างใกล้ชิดแล้วเราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

เพราะเราเป็นมนุษย์ เราจึงคู่ควรกับรัฐสวัสดิการ

ษัษฐรัมย์กล่าวสรุปว่า หากประชาชนที่ไร้อำนาจไม่มีทุน ไม่มีทรัพยากร ไม่มีสื่อ ไม่มีอำนาจที่จะออกกฎหมายอะไรต้องการการเปลี่ยนแปลงจะทำอะไรได้บ้าง ง่ายที่สุดเลย ก็ต้องสามารถที่จะรวมตัวกันได้แล้วส่งเสียง เพราะเมื่อใดก็แล้วแต่ที่เราส่งเสียงและรวมตัวกัน อภิสิทธิชนจะไม่กล้าคิดแทนพวกเรา และก็ต้องผลักดันในพวกเขาเห็นว่า ความนิยมและอำนาจที่พวกเขาจะได้รับเกิดขึ้นมาจากฉันทามติของประชาชน และประชาชนไม่ใช่ของตายของใคร ประชาชนคือคนที่สามารถส่งเสียงและยืนยันสิ่งที่เราควรเป็น ทำไมเราถึงยังคู่ควรที่จะมีรัฐสวัสดิการ นั่นก็เพราะว่าเรายังเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ยังสามารถเจ็บปวดเรื่องของคนอื่นได้ นั่นแปลว่า เรายังมีชีวิต ยังไม่ตาย และเราคู่ควรกับสังคมที่ยุติธรรมและรัฐสวัสดิการที่ดีมากกว่านี้

สำหรับ ศิริลักษณ์ ทาเป็ง ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานจาก คณะสังคมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net