Skip to main content
sharethis

'ซินเทีย' เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี'45 และผู้ก่อตั้ง 'แม่ตาวคลินิค' ช่วยเหลือผู้ป่วยชายแดนนานกว่า 30 ปี ยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นไทย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา-ผอ.รพ.อุ้มผาง ร่วมหนุน เพราะเป็นผู้สร้างประโยชน์ให้ประเทศ

 

15 ก.พ. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (15 ก.พ.) ซินเทียค่า หรือที่ประชาชนเรียกชื่อเล่นว่า 'หมอซินเทีย' ผู้ก่อตั้ง 'แม่ตาวคลินิค' อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ประจำปี 2545 และทีมงานด้านสัญชาติของมูลนิธิพัฒนชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอแม่สอด เพื่อยื่นคำร้องต่อนายอำเภอแม่สอด เพื่อขอแปลงสัญชาติในไทย ตามมาตรา 10 และมาตรา 11(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และขอออกหนังสือรับรองความประพฤติของตัวเอง โดยมี ธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด เป็นผู้รับเรื่อง และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 

ซินเทียค่า ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชายขอบ กรณีการยื่นขอสัญชาติไทยว่า เธอทำงานโดยมีฐานะเป็นผู้พลัดถิ่นมาโดยตลอด ไม่มีบัตรประชาชนต่อเนื่องหลายทศวรรษ โดยทำงานเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก และการสร้างสาธารณสุข ซึ่งการทำงานแบบนี้จำเป็นต้องมีความมั่นคง โดยเฉพาะโอกาสในการออกสู้โลกภายนอกเพื่อดึงความช่วยเหลือเข้ามา และสถานการณ์ขณะนี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด การเข้าถึงช่องทางต่างๆ นี่คือคลินิกนอกเวลา ที่ต้องทำงานเข้มข้นมากขึ้น  

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ ระบุว่า 'ซินเทีย' เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของนักต่อสู้ การยื่นขอสัญชาติเป็นไทย ห่วงหรือไม่ว่าจะทำให้หลายคนรู้สึกว่า แม้แต่คุณหมอก็ไม่มีความหวังจะไม่กลับพม่าแล้ว ซินเทีย กล่าวว่า "ไม่ว่าคุณจะถือสัญชาติใดก็ตาม คุณต้องทำงานเพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แม้ว่าจะเกิดพม่า ทำงานฝั่งไทย แต่ก็ทำงานให้แก่ประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ว่าคุณจะเกิดฝั่งไหน ก็ยังคงต้องทำงานเพื่อประชาชนผู้ยากลำบาก ทำงานให้แก่ชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมทั้งไทยและพม่าต่างก็ทำงานอย่างเหนียวแน่นร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจ หลักใหญ่ใจความคือการทำงานเพื่อประชาชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถือสัญชาติใด"

ภาพจากสำนักข่าวชายขอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนการขอแปลงสัญชาติของซินเทียค่า ในฐานะผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ โดยระบุว่า พชภ.ดําเนินงานรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติของผู้เฒ่า โดยความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ถึงปัจจุบัน มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายที่ทําให้ผู้เฒ่าที่เกิดในประเทศไทย และเกิดนอกประเทศไทย แต่เข้ามามีภูมิลําเนาอยู่ในรัฐไทย จนกลมกลืนกับสังคมไทย สามารถเข้าถึงสิทธิในการยื่นคําร้องขอมีสัญชาติไทย หรือขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้สะดวกและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ

หนังสือระบุว่า พชภ.ติดตามการทํางานด้วยหลักมนุษยธรรมของซินเทียค่า ด้านสาธารณสุข โดยแม่ตาวคลินิก ซึ่งทําหน้าที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันโรคระบาดไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทย และ แบ่งเบาภารกิจด้านการรักษาพยาบาลตามแนวชายแดน ให้แก่โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลตามแนว ชายแดน เฉลี่ยปีละ 30,000 คน เป็นมูลค่าปีละ 48 ล้านบาท รวม 34 ปี จํานวน 1,000,000 คนขึ้นไป เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาท โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ นอกจากนี้ ซินเทีย ก่อตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส ซีดีซี ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 เพื่อให้ลูกหลานผู้พลัดถิ่น ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย โดยใช้ภาษากะเหรี่ยง พม่า ไทย อังกฤษ ซึ่งมีผล ในการคุ้มครองเด็กไม่ให้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และยาเสพติด ปัจจุบันมีนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ราว 1,000 คน

"ด้วยการอุทิศตนทํางานเพื่อเพื่อนมนุษย์ พชภ. ร่วมกับภาควิชาการ และภาครัฐ จึงเห็นสมควรสนับสนุนให้นางซินเทียค่าได้ยื่นคําร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ในกลุ่มผู้ทําคุณประโยชน์ต่อประเทศตาม มาตรา 10 และมาตรา 11(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ" หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ

ด้าน น.พ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยายาลอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า จริงๆแล้ว พ.ญ.ซินเทียค่าน่าจะขอสัญชาติไทยตั้งนานแล้วเพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณค่าโดยทำงานมากว่า 30 ปี จนกระทั่งคลินิกแม่ตาวย้ายไปที่ใหม่ ซึ่งมีทั้งแพทย์อาสาและภารกิจหลักของแม่ตาว คือดูแลประชาชนที่เข้ามาจากประเทศพม่ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งสามารถช่วยประชาชนได้เยอะมากและเป็นที่พึ่งจริงๆ ถ้าไม่มีคลินิกแม่ตาว ตนคิดว่าโรงพยาบาลแม่สอดเองก็รับไม่ไหว ลำพังแค่กรณีคลอดลูกตกปีละ 3,000-4,000 คน ซึ่งโรงพยายาบาลแม่สอดรับไม่ไหวแน่ เพราะงานจะเพิ่มเป็นเท่าตัวซึ่งในมุมของการแพทย์ไม่ว่าเป็นภาครัฐหรือเอ็นจีโอได้เข้ามาช่วยกันรักษาชาวบ้านเพราะใน 5 อำเภอในเขตชายแดนมีคนที่มีสัญชาติและไม่มีสัญชาติปะปนกันอยู่ ซึ่งคาดว่ามีราว 9 แสนคน ซึ่งเยอะมาก หากให้สถานพยาบาลไทยรับผิดชอบอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ

"หากคุณหมอซินเทียได้รับสัญชาติเป็นคนไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะได้ดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมายไทยทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ดีขึ้นเพราะเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลไทย ผมยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการขอนำเข้ายาจากต่างประเทศ ถ้าเป็นมูลนิธิไทยก็จะง่ายขึ้น ทุกวันนี้แม้แต่โรงพยาบาลรัฐก็ยังมีปัญหาขลุกขลักมากมาย ดังนั้นการเป็นองค์กรที่ไม่มีกฎหมายไทยรองรับ แม้จะมีเหตุผลด้านมนุษยธรรมก็ยังเป็นเรื่องยากมาก หากคุณหมอซินเทียมีสัญชาติไทยและตั้งเป็นมูลนิธิในไทยทุกอย่างก็จะง่ายกว่าเดิม" น.พ.วรวิทย์ กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผางกล่าวว่า เราไม่ยุ่งเรื่องการเมืองในประเทศพม่า ใครรบกันก็รบการไป แต่งานด้านการแพทย์และสาธารณะสุขเป็นเรื่องมนุษย์ธรรม เมื่อมีคนเจ็บคนป่วยเข้ามาเราก็ต้องรักษา

ทั้งนี้ ซินเธียค่า อายุ 64 ปี เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ที่เมืองมะละแหม่ง มีพี่น้อง 7 คน ลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทยเมื่อ พ.ศ. 2531เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่า โดย พ.ศ. 2532 ได้เปิดคลินิกแม่ตาว โดยช่วงแรกให้การรักษานักศึกษาพม่าตามแนวชายแดน ต่อมาให้การรักษาชาวพม่าทั่วไป ซึ่งมีองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนให้การช่วยเหลือทางด้านยา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งงบประมาณด้านอื่นๆ

ซินเธีย เรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายที่เมืองมะละแหม่ง และศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2528 แล้วได้ไปฝึกงานที่ จ.บาเสง ภาคอิระวดี และได้เปิดคลินิกแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2531 จึงลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net