Skip to main content
sharethis

เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านขอเข้าสู่ระบบ เสนอพรรคการเมือง แก้ม.33 กฎหมายประกันสังคม ด้าน 5 พรรคฯ ขานรับ ย้ำชัดทำทุกอย่างให้คนทำงาน

20 ก.พ.2566 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19  ก.พ.ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ได้จัดเวทีสาธารณะ “ประกันสังคมนั้นสำคัญไฉน กับลูกจ้างคนทำงานบ้าน”  ที่โรงแรม แกรนด์ปาลาซโซ รัชดา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคมเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน และที่สำคัญคือให้พรรคการเมืองได้ชี้แจงนโยบายของพรรคที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ กล่าวว่า แม้ว่ากฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 จะมีการประกาศใช้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ลูกจ้างทำงานบ้านยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม ตามมาตรา 33 ในกฎหมายประกันสังคมยังยกเว้นลูกจ้างทำงานบ้าน ทำให้ลูกจ้างเหล่านี้ต้องไปเข้ามาตรา 40 ซึ่งเป็นการจ่ายสมทบฝ่ายเดียว และให้สิทธิประโยชน์ที่น้อย ลูกจ้างหลายคนเลือกที่จะไม่เป็นผู้ประกันตน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการดูแลจากสังคมเลย อย่างเช่นช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ลูกจ้างเหล่านี้ไม่ได้รับการชดเชย เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน ยอมรับว่า ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นผู้ใช้แรงงานคนหนึ่ง เพราะเรามีนายจ้างที่ชัดเจน เราควรได้สิทธิเท่ากับแรงงานทุกคน

รายงาน ILO ย้ำ ไทยต้องแก้ไขกฎหมายประกันสังคมมาตรา 33 ให้คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน

Nuno  Meira  Simoes Cunha,   องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO )  ได้นำเสนอรายงานการทบทวนนโยบายประกันสังคมสำหรับแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย  โดยระบุว่า ในประเทศไทย มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างค่าจ้างลูกจ้างทำงานบ้านกับลูกจ้างอื่นๆ โดยข้อมูลจากรายงานบอกว่า ครึ่งหนึ่งของแรงงานทำงานบ้านมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ความคุ้มครองด้านการประกันสังคมในกลุ่มแรงงานทำงานบ้านต่ำกว่าประชากรทั่วไป  ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อจำกัดทางกฎหมายในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกรณีภาคบังคับ จึงเป็นไปได้ว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่เข้าร่วมในภาคสมัครใจ ซึ่งหมายความว่าแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองการว่างงานหรือประกันบาดเจ็บ และเจ็บป่วยจากการทำงาน 

ILO กล่าวด้วยว่า จากที่เคยสัมภาษณ์นายจ้าง นายจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ 

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยขอให้ขยายความคุ้มครองทางกฎหมาย โดยยกเลิกบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นที่มุ่งเป้าไปที่แรงงานทำงานบ้าน คือมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533   และให้พิจารณารวมความคุ้มครองงานบ้านในกฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแก้ไขบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน  พ.ศ. 2537 และพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2560 ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม โดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปพระราชบัญญัติเงินทดแทนเพื่อขยายสิทธิประโยชน์โดยเร็วที่สุด

จากนั้นเป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่อการขยายการคุ้มครองประกันสังคมให้ลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งมีพรรคการเมืองเข้าร่วมเวที จำนวน 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคเสมอภาค พรรคก้าวไกล พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย  พรรคไทยสร้างไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า โดยผู้แทนแต่ละพรรคมีข้อเสนอ ดังนี้

'เสมอภาค' ขานรับนำลูกจ้างเข้ามาตรา 33 ย้ำ เป็นห่วงคนทำงานเพศหญิงและ LGBT

รฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค  กล่าวว่า การนำลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาตรา 33 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533    เป็นเรื่องง่ายมาก พรรคเสมอภาคพร้อมที่จะดำเนินการโดยการแก้กฎหมายประกันสังคม ทั้งนี้ ลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานเหมือนกัน ควรจะได้สิทธิความคุ้มครองเหมือนกับแรงงานด้านอื่น ๆ พร้อมกับชักชวนให้ลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานด้านอื่น ๆ มาสมัครเป็นปาร์ตี้ลิสต์พรรคเสมอภาค เพื่อช่วยกันผลักดันนโยบายดังกล่าว

“พรรคเสมอภาคเป็นห่วงคนทำงาน เพศหญิงและ LGBT ต้องได้รับการคุ้มครอง” หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าว

'ก้าวไกล' ชูประกันสังคมถ้วนหน้า ไทยจะไม่มีแรงงานนอกระบบ 

วันวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับลูกจ้างทำงานบ้าน  กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านเช่นการโดนเลิกจ้างขณะตั้งครรภ์  คุณภาพชีวิตคนทำงาน และการรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อการต่อรองกับนายจ้างด้วย

นอกจากนี้พรรคยังมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบประกันสังคมให้เป็นถ้วนหน้าด้วย เพื่อให้ลูกจ้าง 20 กว่าล้านคน ได้สิทธิต่าง ๆ โดยปรับแก้มาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคมและในอนาคตประเทศไทยจะไม่มีแรงงานนอกระบบ 

สังคมประชาธิปไตยไทย พร้อมเสนอนโยบายทุกอย่างเพื่อแรงงาน

สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย  กล่าวว่า พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย เกิดจากแนวคิดที่จะผลักดันนโยบายเพี่อแรงงาน ดังนั้นนโยบายของพรรคจะตั้งบนพื้นฐานเพื่อแรงงานทุกคน ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะคุมกำเนิดการรวมตัวของแรงงาน ทำให้นโยบายเพื่อผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับการผลักดัน  ดังนั้นพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยจะเสนอปฏิรูปกฎหมายแรงงาน โดยคนทำงานเป็นหุ้นส่วน

“การเสนอนโยบายของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย จะคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปรับแนวคิดของรัฐบาลให้คำนึงถึงแรงงานด้วยความเสมอภาค” หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย  กล่าว

ไทยสร้างไทย ชู  2 แก้ 3 สร้าง  เสนอ บำนาญ 3,000 บาท   

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคเริ่มทำงานเรื่องนี้มานานแล้ว โดยรวมตัวลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานด้านอื่นๆ โดยเสนอ นโยบาย 2  แก้ 3 สร้าง  คือ 1. แก้กฎกระทรวงกฎกระทรวง ฉบับที่ 14  (พ.ศ. 2555 ) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551    2.แก้ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งขั้นตอนขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา    3 สร้าง  ประกอบด้วย 1. แพลตฟอร์มดิจิตอล ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อผลักดันมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม   2.กองทุนคนตัวเล็ก หรือกองทุนเครดิตประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงการกู้เงินในระบบ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ ILO ด้วย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเดือนละ 1 % เพื่อให้ทุกคนสามารถพึ่งตนเองได้  3. บำนาญประชาชน 3,000 บาท เพื่อให้ประชาชนในวัยเกษียณ มีบำนาญ

ชาติพัฒนากล้า เสนอแก้มาตรา 40 Plus

ในขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้า อรรถวิชช์  สุวรรณภักดี  รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า    นโยบายพรรคเสนอปรับแก้กฎหมายประกันสังคม มาตรา 40 โดยปรับเป็น  PLUS คือเพิ่มขึ้น  ในสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ระบุให้ตามมาตรา 33  โดยสิ่งที่ขาดในมาตรา 33 จะนำไปบรรจุในมาตรา 40  สิ่งที่ลูกจ้างทำงานบ้านจะได้รับ คือวันหยุด มีนโยบายผลักดันคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่มีรายละเอียดต่าง

“พรรคชาติพัฒนากล้า เห็นว่า ลูกจ้างทำงานเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ ข้อเสนอของพรรคอาจจะแตกต่าง คือปรับแก้มาตรา 40 เพิ่มสิทธิต่างๆ ให้ลูกจ้างทำงานบ้าน โดยไม่ได้ปรับแก้ มาตรา 33 เนื่องจากหากปรับแก้ มาตรา 33 จะมีการระบุโทษหากไม่มีการเข้าสู่ระบบของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง พรรคเป็นห่วงในเรื่องนี้” รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net