Skip to main content
sharethis

นักสิทธิแจงผลคดีฟ้องแพ่งสำนักนายกฯ-กองทัพบกเอี่ยวเว็บ pulony ทำไอโอให้ร้ายคุกคาม ชี้ถึงศาลจะเห็นว่าข้อความในเว็บนี้กล่าวเท็จเป็นการละเมิดแต่ต้องมีข้อมูลจราจรทางคอมมายืนยันแม้จะมีข้อมูลด้านงบประมาณของ กอ.รมน. แต่เมื่อขอข้อมูลไปทาง FB และ Google ก็ไม่ได้ข้อมูลมา

เมื่อ 20 ก.พ.2566 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) องค์กร Protection International จัดแถลงข่าวกรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 2 คนร่วมกันฟ้องดำเนินคดีละเมิดกับสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และกองทัพบกจากเหตุที่พบหลักฐานว่าสนับสนุนต่อเว็บไซต์ให้ทำปฏิบัติการข่าวสารกล่าวหาโจมตีการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้

(ซ้ายไปขวา) อังคณา นีละไพจิตร, อัญชนา หีมมิหน๊ะ, สุรชัย ตรงงาม และปรานม สมวงศ์ 

ในการเสวนาครั้งนี้อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและปัจจุบันเป็น สมาชิกทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ(WGEID) อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจที่เป็นผู้ฟ้องคดีทั้งสองคนพร้อมสุรชัย ตรงงาม ตัวแทนของทีมทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ และปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ผู้ดำเนินรายการ

อังคณา เริ่มจากเล่าว่าตนตกเป็นเป้าของการโจมตีทางไซเบอร์มานานแล้วเมื่อออกมาให้ความเห็นประเด็นสิทธิมนุษยชนสวนทางกับหน่วยงานรัฐ บางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มีการนำภาพเธอไปใส่ข้อความว่าช่วยแต่โจรก็มี บางครั้งก็มีข้อความที่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือวาดการ์ตูนเปรียบเป็นสุนัข ไปจนถึงลักษณะที่เป็นการคุกคามทางเพศ

อังคณากล่าวว่า แม้แรกๆ จะไม่ค่อยได้ใส่ใจแต่ว่าพอมีคนรอบตัวส่งมาให้ดูถึงได้รวบรวมไว้แล้วมีการแจ้งความร้องทุกข์กับทั้งตำรวจในท้องที่และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) และเมื่อรวบรวมข้อมูลได้มากพอทำให้เห็นว่าเว็บไซต์ pulony.blogspot.com เป็นเว็บไซต์ต้นทางให้นำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดียอื่นๆ

ต่อมา จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 26 ก.พ.2564 มีการเปิดเผยข้อมูลจากเอกสารงบประมาณที่ทางกอ.รมน.ส่งให้คณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรระบุถึงการใช้งบประมาณของหน่วยงานซึ่งมีการระบุถึงเว็บไซต์ดังกล่าวด้วยว่ามีการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการเผยแพร่ข้อเท็จจริงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

อังคณาระบุว่าจากการเข้าไปตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าว เฉพาะในปี 2561 เว็บไซต์ pulony.blogspot.com มีการเผยแพร่บทความทั้งหมด 119 ชิ้น โดยมีเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเธอเอง 13 ชิ้นปี 2562 เผยแพร่ 126 ชิ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเธอ 5 ชิ้น ปี 2563 มีทั้งหมด 36 ชิ้นมีบทความที่เกี่ยวกับตัวเธอ 2 ชิ้น

อดีต กสม.กล่าวถึงเหตุการณ์หลังการอภิปรายครั้งนั้นว่าเช้าวันต่อมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กอ.รมน.ก็ออกมาให้ข่าวว่าเอกสารที่มีการเปิดเผยนั้นเป็นของ กอ.รมน.จริง แต่พอตกบ่ายกลับมีเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน.มาให้ข่าวว่าเว็บไซต์ดังกล่าวไม่ได้เป็นของ กอ.รมน.แต่เป็นเว็บไซต์ที่ กอ.รมน.เฝ้าระวังอยู่

ทั้งนี้ในปีเดียวกัน อังคณาเคยขอข้อมูลกับทางบริษัทเฟซบุ๊กหลังจากบริษัทออกมาแถลงว่าได้ปิดเฟซบุ๊กปิดบัญชีเฟซบุ๊กไป 185 บัญชีและพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทยด้วย แต่ถูกบริษัทปฏิเสธไม่ให้ข้อมูล

นอกจากนั้นอังคณายังแสดงเอกสารบันทึกข้อความที่ กอ.รมน.ส่งให้ศาลซึ่งมีชื่อของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเฝ้าระวัง ยังปรากฏชื่อของเธอด้วย เมื่อทนายความถามเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ก็ได้คำตอบว่าเป็นปกติที่หน่วยงานจะมีการติดตามเฝ้าระวังบุคคลก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่เอกสารดังกล่าวก็มีเพียงเธอกับสื่อ 3-4 แห่งที่ถูกระบุว่ามีความเห็นต่างจากรัฐเท่านั้น จึงทำให้เห็นว่าคนทำงานสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้จะถูกเฝ้าระวังหรือจับจ้องจากหน่วยงานรัฐมาโดยตลอด

อังคณากล่าวว่าการโจมตีทางออนไลน์แบบนี้สำหรับบางคนอาจจะมองว่าไม่เห็นเป็นอะไร แต่เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ กับและยังเป็นลักษณะคุกคามทางเพศด้วยทำให้เธอได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อไม่รู้ว่าใครเป็นคนกระทำและจะหยุดการคุกคามได้อย่างไร ไม่ว่าจะแจ้งความแล้วก็ไม่สามารถหาตัวคนผิดมาได้ จึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งนี้

อัญชนา กล่าวต่อว่าเธอถูกโจมตีทางออนไลน์มาตั้งแต่มีการเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ออกมาเมื่อปี 2559 แล้ว แต่นอกจากการโจมตีกล่าวหาทางออนไน์แล้วยังมีบุคคลติดตามไปถึงที่บ้านและมีการโทรศัพท์ข่มขู่ แต่เธอมองว่าการการโจมตีลดทอนคุณค่าทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นก็เพื่อทำให้ทั้งตัวเธอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำรายงานฉบับนี้ถูกมองในแง่ลบ 

ตัวแทนจากกลุ่มด้วยใจกล่าวต่อว่า ลักษณะของการโจมตีทางออนไลน์มีการใช้เรื่องรูปร่างหน้าตาของเธอเพื่อทำให้อับอาย เรื่องการทำงาน และยังมีเรื่องทางเพศด้วย ซึ่งโพสต์ในโซเชียลมีเดียเหล่านี้หลังจากโพสต์ไม่นานก็จะมีคนเข้ามากดไลก์หรือแสดงความเห็นไปในทางเดียวกับโพสต์ต้นทางเป็นจำนวนมาก

อัญชนาเห็นว่าเมื่อเรื่องนี้ถูกเอามาเปิดเผยในรัฐสภาแล้วก็ได้ทำให้คนทั่วไปได้รู้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกำลังทำอะไรกับพวกเธอ แต่ศาลกลับไม่สามารถบอกได้ว่าคนกระทำเป็นใคร ซึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนแต่หน่วยงานรัฐกลับเอาเอกสารที่ระบุถึงการโจมตีการทำงานนักปกป้องสิทธิมาของบประมาณจากรัฐมันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พวกเธอจึงต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อทำให้สังคมได้เห็นว่าหน่วยงานราชการที่ได้งบประมาณจากประชาชนมีการใช้ในเรื่องที่ไม่ถูกต้องและเพื่อทำให้เห็นว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเองจากการถูกกระทำแบบนี้

สุรชัย ตรงงาม ทนายความในคดีนี้กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคดีของคดีนี้ว่า เนื่องจากพบข้อเท็จจริงถึงการละเมิดตามที่ทั้งสองคนได้เล่าไปก่อนหน้านี้ จึงได้คุยกันว่าจะให้คดีนี้เป็นคดียุทธศาสตร์โดยใช้ศาลเป็นเครื่องพิสูจน์และทำให้ความจริงได้ปรากฏว่าหน่วยงานรัฐอย่าง กอ.รมน.และกองทัพบกมีการกล่าวหาโจมตีนักสิทธิมนุษยชนทางออนไลน์เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือหรือไม่ และเพื่อให้กติการะหว่างประเทศได้รับการยอมรับหรือให้เกิดการคุ้มครองสิทธิผ่านกระบวนการยุติธรรมของไทย

ทนายความอธิบายต่อไปว่าการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แต่ที่ต้องฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก กอ.รมน.ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้โดยตรงจึงต้องฟ้องหน่วยงานที่ที่กำกับดูแลอย่างสำนักนายกฯ แทน รวมถึงกองทัพบกด้วย

นอกจากนั้นทางฝ่ายโจทก์ยังได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งอยู่อีก 4 ข้อ คือให้มีการลบข้อความและรูปภาพที่เป็นการละเมิดออกจากเว็บไซต์ดังกล่าว และให้หน่วยงาน เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่รับมอบหมายให้ต้องยุติการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ์ในลักษณะเดียวกันกับที่ฟ้องคดีครั้งนี้ นอกจากนั้นยังให้หน่วยงานทั้งสองต้องลงประกาศขอโทษต่อการกระทำดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ได้แก่ เดลินิวส์ ไทยรัฐ และมติชนเป็นเวลา 7 วัน และข้อสุดท้ายให้ทั้งสองหน่วยงานจ่ายค่าเสียหายให้แก่ทั้งสองคนรวมเป็นเงิน 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ทนายความบอกว่าคำพิพากษาที่จะกล่าวถึงเป็นเพียงการสรุปจากการฟังอาจยังขาดรายละเอียดอยู่บ้างเนื่องจากฉบับลายลักษณ์อักษรตัวเต็มยังต้อรอศาลอนุญาตให้คัดถ่ายในภายหลังจากนี้

สุรชัยสรุปคำพิพากษาให้ฟังว่า ศาลได้ตัดกองทัพบกออกไปก่อนโดยระบุว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่สามารถทำให้เห็นได้ว่ากองทัพบกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีการใช้อำนาจในการทำไอโออย่างไร แต่ทางกองทัพบกได้ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จะเป็นการไปช่วยราชการภายใต้ กอ.รมน.แล้ว

ทนายความระบุว่า ศาลได้เห็นว่าข้อความต่างๆ บนเว็บไซต์ดังกล่าวนั้นถือเป็นการละเมิดโจทก์ทั้งสองคน เนื่องจากข้อความบนเว็บไซต์นั้นเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่เป็นความจริงโดยไม่สุจริตไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม และเป็นการลดทอนคุณค่าทั้งสองคนทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

อย่างไรก็ตาม ศาลแพ่งก็พิจารณาให้ยกฟ้องจำเลยเนื่องจากศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องว่าเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ทำโดยตรง แม้ว่าศาลจะมีการพิจารณาถึงเอกสารงบประมาณดังกล่าวของ กอ.รมน. แต่ศาลระบุว่าฝ่ายโจทก์ไม่มีข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนนำข้อมูลขึ้นไปบนเว็บไซต์

ทนายความระบุว่าหลังจากนี้เมื่อได้คำพิพากษาตัวเต็มมาแล้วก็จะปรึกษาหารือกันเพื่อดำเนินการอุทธรณ์คดีในศาลชั้นต่อไป เพราะเชื่อว่ามีพยานแวดล้อมเพียงพอที่ทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐมีความเกี่ยวข้องอยู่จริง และจะชี้ให้ศาลเห็นว่ามีข้อจำกัดที่จะเข้าไปตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เป็นคนถือข้อมูลทั้งหมดและไม่เปิดเผยอย่างเป็นระบบต่อสาธารณชนให้เข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องเข้ามาดูเรื่องนี้และต้องมีความชัดเจนเพียงใดศาลถึงจะเชื่อได้ว่ามีการกระทำตามฟ้องของโจทก์

อัญชนา กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อคำพิพากษาของศาลว่าผลลัพธ์ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมาย แต่ก็ยังรู้สึกผิดหวังอยู่ที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองต่อการละเมิดสิทธิโดยรัฐนั้นทำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มด้วยใจมองเห็นว่าเมื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วก็ทำให้ได้เห็นว่าศาลได้ระบุว่ารัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ อีกทั้งศาลยอมรับบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงจากการทำงานของเธอและกลุ่มด้วยใจในฐานะที่เป็นองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนถือว่าศาลได้คืนคุณค่าที่ถูกลดทอนไปโดยการกระทำของเว็บไซต์ pulony แล้วศาลก็ยังยอมรับว่ามีการกลั่นแกล้งทางออนไลน์อยู่จริงและเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้อัญชนายังเห็นประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ว่าในขณะนี้แม้ไทยจะไปลงนามในกลไกของสหประชาชาติไว้แต่ก็ยังไม่ได้มีระบบที่จะป้องกันการจากการถูกละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบ และการที่รัฐไม่ต้องรับผิดชอบแม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำแต่ก็ยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้

นอกจากนั้นอัญชนายังตั้งคำถามต่อการทำงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่าสิ่งที่กระทรวงทำอยู่นั้นเป็นไปเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนจริงหรือไม่หรือแค่ทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองรัฐเท่านั้น เพราะจากเรื่องที่เกิดขึ้นกระทรวงไม่ได้ทำให้เห็นว่าเป็นหน่วยงานที่มีประโยชน์ต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชนทั้งจากเรื่องที่เกิดขึ้นกับพวกเธอ ไปจนถึงเรื่องที่ประชาชนถูกล่อลวงจากแก๊งคอลเซนเตอร์ได้

อีกทั้งอัญชนายังมีคำถามไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ไม่ได้เรียกผู้ถูกละเมิดเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบการละเมิดที่เกิดขึ้นด้วยว่ายังมีประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองประชาชนหรือไม่หรือจะเป็นแค่กลไกให้รัฐนำมาใช้ในการปกป้องตัวเอง

นอกจากนั้นในคำพิพากษาของศาลยังทำให้เห็นอีกว่ามีกระบวนการที่จะทำให้รัฐไม่ต้องรับผิดชอบแม้จะมีข้อมูลที่ชี้ว่าหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่ไม่สามารถเอาผิดกับรัฐได้และปัดให้เป็นความผิดของปัจเจคบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานแทน ประชาชนจึงไม่สามารถเอาผิดกับรัฐหรือจะหวังให้รัฐเข้ามาปกป้องคุ้มครองประชาชนได้ และยังขาดกลไกชดเชยเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดจากการกระทำลักษณะที่เป็นกลั่นแกล้งทางออนไลน์หรือในคดีหมิ่นประมาทเพราะไม่มีกฎหมายมารองรับ

อังคณา สะท้อนถึงผลลัพธ์ของคดีว่าตอนที่ฟ้องเป็นคดียังมีความเชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมได้ เพราะใส่ใจกับการคุกคามที่เกิดขึ้นนี้ต้องเทียวไปเทียวมาสถานีตำรวจแต่ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหนก็ไม่พอที่จะทำให้ศาลชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ศาลก็บอกว่าไม่มีข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์แล้วคนธรรมดาทั่วไปจะไปหาข้อมูลนี้ได้อย่างไร การดำเนินคดีนี้ได้ทำให้เห็นถึงความบกพร่องของหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องอำนวยความยุติธรรม ทั้งสภาผู้แทนราษฎรที่แม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลแล้วแต่ก็ไม่ได้มีการติดตามเรื่องนี้ต่อ

แม้กระทั่งกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ตั้งขึ้นมาโดยใช้งบประมาณจำนวนมากหรือ บก.ปอท.ที่พอมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาลก็มักจะมีคนถูกดำเนินคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่พอเป็นประชาชนถูกโจมตีกล่าวหาให้ถูกเกลียดชังกลับไม่สามารถหาตัวผู้กระทำมาดำเนินคดีได้ หน่วยงานที่ใช้ภาษีประชาชนเหล่านี้ควรจะต้องถูกปฏิรูป

อดีต กสม. ยังกล่าวถึงบทบาทของ กสม. ด้วยว่าควรจะต้องมีกระบวนการการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามหลักการปารีสด้วย ไม่ใช่แค่ทำหนังสือไปขอคำตอบจากหน่วยงานพอไม่มีใครตอบก็บอกว่าไม่มีหลักฐานการตรวจสอบแบบนี้ไม่ใช่การตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

อังคณายังมีคำถามไปถึง กอ.รมน.ว่าที่มาให้การในศาลว่าเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในการเฝ้าระวัง แต่ทำไมถึงยังปล่อยให้มีการสร้างข้อมูลเท็จเพื่อลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพของระบบคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อดีต กสม. ยังชี้ว่าการละเมิดสิทธิทุกวันนี้ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการคุกคามรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่การคุกคามทางกายภาพแต่เป็นการคุกคามต่อจิตใจ และการที่ต้องอ่านข้อความที่มีลักษณะคุกคามทางเพศซ้ำๆ เพื่อนำข้อมูลไปให้ตำรวจเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนกระบวนการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม อังคณายังคงเห็นว่าในคำพิพากษายังมีส่วนที่มีความก้าวหน้าอยู่บ้างเพราะยังมีส่วนที่อ้างถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่ปกติศาลไทยมักจะไม่พูดถึงหลักสิทธิมนุษยชนหรือกฎหมายระหว่างประเทศนัก ที่ผ่านมาคณะกรรมการตาม ICCPR หรือ กสม.เองก็เคยมีข้อเสนอแนะต่อศาลไทยด้วยว่าควรจะต้องยึดตามกติกาสากลด้วย

อังคณายังเห็นว่าการออกมาต่อสู้ครั้งนี้ยังมีข้อดีอีกอย่างคือทำให้การคุกคามลดลงแม้ว่าจะยังไม่หมดไปและข้อความที่อยู่บนเว็บไซต์ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ก็แสดงให้เห็นว่าการที่คนลุกขึ้นมาสู่เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองก็สามารถทำให้การคุกคามลดลงได้

ในช่วงแลกเปลี่ยน ผู้สื่อข่าวได้ถามผู้ร่วมเสวนาว่าได้มีการติดต่อไปทางบริษัทแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลที่เป็นผู้ให้บริการพื้นที่เว็บไซต์ blogspot.com หรือไม่และได้รับคำตอบหรือความร่วมมือจากบริษัทอย่างไรบ้าง และเคยมีการใช้กระบวนการทางศาลเพื่อให้ออกหมายเรียกหลักฐานข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไปยังบริษัทหรือไม่

อังคณาตอบคำถามว่ามีการประสานไปทางเฟซบุ๊ก เนื่องจากในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาเฟซบุ๊กเองได้ประกาศนโยบายว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและให้มีเจ้าหน้าที่มารับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง แต่เมื่อมีการรายงานไปว่ามีการกล่าวหาโจมตี ไปจนถึงการคุกคามข่มขู่ประหนึ่งว่าจะเอาไปข่มขืนกันระบบของเฟซบุ๊กกลับตรวจจับไม่ได้ และเมื่อติดต่อไปกับเจ้าหน้าที่ของเฟซบุ๊กก็ได้คำตอบว่านโยบายของเฟซบุ๊กจะไม่ยอมให้มีการใช้แพลตฟอร์มในการละเมิดสิทธิ์คนอื่นแล้วก็ลบบัญชีที่ก่อเหตุไปบ้างแต่ไม่ให้ข้อมูลบัญชีนั้นมาว่าเป็นใคร

สำหรับกรณีของกูเกิลอังคณาระบุว่า จากรายงานของ กสม.ทำให้เห็นว่าเคยมีหนังสือขอข้อมูลไปถึงบริษัทแต่ว่าบริษัทไม่ตอบกลับมา

อังคณากล่าวต่อว่าที่ผ่านสหประชาชาติเองก็ออกหลักการเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจที่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดก็จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อเกิดการกระทำผิดบริษัทแพลตฟอร์มก็แค่ลบมันออกไปแต่ไปไม่ถึงการนำคนผิดมาลงโทษหรือการทำให้เกิดการรับผิดชอบ ซึ่งยังเป็นเรื่องสำคัญและจะต้องรณรงค์ไปถึงระดับนโยบายของบริษัทด้วยเพราะบริษัทยังเปิดโอกาสให้เกิดการคุกคามโดยใช้แพลตฟอร์มอยู่

สุรชัยตอบต่อคำถามเรื่องการขอให้ศาลออกหมายเรียกข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์จากบริษัทว่า เรื่องนี้เป็นรายละเอียดในคดีที่จะต้องมีการตรวจสอบ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลกระทรวงดิจิทัลฯ ว่าที่ตั้งของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ต่างประเทศเท่านั้น

 

หมายเหตุ - ปัจจุบัน blogspot.com เปลี่ยนโดเมนเนมเป็น blogger.com แล้วโดยอยู่ภายใต้บริษัท Google อีกที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net