Skip to main content
sharethis

ซูเปอร์โพลสำรวจ 1,444 คน จัดเทียร์พรรคการเมืองชงชื่อนายก พบคนส่วนใหญ่ไม่รู้เสนอชื่อนายกต้องมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป ความนิยม 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' สูสี ส่วน 'รวมไทยสร้างชาติ' จี้ติด

26 ก.พ.66 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “จัดเทียร์พรรคการเมือง เสนอชื่อนายกฯ” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,444 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยเมื่อถามถึง การรับรู้ต่อกฎหมายเรื่องพรรคการเมืองที่เสนอชื่อผู้เข้าชิงนายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป จึงมีสิทธิเสนอชื่อเข้าชิง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 ไม่ทราบในรายละเอียด ไม่แน่ใจ ไม่ทราบเลย ในขณะที่เพียงร้อยละ 7.8 ทราบมาก่อนแล้วอย่างละเอียด เมื่อถามถึง พรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้รับการเลือกตั้งมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป พบว่า มีสองพรรคการเมืองสูสี ไม่แตกต่างกันในทางสถิติ คือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 58.6 กับร้อยละ 57.4 ในขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร้อยละ 54.9 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 44.3 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 40.7 พลังประชารัฐ ร้อยละ 36.1 ไทยสร้างไทย ร้อยละ 24.3 เสรีรวมไทย ร้อยละ 23.6 ชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 22.2 และชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 20.6 ตามลำดับ

ที่น่าสนใจ คือ ผลประเมินทางสถิติ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้ ส.ส. 25 คนขึ้นไป จำแนกเป็น เทียร์ 1 และ เทียร์ 2 พบว่า ในกลุ่มเทียร์ 1 คือ กลุ่มพรรคการเมืองที่มีความเป็นไปได้มากที่จะได้ ส.ส. 25 คนขึ้นไป ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 32.3 ขึ้นนำหน้า พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 26.8 รวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 11.0 ก้าวไกล ร้อยละ 10.7 ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5.3 และพลังประชารัฐ ร้อยละ 5.0 ในขณะที่ กลุ่มเทียร์ 2 คือ กลุ่มพรรคการเมืองที่มีความเป็นไปได้น้อยถึงไม่มีเลยที่จะได้ ส.ส. 25 คนขึ้นไป ได้แก่ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา และอื่น ๆ รวมกันได้ร้อยละ 8.9

ในการสำรวจครั้งนี้รายงานผลสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงการรับรู้รับทราบของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ส่วนใหญ่ไม่ทราบในรายละเอียดถึงกฎหมายเรื่องพรรคการเมืองที่จะมีสิทธิเสนอชื่อใครเข้าชิงเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น การเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรีจึงเป็นประเด็นของการหาเสียงเรียกคะแนนนิยมที่เป็นคนละส่วนกับข้อกฎหมายหลังการเลือกตั้ง และเมื่อนำมาจัดเทียร์พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ แล้วพบว่า พรรคการเมืองที่อยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 คือ มีความเป็นไปได้มากที่จะได้ ส.ส. 25 คนขึ้นไป ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ในขณะที่กลุ่มพรรคการเมืองในเทียร์ 2 ได้แก่ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา และอื่น ๆ อนึ่ง เกณฑ์ในการแบ่งเทียร์พรรคการเมืองเป็นผลการประเมินทั้งจากการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทั้งเชิงทัศนคติ ความคิดเห็นและการตัดสินใจเลือกถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง

นิด้าโพลเผยคน 3 จว.ชายแดนใต้ หนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายก

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกพรรคไหน” สำรวจระหว่างวันที่ 10-20 ก.พ. 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 1,100 หน่วยตัวอย่าง

เมื่อถามถึงบุคคลที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 19.82 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ อันดับ 2 ร้อยละ 17.55 ระบุว่าเป็น นายวัน หะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) อันดับ 3 ร้อยละ 16.73 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย)

เมื่อพิจารณาบุคคลที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 1. จังหวัดปัตตานี อันดับ 1 ร้อยละ 21.45 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จังหวัดยะลา อันดับ 1 ร้อยละ 19.38 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) 3. จังหวัดนราธิวาส อันดับ 1 ร้อยละ 18.54 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ)

เมื่อพิจารณาพรรคการเมืองที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต จำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดปัตตานี อันดับ 1 ร้อยละ 27.68 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ อันดับ 2 ร้อยละ 17.46 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 3 ร้อยละ 16.71 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย จังหวัดยะลา อันดับ 1 ร้อยละ 20.07 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 18.69 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ อันดับ 3 ร้อยละ 17.30 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนราธิวาส อันดับ 1 ร้อยละ 22.20 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 20.49 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ อันดับ 3 ร้อยละ 12.20 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ

ด้านพรรคการเมืองที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 20.64 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 19.91 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ อันดับ 3 ร้อยละ 14.73 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net