Skip to main content
sharethis

หลัง พ.ร.ก.เลื่อนพ.ร.บ.ป้องกันซ้อม-อุ้มหายถูกค้านหนัก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลลงชื่อส่งต่อพ.ร.ก.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ชลน่าน’ ลุกท้วงชัดว่ากฎหมายของรัฐบาลถูกคว่ำเลยส่งศาลพิจารณาแทน ชี้เป็นการยับยั้งอำนาจสภา ‘ชินวรณ์’ โต้ส่งเพื่อให้ชัดเจนว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่และศาลใช้เวลาแค่ 2 เดือนดีกว่าปล่อยให้พ.ร.ก.มีผลไปถึงตุลาคม

28 ก.พ.2566 ที่รัฐสภา เกียกกาย ระหว่างที่ยังมีการอภิปรายของ ส.ส.ต่อ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ที่เนื้อหาของพ.ร.ก.เป็นการเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายออกไปเป็น 1 ต.ค.2566 โดยมีระหว่างการพิจารณามี ส.ส.ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลเองและฝ่ายค้านร่วมลุกขึ้นมาแสดงความเห็นคัดค้านการเลื่อนใช้กฎหมายครั้งนี้

ชวน หลีกภัยในฐานะประธานสภาแจ้งว่ามี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 100 คนหรือ 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดร่วมลงชื่อเสนอให้ส่งพ.ร.ก.ฉบับนี้ที่คณะรัฐมนตรีเสนอขึ้นมาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่และได้แจ้งที่ประชุมสภาว่าให้รอการพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาล และให้จบการพิจารณาของสภาไว้เพียงเท่านี้ โดยประธานพยายามจะกล่าวปิดสมัยการประชุมสภาครั้งนี้

ทำให้มีส.ส.จากฝ่ายค้านลุกขึ้นมาคัดค้านการยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่านเพื่อไทย กล่าวในฐานะผู้นำฝ่ายค้านว่าเป้นเรื่องน่าเสียใจที่กระบวนากรพิจารณาพ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่แล้วเสร็จเพราะการจะเรียกได้ว่าพิจารณาแล้วเสร็จจต้องเปิดให้มีการลงคะแนนว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่เมื่อได้ฟังสมาชิกแสดงความเห็นแล้วมีแนวโน้มที่จะไม่อนุมัติ การยื่นศาล รธน ของพรรคร่วมรัฐบาลก็ขอตั้งข้อสังเกตไว้

ชลน่านกล่าวถึงข้อสังเกตของตนว่าหากสภาจะอนุมัติ พ.ร.ก.ที่ยื่นโดย ครม.ที่คุมเสียงข้างมากในสภาแห่งนี้แสดงว่าต้องการให้สภาอนุมัติ แต่เมื่อเห็นว่าจะถูกคว่ำในสภาก็ปรับไปใช้ช่องทางที่จะระงับยับยั้งการลงคะแนนโดยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแทนเพื่อดึงจังหวะออกไป

“มันจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย ของรัฐสภาไทย ที่ชงโดย ครม. กินโดย ครม. แล้วก็อุ้มหายโดย ครม.เอง น่าอับอาย มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น สิทธิในการยื่นเพื่อไม่ให้อนุมัติมันควรเป็นของเสียงเห็นตรงข้ามว่าไม่ควรอนุมัติ” ชลน่านกล่าวว่าถ้าสภามีการอนุมัติก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่ครั้งนี้ทุกคนกลับเห็นว่าไม่ควรจะอนุมัติ

ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวต่อว่าการยื่นให้ศาลวินิจฉัยครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นเจตนาของรัฐบาลว่าเป็นการใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญที่มีเวลาไม่น้อยกว่า 60 วันวินิจฉัยเพื่อเป็นการระงับการใช้พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายไว้ถึง 2 เดือนและทำให้ระหว่างนี้พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกมาถูกนำมาบังคับใช้แทนและส่งต่อไปจนถึงรัฐบาลหน้า กระบวนการต่างๆ ที่มีคนตั้งข้อสงสัยต่อการเลื่อนใช้กฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนตลอดและยังมีประเด็นว่าจริงๆ แล้วมีการจัดซื้ออุปกรณ์ไม่ทันจริงหรือไม่

ชลน่านชี้ว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูยวินิจฉัยครั้งนี้ถือเป็นการระงับยับยั้งอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร แล้วถ้ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นระหว่างรอเลือกตั้งนี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าชื่อก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะไม่มีการให้ความเป็นธรรมต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน

จากนั้นชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นที่พรรคร่วมรัฐบาลร่วมลงชื่อเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าเพราะเห็นว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของการออก พ.ร.ก. ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่แค่พวกเขาที่ร่วมลงชื่อที่ตั้งข้อสงสัยว่าการออกพ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ทั้งสภาก็เห็นจุดนี้ ก็จำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 173

ชินวรณ์กล่าวว่าในเรื่องการออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้มาตรา 22-25 ของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายนั้นไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเรื่องของกฎหมายที่ได้ผ่านความเห็นชอบของพวกตนไป แต่เนื่องจากยังเห็นว่าเกี่ยวพันกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องปฏิบัติตาม พวกเขาที่เป็น ส.ส.ก็ยังมีจิตสำนึกในหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและหลักการคุ้มครองสิทธิเรีภาพของประชาชน ก็อยากให้ฝ่ายค้านได้เคารพสิทธิของพวกเขาที่ดำเนินการเข้าชื่อเพื่อมีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลประกอบอยู่สามข้อ

ส.ส.ปชป. ให้เหตุผลประการแรกว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 เพื่อให้ปราศจากข้อสงสัยไม่ต้องถกเถียงต่อไปส่วนราชการก็จะได้ไปปฏิบัติได้ เหตุผลประการที่สองคือเพื่อร่นระยะเวลาเข้ามาเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพราะหากให้ พ.ร.ก.ผ่านออกไปก็จะทำให้มีผลนานถึง 6 เดือนจนถึง 1 ต.ค.2566 แต่ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก็ใช้เวลาเพียง 2 เดือน หรือ 60 วันเท่านั้นระหว่าง 2 เดือนนี้สมาชิกรัฐสภาก็จะช่วยกันตรวจสอบการละเมิดสิทธิกันต่อไป

ชินวรณ์กล่าวถึงเหตุผลประการที่สามว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกันยื่นศาลรัฐบธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอ แสดงให้เห็นถึงว่าพวกเราต่างรักและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

หลังจากทั้งสองฝ่ายได้อภิปรายประเด็นการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้พ.ร.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ชวนได้ประกาศเรียก ส.ส.เข้ามาฟังพระบรมราชโองการปิดสมัยการประชุมสภาครั้งที่ 31

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net