Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิวาทะของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีการเปิดตัวของนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะประธานที่ปรึกษาครอบครัวเพื่อไทย ที่ว่า "ประเทศไม่ใช่ธุรกิจ" นั้น ฉับพลันก็เกิดแอฟเฟคต่อวาทะนี้กันทั่วประเทศ และเกิดข้อสงสัยว่าจริงหรือไม่? 

ข้อเท็จจริงการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ก็คือการนำหลักการบริหารธุรกิจมาปรับใช้กับการบริหารงานภาครัฐโดยการนำหลักประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าทางภาคเอกชน และหลักประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในการบริหารภาครัฐ ซึ่งในอดีตก็มีการนำการบริหารภาครัฐแนวใหม่มาใช้ในภาครัฐไทยแล้ว ซึ่งก็เป็นผลมาจากการนำแนวคิดการบริหารภาครัฐแนวใหม่เข้ามาในแวดวงวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ไทยร่วมสามสิบปีแล้ว และลงหลักปักฐานอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมในระบบราชการไทยในยุครัฐบาลทักษิณฯ ในการออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบบริหารราชการเพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศและการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้การบริหารราชการแนวทางใหม่ต้องมีการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและแผนการปฎิบัติงาน เพื่อให้สามารถประเมินผลการปฎิบัติราชการในแต่ระดับอย่างชัดเจน มีกรอบการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางในการกำกับการกำหนดนโยบาย และการปฎิบัติราชการ โดยออกเป็น พ.ร.ฏ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ที่กำหนดขอบเขต วิธีการปฎิบัติราชการ เพื่อเป็นไปตามหลักการบริหารภาครัฐแนวใหม่นั่นเอง

นอกจากนี้รัฐบาลยุคทักษิณฯ ยังออกแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ พ.ศ.2546-2550 เพื่อกำหนดเป้าหมายหลักของการพัฒนาระบบราชการไทย 4 ประการ คือ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น การปรับปรุงบทบาทภารกิจและขนาดให้มีความเหมาะสมและยกระดับขีดความสามารถ เพื่อมาตรฐานการทำงานของข้าราชการไทยเทียบเท่าเกณฑ์สากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการบริหารการปกครองในระบบประชาธิปไตย และเพื่อให้แผนนำสู่การปฎิบัติได้กำหนดยุทธศาสตร์ออกมาอีก 7 ด้าน คือด้านการปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน การรื้อระบบการเงินและงบประมาณ การสร้างระบบการบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนใหม่ การเสริมสร้างระบบราชการให้ทันสมัยและการเปิดระบบราชการให้ทันสมัยและการเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนั้นยังมีการนำเรื่องการประเมินผลการปฎิบัติงานตามคำรับรองการปฎิยัติราชการของส่วนราชการ :KPI (Key Performance Indicators)มาใช้ ตามหนังสือสำนักงาน กพ.ที่ นร.1012/ว.20 ลง 3 ก.ย.2552 เรื่องมาตรฐานและแนวทางกำหนดความรู้ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะที่จำป็นสำหรับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญเรื่องผลสัมฤทธิ์ของการปฎิบัติราชการพฤติกรรมการปฎิบัติราชการหรือสมรรถนะและการบริหารราชการแบบบูรณาการ (CEO)

จากการที่รัฐบาลทักษิณฯ ได้นำการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่มาใช้ สมัยนั้นกำลังไปด้วยดี การบริการของราชการดีขึ้น ลักษณะข้าราชการแบบเจ้าคนนายคนหรือเจ้าขุนมูลนายได้หายไป มีการนำคำว่า"พนักงานของรัฐ"มาใช้ ลดจำนวนข้าราชการลด ปรับลดเพิ่มกระทรวงตามการให้บริการ เพิ่มค่าตอบแทน ระบบการให้รางวัลชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะพรรคการเมืองมีนโยบายที่ประชาชนสามารถกินได้ ตามที่แถลงไว้ต่อประชาชน แต่การพัฒนาระบบราชการก็มาสดุดหยุดลงจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และซ้ำเติมอีกครั้งในการรัฐประหาร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ฯ เมื่อ 22 พ.ย.2557 อันเป็นการนำประเทศไทยกลับมาเป็น "รัฐราชการ" จนกระทั่งปัจจุบัน การบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ได้กลับมาเป็นการบริหารภาครัฐแบบดั้งเดิมอีกครั้ง (สถาบันพระปกเกล้า,2565)

ที่กล่าวมาเสียยืดยาวข้างต้น เพื่อเป็นการให้ข้อมูลท่านผู้อ่าน สำหรับตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะเลือกการบริหารภาครัฐแนวใหม่หรือการบริหารภาครัฐแบบดั้งเดิม ซึ่งตัวแทนการบริหารทั้งสองแนวได้ลงสนามให้พวกท่านเลือกแล้วครับ.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net