Skip to main content
sharethis

'มลพิษทางอากาศ' ถือเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ค่อยๆ คร่าชีวิตผู้คนหลากหลายอาชีพ วารสาร Hazards ที่เผยแพร่ในสหราชอาณาจักร ฉายภาพให้เห็นว่าเหตุใดมันจึงเป็นปัญหาสำคัญในที่ทำงาน และเราสามารถทำอะไรได้บ้าง


ที่มาภาพ: Fabricating & Metalworking Magazine

'มลพิษทางอากาศ' ถือเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ค่อยๆ คร่าชีวิตผู้คนหลากหลายอาชีพ Hilda Palmer จาก The Hazards Campaign และ Désirée Abrahams จาก Global Action Plan อธิบายไว้ในวารสาร Hazards ฉบับที่ 156 เมื่อปี 2564 (เผยแพร่ในสหราชอาณาจักร) ว่าเหตุใดมันจึงเป็นปัญหาสำคัญในที่ทำงาน และเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

คนทำงานถูกล้อมรอบด้วยสารเคมี ทั้งในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย

คนทำงานควรเข้าถึงการสูดอากาศบริสุทธิ์ในที่ทำงาน แต่ปัจจุบันคนทำงานจำนวนมากกลับต้องสูดอากาศที่เป็นพิษจากการทำงานทั้งภายในและภายนอกอาคาร

มลพิษทางอากาศไม่ใช่แค่เรื่องวิกฤตด้านสาธารณสุขเท่านั้น ในโลกแห่งการทำงานมันเกิดขึ้นในโรงงานหรือไซต์งานมานานหลายทศวรรษ ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ นอกจากนี้ อากาศในอาคารสำนักงานก็ยังปนเปื้อนสารเคมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน จากทั้งเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสารเคมีบางชนิดแม้จะมีความเข้มข้นเพียงเล็กน้อยก็เป็นอันตรายได้ คนทำงานถูกล้อมรอบด้วยสารเคมี ทั้งในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็ได้เผยให้เห็นว่าที่ทำงานส่วนใหญ่มีการระบายอากาศไม่ดี ทำให้โรคนี้แพร่ระบาดในที่ทำงานเป็นจำนวนมาก

เป็นเวลานานนับหลายปีที่คนทำงานได้ต่อสู้เพื่อปรับปรุงการระบายอากาศในที่ทำงาน เพื่อนำอากาศบริสุทธิ์เข้ามาและกำจัดอากาศที่เหม็นอับออกไป อาคารที่ปิดมิดชิดไม่เปิดหน้าต่าง มีระบบทำความร้อน การระบายอากาศ และการปรับอากาศ (HVAC) ไม่เพียงพอ หรือมีเพียงอิฐผนังเท่านั้นได้นำไปสู่ 'โรคตึกเป็นพิษ' (Sick Building Syndrome)


โรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome - SBS)
เป็นภาวะผิดปกติด้านสุขภาพทางตา จมูก ลำคอ การหายใจส่วนล่าง ผิวหนังและอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นคล้ายกันในกลุ่มคนที่อยู่ในบ้าน โดยไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ ปัญหาอาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านหรือทุกส่วนของบ้านก็ได้ โดยอาการป่วยไม่มีลักษณะเฉพาะโรค มักเกิดในบ้าน

อาการ
- ผู้อาศัยมีอาการไม่สบายอย่างเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ ระคายเคือง ตา จมูก หรือลำคอ จาม น้ำมูกไหล คันตามผิวหนัง หน้ามืด คลื่นไส้ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน
- โรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการแพ้จะกำเริบมากขึ้น เช่น แพ้ไรฝุ่น เชื้อรา เชื้อจากแมลงสาบ ทำให้มีอาการไอ จามที่รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นหอบ

สาเหตุ
- อากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ โดยเฉพาะระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ทำให้ปริมาณอากาศภายนอกที่เข้าไปหมุนเวียนกับอากาศภายในบ้านลดลง
- มีสารเคมีฟุ้งกระจายภายในบ้านในปริมาณสูง แหล่งของสารเคมีที่พบบ่อยคือ กาว น้ำยาทำความสะอาด เครื่องถ่ายเอกสาร ยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ในบ้าน รวมถึงควันจากการปรับอาหารด้วย

ที่มา: สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

การระบายอากาศเป็นสิ่งสำคัญ


ที่มาภาพ: Martin Stewart (CC BY-NC-ND 2.0)

การระบายอากาศที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพในสถานที่ทำ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคหวัดและไข้หวัด การระคายเคืองตาและผิวหนังจากฝุ่น สปอร์ของเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัส อีกทั้งอาการปวดศีรษะและง่วงนอน รวมทั้งเพิ่มสมาธิในการทำงาน

แต่นายจ้างมักปฏิเสธข้อร้องเรียนของคนทำงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในสหราชอาณาจักรอย่างสำนักงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (HSE) ก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการบังคับใช้กฎหมาย

มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยในฐานข้อมูลที่ระบุว่า HSE เคยฟ้องร้องเรื่องการระบายอากาศในสถานที่ทำงานทั่วไป แม้ว่าจะมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ชัดเจนและต้องคอนสอดส่องเพื่อบังคับใช้กับนายจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน (ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพ) กำหนดว่า: “ต้องมีข้อกำหนดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าสถานที่ทำงานแบบปิดทุกแห่งได้รับการระบายอากาศด้วยอากาศบริสุทธิ์หรืออากาศบริสุทธิ์ในปริมาณที่เพียงพอ”

คำแนะนำที่มาพร้อมกับข้อบังคับระบุว่า: “ปกติแล้วอัตราการจ่ายอากาศบริสุทธิ์ไม่ควรต่ำกว่า 5 ถึง 8 ลิตรต่อวินาทีต่อผู้อยู่ในพื้นที่หนึ่งคน เมื่อกำหนดอัตราการจ่ายอากาศบริสุทธิ์ ให้พิจารณาปัจจัยต่อไปนี้: พื้นที่พื้นต่อคน กระบวนการและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่างานนั้นจะหนักแค่ไหนก็ตาม”

คนทำงานมักได้รับผลกระทบมากที่สุด

สำหรับมลพิษทางอากาศ เช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่คนทำงานมักเป็นคนกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

แม้ว่าอากาศในที่ทำงานบางแห่งจะสะอาดขึ้น และอุตสาหกรรมที่สกปรกบางอุตสาหกรรมก็ได้หายไปแล้ว แต่สารเคมีสังเคราะห์กลับมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ถูกใช้ในกระบวนการผลิตฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ในสำนักงาน และมันก็ปนเปื้อนอยู่ในอากาศที่สถานที่นั้นๆ

ซึ่งภายใต้ข้อบังคับการควบคุมสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสหราชอาณาจักร (COSHH) นายจ้างจะต้องวัดและตรวจสอบสารเคมีและฝุ่นละอองบางชนิด

เมื่อพูดถึงเรื่องฝุ่น ขนาดก็มีความสำคัญ ในสหราชอาณาจักร ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่นรวม (Total Suspended Particulate) และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งอนุญาตให้คนทำงานสัมผัสกับฝุ่นละอองสูงกว่า 80-90 เท่าของมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ ทั้งนี้ WHO ระบุว่าอนุภาคฝุ่น PM2.5 ที่ถูกมองข้ามในมาตรฐานสถานที่ทำงานของสหราชอาณาจักรนั้น ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

อนึ่งเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาได้มีการยกเลิกค่ามาตรฐานฝุ่นรวมและกำหนดค่าฝุ่นขนาดเล็กเป็น 2 ชนิด คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) [อ่านเพิ่มเติม]

เมื่อนายจ้างไม่ตรวจวัดอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ รวมทั้งขาดการตรวจติดตามสถานที่ทำงานให้สะอาดอยู่เสมอ คนทำงานก็อาจรับเอาอนุภาคฝุ่นเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย

มลพิษทางอากาศยังถือเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนที่ทำอาชีพที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดรวมทั้งครอบครัวของพวกเขา มีความเสี่ยงมากที่สุดและต้องสัมผัสกับมลพิษในที่ทำงาน ที่บ้าน และในละแวกที่อยู่อาศัย 

ยิ่งงานที่มีค่าจ้างต่ำลง สถานที่ทำงานก็มักสกปรกมากขึ้น รวมถึงย่านที่พักอาศัยที่สกปรกและทรุดโทรม ทั้งนี้คนทำงานผิวดำและชนกลุ่มน้อยมักจะได้รับผลกระทบทำนองนี้มากที่สุด

การเปลี่ยนแปลงจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสหภาพแรงงาน

ที่ไซต์งานของบริษัท GIST มักจะวุ่นอยู่กับการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างไซต์และคลังสินค้าแช่เย็นอยู่เสมอ บริษัทโลจิสติกส์แห่งนี้เป็นผู้ขนส่งหลักให้กับซูเปอร์มาร์เก็ต Tesco และ Morrisons และเป็นผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ของ M&S Foods 

รถขนส่งสินค้าของบริษัทได้รับการบำรุงรักษาและให้บริการในสถานที่เดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้มอเตอร์เวย์ M6 และสถานีรถไฟดีเซลสาย West Coast ทั้งนี้สหภาพแรงงานระบุว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศของคนทำงานเป็น 'ข้อกังวลที่ชัดเจน' 

มันเป็นปัญหาที่ทั้งตัวแทนด้านความปลอดภัยของสหภาพแรงงาน Unite และฝ่ายบริหารของ GIST มุ่งมั่นที่จะแก้ไขร่วมกัน การประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงานที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ได้นำไปสู่แผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายสหภาพแรงงานเพื่ออากาศที่สะอาด (TUCAN) และกลุ่มรณรงค์ด้านมลพิษโลก (Global Action Plan) บริษัทและตัวแทนสหภาพแรงงานได้กำหนดมาตรการตรวจสอบคลังสินค้าและหน่วยซ่อมบำรุงรถขนส่งสินค้าสำหรับมลพิษหลัก 2 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และอนุภาคฝุ่น PM2.5 

มีการติดตั้งจอมอนิเตอร์และขอให้พนักงานบันทึกรายการกิจกรรมของพวกเขา ผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์ จากนั้นจึงนำเสนอและอภิปรายในการประชุมร่วมกันของผู้บริหารบริษัทและสหภาพแรงงาน - ขณะนี้ GIST กำลังมองหาวิธีลดควันจากเครื่องยนต์ดีเซล ด้วยการทดลองเดินรถขนส่งสินค้าที่ใช้ไฟฟ้าและไนโตรเจนเหลว

เดฟ ไซมอนส์ ตัวแทนของสหภาพแรงงาน Unite แสดงความคิดเห็นว่า: “การตรวจสอบทำให้เราทราบถึงระดับมลพิษ ซึ่งโดยทั่วไปมองไม่เห็นแต่เป็นอันตรายมาก มันเป็นแบบฝึกหัดที่มีประโยชน์มาก ... มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องจัดการในที่ทำงานและช่วยปกป้องคนทำงานและชุมชนท้องถิ่นของเรา”


ที่มา:
AIR FORCE | Air pollution should not be all in a day’s work (Hazards, number 156, 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net