Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เซาะฝั่ง เซาะวิญญาณ

อลิสา หะสาเมาะ
[2] 

ชุมชนชาวประมงขนาดเล็กที่รอวันล่มสลายลงอย่างช้าๆ จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และโครงสร้างการพัฒนาที่กลายเป็นฆาตกรอันเลือดเย็น “70 ปี ที่แล้วโฉนดที่ดิน สิทธิที่ดินของเราอยู่ตรงนู้น (ทะเล) หมู่บ้านนี้อพยพใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง” 

 
ภาพกำแพงกั้นคลื่นรูปดาวกระจาย ชาวบ้านเรียกว่า “ตุ๊กตาญี่ปุ่น” 
ถ่ายโดยอลิสา หะสาเมาะ

เสียงบอกเล่าของจากชาวบ้านในหมู่บ้านประมง ผสมกับเสียงคลื่นกระทบกับกำแพงแท่งปูนซีเมนต์รูปดาวกระจายและถนนเส้นบางๆ อันเป็นขอบเขตกั้นขวางระหว่างที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกับท้องทะเล 

ชาวบ้านฉายภาพให้เห็นความเป็นมาของหมู่บ้าน พร้อมทั้งชี้นิ้วไปยังจุดอันไกลโพ้นในทะเล ณ ริมขอบฟ้า ที่ซึ่งเคยเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของพวกเขา แต่หาดทรายที่เคยทอดยาวเป็นกิโล ในอดีตตอนนี้อันตรธานหายไปหมดแล้ว 

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนปลาหาง่ายตอนที่มีหาดทรายชายฝั่ง เพราะแม้แค่ริมชายฝั่งก็สามารถทอดแหได้ปลาจำนวนมากจนเต็มลำเรือ และการออกเรือหาปลา ถึงแม้ว่าจะเป็นเรือขนาดเล็ก ก็จะใช้เวลาไม่นาน แค่ครึ่งชั่วโมงก็สามารถได้ปลามาเต็มลำเรือ 


ภาพเรือประมงขนาดเล็ก ถ่ายโดยอลิสา หะสาเมาะ

สมัยก่อนถึงแม้ว่าปลาจะมีราคาไม่แพง แต่ก็เพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้องให้กับสมาชิกในครัวเรือได้ทุกคน หากทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม การออกเรือหาปลาทั้งคืน บางทีจนรุ่งเช้าก็ไม่ได้ปลากลับมาสักตัวก็ยังมี อย่างน้อย 184 หลังคาเรือน บนพื้นที่จำนวน 22 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา ในหมู่ 1 ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถูกบังคับจากธรรมชาติให้ต้องเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชายฝั่งมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่เป็นปัญหาเพราะมีป่าชายเลนให้หาปู หาปลา นำไม้ในป่าโกงกางมาสร้างบ้านและทำฟืนหุงต้ม ทำกับข้าว ส่วนความสว่างก็ได้จากตะเกียงน้ำมันก๊าด ค่าใช้จ่ายจึงแทบไม่มี


ภาพบ้าน 184 ครัวเรือน โดยอลิสา หะสาเมาะ

ภายหลังเมื่อการอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนกลายเป็นปัญหา เพราะรัฐบาลประกาศให้ผืนป่าทั้งหมด ถูกคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 จากการย้ายถิ่นเพื่อหนีการกัดเซาะชายฝั่ง จนถอยร่นเข้ามาในแผ่นดิน ภายหลังชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ รัฐบาลพยายามแก้ไขโดยอนุโลมให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย ตามมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2543 และ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2543 แต่ชาวบ้านจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในการออกโฉนดที่ดิน จึงขาดโอกาสทางสังคม เช่น การนำบ้านและที่ดินไปกู้ยืมเงิน หรือดำเนินธุรกิจอื่นๆ

ด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ข้อจำกัดทางสังคมมากมาย สภาพของหมู่บ้าน จึงเกิดความแออัด เนื่องจากถูกผลักโดยธรรมชาติให้ชาวบ้านต้องเข้ามาอยู่พื้นที่แคบๆ บ้านแต่ละหลังจึงถูกสร้างให้อยู่ติดกันเสียเป็นส่วนใหญ่ สภาพบ้านก่อจากอิฐอย่างง่ายและใช้หลังคากระเบื้องที่มีรอยแตกร้าวหรือหลังคาสังกะสี แต่ก็พอจะเป็นที่คุ้มหัวนอนได้ ในขณะที่บางส่วนเป็นบ้านทรงสูง ทำด้วยไม้ สไตล์มลายูดั้งเดิม ระบบถ่ายเทน้ำเสียยังกระจายตัวไม่ดี จึงยังเห็นสภาพร่องรอยของน้ำขังจนกลายเป็นสีดำเน่าเหม็น และสภาพของกองขยะ ซึ่งมองผิวเผินๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากชุมชนแออัดในเมือง 

ตอนนี้ชาวบ้านต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ จากเดิมที่เคยใช้ความสว่างจากตะเกียงน้ำมันก๊าด ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาใช้แสงสว่างจากหลอดไฟ และใช้น้ำประปา จึงไม่แปลกใจเลยว่า บางบ้านมีแต่หลอดไฟฟ้า แต่ไม่มีไฟฟ้าเพราะไม่มีเงินสำหรับเปลี่ยนหลอดไฟ ส่วนบ้านบางหลังต้องต่อไฟจากเพื่อนบ้านที่จนเหมือนกัน เพราะสร้างบ้านในเขตมัสยิด ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะโดนไล่ที่ 


บ้านในเขตมัสยิด ถ่ายโดยอลิสา หะสาเมาะ

รัฐรู้ว่ามีปัญหาคนจนและความยากจน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัยของคนจน โดยในปี พ.ศ. 2546 ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมืองทั่วประเทศ แต่เงื่อนไขของโครงการต้องมีเงินออมอาทิตย์ละ 50 บาท ได้กลายเป็นข้อจำกัดที่ชาวบ้านหลายครอบครัวในพื้นที่แห่งนี้ไม่สามารถเข้าถึง เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้กองทุนเงินออมสำหรับการซ่อมบ้านและที่อยู่อาศัย 

อาชีพของชาวบ้าน ผู้ชายจะเป็นชาวประมง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเรือเป็นของตัวเอง หลายคนต้องไปออกทะเลกับเพื่อนและได้เงินจากการขายปลามาแบ่งปันกัน ชายชาวประมงบางคนถึงแม้ว่าจะมีเรือเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่มีเงินมากพอที่จะมีเงินซ่อมแซม เมื่อถึงเวลาที่เรือเสื่อมสภาพ จึงต้องปล่อยให้ผุพังเพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซ่อมแซม


ผู้หญิงกับปลากระบอก ถ่ายโดยอลิสา หะสาเมาะ

ส่วนผู้หญิงจะมีอาชีพแล่ปลา แกะปลาออกจากอวน ซ่อมอวน ค้าขาย อาชีพทั้งหมดนี้ ดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ทำให้ผู้หญิงหลายคนเมื่อเริ่มอายุมากขึ้น จึงมีปัญหาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เนื่องจากการนั่งนานเกินไป ตอนนี้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถทำอาชีพเดิมได้อีกต่อไปแล้วเพราะเจ็บหลัง ทั้งยังเดินไม่ค่อยสะดวก และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เมื่อไม่มีปัญญาจ้างรถไปหาหมอที่โรงพยาบาล ก็ต้องอยู่ตามมีตามเกิด เจ็บปวดอยู่ในบ้านของตนเอง บางคนถึงแม้ว่าจะพอมีเงินไปหาหมอเพื่อผ่าตัด หากทว่าไม่สามารถหาสมาชิกในครอบครัวคนใดที่จะสามารถอยู่เฝ้าปฐมพยาบาลได้ เนื่องจากทุกคนต้องทำมาหากิน เนื่องจากอยู่ในฐานะยากจนเหมือนกัน


ผู้หญิงป่วยเป็นกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท  ถ่ายโดยอลิสา หะสาเมาะ

คลื่นที่กัดเซาะชายฝั่งจนหายไป ได้ทำให้การหาปลากระบอกตามชายหาดทำได้ยากยิ่งขึ้น ประกอบกับเมื่อสามีเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ จนไม่สามารถทอดแหได้เหมือนเดิม จึงทำให้ครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
 
เดิมทีผู้หญิงจะมีหน้าที่แปรรูปปลาทะเลที่สามีหาได้ ทำเป็นปลาแห้ง และปลาดอง
ผู้หญิงจะดองปลากระบอกและเรียงร้อยเป็นมัดๆ อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เพื่อนำขึ้นรถมอเตอร์ไซต์พ่วง (โชเล่) ไปขายยังตลาดนัด ภาพดังกล่าวยังสามารถพบเห็นได้ในหมู่บ้านประมงแห่งนี้ 
หากทว่าภาพในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีต เมื่อคนในหมู่บ้านเริ่มอายุมากขึ้น และมีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน


ปลาตากแห้ง ถ่ายโดยอลิสา หะสาเมาะ

เมื่อสามีเริ่มชราและมีปัญหาด้านสุขภาพ ภรรยาต้องเพิ่มเงินทุนไปซื้อปลากระบอกจากชาวประมงคนอื่นเพิ่ม อีก 50 บาท เพื่อนำมาทำเป็นปลาดอง และปลาตากแห้ง ผลผลิตเหล่านี้ ชาวบ้านจะนำไปขายในตลาด หากทว่าภรรยาที่เริ่มแก่ชราไปด้วยกันก็ถูกรุมเร้าด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การทำปลาดอง ร้อยปลาเป็นพวง รวมไปถึงขับรถโชเล่เพื่อไปขายในตลาด ก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม หากวันไหนที่อาการป่วยกำเริบ ประกอบกับถ้าไม่สามารถหาเงินเพื่อซื้อน้ำมันรถ ครอบครัวนี้ก็จะไม่มีเงิน โดยสถานการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นเป็นสัปดาห์ และมีหนทางเดียวคือ การกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนซื้อปลากระบอกและค่าน้ำมันรถ เมื่อที่บ้านเริ่มไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ

เพราะความยากจน และลักษณะของอาชีพที่ต้องออกเรือในทะเลตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่ได้เรียนหนังสือ ผลคือชาวประมงที่ยากจน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดโอกาสในการรับรู้โครงการพัฒนาและเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ความยากลำบากของชีวิต จึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ แม่เริ่มพูดกับลูกๆ ว่า ปีหน้าอาจจะไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ถึงแม้ว่าลูกจะเรียนได้เกรดเกือบ 4 เต็ม ก็ตาม 


ลูกสาวช่วยแม่ขายปลาแห้ง ถ่ายโดยอลิสา หะสาเมาะ

เด็กๆ ในหมู่บ้านหลายคน มีแนวโน้มว่าจะต้องออกจากเรียน แต่งงาน ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย หรือต้องกลับมามีอาชีพแล่ปลา แกะปลา เหมือนแม่ แต่งงานกับคนจนเหมือนกัน ไม่มีที่ไป และต้องกลับมาอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้วัฎจักรของความยากจนจึงส่งต่อข้ามรุ่น และกัดกร่อนจิตวิญญาณอย่างช้าๆ เหมือนคลื่นที่กัดเซาะชายฝั่ง ที่เพียงรอวันหมดลมหายใจ

0000



หมายเหตุ: บทความสั้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง ‘ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง’ ภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ประจำปีงบประมาณ 2565 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชื่อบุคคลที่ปรากฎในบทความเป็นชื่อสมมุติทั้งหมด

เกี่ยวกับผู้เขียน 

กนกวรรณ มะโนรมย์ ประธานศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อลิสา หะสาเมาะ เป็นอาจารย์สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net