Skip to main content
sharethis

บันทึกถ่ายทอดสดการสนทนากับ นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ อดีตผู้สื่อข่าว BBC สื่อมวลชนผู้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้/ปาตานี มาอย่างยาวนาน เพื่อประเมินสถานการณ์สื่อที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลังเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและดำเนินคดีผู้สื่อข่าวและคนทำงานสื่อสาร

ทั้งนี้สถานีตำรวจภูธรธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา ส่งหมายเรียก ผู้สื่อข่าวภาคสนามและบรรณาธิการข่าวภาคสนาม สำนักสื่อวาร์ตานี (Wartani) ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติอันไม่ชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่” จากการรายงานสถานการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมสมาชิก BRN  โดยต่อมา 15 มี.ค. 2566 ณ สถานีตำรวจภูธรธารโต นักข่าวทั้งสองได้เดินทางมารับทราบตามหมายเรียกพร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และตามหมายเรียกในครั้งนี้มีประชาชนรวมกับนักข่าวที่โดนหมายเรียกในข้อหาเดียวกัน จำนวน 8 คน อย่างไรก็ตาม สำนักสื่อวาร์ตานี ยืนยันที่จะสู้ต่อไปเพื่อเป็นกระบอกเสียงของประชาชนเเละจะเคียงข้างประชาชนต่อไป 

อีกกรณีคือการตรวจค้นบ้านของ ซาฮารี เจ๊ะหลง Content Editor ของ The Motive แกนนำ "ชมรมพ่อบ้านใจกล้า" เมื่อวันที่ 13 มี.ค.66 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ DSI โดยแสดงหมายค้นศาลจังหวัดปัตตานี แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย หลังจากการตรวจค้น จนท.ดีเอสไอ ได้ยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และแบบพกพา 2 เครื่อง ในวันต่อมาแบ ซาฮารี ได้เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ข้อมูลในฐานะพยาน พร้อมกับเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ การให้ข้อมูลต่อพนักงานคดีพิเศษเบื้องต้นในฐานะพยาน ซาฮารี ยืนยันบนหลักการในการระดมทุนช่วยเหลือครอบครัว ที่เสียชีวิตจากการวิสามัญ นามว่า "ชมรมพ่อบ้านใจกล้า" อยู่บนหลักมนุษยธรรมมิได้มีจุดประสงค์อื่นใด

ความรุนแรงที่ถูกใช้เป็นภาษา

ทั้งนี้ นวลน้อย โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเพิ่มเติมต่อสถานการณ์สื่อในพื้นที่ว่า คนที่ทำงานกับปัญหาความขัดแย้งหลายคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า เราต้องการเห็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกให้กับทุกฝ่าย "ทุกฝ่าย" แน่นอนว่าหมายรวมไปถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ สำหรับตนเชื่อว่าการสื่อสารนั้นสำคัญในแง่เป็นวิธีการที่คนกลุ่มใดๆ ก็ตามในสังคมจะใช้ในการต่อรองในสิ่งที่ต้องการ พวกเขาต้องมีความสามารถในการสื่อสาร และมีพื้นที่ในการแสดงออก ไม่เช่นนั้นจะไปไม่ได้ จะเกิดอาการจนแต้มแล้วลงเอยหันไปหาวิธีอื่น ตนเชื่ออย่างจริงจังว่า ที่ผ่านมา ความรุนแรงถูกใช้เป็นภาษาเพราะอย่างอื่นมันไม่เวอร์ค

ต่อคำถามที่ว่าความรุนแรงได้ผลหรือไม่นั้น นวลน้อย มองว่า แม้แต่คนใช้ก็คงรู้เองว่ามันไม่ชัดเจน ตนรู้ว่ามีเพื่อนเราอีกส่วนในกรุงเทพฯคิดว่าไม่สมควรคุยกับขบวนการเพราะกลายเป็นการยอมรับว่าเมื่อใช้ความรุนแรงแล้วได้รับการตอบสนองและได้รางวัล แต่หลายปีที่ผ่านมา การที่ความรุนแรงดึงดูดงบประมาณและความสนใจของภาครัฐต่างๆ คงทำให้บางคนคิดไปแล้วว่า การใช้ความรุนแรงมันทำให้ได้รับความสนใจและมันได้ผล

การถาโถมงบและอะไรต่างๆ ลงใต้มันคือส่วนหนึ่งของการแย่งชิงมวลชน แต่ตนเชื่อว่าหลายคนก็คงเหมือนเราคือคาดหวังว่ามันจะมีอะไรมากกว่านั้น เพราะถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เหมือนกับว่า เกือบ 20 ปีนี้ ทุ่มงบลงไปเพียงเพื่อหวังเอาชนะดึงมวลชนมาเป็นพวกแค่นั้น และมันกลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเกมการต่อสู้ ทำไมเราจึงไม่ทำอะไรที่มีความหมายมากกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐก็เพียรพยายามบอกเราว่าปัญหาความขัดแย้งนี้มันไม่ใช่สงคราม พวกเขาไม่ยอมใช้แม้แต่คำว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ก็ในเมื่อมันไม่ใช่สงครามก็แปลว่าต้องลดความคิดเอาชนะ ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้ต้องดึงคนเป็นพวก ต้องบีบฝ่ายตรงข้ามให้จนแต้ม ฯลฯ มันปิดถนนสู่สันติวิธี

สิ่งจำเป็นสำหรับสันติวิธี และการ์ดความเป็นอื่น

สำหรับสิ่งที่คาดว่าจำเป็นสำหรับสันติวิธีในการแก้ปัญหนาั้น นวลน้อย มองว่าคือการหาที่ทางให้กับทุกคน เริ่มต้นด้วยการให้พวกเขามีความสามารถต่อรองเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและกลุ่มตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง มันเป็นการสร้างศักยภาพในระยะยาว ให้พื้นที่ในการส่งเสียงกับคนทั่วไปควบคู่กันไปกับการคุยกับขบวนการ อย่างที่พูดกันตอนที่ผู้อำนวยความสะดวกมาเยือนว่าทุกคนเน้นการมีส่วนร่วม inclusivity ไม่ใช่แค่โต๊ะพูดคุย เสียงจากการต่อรองอาจจะรกหูผู้มีอำนาจ แต่มันเป็นวิธีการอันสันติ ในแนวคิดอันนี้การมีพื้นที่สื่อสารที่ปลอดภัยมันคือองค์ประกอบที่จำเป็น ถ้าริบเอาพื้นที่นี้ออกไปและริบเอาคนที่ทำหน้าที่นี้ออกไปเสียแล้ว มันก็ต้องกลับไปสู่สภาวะไร้หนทาง

คือมันน่าเสียดายมากเพราะว่าศักยภาพในการสื่อสารที่สร้างกันมาในช่วงเกือบ 20 ปีนี้ ถ้าย่อบแย่บลงไปอีกก็เหมือนเราไม่ได้เรียนรู้บทเรียนอะไรเลย สื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สร้างกันยากเย็นแสนเข็ญมาก คือมันมีเหตุผลและเงื่อนไขมากมายที่ทำให้สื่อโตได้แค่นี้ และแน่นอนว่าคนทำงานสื่อสารเหล่านี้ก็ไม่ได้สังกัดองค์กรใด ซึ่งก็คงจะไม่มีใครออกมาแอคชั่นช่วยเหลือ ยิ่งไปติดยี่ห้อว่าเป็นสื่อฝ่ายตรงข้ามรัฐ หรือช่วยเหลือคนที่อยู่ตรงข้ามรัฐแม้จะเพื่อมนุษยธรรมมันก็ยิ่งเท่ากับโดดเดี่ยวพวกเขา คือเราก็รู้กันว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่แคร์คนที่พวกเขาคิดว่า "เป็นอื่น" เมื่อหงายการ์ดความเป็นอื่นก็คือถีบกันตกเวทีนั่นเอง

ในเมื่อรัฐไทยยังมอง "คนเห็นต่าง" เป็นพลเมือง การรายงานกิจกรรมก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้

สื่อมวลชนผู้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้/ปาตานี มาอย่างยาวนาน มองว่า การที่จริงที่รัฐบาลคุยกับบีอาร์เอ็นหรือขบวนการ มันส่งสัญญานกับสังคมว่ารัฐไทยยังมอง "คนเห็นต่าง" เป็นพลเมืองตัวเอง ยังเปิดประตูรับพวกเขา ถ้ายึดตามนี้ การรายงานกิจกรรมของคนที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องเช่นในเรื่องการจัดงานศพ การขอรับศพและการมีปัญหาในการขอรับศพ หรือแม้แต่การช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม อันเป็นสิ่งที่กลไกรัฐเองก็ทำไม่ได้ มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ใช่หรือไม่ เราเข้าใจว่าสื่อก็มองเช่นนั้นว่ารัฐไทยและสังคมไทยยังสนใจคนกลุ่มนี้ และการรายงานข่าวมันเป็นคนละเรื่องกับว่าสนับสนุนพวกเขาหรือไม่

ที่สำคัญ สำหรับนักข่าวนั้น มันต้องมีแอคชั่นจึงจะออกไปทำข่าว แต่ถ้าบอกว่า เพราะสื่อไปทำข่าวจึงเป็นการปลุกคนให้ออกมา อันนี้ตนว่าประหลาด ตนทำงานสื่อรู้ว่าเวลามีคนไปรวมตัวทำกิจกรรมจึงไปทำรายงาน ถ้าทำได้แล้วไม่ทำนี่จึงจะเป็นเรื่องแปลก แต่ถ้ามาพูดกันใหม่ ว่าทำข่าวคนเห็นต่างไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องรวมตัวจัดงานศพหรือปัญหาอันใดก็ตาม ถ้าอย่างนั้นนั่นหมายความว่าต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า รัฐบาลกำลังบอกว่า ที่ตนเข้าใจไปว่าเปิดประตูต้อนรับคนเห็นต่างให้มาคุยกันนั้นตนเข้าใจผิด เพราะที่จริงรัฐยังไม่ได้คิดจะปฎิบัติกับพวกเขาในฐานะเป็นพลเมือง และไม่ต้องการให้ภาคส่วนอื่นของสังคมไปสัมพันธ์กับพวกเขา หรือว่ารัฐบาลต้องการให้สังคมบอยคอตคนกลุ่มที่รัฐสงสัยว่าเป็นมวลชนของขบวนการทั้งหมด อย่างนั้นไหม

นวลน้อย ระบุว่า ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่หรือสังคมต้องยอมรับคนใช้ความรุนแรง แม้แต่กระบวนการสันติภาพก็ไม่ได้หมายถึงการนิรโทษกรรมแบบไม่มีหูรูด แต่ประเด็นคือการสร้างสันติภาพมันต้องไปไกลกว่าแค่การรักษากฎหมายเอาคนผิดมาลงโทษ มันต้องไปให้ถึงรากของปัญหา ที่สำคัญในการรักษากฎหมาย ต้องยอมรับว่าคนละเมิดสิทธิมีหลายส่วนไม่ได้มีแต่ขบวนการเท่านั้น การรักษากฎหมายต้องทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่เช่นนั้นก็คือทำลายระบบเสียเอง

"เดาว่าในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังวิ่งไปสู่การเลือกตั้ง มันเป้นเวลาที่สื่อและนักกิจกรรมในพื้นที่จะได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองหนใหญ่ในรอบ 8 ปี แต่ถ้าคนเหล่านี้ย่อบแย่บลงเพราะผลจากการถูกปรามด้วยคดีก็น่าเสียดาย" นวลน้อย ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net