Skip to main content
sharethis

ในช่วงที่กลุ่มฝ่ายขวาพยายามทุกวิถีทางขัดขวางสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะสิทธิของผู้หญิงข้ามเพศ (trans women) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักสตรีนิยมจะต้องไม่เพียงแค่พูดถึงแต่เรื่องของผู้หญิงตามเพศกำเนิด (cis women) เท่านั้น แต่ต้องเผื่อแผ่ถึงการต่อสู้เพื่อผู้หญิงข้ามเพศด้วย เพราะเอาเข้าจริงแล้วประเด็นส่วนใหญ่ล่วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนทั้งสองกลุ่มนี้เผชิญร่วมกัน เช่น สิทธิในเนื้อตัวร่างกายตัวเอง ฯลฯ 

การที่สิทธิสตรีถึงจะเดินหน้าต่อไปได้นั้น แนวคิดสตรีนิยมหรือ "เฟมินิสม์" จะต้องเป็นพันธมิตรหลักๆ ของผู้หญิงข้ามเพศด้วย ประโยคที่ว่านี้มาจากหนังสือ "Living a Feminist Life" (ใช้ชีวิตในแบบเฟมินิสต์) ของ ซารา อาห์เหม็ด นักสตรีนิยมผู้มีแนวคิดแบบ สตรีนิยมเลสเบียน ทฤษฎีเควียร์ และแนวคิดหลังอาณานิคม

ผู้ร่วมชุมนุม Stockholm Pride Parade เมื่อ 2 สิงหาคม ค.ศ. 2008 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Andie Nordgren/Wikipedia)

อาห์เหม็ดให้สัมภาษณ์ในพิงค์นิวส์ เมื่อ 8 มี.ค. ที่ผ่านมานี้ว่า การเป็นนักสตรีนิยมที่ต่อต้านคนข้ามเพศนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในตัวเอง เพราะแนวคิดสตรีนิยมควรที่จะต้องรื้อถอนโครงสร้างบทบาททางเพศ และก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ว่านี้คือการล้มล้างแนวคิดแบบขั้วตรงข้ามชายหญิง (gender binary)

"ฉันเขียนหนังสือ ใช้ชีวิต และมีความรักในแบบของนักสตรีนิยมเลสเบียนมาเป็นเวลาหลายปี" อาห์เหม็ดกล่าว

"ฉันรู้ว่าถ้าคุณพยายามจะกีดกันคนข้ามเพศออกจากสตรีนิยม คุณก็จะกีดกันแนวคิดสตรีนิยมจำนวนมากออกไปด้วย คุณก็จะเหลือแต่แนวคิดสตรีนิยมแบบที่ไม่สำรวจตรวจสอบตัวเอง แล้วก็ใช้คำจำพวกเพศสรีระตามกำเนิด หรือหญิงตามธรรมชาติ หรือหญิงแท้ ในแบบเดียวกับที่พวกปิตาธิปไตยชอบใช้ เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมในการจำกัดเสรีภาพที่พวกเราพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มา" อาเหม็ดกล่าว

การสนับสนุนคนข้ามเพศมีมานานแล้วในประวัติศาสตร์สตรีนิยม

ผู้หญิงข้ามเพศ และคนข้ามเพศอื่นๆ ดำรงอยู่มาโดยตลอด ในขณะที่การต่อสู้เพื่อสิทธิคนข้ามเพศดำเนินมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว แนวคิดสายหนึ่งของสตรีนิยมที่เรียกว่า "สตรีนิยมข้ามเพศ" (trans feminism) ได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงราวกลางถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 1900s

จากกระแสการประท้วงเพื่อสิทธิ LGBTQ+ หลังเกิดกรณีการจลาจลที่สโตนวอลล์ ค.ศ. 1969 ทำให้มีนักวิชาการศึกษาว่าอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศมีความสอดคล้องกับแนวคิดวาทกรรมแบบสตรีนิยมอย่างไรบ้าง

นักกิจกรรมอย่าง เคท บอร์นสไตน์ และแซนดี สโตน เริ่มเขียนบทวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ว่าพวกเขาจะสามารถนำส่วนที่ก้าวหน้าของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองมาใช้ในการล้มล้างแนวคิดขั้วตรงข้ามชายหญิงและนำมาพัฒนาอิสรภาพของคนข้ามเพศได้อย่างไรบ้าง

ความนิยมเรื่องการศึกษาเรื่องสตรีนิยมข้ามเพศกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวสตรีนิยมคลื่นลูกที่สามและคลื่นลูกที่สี่ ที่ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าความคิดเหมารวมเรื่องเพศสภาพนั้นเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว

ประเด็นเกี่ยวกับสตรีนิยมข้ามเพศมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยิ่งมีความความสำคัญมากขึ้นในการต่อสู้กับการกดขี่ในช่วงนี้ เนื่องจากจู่ๆ ก็มีกระแสวาทกรรมต่อต้านคนข้ามเพศผุดขึ้นมาจำนวนมาก

เช่น กรณีที่หลายรัฐของสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายกีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะในทางการกีฬาหรือในชีวิตประจำวัน กรณีล่าสุดมาจากรัฐเท็กซัสที่ ส.ส. พรรครีพับลิกันเสนอกฎหมายที่สนับสนุนให้คน "ล่าหัว" คนแต่งกายข้ามเพศเพื่อการแสดงที่เรียกว่า "แดร็กควีน" ซึ่งอาจจะมีโอกาสรวมไปถึงคนข้ามเพศด้วย เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวจะอนุญาตให้ใครก็ได้สามารถฟ้องร้องคนจัดงานอะไรก็ตามที่มีการแสดงโชว์แดร็กแล้วมีเด็กเข้าร่วมอยู่ในงานด้วย

ร่างกฎหมายที่ว่าคือร่างกฎหมาย HB 4378 นำเสนอโดย ส.ส. รีพับลิกันที่ชื่อ สตีฟ ทอร์ธ โดยที่นักวิจารณ์บอกว่ากฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมการ "ล่าหัว" ที่ตั้งเป้าหมายต่อทั้งแดร็กควีนและคนข้ามเพศได้


การฉวยใช้ "สตรีนิยม" แบบผิดๆ ที่ไม่ได้เข้าใจแก่นของสตรีนิยมจริงๆ

เรื่องดังกล่าวนี้เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของความพยายามกีดกันคนข้ามเพศโดยน้ำมือของกลุ่มอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาเท่านั้น ซึ่งนอกจากเรื่องกฎหมายแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ยังมักจะอ้างใช้โวหารที่แปะป้ายให้คนข้ามเพศและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ เป็นนักล่าหรือ เป็นพวกล่อลวง หรือการใส่ร้ายป้ายสีในแง่ลบแบบอื่นๆ [1]

ที่น่าสังเกตคือกลุ่มที่กีดกันคนข้ามเพศมักจะฉวยใช้ทฤษฎีสตรีนิยมแบบผิดๆ ด้วย ซึ่งบางครั้งคนกลุ่มนี้ก็มักจะเรียกตัวเองว่าเป็นพวก "ขบวนการต่อต้านเพศสภาพ" คนกลุ่มนี้ปรากฏออกมาให้เห็นในช่วงราวสิบปีที่ผ่านมา เป็นพวกกลุ่มปฏิกิริยาโต้ตอบสังคมที่เริ่มมีความก้าวหน้า เริ่มมีการเล็งเห็นและมีความใส่ใจต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

กลุ่มต่อต้านคนข้ามเพศกลุ่มดังกล่าวนี้มักจะอ้างว่า "เพศกำเนิดในทางชีวภาพ" ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมาก่อนในทฤษฎีสตรีนิยม และแนวคิดสตรีนิยมควรจะต้องมีการปฏิบัติการโดยคำนึงถึงเพศกำเนิดแทนที่จะเป็นเพศสภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้อ้างว่าสตรีนิยมจะต้องให้ความสำคัญแต่กับผู้มีเพศกำเนิดหญิงเท่านั้น และควรจะต้องกีดกันผู้หญิงข้ามเพศ

อย่างไรก็ตามนักสตรีนิยมอย่างอาห์เหม็ดก็กล่าวโต้ตอบแนวคิดของกลุ่มฝ่ายขวาที่อ้างใช้แนวคิดสตรีนิยมแบบผิดๆ เช่นนี้ เพราะแนวคิดแบบเน้นเรื่องให้ความสำคัญกับเพศกำเนิดนั้นเป็นแนวคิดที่สร้างอยู่บนฐานของคตินิยมแบบปิตาธิปไตย ซึ่งจะกลายเป็นการปิดกั้นความก้าวหน้าแทนที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้า

"นักสตรีนิยมจากหลากหลายสำนักวิชาการต่างก็เคยนำเสนอไว้แล้วว่า การแบ่งแยกเพศเป็นสองตามเพศกำเนิดนั้น เป็นผลผลิตของระบอบปิตาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นนักสตรีนิยมสายวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงนักสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน" อาห์เหม็ดกล่าว

อาห์เหม็ดบอกอีกว่าถ้าพวกเขาเคลื่อนไหวด้วยวิธีแบบแบ่งแยกเพศเป็นสองตามเพศกำเนิด มันก็จะกลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับระบอบปิตาธิปไตย นอกจากนี้การพยายามนิยามสตรีนิยมโดยตั้งอยู่บนฐานของเพศกำเนิดนั้นจะกลายเป็นการละเลยประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นของการดำเนินกิจกรรมโดยนักสตรีนิยม LGBTQ+ ด้วย

ในประวัติศาสตร์ของสตรีนิยม กระแสการเปิดกว้างในเรื่องเพศที่กลายเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดสตรีนิยมคลื่นลูกที่สามนั้นมีต้นธารมาจากขบวนการต่อสู้ของกลุ่ม LGBTQ+ เช่นกลุ่มแนวร่วมปลดแอกคนรักเพศเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้นสตรีนิยมในยุคสมัยดังกล่าวยังได้รับพลังมาจากกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองและสิทธิของผู้หญิงทุกคนด้วย

อาห์เหม็ดเล่าถึงการต่อสู้ในอดีตที่ผ่านมาว่า "ผู้หญิงข้ามเพศและผู้หญิงตามเพศกำเนิด (cis women) ได้เดินขบวนเคียงข้างกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งโลกที่พวกเราจะสามารถมีชีวิตแบบที่เรากำหนดเองได้"

"ที่จริงแล้ว คนอย่างพวกเราที่ต้องต่อสู้ขัดขืนพวกคนที่คอยบอกว่าพวกเราเป็นใครหรือบังคับว่าพวกเราควรจะต้องเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่เลสเบียน เควียร์ และคนข้ามเพศ หลายคนต้องเผชิญ พวกเธอเหล่านี้ก็มักจะอินไปกับหรือควรที่จะต้องอินไปกับการเมืองแบบเกี่ยวก้อยกันหรือมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน" อาห์เหม็ดกล่าว

"พวกเราไม่ควรจะปล่อยให้พวกนั้นมาแยกเราออกจากกันโดยอาศัยวาระทางศีลธรรมแบบพวกขวาปฏิกิริยา พวกเรารู้ว่าพวกเรากำลังสู้เพื่ออะไรและนั่นก็คือการนับรวมกันและกันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มด้วย" อาห์เหม็ดกล่าว


ประเด็นที่ผู้หญิงข้ามเพศต้องเผชิญ ก็เป็นสิ่งที่ทำร้ายผู้หญิงตามเพศกำเนิดด้วยเหมือนกัน

ย้อนไปถึงเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา มีประเด็นหลายอย่างที่ย้ำเตือนว่าสตรีนิยมข้ามเพศนั้นมีความสำคัญมาก และการพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงข้ามเพศก็มีส่วนเกี่ยวพันกับสตรีนิยมโดยทั้งหมด

เมื่อปีที่แล้วในสหรัฐฯ มีกฎหมายต่อต้านคนข้ามเพศเพิ่มขึ้นมากหลังจากที่มีการยกเลิกสิทธิในการทำแท้ง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด เพราะเรื่องเหล่านี้ต่างก็เป็นผลโดยตรงมาจากความจงเกลียดจงชังและความพึงใจแบบเห็นแก่ตัวของพวกฝ่ายขวา ที่ทำให้ความก้าวหน้าชะงักงัน

สิ่งที่พวกนักวิจารณ์ฝ่ายขวามักจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือการอ้างว่าสตรีนิยมนั้น "มาไกลมากพอแล้ว" และอ้างว่ากลุ่มผู้หญิงและชุมชนคนชายขอบได้รับความเท่าเทียมมากพอแล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วมีหลักฐานแสดงให้เห็นมากมายว่ามันเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับที่นักวิจารณ์ฝ่ายขวาอ้าง

ความเชื่อแบบนี้แสดงให้เห็นว่าพวก ส.ส. อนุรักษ์นิยม มองความก้าวหน้าทุกอย่างว่า มากเกินไป ไกลเกินไป ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดก็ตาม แม้กระทั่งความก้าวหน้าในแบบที่เล็กน้อยมากจนเป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรจะมีในสังคมตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

มีอา มัลเดอร์ นักกิจกรรมและนักบรรยายผ่านสื่อวิดีโอออนไลน์ กล่าวว่ามีหลายประเด็นมากที่ทั้งผู้หญิงตามเพศกำเนิดและผู้หญิงข้ามเพศต้องเผชิญร่วมกัน และทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้ก็ "แทบจะเหมือนกันทุกครั้งไป"

มัลเดอร์กล่าวว่า เป้าหมายของแนวคิดสตรีนิยม ทั้งกับผู้หญิงตามเพศกำเนิดหรือผู้หญิงข้ามเพศนั้น ก็คือการเน้นเรื่องที่เหมือนกันอย่างสิทธิของแต่ละคนในการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของตนเองได้ สิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับร่างกายตนเองในทางการแพทย์ สิทธิที่จะไม่ถูกกีดกันเลือกปฏฺิบัติในที่ทำงาน สิทธิที่จะไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และสิทธิที่จะกำหนดชีวิตตนเองไม่ว่าจะมีแนวคิดทางสังคมในเรื่องเพศสภาพและเพศกำเนิดแบบใดก็ตาม

มัลเดอร์บอกว่า เรื่องสิทธิทางเลือกในการทำแท้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายตัวเอง การที่คนข้ามเพศจะเข้าถึงบริการด้านการแปลงเพศได้นั้นก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพแบบเดียวกัน และทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็เป็นประเด็นสตรีนิยมทั้งคู่

นอกจากนี้ยังมีกรณีของสิทธิการเจริญพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับทั้งผู้หญิงตามเพศกำเนิดและผู้หญิงข้ามเพศด้วย มัลเดอร์ยกตัวอย่างว่าในบางประเทศที่มีการกดขี่สตรีมีการบีบบังคับให้ผู้หญิงตามเพศกำเนิดต้องคลอดลูก ในขณะที่บังคับให้ผู้หญิงข้ามเพศต้องถูกบังคับทำหมัน

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการเข้าถึงการซื้อ-เช่า ที่อยู่อาศัย ผู้หญิงในสหรัฐฯ จำนวนมากต้องประสบภาวะเป็นคนไร้บ้าน และผู้หญิงข้ามเพศก็เผชิญกับเรื่องนี้มากในระดับผิดสัดส่วนด้วย "ในเกือบทุกประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงตามเพศกำเนิดนั้น คุณจะพบว่ามันได้ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงข้ามเพศด้วยเช่นกัน"

ไม่ว่ากลุ่มขบวนการต่อต้านเพศสภาพจะพยายามโต้แย้งอย่างไรก็ตาม การเหยียดเพศหญิงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในสังคม ไม่ว่าจะจากการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงความเหลื่อมล่้ำในระดับประเทศ

มัลเดอร์บอกว่า เป้าหมายใหญ่ของแนวคิดสตรีนิยมตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีแล้วคือการที่ "เรื่องทางชีวภาพไม่ใช่ชาตะกรรมที่จะมากำหนดชีวิตคนเรา" ผู้หญิงไม่ควรจะถูกนิยามโดยชีวภาพของพวกเธอในแบบที่ระบอบปิตาธิปไตยคอยเป็นเผด็จการบีบบังคับให้เป็นเช่นนั้น ผู้หญิงข้ามเพศก็ขอร้องแบบเดียวกันว่าอย่านิยามผู้หญิงตามระบบชีวภาพตามเพศกำเนิด เรื่องนี้จะทำให้ผู้หญิงข้ามเพศกับผู้หญิงตามเพศกำเนิดเป็นพันธมิตรกัน ไม่ใช่เป็นศัตรูกัน

 

เรียบเรียงจาก

Feminists explain how the fights for women’s rights and trans rights are one and the same, Pink News, 08-03-2023

Texas Republican Introduces Bounty Hunting Bill Targeting Drag Queens, Advocate, 12-03-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Sara Ahmed, Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Sara_Ahmed

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

[1] วิจัยเผยโซเชียลยักษ์ใหญ่ยังคงหากำไรจากโฆษณาใส่ร้ายป้ายสี LGBTQ+, 25 ก.พ. 66

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net