Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 1 ของทั้งหมด 3 ตอนเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดไม่ถึงที่เกิดกับยุโรปจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นเวลา 1 ปีแล้วที่รัสเซียได้บุกโจมตียูเครนจนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 8 พันคน และบาดเจ็บอีกกว่าหมื่นสามพันคน[1] การโจมตีในครั้งนี้ถือว่าเป็นการสิ่งที่เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์หลายคน เพราะไม่คิดว่าผู้นำของรัสเซียจะตัดสินใจบุกโจมตียูเครนเต็มรูปแบบเช่นนี้ การเข้าบุกยูเครนในครั้งนี้ถือว่าเป็นการก่อสงครามระหว่างรัฐในยุโรปเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ และเป็นการเปิดความขัดแย้งระหว่างยุโรป ‘ตะวันตก’ และ ‘ตะวันออก’ อย่างเปิดเผยอีกครั้งหลังจากที่ความขัดแย้งนี้ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991

การบุกโจมตียูเครนในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในมิติความมั่นคงสงครามครั้งนี้ยังทำให้หลายคนตั้งคำถามกับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันว่ามีความสามารถในการรักษาสันติภาพในโลกมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในบทความชุดนี้ (มีทั้งหมด 3 ตอน) จะแสดงให้เห็นว่าการบุกยูเครนของรัสเซียถือเป็นความผิดพลาดอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของยุโรป และทำให้เกิด ‘ผลกระทบที่คาดไม่ถึง’ (unintended consequences) ต่อประเทศในยุโรป ในตอนที่ 1 ผู้เขียนจะอธิบายว่าแทนที่การบุกยูเครนจะทำให้การขยายตัวขององค์การนาโตหยุดลงอย่างที่รัสเซียต้องการ แต่การบุกโจมตีครั้งนี้กลับทำให้ประเทศอื่นในยุโรปรู้สึกกังวลถึงความปลอดภัย และสมัครเข้าเป็นประเทศสมาชิกขององค์การนาโตเพิ่มมากขึ้นอีก บทความตอนที่ 2 ผู้เขียนจะอธิบายให้เห็นว่าสงครามครั้งนี้แทนที่จะทำให้ยุโรปอ่อนแอลง แต่ในความเป็นจริงกลับทำให้ยุโรปมีความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น และในบทความตอนสุดท้ายผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าการบุกของรัสเซียอาจทำให้ประเทศที่มีจุดยืนเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด เช่น สวิตเซอร์แลนด์เปลี่ยนจุดยืนมาเลือกฝั่งประเทศตะวันตกและยูเครน ซึ่งอาจมีผลต่อสมดุลทางการเมืองในยุโรปในอนาคต

การขยายตัวของนาโต

องค์การนาโต หรือชื่อเต็มในภาษาไทยว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty Organization) คือ องค์การระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการความมั่นคงและการทหารของประเทศสมาชิกกับกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต องค์การนาโตก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1949 โดยประเทศสมาชิก 12 ประเทศ และ 10 ใน 12 ประเทศนี้อยู่ในยุโรปตะวันตก และ 2 ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในยุโรป คือ สหรัฐ ฯ และแคนนาดา ส่วนที่ถือว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่สุดของการเป็นสมาชิกองค์การนาโต คือ บทบัญญัติมาตรา 5 (Article 5) ขององค์การนาโตที่ระบุว่า “การโจมตีหนึ่งในประเทศสมาชิกด้วยอาวุธ จะถือเป็นการโจมตีกลุ่มนาโตทั้งหมด” ซึ่งนั่นแปลว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่เป็นสมาชิกองค์การนาโตก็จะเข้ามาช่วยเหลือประเทศที่ถูกโจมตีทางการทหาร ซึ่งนั่นถือว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างป้องปรามประเทศอื่นๆ ที่จะมารุกรานประเทศสมาชิกได้อย่างดี


ภาพที่ 1: ประธานาธิบดี แฮร์รี ทรูแมน ลงนามก่อตั้งองค์การองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty Organization) หรือองค์การนาโต ร่วมกับตัวแทนประเทศต่างๆ ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1949 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นขององค์การนาโต
[2]

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้องค์การนาโตได้ขยายจำนวนประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในสมัยสงครามเย็นและช่วงหลังจากนั้น มีทั้งหมด 8 ครั้ง รวมทั้งหมด 18 ประเทศ ดังนี้

ครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1952 มี 2 ประเทศเข้าร่วม คือ กรีซ และ ตุรกี

ครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1955 มี 1 ประเทศเข้าร่วม คือ เยอรมนีตะวันตก

ครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 1982 มี 1 ประเทศเข้าร่วม คือ สเปน

ครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 1999 มี 3 ประเทศเข้าร่วม คือ เช็ก ฮังการี และโปแลนด์

ครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 2004 มี 7 ประเทศเข้าร่วม คือ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย และโรมาเนีย

ครั้งที่ 6 ในปี ค.ศ. 2009 มี 2 ประเทศเข้าร่วม คือ แอลเบเนีย และ โครเอเชีย

ครั้งที่ 7 ในปี ค.ศ. 2017 มี 1 ประเทศเข้าร่วม คือ มอนเตเนโกร

ครั้งที่ 8 ในปี ค.ศ. 2020 มี 1 ประเทศเข้าร่วม คือ มาซิโดเนียเหนือ

การขยายตัวขององค์การนาโตเป็นปัญหาสำหรับรัสเซียมิใช่เกิดจากแค่เพียงจำนวนของรัฐสมาชิกที่มีมากขึ้นจนทำให้สมดุลทางอำนาจเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่หากพิจารณารายชื่อประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 เป็นต้นมาแล้วก็จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้จำนวนมากยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต หรืออดีตเคยเป็นพันธมิตรของรัสเซียนั่นเอง การเข้าร่วมองค์การนาโตนี้จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ หากพิจารณาแผนที่ (ดูรูปที่) ก็จะเห็นว่าการขยายตัวของนาโตนี้มีทิศทางไปทางตะวันออก หรือมีทิศทางขยับเข้าใกล้รัสเซียเข้าไปเรื่อยๆ นั่นเอง ซึ่งหากมองในมุมของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ก็จะเห็นว่าการขยายตัวของสมาชิกองค์การนาโตไปใกล้พรมแดนของรัสเซียนี้ก่อให้เกิดความตรึงเครียดต่อรัฐบาลเครมลินไม่น้อย เพราะเดิมจะมีประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตคอยทำหน้าที่เป็นรัฐกันชน (buffer states) ไว้อยู่ แต่เมื่อรัฐต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ ทยอยสมัครเป็นสมาชิกองค์การนาโตขนาดของพื้นที่กั้นระหว่าง ‘ตะวันตก’ และ ‘ตะวันออก’ ก็เริ่มเล็กลงไปทุกที จุดแตกหักมันเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่อดีตประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ของยูเครนที่มีความใกล้ชิดกับรัสเซียถูกโค่นล้มอำนาจลงในปี ค.ศ.2014 ในการปฏิวัติแห่งศักดิ์ศรี (Revolution of Dignity) ซึ่งทำให้รัสเซียเข้ามาบุกยึดรัฐไครเมียในปีเดียวกัน และสุดท้ายรัสเซียก็ตัดสินใจบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.2022  


ภาพที่ 2: การขยายตัวของประเทศสมาชิกองค์การนาโตจากปี ค.ศ. 1949 - 2020
[3]

การขยายตัวของนาโตยังไม่หยุด

หากสิ่งที่ผู้นำรัสเซียกังวลที่สุดคือ การขยายตัวขององค์การนาโต และที่ตัดสินใจนำกองกำลังทหารบุกยูเครนก็เพื่อหยุดการขยายตัวนี้ นี่จะถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมาก เพราะนอกจากมันจะไม่มีผลต่อการขยายตัวขององค์การนาโตแล้ว มันยังเป็นตัวเร่งทำให้ประเทศที่ลังเลมาตลอดว่าจะเข้าร่วมองค์การนาโตหรือไม่สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่นานหลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ที่มีพรมแดนใกล้ (สวีเดน) และติด (ฟินแลนด์) กับรัสเซียทางตอนเหนือก็ได้แสดงเจตจำนงค์สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แม้ทั้งสองประเทศจะมีความใกล้ชิดกับตะวันตก แต่ประเทศทั้งสองไม่เคยเป็นสมาชิกองค์การนาโตและมีจุดยืนเป็นประเทศเป็นกลาง (non-alignment) มายาวนาน เนื่องจากไม่ต้องการจะมีความขัดแย้งกับรัสเซีย แต่หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนไม่นานจุดยืนที่เป็นกลางนี้ก็เปลี่ยนไปทันที สาเหตุเพราะผู้นำของทั้งสองประเทศเกรงว่าหากไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การนาโตวันหนึ่งก็อาจจะตกอยู่ในสถานะเช่นเดียวกับยูเครนที่แม้จะมีความใกล้ชิดกับตะวันตก แต่เมื่อไม่เป็นสมาชิกองค์การนาโตก็อาจถูกรุกรานจากรัสเซียได้ และสุดท้ายก็ต้องต่อสู้โดยลำพัง แม้ยูเครนจะได้รับการช่วยเหลือเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และด้านอื่นๆ จำนวนมาก แต่ประเทศตะวันตกอื่นๆ ก็ไม่สามารถช่วยป้องปรามรัสเซียหรือเข้ามาช่วยยูเครนรบแบบเต็มกำลังได้ อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งสองประเทศจะได้เป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันยังมีประเทศตุรกีและฮังการียังมีจุดยืนไม่เห็นชอบในกรณีนี้ แต่ก็มีแรงกดดันจากประเทศสมาชิกอื่นเพื่อให้ผู้นำของตุรกีและฮังการีเปลี่ยนใจ ซึ่งก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

นอกจากกรณีของประเทศสวีเดนและฟินแลนด์แล้ว ยูเครนเองก็ได้ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกองค์การนาโตอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ค.ศ.2022 ประมาณ 7 เดือนหลังที่รัสเซียบุก แม้กรณีการสมัครเป็นสมาชิกองค์การนาโตของยูเครนจะน่าจะมีอุปสรรคอยู่มากถ้าเทียบกับกรณีของสวีเดนและฟินแลนด์ เพราะประเทศตะวันตกเองก็เกรงว่ามันจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่มันก็ทำให้เกิดแรงกดดันต่อผู้นำรัสเซียให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างระมัดระวังมากขึ้น


ภาพที่ 3: ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนออกมาแถลงการสมัครเข้าเป็น
ประเทศสมาชิกองค์การนาโตอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กันยายน 2022
[4]

แม้จะยังมีการถกเถียงอยู่ว่าแท้ที่จริงแล้วการขยายตัวขององค์การนาโตเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและสงครามในยูเครนจริงหรือไม่[5] แต่เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการบุกยูเครนของรัสเซียนี้ทำให้เกิดความกังวลต่อความมั่นคงของประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นเหตุให้ในปัจจุบันมีประเทศที่ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตเพิ่มมากขึ้นอีก 3 ประเทศ และทั้ง 3 ประเทศนี้ล้วนมีพรมแดนที่ใกล้และติดกับรัสเซีย ซึ่งหากทั้ง 3 ประเทศนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของนาโตจริง ความรู้สึกกังวลต่อความมั่นคงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ประเทศอื่นในยุโรป แต่อาจเป็นผู้นำรัสเซียเองที่จะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยนี้

 

อ้างอิง

[1] ตัวเลขนี้เป็นการประเมินขั้นต่ำของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights) ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้มาก ("UN Rights Chief Deplores Ukraine Death Toll One Year after Russian Invasion,” 21 February 2023, accessed on 18 March 2023:  https://news.un.org/en/story/2023/02/1133737)

[2] Waxman, Olivia B. “President Trump Is Meeting With a NATO Leader. Here's Why the Organization Was First Created,”12 Aril 2017, accessed on 19 March 2023: https://time.com/4735277/nato-origins-history/

[3] "Military Tension Will Rise: Russia Chides NATO Nordic Expansion" 16 May 2022, accessed on 21 March 2023: https://www.aljazeera.com/news/2022/5/16/russia-wont-put-up-with-natos-nordic-expansion-minister

[4] “We Are Taking Our Decisive Step by Signing Ukraine's Application for Accelerated Accession to NATO - Address by President Volodymyr Zelenskyy,” 30 September 2022, accessed on 24 March 2523: https://www.president.gov.ua/en/news/mi-robimo-svij-viznachalnij-krok-pidpisuyuchi-zayavku-ukrayi-78173

[5] "The Role of NATO: Enlargement Revisited" 11 March 2022, accessed on 22 March 2023: https://www.cfr.org/event/role-nato-enlargement-revisited

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net