Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 3 ของทั้งหมด 3 ตอนเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดไม่ถึงที่เกิดกับยุโรปจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย

การเป็นกลาง (neutrality) เป็นหลักการและเอกลักษณ์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ การเป็นกลางนี้ คือ การที่สวิสเซอร์แลนด์จะไม่มีส่วนร่วมหรือจะไม่เข้าข้างในสงครามกับทุกฝ่าย โดยประเทศสวิสเซอร์แลนด์จะไม่เข้าร่วมหรือเกี่ยวข้องกับกับปฏิบัติการณ์ทหารของประเทศที่กำลังรบกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งอาวุธ การร่วมกองกำลัง หรือการให้การสนับสนุนทางทหารใดๆ ในสงคราม ซึ่งหลักการนี้เกิดจากความจำเป็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและมีที่ตั้งของประเทศที่อยู่ใจกลางของยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ยังถูกรายล้อมไปด้วยประเทศมหาอำนาจ (ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และออสเตรีย) จึงทำให้สวิสเซอร์แลนด์ต้องใช้นโยบายนี้เพื่อเลี่ยงที่จะถูกลากเข้าไปเป็นเป็นส่วนหนึ่งของสงครามในยุโรปที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต คนสวิสเชื่อว่าการยึดถือจุดยืนที่เป็นกลางนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สวิสเซอร์แลนด์รอดพ้นจากภัยสงครามครั้งสำคัญในยุโรปมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1815


ภาพที่ 1: สวิตเซอร์แลนด์ถูกรายล้อมไปด้วยประเทศมหาอำนาจในยุโรปซึ่งมักจะมีความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และออสเตรีย นโยบายความเป็นกลางจึงเป็นทางออกของสวิตเซอร์แลนด์ในการเลี่ยงที่จะเป็นประเทศคู่ขัดแย้งในสงคราม[1]

ความเป็นกลางกำลังถูกท้าทาย

อย่างไรก็ตาม การยึดถือความเป็นกลางของสวิสเซอร์แลนด์กำลังถูกท้าทายอย่างมากจากสงครามในยูเครนเมื่อมีประชาชนและนักการเมืองจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนจุดยืนของประเทศเรื่องความเป็นกลางและหันมาเข้าข้างยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซีย กระแสเรียกร้องนี้มีสาเหตุจากกระแสกดดันจากหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปเองที่มองว่าการเป็นกลางของสวิสเซอร์แลนด์ในสถานการณ์สงครามยูเครนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ในความเป็นจริงสวิตเซอร์แลนด์ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนความเป็นกลางมากพอสมควรในกรณีการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย แต่ในสายตาประเทศอื่นในยุโรปสิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ทำอาจจะยังไม่เพียงพอ รัฐบาลของสวิตเซอร์แลนด์ได้อายัดทรัพย์สินของกลุ่มนักการเมืองและนักธุรกิจรัสเซียที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่มักถูกเรียกว่าพวก ‘Oligarchs’ แล้วมากถึง 8,100 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปทำในช่วงแรก แต่ข้อเรียกร้องในตอนนี้แค่อายัดอาจจะยังไม่พอ แต่ยังมีแรงกดดันให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ยึดทรัพย์สินของกลุ่มชนชั้นนำของรัสเซียเหล่านี้ด้วย แต่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ยังยืนยันว่าการทำเช่นนั้นยังไม่สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายของประเทศ[2]

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาวุธของสวิสเซอร์แลนด์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่คอยกดดันรัฐบาลให้เปลี่ยนจุดยืนเรื่องความเป็นกลางนี้ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อุตสาหกรรมผลิตอาวุธส่งออกไปหลายประเทศ หนึ่งในประเทศที่สวิตเซอร์แลนด์ส่งอาวุธไปขาย คือ เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่สนับสนุนยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซียมากที่สุด บริษัทผลิตอาวุธของสวิตเซอร์แลนด์ได้ผลิตรถถัง Leopard 2 บางส่วนให้กับเยอรมนีและรวมถึงกระสุนที่ใช้กับอาวุธอื่นๆ ที่เยอรมนีใช้ด้วย ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อเยอรมนีต้องการส่งกระสุนและรถถังที่ผลิตหรือมีส่วนประกอบที่ผลิตโดยสวิตเซอร์แลนด์ไปให้ยูเครนเพื่อรบในสงคราม แต่ก่อนที่เยอรมนีจะทำเช่นนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากสวิตเซอร์แลนด์เสียก่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการขายอาวุธที่ผลิตโดยสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสวิตเซอร์แลนด์ยึดถือหลักความกลางและมีกฎหมายระบุว่าสวิตเซอร์แลนด์จะต้องไม่ขายอาวุธให้กับประเทศที่กำลังเป็นคู่ขัดแย้งในสงคราม นั่นจึงทำให้เยอรมนีไม่สามารถส่งรถถังไปช่วยยูเครนได้ นั่นจึงทำให้ประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนยูเครนแสดงความไม่พอใจต่อสวิตเซอร์แลนด์ และนั่นก็ทำให้บริษัทผลิตอาวุธของสวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถขายอาวุธและทำกำไรได้ นี่เป็นที่มาว่าทำไมกลุ่มธุรกิจผลิตและค้าขายอาวุธของสวิตเซอร์แลนด์จึงพยายามกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนจุดยืนเรื่องความเป็นกลางนี้เสีย[3]


ภาพที่ 2: รถถัง Leopard 2 ที่บางส่วนผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนีต้องการส่งไปให้ยูเครน แต่ติดเงื่อนไขหลักการเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์จึงไม่ยังสามารถส่งได้
[4]

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของคนสวิสเซอร์แลนด์ของ Sotomo ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า 55% ของคนสวิสมีความเห็นว่ารัฐบาลควรอนุญาตให้มีการส่งอาวุธให้กับประเทศยูเครนได้[5] ซึ่งแน่นอนว่าขัดแย้งกับหลักการเป็นกลางที่รัฐบาลยึดถือมาอย่างยาวนานกว่าสองร้อยปี นอกจากประชาชนแล้วนักการเมืองจำนวนมากก็แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะนักการเมืองจากพรรคฝ่ายซ้าย เช่น พรรค Social Democratic Party และ นักการเมืองสายเสรีนิยมจากพรรค Green ในส่วนของพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่โดยทั่วไปจะยึดถือหลักการเป็นกลางนี้อย่างเคร่งครัดและในกรณียูเครนกลับมีเสียงแตกออกมา[6]


ภาพที่ 3: ประชาชนออกมาประท้วงการบุกโจมตียูเครนของรัสเซียในสวิตเซอร์แลนด์
[7]

ความเป็นกลาง vs. ความถูกต้อง vs. ความมั่นคง?

เอาเข้าจริงแล้วหลักความเป็นกลางของสวิสเซอร์แลนด์ไม่ได้เพิ่งถูกท้าทายเป็นครั้งแรก แต่ในความเป็นจริงถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เพราะหลายครั้งมันขัดกับหลักความถูกต้อง หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ และหลักประชาธิปไตย ที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปโดย โดยเฉพาะในประเทศยุโรปที่มีมาตรฐานเรื่องนี้ค่อนข้างสูงกว่าในภูมิภาคอื่น ยกตัวอย่าง ‘ธนาคารสวิส’ ที่โดยทั่วไปจะยึดถือหลักการเป็นกลางและความเป็นส่วนตัวอย่างสูง จึงได้มีมาตรการในการปกปิดข้อมูลของเจ้าของบัญชีของผู้ฝากโดยไม่สนใจว่าเงินที่ฝากจะเป็นของใครหรือได้มาจากไหน ซึ่งก็จะทำให้ผู้นำเผด็จการ นักการเมืองโกงกิน นักธุรกิจสีเทา หรือแม้แต่พ่อค้ายาเสพติดก็จะเอาเงินมาฝากกับธนาคารสวิสโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตรวจสอบจากรัฐบาลหรือองค์การระหว่างประเทศ การที่สวิสเซอร์แลนด์ไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันกับประเทศตะวันตกอื่น เช่น สหรัฐฯ หรืออังกฤษ ที่มีการตรวจสอบและยึดทรัพย์สินของบัญชีที่เกี่ยวพันกับธุรกิจหรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายจึงทำให้สวิสเซอร์แลนด์ถูกมองว่าการยึดถือหลักการความเป็นกลางนี้แท้ที่จริงแล้วก็เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้นเอง ไม่ใช่หลักการเพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือเพื่อความเป็นกลางแต่อย่างใด[8]

นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้วประเทศอื่นในยุโรปที่เคยมีจุดยืนเป็นกลางก็เลือกที่จะเข้าข้างยูเครนหรือตะวันตกเพราะเหตุผลทางความมั่นคง ตัวอย่างที่ได้เสนอก่อนหน้านี้ คือ ฟินแลนด์และสวีเดนที่เลือกสมัครเป็นสมาชิกองค์การนาโตไม่นานหลังรัสเซียกบุกยูเครน ทั้งสองประเทศเกรงว่าหากประเทศไม่มีสถานะเป็นสมาชิกองค์การนาโตแล้ววันหนึ่งประเทศทั้งสองก็อาจจะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับยูเครนก็ได้ นอกจากนี้ ประเทศอื่นอย่างออสเตรียเองก็ยึดถือจุดยืนที่เป็นกลางมาหลายทศวรรษ ออสเตรียเองไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การนาโตด้วยเช่นกัน แต่เมื่องเกิดการบุกยูเครนของรัสเซียออสเตรียเองก็กำลังพิจารณาจุดยืนความเป็นกลางนี้อย่างจริงจังเช่นเดียวกัน[9]  

 

อ้างอิง

 

[1] Kochis, Daniel. “Will Switzerland Move Closer to NATO,” 13 June 2022, accessed on 20 March 2023: https://www.heritage.org/global-politics/commentary/will-switzerland-move-closer-nato

[2] Jones, Sam และ Fleming, Sam. "Switzerland Rules out Confiscating Russian Assets over Ukraine War," 16 February 2023, accessed on 23 March 2023: https://www.ft.com/content/ec1d9ca1-0511-46e9-8ade-e92b2a05c48f

[3] Solomon, Erika. “War in Ukraine Puts Centuries of Swiss Neutrality to the Test,” 12 March 2023, accessed on 22 March 2023: https://www.nytimes.com/2023/03/12/world/europe/swiss-neutrality-russia-ukraine.html

[4] Ibid.

[5] "Small Majority of Swiss Back Re-exporting Arms to Ukraine," 29 January 2023, accessed on 24 March 2023: https://www.swissinfo.ch/eng/small-majority-of-swiss-back-re-exporting-arms-to-ukraine/48242050

[7] Mudge, Rob. "Is It Time for Switzerland to Rethink Its Neutrality?," 26 April 2022, accessed on 23 March 2023: https://www.dw.com/en/is-switzerland-right-to-prevent-the-delivery-of-ammunition-to-ukraine/a-61597284

[8] Ibid.

[9] Mac Dougall, David. et al. "Ukraine War: How Has Russia's Invasion Changed Europe?," 30 November 2022, accessed on 24 March 2023: https://www.euronews.com/my-europe/2022/08/24/ukraine-war-country-by-country-guide-on-how-russias-invasion-has-changed-europe

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net