Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนผู้เขียนมาเป็นผู้พิพากษา เคยรับราชการพลเรือนในสังกัดกรมป่าไม้ สำนักงาน ก.ค. กระทรวงศึกษาธิการ และกรมสรรพากร รวมเวลาประมาณ 15 ปี สอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ในปี 2543  และลาออกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ขณะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง

เหตุผลหลักสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจลาออกทั้งๆ ที่ยังมีสิทธิรับราชการต่อได้อีกถึง 12 ปี มี 3 ประการ คือ

1. มนุษย์โลกทุกคนล้วนมีเป้าหมายความต้องการให้ชีวิตมี ‘ความสุข’ มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Harvard ชิ้นหนึ่ง ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความสุขของมนุษย์ โดยติดตามเรื่องราวชีวิตของกลุ่มตัวอย่าง 724 คน ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กวัยรุ่นจนถึงอายุกว่า 90 ปี เป็นงานวิจัยที่ใช้ระยะเวลายาวนานถึง 75 ปี เปลี่ยนผ่านผู้ควบคุมงานวิจัยถึง 4 รุ่น ปัจจุบันน่าจะเหลือผู้มีชีวิตไม่กี่คนหรือเสียชีวิตไปหมดแล้ว บทสรุปของงานวิจัยบอกว่า ความสุขของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความร่ำรวย การมีชื่อเสียง หรือความสำเร็จใดๆ แต่เป็น ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ ต่อผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะในครอบครัว หมู่เพื่อน ชุมชน ที่ทำงาน ความสัมพันธ์ที่ดีมีคุณภาพจะช่วยทำให้ชีวิตมีความสุข สุขภาพดี อายุยืนยาว มีสมอง มีความจำที่ดี

 นับตั้งแต่สังคมไทยเกิดความแตกแยกขัดแย้ง แบ่งกลุ่มแบ่งสีแบ่งฝ่าย และมีวิกฤตปัญหามากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับเพื่อนร่วมงานย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปี ก่อนตัดสินใจลาออกผู้เขียนแทบไม่อยากพูดคุยกับใครเลย ทั้งนี้ เนื่องด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อว่าประชาชนคนส่วนใหญ่รู้กันดี เพราะสภาพการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหน หน่วยงานใด ชุมชนใหญ่หรือเล็ก ชนบทหรือในเมือง ก็คงจะมีลักษณะไม่แตกต่างกันคือ ไม่อาจพูดทำ แสดงความคิดความเห็น หรือสนทนาแลกเปลี่ยนในเรื่องใดๆ ได้อย่างที่ใจคิด ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงปัญหาของชาติบ้านเมืองไม่ว่าจะในด้านใด เพราะพูดไปก็กลัวจะมีปัญหาความขัดแย้ง ทำให้ตัวเองได้รับผลกระทบเดือดร้อน หรือไม่มีใครยอมพูดด้วย ผลที่ตามมาคือ ความอึดอัด คับข้อง ค้างคา ฟุ้งซ่าน หวั่นไหว วิตกกังวล ว้าวุ่น ขุ่นมัว หดหู่ เบื่อหน่าย ฯลฯ นอกจากนั้น ยอมรับตามตรงว่าผู้เขียนรู้สึกแย่และสะเทือนใจอย่างมากกับการที่ศาลตกอยู่ในสภาพเป็นจำเลยของสังคมขณะนี้ โดยที่ตัวเองไม่สามารถช่วยเหลือหรือทำอะไรได้เลย สรุปเหตุผลในข้อนี้ว่า ผู้เขียนไม่มีความสุขกับการทำงานเป็นผู้พิพากษาอีกต่อไป

2. เป้าหมายความต้องการของมนุษย์โลกทุกคนอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ความสำเร็จในชีวิต’ ปัญหาว่าความสำเร็จในชีวิตของคนเราคืออะไร อยู่ตรงไหน การมีหน้าที่การงานที่ดี มีฐานะร่ำรวย มีอำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นเจ้าของธุรกิจร้อยล้านพันล้าน เป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง เป็น ส.ส. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ฯลฯ หากทำโพลสำรวจสอบถามคนทั้งโลกว่า คุณประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตแล้วหรือยัง คือ ยังอยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไร มากกว่าที่มีอยู่เป็นอยู่อีกหรือไม่ (ถ้ายังอยากอยู่แสดงว่ายังไม่สำเร็จตามเป้าหมาย) เชื่อว่าส่วนใหญ่แทบทั้งหมดน่าจะไม่มีใครตอบว่า ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นอะไรอีกแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็คงจะอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน มีความมั่นคงยั่งยืนถาวรตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะเป็นไปได้ เพราะสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำกล่าวที่ว่า ความสำเร็จในชีวิตที่แท้จริงคือสิ่งที่เรียกว่า ‘พอ’ เพราะเมื่อเรารู้สึกว่าพอเมื่อไหร่ ย่อมแสดงว่าเราประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตแล้ว ไม่ว่าสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่นั้นจะมากหรือน้อยในสายตาของชาวโลกก็ตาม พูดง่ายๆ คือ รู้สึกพอเมื่อไหร่ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยอัตโนมัติ ผู้เขียนทบทวนตรวจสอบและถามตัวเองว่ากับชีวิตข้าราชการในสังกัด 4 หน่วยงาน รวมเวลา 38 ปี พอหรือยัง คำตอบที่ได้รับคือพอแล้ว

3. หากอุปมาเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนเครื่องบินก็คงจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกนับแต่เกิดจนถึงอายุประมาณ 20 ปี เทียบได้กับช่วงเวลาตั้งแต่เครื่องบิน Take-off จากสนามบินแล้วไต่ระดับความสูงขึ้นไปจนถึงเพดานบิน ระยะที่สองช่วงอายุประมาณ 20-60 ปี เทียบได้กับช่วงเวลาของการบินเดินทางในระดับเพดานบิน และระยะที่สามช่วงอายุประมาณ 60 ปี ขึ้นไป เทียบได้กับช่วงเวลาของการปรับลดระดับความสูงจากเพดานบินลงเพื่อเตรียม Landing ลงจอดในสนามบิน ชีวิตผู้เขียนในตอนนี้กำลังย่างเข้าสู่ระยะที่สามซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต หากเป็นเครื่องบินก็ต้องเริ่มเตรียมการวางแผนลงจอดให้ปลอดภัยและนุ่มนวลเบาสบายมากที่สุด

หากเปรียบเทียบกับการแบ่งช่วงเวลาของชีวิตในศาสนาฮินดูซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ พรหมจารี (ผู้เรียน) คฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) วานปรัสถ์ (ผู้ออกจาริก) และสันยาสี (ผู้สละโลก) ชีวิตผู้เขียนในตอนนี้ก็คงจะอยู่ในช่วงระยะวานปรัสถ์ที่มีเป้าหมายการแสวงหาความสุขและความสำเร็จในชีวิตโดยมุ่งเน้นเหตุปัจจัยภายใน (จิตใจ) มากยิ่งกว่าการอิงอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักคำสอนในศาสนาพุทธที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างสันโดษ สมถะเรียบง่าย รวมทั้งแนวคิดความเห็นของปราชญ์เมธีผู้มีชื่อเสียงของโลกหลายคน เช่น Aristotle หรือ Einstein ที่มองว่าธรรมชาติชีวิตคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการมีสุขภาพดีตามวัย มีปัจจัยสี่พอเพียง ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่าย และมีคุณค่าความหมายในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมใดสามารถดำเนินชีวิตโดยแบ่งช่วงเวลาในลักษณะดังกล่าวได้ย่อมเป็นสังคมที่มีแต่ความผาสุกทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม ไม่เกิดปัญหาการทะเลาะขัดแย้ง การแก่งแย่งแข่งขัน ต่อสู้แย่งชิงทำร้ายกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างคนรุ่นลูกรุ่นหลานกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เหมือนดั่งเช่นสังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ บทบาทหน้าที่ต่อสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับคนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปจึงน่าจะได้แก่การให้คำปรึกษาแนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้แก่คนรุ่นหลัง การทำงานในลักษณะของจิตอาสาช่วยเหลือสังคมหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ มุ่งการให้การสลัดออกไม่ใช่การแสวงหาหรือสะสมเพิ่มเติม ถ้ายังคิดเอาคิดแสวงหาอยากได้อยากมีอยากเป็นไม่ยอมหยุดก็คงเป็นเหมือนเครื่องบินที่บินไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงจุดหมายปลายทางและไม่ได้เตรียมการวางแผนลงจอดไว้เลย สุดท้ายก็จะน้ำมันหมดหรือเครื่องพังกลางอากาศ ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมใหญ่หลวง วาระสุดท้ายของชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ฟุ้งซ่านสับสน หดหู่เศร้าหมอง ผวาหวาดกลัว ยิ่งมีมากก็จะยิ่งทุกข์มากเพราะมีสิ่งที่ต้องหวงแหนโหยหาอาวรณ์มาก ยิ่งขาดภูมิรู้ภูมิธรรมมาก ไม่เข้าใจในสัจธรรมความจริงแห่งชีวิตไม่เคยคิดฝึกจิตภาวนาก็จะยิ่งกลัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิ่งทั้งหลายที่ได้มานั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม ทำผิดคิดชั่ว เบียดเบียนทำร้าย ทุจริตคดโกง ซึ่งหากพิจารณาตามความเชื่อในศาสนาพุทธโอกาสที่จะได้ตายอย่างสงบและไปเกิดใหม่ในภูมิภพที่ดีย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง

บทความนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะมาเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองหรือเอาความลับสิ่งไม่ดีไม่งามภายในองค์กรศาลมาตีแผ่เผยแพร่ เหตุที่ตั้งชื่อเรื่องว่า ‘ทำไมผมถึงไม่อยากเป็นผู้พิพากษา’ เป็นเพียงกุศโลบายให้รู้สึกสะดุดหูสะดุดตาใคร่อยากรู้หาดูเปิดอ่านเท่านั้น เนื้อหาสาระที่ว่ามาก็เพื่อให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับชื่อเรื่องและถือโอกาสแลกเปลี่ยนแง่คิดมุมมองเกี่ยวกับชีวิตบ้างตามสมควรแก่เหตุปัจจัย เพื่อมิให้โดนข้อหาหลอกลวงขายของไม่ตรงปก

จุดประสงค์หลักสำคัญในการเขียนบทความนี้ก็เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนสื่อสารในลักษณะจดหมายเปิดผนึกถึงพี่เพื่อนน้องผู้พิพากษาเกี่ยวกับวิกฤตปัญหาของชาติบ้านเมืองที่ยืดเยื้อเรื้อรังสืบต่อเนื่องมาอย่างยาวนานและไม่มีทีท่าว่าจะมีทิศทางแนวโน้มที่ดีขึ้น ดังจะกล่าวต่อไปนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าศาลยุติธรรมเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เสาหลักอีกสองเสาคือนิติบัญญัติกับบริหารอยู่ในสภาพอ่อนแอผุกร่อนทรุดโทรม ฝ่ายตุลาการต้องมีความแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษ หาไม่แล้วย่อมไม่อาจช่วยค้ำยันพยุงชาติบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยได้

ความสำคัญสูงสุดของศาลอยู่ที่การได้รับความยอมรับนับถือและเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน องค์กรหรือสถาบันอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหากจะมีปัญหาในเรื่องความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต หรือความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือไปบ้าง สังคมก็ยังพอทำใจทนรับได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังมีความรู้สึกว่า ยังมีศาลสถิตยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่หากวันใดประชาชนรู้สึกเคลือบแคลงสงสัย ไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่นศรัทธาในความถูกต้องเที่ยงธรรมของศาล มองว่าศาลไม่อาจพึ่งพาได้อีกต่อไป ก็คงจะจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันเองตามสติปัญญา ข้อมูลความรู้ กำลังกาย กำลังทรัพย์ แนวคิด จริตนิสัย ฯลฯ ของแต่ละคน สิ่งที่จะตามมาคือบ้านเมืองไร้ขื่อแป ความสับสนวุ่นวาย โกลาหลอลหม่าน การต่อสู้ทำร้าย ภัยอันตรายทั่วแผ่นดิน และอาจถึงขั้นเข้าสู่สภาพมิคสัญญีกลียุคในท้ายที่สุด

ต้องยอมรับความจริงว่า ผลพวงของการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลอย่างมาก มีการชุมนุมประท้วง ตำหนิด่าว่าด้วยถ้อยคำภาษาที่ไม่สุภาพ หยาบคายรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกโซเชียล มีการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้คนในสังคมอย่างมากมายกว้างขวาง รวมตลอดถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น    การอดข้าว ชูนิ้ว วาดภาพ ร้องเพลง แต่งกลอน ที่มีลักษณะเสียดสี เหน็บแนม ประชดประชัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ นอกจากการรัฐประหารทั้งสองครั้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาในศาลแล้ว ยังส่งผลกระทบเสียหายต่อตัวผู้พิพากษาในฐานะสมาชิกองค์กรด้วย ตัวอย่างเช่น

  • ตำแหน่งผู้พิพากษาไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี เป็นที่เคารพยกย่องนับถือจากผู้คนในสังคมอย่างมาก ถามว่า ณ ปัจจุบัน สถานะความน่าเชื่อถือศรัทธาและการเคารพยกย่องที่ผู้คนในสังคมมีต่อผู้พิพากษายังเป็นเหมือนเดิมดั่งเช่นอดีตหรือไม่ เชื่อว่าทุกท่านคงจะมีคำตอบตรงกันว่าไม่เหมือนเดิม ส่วนตัวผู้เขียนเองแม้จะมั่นใจว่า ต่อบทบาทหน้าที่ผู้พิพากษาที่ผ่านมา แหงนหน้าก็ไม่อายฟ้าก้มหน้าก็ไม่อายดิน แต่ในห้วงหลายปีที่ผ่านมาเวลาไปที่ไหนถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะพยายามไม่เปิดเผยตัวให้ใครรู้ว่าเป็นผู้พิพากษาเพราะประเมินว่าน่าจะมีคนชังมากกว่าคนชอบ
     
  • ตอนผู้เขียนเป็นผู้พิพากษาใหม่ๆ ผู้พิพากษาจะทำงานประมาณ 12 ปี ก็ได้เป็นหัวหน้าศาลโดยส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 30 ปลายๆ ถึง 40 ต้นๆ เมื่ออายุ 40 ปลายๆ ถึง 50 ต้นๆ ก็จะขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560 ที่เกิดขึ้นในช่วงการรัฐประหารทำให้ขณะนี้ต้องทำงานกว่า 20 ปี จึงได้เป็นหัวหน้าศาลซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 40 ปลายๆ ถึง 50 ต้นๆ และหากกฎกติกายังเป็นเช่นนี้ต่อไปกว่าจะได้ขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนใหญ่ก็คงจะมีอายุเกือบ 60 ปี ส่วนผู้พิพากษาศาลฎีกาก็คงจะอายุเกิน 60 ปี ทั้งหมด เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นได้ว่าคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีเพียงผู้พิพากษาที่ขณะนั้นอายุใกล้จะถึง 60 ปี ไม่กี่คนเท่านั้น แม้จะมีการปรับแก้กฎกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แต่ก็ไม่ช่วยอะไรได้มากนัก ในภาพรวมแล้วต้องถือว่าผู้พิพากษาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเสียประโยชน์ ทั้งยังส่งผลกระทบเสียหายต่อส่วนรวมด้วย เช่น หากกฎกติกายังเป็นเหมือนเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เหล่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาในปัจจุบันก็คงจะมีอายุไม่เกิน 60 ปี ซึ่งแน่นอนว่าสุขภาพกายใจและประสิทธิภาพในการทำงานขณะอายุต่ำกว่า 60 ปี ย่อมดีกว่าตอนมีอายุเกิน 60 ปี หรือการให้ผู้พิพากษาตรากตรำกรำศึกอยู่ในศาลชั้นต้นเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายใจอย่างมาก กว่าจะผ่านด่านศาลชั้นต้นไปได้ก็คงจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่ากรอบ เหนื่อยล้า ขาดพลัง และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงประสิทธิภาพในการทำงานชั้นศาลอุทธรณ์ฎีกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการปิดกั้นขวางโอกาสคนหนุ่มสาวไม่ให้เข้าไปเป็นเลือดใหม่ในศาลยุติธรรมตามสัดส่วนจำนวนที่เหมาะสมและควรจะเป็นอีกด้วย
     
  • สมัยก่อนบัญชีอัตราเงินเดือนผู้พิพากษาจะอิงอยู่กับบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน แต่ด้วยผลของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ที่เห็นความสำคัญในบทบาทหน้าที่ของศาลอย่างมากจึงได้ปรับเปลี่ยนระบบอัตราเงินเดือนผู้พิพากษาใหม่ให้แตกต่างและสูงกว่าอัตราเงินเดือนข้าราชการฝ่ายอื่นทั่วไป กาลเวลาผ่านมากว่า 20 ปี ปรากฏว่ามีการปรับอัตราเงินเดือนผู้พิพากษาในลักษณะที่เรียกว่ากระท่อนกระแท่นไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับช่วงเวลา ภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากประชาธิปไตยไม่สะดุดหยุดลงเพราะการรัฐประหาร เศรษฐกิจบ้านเมืองก็คงไม่เป็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา และเชื่อว่าประชาชนคงจะขึ้นเงินเดือนให้กับผู้พิพากษามากกว่านี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากศาลยืนหยัดปกป้องไม่ยอมรับการรัฐประหาร คงไม่จำต้องไปร้องขอความช่วยเหลือสนับสนุนจาก  ใครๆ ให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ผู้พิพากษา
     
  • เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งดังกล่าว ก่อให้เกิดวิกฤตปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เกิดความแตกแยกขัดแย้งของผู้คนในสังคมอย่างรุนแรงลึกซึ้งกว้างขวาง ผลที่ตามมาคือคดีความเพิ่มขึ้น เพราะความทุกข์ความเครียด ความโกรธเกลียด ชิงชัง ความเดือดร้อนลำบาก อดอยากหิวโหย เป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีงานทำ ฯลฯ ย่อมเป็นบ่อเกิดที่มาแห่งอาชญากรรมและการประพฤติผิดสัญญาทั้งปวงทั้งทางตรงทางอ้อม เมื่อคดีความเพิ่มมากขึ้นผู้พิพากษาก็ต้องทำงานหนักขึ้นเหนื่อยมากขึ้นมีความทุกข์ความเครียดมากขึ้น

จากประสบการณ์บทเรียนที่ผ่านมาและวิกฤตปัญหามากมายในสังคมขณะนี้ น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันและได้ข้อสรุปที่ตกผลึกชัดเจนปราศจากข้อสงสัยใดๆ แล้วว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกที่ดีที่ถูกต้องสำหรับสังคมไทยหรือไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในโลกก็ตาม ในทางตรงข้ามจะเป็นการนำพาสังคมไปสู่หนทางตีบตันเสียมากกว่า การใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาในครอบครัวก่อให้เกิดความเป็นทุกข์เดือดร้อนของสมาชิกในครอบครัวฉันใด การใช้กำลังอาวุธก่อการรัฐประหารย่อมก่อให้เกิดความเป็นทุกข์เดือดร้อนของประชาชนฉันนั้น

ต่อเหตุผลที่ว่าสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการรัฐประหารคือ พฤติกรรมอันเลวร้ายของเหล่านักการเมืองนั้น ขอแย้งว่าไม่ว่านักการเมืองจะชั่วร้ายเลวทรามอย่างไร แต่ตราบใดที่หลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยยังคงอยู่บ้านเมืองจะไม่ถึงทางตัน อย่างไรเสียก็ต้องมีทางออกและเดินหน้าต่อไปได้ ปัญหาการเมืองก็ต้องแก้ไขด้วยวิถีทางทางการเมือง ด้วยวิธีการเยี่ยงอารยชนไม่ใช่การใช้กำลังทำร้ายข่มขู่บังคับเยี่ยงคนป่าเมืองเถื่อน ทุกระบอบมีทั้งข้อดีข้อเสียมีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง หลักการคือกำจัดจุดอ่อนเสริมสร้างจุดแข็งซึ่งต้องอาศัยเวลา ความอดทน และการศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน

ส่วนเหตุผลที่ว่าหากไม่ทำการรัฐประหารควบคุมสถานการณ์ จะก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง บ้านเมืองลุกเป็นไฟ มีการต่อสู้เข่นฆ่าทำร้ายกันอย่างมากมายกว้างขวาง และอาจถึงขั้นทำให้บ้านเมืองล่มสลายนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงข้ออ้างในการทำรัฐประหารเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดปัญหามีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลโดยใช้วิธีการที่รุนแรงผิดกฎหมายหรือมีมวลชนที่เห็นต่างจำนวนมากเผชิญหน้ากันด้วยอารมณ์ที่ร้อนระอุคุกรุ่น หากทหารทำหน้าที่ช่วยเหลือรัฐบาลเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการขั้นตอนแห่งหลักนิติรัฐ อย่างไรเสียท้ายที่สุดย่อมสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในเมื่อการใช้กำลังเพื่อก่อการรัฐประหารสามารถควบคุมจัดการได้ การใช้กำลังภายใต้หลักนิติรัฐก็ย่อมสามารถควบคุมจัดการได้เช่นกัน แม้บางครั้งบางทีอาจต้องเสียเลือดเนื้อมีผู้บาดเจ็บล้มตายบ้างก็ต้องยอม หากมีความจำเป็นเพื่อแลกกับการปกปักษ์รักษาหลักนิติรัฐให้คงอยู่ เพราะถ้ายอมปล่อยให้มวลชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้วิธีการรุนแรงผิดกฎหมายบีบบังคับให้รัฐบาลพ้นออกจากตำแหน่งไปได้ ย่อมหมายถึงการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายหรือการทำให้หลักนิติรัฐล่มสลายนั่นเอง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลเสียหายร้ายแรงอย่างมาก เพราะจะมีการแก้แค้นเอาคืนกันไปมาโดยใช้วิธีการที่รุนแรงผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน หรืออาจมีการสมคบคิดสร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จบ

ถ้าประเทศไทยมีการรัฐประหารอีก (ซึ่งไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก) ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเชื่อว่าประชาชนคนส่วนใหญ่จะไม่ยอมและมีผู้คนจำนวนมากลุกฮือขึ้นต่อต้าน โอกาสที่จะเกิดการนองเลือดย่อมมีอยู่สูงยิ่งและสถานการณ์อาจลุกลามบานปลายยืดเยื้อยาวนานสร้างความสูญเสียมากมายใหญ่หลวง ไม่แน่ว่าในช่วงชีวิตของคนที่เกิดในรุ่นยุคนี้อาจไม่มีโอกาสได้พบเจอกับคำว่าความสงบสุขอีกต่อไป แม้แต่คนที่ใฝ่ธรรมมุ่งสละโลกก็อาจจะหาที่สัปปายะเพื่อนั่งสมาธิปฏิบัติภาวนาได้ยากยิ่ง

โดยกลไกของหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตย ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่มีอำนาจหยุดยั้งการรัฐประหารได้และถือเป็นภาระหน้าที่โดยตรง หากมีการพยายามทำรัฐประหารอีก น่าจะถึงเวลาแล้วที่ศาลยุติธรรมต้องใช้ ‘คุณธรรมความกล้าหาญ’ เพื่อปกป้องคุ้มครองประเทศชาติ ด้วยการตีความกฎหมายไม่ให้การยอมรับการเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหารเหมือนเช่นที่ผ่านมาซึ่งหากสามารถทำได้สำเร็จก็คงจะเป็นตุลาการภิวัตน์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

อย่างไรตาม การป้องกันมิให้ปัญหาเกิดขึ้น ย่อมดีกว่าการแก้ไขหลังเกิดปัญหาขึ้นแล้ว คงจะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อชาติบ้านเมือง หากศาลยุติธรรมจะสร้างกระบวนการหรือทำอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ในลักษณะเป็นสัญญาประชาคมว่า ถ้ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ศาลจะยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอาด้วยกับคณะรัฐประหารโดยเด็ดขาด

ตัวอย่างเช่น การใช้มติความเห็นของผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาทุกชั้นศาลทั่วประเทศ โดยอาจทำในรูปของการประชุมสัมมนาวิชาการ การตอบแบบสอบถาม หรือให้สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ทำการวิจัยก็ได้ หรือแม้หากฝ่ายนิติบัญญัติหรือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสนอให้มีการออกกฎหมายป้องกันการรัฐประหาร ก็ควรอย่างยิ่งที่ปัญญาชนคนชั้นตุลาการจะออกมาแสดงท่าทีต่อสาธารณชนในทางส่งเสริมสนับสนุน ไม่ว่าจะในนามตัวแทนองค์กรศาลหรือในฐานะประชาชนคนไทยก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อว่าหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกจริงจะได้มีตัวบทกฎหมายอ้างอิงรองรับสำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างชัดเจน โดยไม่จำต้องคำนึงถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาอีกต่อไป

นอกจากการป้องกันหรือหยุดยั้งการรัฐประหารแล้ว ศาลยุติธรรมยังมีภารกิจที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ การร่วมกอบกู้และสถาปนาหลักนิติรัฐที่ถูกต้องตามธรรมให้กับสังคม (ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของทุกฝ่าย) เพื่อสร้างหลักประกัน ความเชื่อมั่น ความฝัน ความหวัง ให้กับประชาชน เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบ่อเกิดที่มาและเนื้อหาสาระที่ไม่ถูกต้องตามธรรมอย่างไร ในฐานะองค์กรหลักสำคัญของชาติบ้านเมืองจึงไม่อาจเพิกเฉยละเลยได้ ควรที่จะออกมาดำเนินการหรือแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดเจนเพื่อช่วยผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของศาลเพื่อเป็นข้อมูลความรู้ให้กับสังคม

กฎหมายคือสิ่งสำคัญสูงสุดของอาชีพผู้พิพากษา ไม่มีกฎหมายก็ไม่มีผู้พิพากษา กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามธรรมย่อมเป็นอุปสรรคปัญหาต่อการอำนวยความยุติธรรมของผู้พิพากษา ถ้ามีการรัฐประหารฉีกกฎหมายทิ้งหรือเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศไม่ถูกต้องตามธรรม แล้วผู้พิพากษาเพิกเฉยละเลยไม่ทำอะไร บ้านเมืองก็คงจะมีแต่ความมืดมนไร้ซึ่งความหวัง

ถ้ามีการพยายามทำรัฐประหารอีกและผู้พิพากษาเพิกเฉยละเลยหรือให้การยอมรับเหมือนเช่นที่ผ่านมา แล้วเกิดเหตุการณ์นองเลือดลุกลามบานปลายเหมือนดั่งที่ว่ามา ก็คงจะเป็นตราบาปและความรู้สึกผิดต่อลูกหลานเผ่าพันธุ์ไปตลอดชีวิต ขอจงอย่าได้หวั่นไหวหวาดกลัวเลย หากท่านคิดทำเพื่อชาติบ้านเมือง ประชาชนคนไทยพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง ช่วยเหลือสนับสนุน และปกป้องดูแลท่าน

สุดท้ายนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก 2 ประการ คือ

1. การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในสามแห่งอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ดังนั้น ศาลจึงเป็นของประชาชน ทรัพย์สินทุกอย่างของศาล รวมทั้งเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากร ล้วนมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายท่านประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันที่ว่า ‘รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน’

หัวใจหลักในการรับใช้ประชาชนของศาลคือ ‘การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีด้วยความเป็นธรรม’ ซึ่งจะเกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริงได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยสำคัญสูงสุดคือ การมีผู้พิพากษาที่มีอุดมการณ์หรือจิตวิญญาณแห่งความยุติธรรม ต้องทำให้ผู้พิพากษามีความรู้สึกว่าหากปราศจากซึ่งจิตวิญญาณแห่งความยุติธรรมแล้ว ย่อมไม่อาจได้ชื่อว่าเป็นผู้พิพากษาอีกต่อไป แม้จะยังสวมครุยนั่งบัลลังก์หรือทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม อุปมาดั่งพระสงฆ์ต้องอาบัติปาราชิก การให้ความเป็นธรรมของผู้พิพากษาต้องไม่มีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดหรือเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ดั่งภาษิตกฎหมายลาตินที่ว่า ‘จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที’

หากสามารถทำให้ผู้พิพากษามีจิตวิญญาณแห่งความยุติธรรมได้ การบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่หากไม่สามารถทำได้แนวนโยบายใดๆ ก็คงไร้ผล นอกจากนั้น ยังเห็นว่านโยบายหรือโครงการใดๆ ต้องยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้ามีเป้าหมายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แม้ล้มเหลวก็ถือว่าสำเร็จ แต่หากไม่ใช่โดยใช้ประชาชนเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อหาประโยชน์หรือสร้างผลงาน แม้สำเร็จก็ถือว่าล้มเหลว 

2. อารมณ์ความรู้สึกของคนเราไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ รัก ชอบ โกรธ เกลียด ฯลฯ จะมีลักษณะเป็นพลังงานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับพลังงานไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง ลม ความร้อน ความเย็น ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่าคู่ความแทบทุกคดีรวมทั้งญาติพี่น้องที่ไปศาลล้วนมีความทุกข์ แทบทุกคนพกพาความโกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชัง อาฆาตพยาบาท ความกลัว วิตกกังวล หวาดระแวง ฯลฯ ติดตัวไปด้วย ด้วยเหตุนี้ภายในอาณาบริเวณศาลทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องพิจารณาคดีจึงเต็มไปด้วยคลื่นพลังงานอารมณ์ทางลบทางร้าย ซึ่งถือเป็นมลพิษอันตรายที่เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยทั้งปวง

ดังนั้น ‘ความเมตตา’ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้พิพากษาต้องมอบให้แก่คู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเมตตาในการให้ความยุติธรรมที่รู้เท่าทันอคติในใจตน ไม่ถูกมันครอบงำชักพาให้เอนเอียงเสียศูนย์ผิดพลาดขาดเกิน ความเมตตาจะช่วยทำให้พลังงานอารมณ์ทางลบทางร้ายเจือจางเบาบางลง ขณะที่ความไม่ถูกต้องเป็นธรรม กอปรด้วยอคติ การดุด่า ตำหนิติเตียน ด้วยถ้อยคำภาษาท่าทีที่แสดงถึงการใช้อำนาจกดทับ ข่มขู่ ดูถูกหมิ่นแคลน ไม่ให้เกียรติ จะส่งผลทำให้พลังงานอารมณ์ทางลบทางร้ายมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้พิพากษาย่อมได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เพิ่มมากขึ้นนั้นด้วย และหากเป็นคดีที่เกี่ยวพันถึงประโยชน์ได้เสียหรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมวงกว้าง มลพิษที่ว่านั้นก็อาจแผ่ขยายปกคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดิน


ปลายทศวรรษ 1980 Lieserl Einstein ลูกสาวของ Albert Einstein ได้บริจาคจดหมายของพ่อให้แก่มหาวิทยาลัย Hebrew หนึ่งในนั้นเป็นจดหมายที่พูดถึงพลังจักรวาลที่มีอานุภาพมหาศาลอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพลังที่รวมและควบคุมพลังอื่นๆ ทั้งปวงเอาไว้ กระทั่งอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ใดๆ ที่ปฏิบัติการอยู่ในเอกภพ สิ่งนั้นคือ พลัง “ความรัก” Einstein บอกว่าความรักคือแสงที่ให้ความสว่างแก่ผู้ให้และผู้รับ คือแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดผู้คนเข้าหากัน คืออำนาจที่ช่วยมนุษยชาติไม่ให้ดับสูญเพราะความเห็นแก่ตัว หากเราต้องการค้นหาแก่นแท้ความหมายของชีวิต ต้องการเยียวยาโลก ต้องการให้ species ของมนุษย์อยู่รอด ความรักคือคำตอบ มนุษย์ทุกคนมีเครื่องกำเนิดความรักเล็กๆ อันทรงพลังอยู่ในตัวซึ่งรอคอยการปลดปล่อยพลังงานออกมา

จากประสบการณ์ในการทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา 22 ปีเศษ ผู้เขียนไม่เคยถูกสั่งการ บังคับ ข่มขู่ ร้องขอ หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะแทรกแซงหรือก้าวก่ายการพิจารณาพิพากษาคดีจากผู้บริหารศาลหรือบุคคลอื่นใด ผู้เขียนจึงมีความเชื่อมั่นใน “ระบบ” และ “คน” ของศาลยุติธรรมว่ายังมีศักยภาพความแข็งแกร่งมากพอที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักให้กับชาติบ้านเมืองได้ สำหรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาเชื่อว่าผู้พิพากษาส่วนใหญ่รู้ดีว่าอะไรเป็นอะไรและพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจกันจัดการแก้ไขเมื่อถึงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษารุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของศาลยุติธรรม ประเทศชาติและโลกใบนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งขอส่งพลังงานความรักและกำลังใจให้กับผู้พิพากษาทุกท่านครับ.

 

                                         -------------------------

 

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้นำมาจากหนังสือ ศาลยุติ‘ด้วย’ธรรม ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เสมสิกขาลัยเมื่อปีที่ผ่านมา ท่านใดสนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ โทร : 063-8072613 Line ID : bigheadmonk

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net