Skip to main content
sharethis

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพอิสระ นำภาพถ่ายที่บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทยตลอด 17 ปีในการทำงานของเขามาจัดแสดง เขาได้เล่าถึงมุมมองต่อเหตุการณ์ทางการเมืองในฐานะช่างภาพที่ติดตามการเมืองมาตั้งแต่สมัยม็อบพันธมิตรฯ การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ห่างกันไม่ถึง 10 ปี จนกระทั่งการเกิดขึ้นของม็อบเยาวชน

22 เม.ย.2566 ที่ VS Gallery และ Cartel Artspace มีนิทรรศการภาพถ่าย “RED,YELLOW & BEYOND” วินัย ดิษฐจร ช่างภาพอิสระและเคยทำงานให้สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง EPA ได้นำภาพถ่ายเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยในช่วง 17 ปีของเขานำมาจัดแสดง

วินัย ดิษฐจร

งานแบ่งเป็นสองชุดสองช่วงเวลา คือชุดแรก RED,YELLOW ที่เริ่มจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2548 และมาจบที่ราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และชุด Beyond ที่เป็นช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในช่วงรัฐบาลรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน

วินัย ดิษฐจร เล่าว่าชุดภาพที่นำมาจัดแสดงนี้เป็นเหมือนทั้งงานและภารกิจในชีวิตของเขาที่รวบรวมมาตลอดระยะเวลา 17 ปี และสิ่งที่เขาต้องการถ่ายทอดออกมาผ่านภาพเหล่านี้คือใบหน้าและสายตาของคน เพราะเมื่อเวลาผ่านไปใบหน้าคนก็เปลี่ยนแปลงไปการแต่งกายที่สะท้อนความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง

เขาเริ่มเล่าจากภาพชุดแรก RED,YELLOW ที่เลือกภาพแรกเป็นเหตุการณ์ช่วงที่สนธิ ลิ้มทองกุล จากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์และเป็นเจ้าของสื่ออย่างผู้จัดการออกมานำการชุมนุม พธม.และให้ภาพของราชพิธีเป็นภาพสุดท้ายของงานเพราะว่าเหตุการณ์ทางการเมืองยุคเสื้อเหลืองเสื้อแดงเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9

บรรยากาศหลังจากกองทัพทำรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.2549

เขาบอกว่าตัวเขาเองตอนเกิดรัฐประหาร 2549 ก็ยังไม่ได้รู้ถึงความซับซ้อนทางการเมืองไทยมากมายอะไรแค่เป็นถ่ายงานให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ แต่ก็ลาออกมาผจญภัยแล้วก็ได้เรียนรู้มาเรื่อยๆ นับตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งเขาได้มาเห็นคนเสื้อแดงถูกกระทำจากการใช้อำนาจรัฐมีการใช้อาวุธอะไรต่างๆ แล้วพวกเขาก็ไม่ได้รับความยุติธรรม เป็นเหตุให้วินัยเลือกจะติดตามเรื่องราวนี้ต่อไป

“เราโชคดีที่อยู่ในช่วงรอยต่อรัชสมัยเราเชื่อว่าไม่นานจะมีการเปลี่ยนแปลงจากรัชกาลที่ 9 ไป 10”

วินัยเล่าถึงเรื่องราวของเขาถูกถ่ายทอดอยู่ใน “BEYOND” ว่าในช่วงที่เป็นรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์แม้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะเงียบๆ ลงไปบ้างแต่ก็ยังมีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างๆ ที่ยังออกมาต่อสู้อยู่โดยที่การต่อสู้ของพวกเขาก็ไม่ได้ผูกอยู่กับตัวบุคคลแล้ว อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ยังไม่มีพลังพอจะหยุดยั้งรัฐบาลประยุทธ์ได้ แล้วพอมาถึงช่วงก่อนโควิด-19 ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขาต้องผิดหวังอีกคือตอนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบอีก

ส่วนหนึ่งของชุดภาพ Beyond ที่บันทึกเหตุการณ์ช่วงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนนับตั้งแต่ปี 2563 - 2565

“เด็กๆ พวกนี้คือคนที่เติบโตมาหลังรัฐประหาร 49 แล้วก็รัฐประหาร 57 ได้เห็นความอยุติธรรม ก่อตัวเป็นการประท้วงขึ้นมาเราเห็นใบหน้าของเด็ก พวกเขาจะต่างจากกลุ่มคนพวกนี้(กลุ่มคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง) เขาได้เข้าถึงสิทธิต่างจากคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมือง การเข้าถึงสิทธิทุกอย่างที่พวกเขาพึงมีพึงได้จากการเลือกตั้งที่ทำให้เขาอิ่มท้อง แต่เด็กที่ออกมาเรียกร้องเขาพุ่งตรงไปที่ปัญหาเลย ก็น่าถึงอยู่เหมือนกันว่ามันเกิดขึ้นมาได้ยังไง” วินัยกล่าวถึงพัฒนาการของข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางการเมือง

สิ่งที่ยังปรากฏในภาพของวินัยไม่เพียงแต่จะทำให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองของไทยแล้ว แต่ยังทำให้เห็นพัฒนาการของความรุนแรงทางการเมืองด้วยโดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากการใช้กำลังของรัฐ ซึ่งตัวเขาเองตกเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองเหตุการณ์ที่ในปี 53 ตัวเขาเองถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้าที่ขาผ่านมาสิบกว่าปีเขาก็ยังคงถูกยิงด้วยกระสุนยางระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของสื่ออีก

วินัยบอกว่าถ้าย้อนกลับไปก่อนปี 53 ก็มีการพูดกันว่าจะต้องไม่ใช้อาวุธจริงหรือปรับรูปแบบการสลายการชุมนุมให้เป็นระบบสากล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการแก้ไขกันจริงจังแล้วก็ไม่ได้มีประท้วงใหญ่จนมาถึงปี 2553 ก็เอามาใช้อย่างโหดร้ายไม่มีความปรานี

แต่พอมาม็อบเด็กรัฐก็ไม่ทำเหมือนเดิมแล้ว มีการออกกฎหมายมายับยั้งการชุมนุมแล้วก็มีเทคนิกจับแล้วปล่อยไปเรื่อยๆ เพื่อให้หมดพลัง อาวุธที่ใช้ก็เปลี่ยนมาเป็นกระสุนยางที่ข้างในก็เป็นเหล็กอยู่ข้างในซึ่งตัวเขาเองระหว่างลงพื้นที่ถ่ายภาพก็เคยโดนยิงถึง 4 ครั้งโดยหนึ่งครั้งเป็นกระป๋องแก๊สน้ำตาที่เป็นเหล็กแล้วก็ยิงอย่างไม่ปรานี

“เทียบสารเคมีในแก๊สน้ำตาปี 53 ของ 53 ผมยังทนได้นะเพราะผมไม่มีทุนพอจะหน้ากาก ผมก็ใช้ผ้าชุบน้ำปิดแล้วก็วิ่งมาหายใจ แต่ม็อบเด็กสารเคมีมันแรงมากหรือว่ามันเป็นรุ่นใหม่หรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วเขาก็มีเครื่องมือฉีดน้ำผสมเร่งน้ำยาให้มันมากขึ้น คือมันไม่ใช้กระสุนจริง แต่มันก็มีความรุนแรงแฝงอยู่แล้วก็การสลายการชุมนุมก็ไม่เป็นไปตามระบบ”

วินัยยังเล่าถึงสิ่งที่เขาเห็นระหว่างทำงานอีกว่าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีทั้งการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าคุกคาม ไปจนถึงเอาตำรวจควบคุมฝูงชนติดปืนกระสุนยางขึ้นรถไล่ยิงบนท้องถนนทั้งที่ยังมีคนใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่ด้วย

ทั้งนี้เขายอมรับว่าเป็นคนขี้กลัวแต่ก็ยังเดินหน้าทำงานไปได้เรื่อยๆ เพราะประสบการณ์ทั้งจากที่เคยเป็นทหารและเคยอยู่ในสถานการณ์หลายครั้ง

วินัยเล่าถึงเหตุการณ์ตอนช่วงการชุมนุม กปปส.ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ที่มีเหตุการณ์ผู้ชุมนุม กปปส. เอาปืนยิงเข้าไปแล้วมีตำรวจเสียชีวิตทำให้ทางตำรวจก็ยิงตอบโต้ เขาเองถูกยิงที่ไหล่ไปก่อนแล้วจากนั้นไม่ถึงห้านาทีหลังจากเข้าที่กำบังแล้วก็ยังมีกระสุนเฉี่ยวศีรษะจนรู้สึกได้ว่ากระสุนแหวกอากาศผ่านหนังศีรษะเขาไป

“คือถึงคราวซวยเราโดนยิงตายหรือพิการก็ไม่ได้เป็นไรมาก แต่คนอื่นโดนยิงบางคนเขาเดินไม่ได้หรือบางคนตายอย่างตอนที่หลักสี่ที่ลุงอะแกวตายตอนนั้นก็อยู่เหมือนกัน ยังได้สละชุด First AIDS ที่ใช้สำหรับการถูกยิงด้วยปืนที่มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่ท้องเลือดเขาไหลมาก อาสาพยาบาลมากับม็อบของ กปปส.ในกระเป๋ามีแค่ยาดมยาหม่องทำแผลหกล้มก็เลยได้ให้เขาไป”

วินัยมองว่าทุกการชุมนุมมีโอกาสเกิดความรุนแรงอยู่แล้ว ทุกครั้งที่มีคนคิดต่างหรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐจนถึงขั้นที่รัฐตัดสินใจใช้ความรุนแรงแล้วก็ไม่มีการไล่ระดับจากเบาไปหาหนัก เจ้าหน้าที่ก็เหมือนได้รับไฟเขียวให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งก็เอื้อต่อการถูกทำให้บาดเจ็บหรือความสูญเสีย

วินัยยังเล่าย้อนไปถึงอีกประสบการณ์หนึ่งที่ได้อยู่ร่วมด้วย คือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 2553 ที่เขาเองก็ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกระสุนจริงยิงเข้าที่ขาเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ด้วยเช่นกัน

เขามองว่าสถานการณ์ของวันที่ 10 ต่อเนื่องมาจากวันที่ 9 ที่ทหารเข้ายึดสถานีไทยคมทำให้มวลชนคนเสื้อแดงเข้าปิดล้อมและยึดอาวุธของทหารมาแสดงกับสื่อซึ่งเขามองว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทหารรู้สึกเสียหน้าและจะมีการเอาคืนในวันรุ่งขึ้น

เหตุการณ์ที่สถานีไทยคมที่กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามยึดสถานีคืนจากทหารโดยในเหตุการณ์ดังกล่าว พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์(ยศขณะนั้น) อยู่ในเหตุการณ์ด้วย(ซ้ายสุดสวมแว่นดำ)

“พอวันที่ 10 ทหารด้านหน้าเราจะเห็นปืนลูกซองกระสุนยางแต่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นกระสุนยางหรือกระสุนจริงเราก็ไม่รู้รหัสเขา แต่แถวต่อไปเป็นปืนทราโว่ละ มันมีการจัดกำลังและการใช้อาวุธมากกว่าเมื่อวานและมีการอาวุธปืนอย่างเปิดเผย แล้วก็เหตุการณ์ก็พัฒนาไปจนถึงขั้นมีการใช้อาวุธปืนจริงเล็งมาที่ผู้ชุมนุม คือผมอยู่ทางฝั่งคนเสื้อแดงแล้วก็ถูกยิงที่ขา” วินัยเล่าถึงเหตุการณ์ขณะอยู่ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์บ่ายวันที่ 10 เม.ย.2553

วินัยยังมารู้ทีหลังอีกว่า ก่อนที่ตัวเขาเองจะถูกยิงก็ยังมีชายขับสามล้อที่ถูกยิงก่อนเขาราวๆ 30 นาทีห่างจากเขาราวๆ 100 เมตรตรงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งคนที่เขากล่าวถึงนี้ก็คือ เกรียงไกร คำน้อย ซึ่งนับเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกในวันนั้น

เขาเห็นว่าเมื่อใครก็ตามพยายามรื้อฟื้นหาความจริงหาตัวผู้กระทำทำได้ไม่สำเร็จแล้วก็ลอยนวลไปเหมือนมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาขัดขวางความพยายามรื้อฟื้นความจริง และไม่ใช่เพียงแต่เหตุการณ์ 2553 แต่ยังรวมถึงเหตุการณ์ที่ตากใบ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

“ก็เห็นโต้งๆ อยู่ว่าเขาถือปืนถืออะไร แต่ทำไมไม่สามารถสืบได้ แต่เรื่องที่ซับซ้อนกว่านี้เป็นปริศนามากกว่านี้ทำไมเขาถึงจับได้” วินัยกล่าวทิ้งท้าย

ภาพเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนช่วงปี 2563-2565

นิทรรรศการ “RED,YELLOW & BEYOND” จัดแสดงอยู่ในแกลอรี่ VS Gallery และ Cartel Artspace ในซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 ใกล้สถานี BRT ถนนจันทร์

นิทรรศการจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. - 2 ก.ค.2566 สามารถเข้าชมได้วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 12.30 -​18.00 น. แกลอรี่จะปิดวันจันทร์และอังคาร

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net