กรณีตัวอย่างของการละเมิดแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อสิงหาคม 2563 ลูกจ้างโรงงานเย็บผ้าส่งแบรนด์ดังในต่างประเทศจำนวนร้อยกว่าคน ถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันในภาวะโรคโควิดระบาดโดยไร้ซึ่งการเยียวยา ทำให้กระทบความเป็นอยู่ของลูกจ้างในสถานการณ์โควิดอย่างแสนสาหัส นับเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สิทธิเรียกร้องสิทธิแรงงานผ่านกระบวนการตามกฎหมาย  ลูกจ้างได้ร่วมกันนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะทำงานจนกระทั่งถูกเลิกจ้าง นำเสนอต่อพนักงานตรวจแรงงาน[1]ให้มีการสอบสวนโรงงานดังกล่าว และออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง รวมไปถึงค่าตอบแทนการทำงานที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายย้อนหลัง

ลูกจ้างทั้งร้อยกว่าคนเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ที่เดินทางเข้ามาอาศัยและทำงานในพื้นที่ชายแดนแม่สอด ทำหน้าที่ตัดเย็บเสื้อผ้าตามแบบที่ผู้จัดซื้อหรือแบรนด์กำหนด เพื่อนำออกสู่ตลาดและจัดจำหน่ายให้ถึงมือผู้บริโภคต่อไป ลูกจ้างเหล่านี้จึงนับว่าเป็นกำลังผลิตสำคัญในกระบวนการผลิตซึ่งเป็นกิจกรรมทางธุรกิจลำดับต้นของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจเสื้อผ้าและสิ่งทอ

จากคำบอกเล่าของลูกจ้างถึงสภาพการทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า พบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน และละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นระบบโดยอาศัยความเปราะบางทางสถานะทางกฎหมายและเศรษฐกิจของลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ มีการกดดันให้ลูกจ้างปิดบังสภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งแท้จริงแล้วลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยเพียง 150 บาทต่อวัน สำหรับการทำงานตั้งแต่ 08.00 – 23.00 น.(พัก 12.00 – 13.00 น. และ 17.00 – 18.00 น.) ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดประจำปี บางครั้งลูกจ้างต้องทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าติดต่อกันจนถึงเช้าอีกวัน

ด้วยค่าตอบแทนการทำงานที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจำเป็นในการดำรงชีวิต รวมไปถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นในการทำเอกสารประจำตัวเพื่ออาศัยและทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ทำให้เกิดสภาพจำยอมด้วยสภาพเศรษฐกิจและนโยบายการบริการจัดการการทำงานของรัฐ เนื่องจากเอกสารประจำตัวของลูกจ้างชาวเมียนมาร์ซึ่งประกอบด้วย หนังสือเดินทางCI[2] ประกอบ บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย สำหรับแรงงานตามประกาศคณะรัฐมนตรี[3] หรือหนังสือผ่านแดน สำหรับกลุ่มจ้างงานชายแดน มาตรา 64[4] และ ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย เป็นสิ่งยืนยันว่าลูกจ้างสามารถอาศัยและทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตรวจจับและดำเนินคดีเอาผิด หากลูกจ้างมีเอกสารประจำตัวและสามารถนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตทำงานซึ่งเป็นเอกสารประจำตัวของลูกจ้างถูกเก็บโดยทางโรงงานเสียเอง  ยิ่งไปกว่านั้น สมุดบัญชีธนาคาร และบัตรเอทีเอ็มของลูกจ้าง ยังถูกเก็บและนำไปใช้ทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยตรวจสอบพบจากรายการเดินบัญชีธนาคารของลูกจ้างภายหลังจากได้รับสมุดบัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มคืนหลังจากถูกเลิกจ้าง

โรงงานเย็บผ้าแห่งนี้มีลูกจ้างกว่า 200 คนซึ่งนับว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีการจดทะเบียนบริษัทและเป็นคู่สัญญาตัดเย็บเสื้อผ้าส่งบริษัทแบรนด์ชั้นนำในต่างประเทศ  บริษัทที่ตัดเย็บเสื้อผ้าจะต้องได้รับการควบคุมมาตรฐานสินค้าและกระบวนการผลิตด้วยข้อกำหนดจรรยาบรรณทางการค้า(Codes of conduct) โดยผู้ตรวจประเมินเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท(Social audit) ที่ทำสัญญากับบริษัท เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ซื้อหรือผู้บริโภคว่าไม่มีการละเมิดสิทธิแรงงานในกระบวนการผลิตสินค้า อย่างไรก็ตาม รายงานการตรวจประเมินกลับไม่สะท้อนสภาพการทำงานที่แท้จริง ขณะที่เป็นลูกจ้างของโรงงานเย็บผ้าแห่งนี้ ลูกจ้างถูกกดดันไม่ให้รายงานความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโรงงาน โดยโรงงานอ้างว่าหากการตรวจประเมินไม่เป็นไปตามข้อกำหนดหรือมาตรฐาน ในทางกลับกัน ลูกจ้างต้องรายงานว่าตนได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมไปถึงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานตามกฎหมายครบถ้วนต่อผู้ตรวจประเมินที่เข้าตรวจโรงงานเป็นประจำทุกปี

กระทั่งปี 2563 ตัวแทนแรงงานตัดสินใจรายงานสภาพการทำงานที่แท้จริงต่อผู้ตรวจประเมิน ทำให้เกิดเหตุการณ์ตามล่าผู้รายงานความจริงต่อผู้ตรวจประเมินโดยฝ่ายโรงงาน และไม่มีการดำเนินการแก้ไขสภาพการจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายกำหนดและลูกจ้างต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการบอกกล่าวและจ่ายค่าชดเชย

โดยสรุป กรณีพนักงานโรงงานเย็บผ้าที่ถูกปลดออกจากงานร้อยกว่าคน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขูดรีดแรงงานและการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทออย่างต่อเนื่อง แรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกแสวงประโยชน์เนื่องจากสถานะทางกฎหมายและเศรษฐกิจ กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับแรงงานไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิแรงงาน และเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับการทำงานที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าจะต้องรับผิดชอบต่อสภาพการทำงานในห่วงโซ่อุปทานของตน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าหลักปฏิบัติของพวกเขาไม่ใช่แค่คำสัญญาที่ว่างเปล่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอต้องทำงานร่วมกันเพื่อเป็นแนวทางในการผลิตที่ยุติธรรมและมีจริยธรรมที่เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของคนงานทุกคน

 

อ้างอิง

[1] พนักงานตรวจแรงงาน คือ เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

[2] Certificate of Identity คือ เอกสารที่แสดงว่าคนต่างด้าวผู้นั้นได้รับการรับรองสัญชาติพม่า มีสิทธิอยู่และขออนุญาตทำงานในไทยได้

[3] แรงงานตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการท างานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี

[4] แรงงานสัญชาติเมียนมา และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (มาตรา 64)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท