Skip to main content
sharethis

ค่าไฟไทยแพงอันดับ 4 ของอาเซียน ย้อนดูภาคเอกชน เคยเสนอ 'ประยุทธ์' เบรกขึ้นค่าไฟ หวั่นกระทบต้นทุน-ผู้ประกอบการแบกภาระเพิ่ม พร้อมชงทบทวนโครงสร้างราคา ขณะที่ล่าสุด กกต. ตีกลับหนังสือขออนุมัติแก้ค่าไฟแพง เหตุหนังสือที่ส่งรัฐบาลมายังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

 

28 เม.ย.2566 จากปัญหาราคาค่าไฟฟ้าแพงจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งฝ่ายการเมืองและประชาชน จนคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเสนอ กกต. ขออนุมัติวงเงิน 11,112 ล้านบาท ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน นั้น ล่าสุดวันนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า สำนักงาน กกต. ตรวจสอบแล้วพบว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในหลักการจะใช้งบกลาง 11,112 ล้านบาท ในการจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เพื่อขอให้ กกต.ให้ความเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนด จึงเห็นว่าหนังสือที่ส่งมายังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และได้ส่งหนังสือดังกล่าวกลับไป โดยขณะนี้สำนักงาน กกต. ยังไม่ได้รับหนังสือฉบับใหม่จากทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ภาคเอกชน เคยเสนอ 'ประยุทธ์' เบรกขึ้นค่าไฟ หวั่นกระทบต้นทุน-ผู้ประกอบการแบกภาระเพิ่ม พร้อมชงทบทวนโครงสร้างราคา

สำหรับประเด็นค่าไฟฟ้าแพงนี้ มีสัญญาณเตือนมานานแล้ว หากย้อนกลับไปปลายปีที่แล้ว 21 ธ.ค. 2565 เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะยื่นหนังสือที่ลงนามโดยตนและประธานภาคเอกชนทั้ง 2 ท่านคือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอบรรเทาค่าไฟฟ้า หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศอัตราค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย ซึ่งเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้ากระทบประชาชน

โดยในครั้งนั้น ทาง กกร.เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้า 5 ประเด็น ดังนี้

1.ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน

2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปีให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ.สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้นและยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่าย หรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน อาทิ การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak (ช่วงไฟฟ้ามีราคาถูก) มากขึ้น

4.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้าฯ

และ 5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.ด้านพลังงาน)

และเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ได้ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทบทวนค่า Ft งวดที่ 2 ซึ่งมีผลต่อราคาค่าไฟ และพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงาน เพื่อลดภาระภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ด้วยเหตุผลที่ว่า 1.จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 และ 2.ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือนมกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้

ค่าไฟไทยแพงอันดับ 4 ของอาเซียน

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติงวด (เดือน พ.ค.-ก.ย.) ปี 2566 ทำให้อัตราค่าไฟของไทยอยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของไทยจะเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน ตาม GlobalPetrolPrices รองจากประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราคาไฟสูงเป็นอันดับ 1 อัตรา 6.22 บาทต่อหน่วย อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 6.04 บาทต่อหน่วย อันดับ 3 กัมพูชา 5.12 บาทต่อหน่วย

ส่วนประเทศที่มีอัตราค่าไฟต่ำกว่าไทย คือ อินโดนีเซีย 3.33 บาทต่อหน่วย เวียดนาม 2.75 บาทต่อหน่วย เมียนมา 2.70 บาทต่อหน่วย มาเลเซีย 1.71 บาทต่อหน่วย และลาว 1.71 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดค่าไฟ เหลือ 4.45 บาท/หน่วย เพราะมองว่าประเด็นค่าไฟฟ้า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนที่จะเข้ามาในอาเซียน

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และเว็บไซต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net