Skip to main content
sharethis

วันแรงงานสากลปีนี้ไม่เหมือนปีไหนๆ เพราะอีก 13 วันคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะได้เข้าคูหากันแล้ว โอกาสนี้ประชาไทสรุป ‘นโยบายแรงงาน’ 8 พรรค ทั้งเรื่องค่าแรง สวัสดิการ และสิทธิรวมตัว รวมรวมจากเว็บไซต์พรรค เอกสารที่พรรคส่งให้กกต. และโซเชียลมีเดียของพรรค

ก้าวไกล

ค่าแรงขั้นต่ำ

  • ฝึกงานได้เงิน
  • ขึ้นค่าแรง 450 บาททันที ในปี 2566 และปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี

โดยใช้วิธีแก้ไขที่ระบบ คือการแก้ไขกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541’ มาตรา 87 กำหนดให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี โดยคำนึงถึง 2 ปัจจัย คือ ค่าครองชีพ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ระหว่าง 2 ปัจจัยนี้ หากปัจจัยใดเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ก็ให้นำมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้น ที่จะนำไปพิจารณาหารือในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ในแต่ละปี

ชั่วโมงทำงาน

  • ไม่เกิน 40 ชั่วโมง สำหรับงานทั่วไป และไม่เกิน 35 ชั่วโมง สำหรับงานอันตราย หากเกินกว่านั้นต้องได้ OT
  • วันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ และวันหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างน้อย 10 วันทำงานต่อปี
  • ลดชั่วโมงการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ (60 ชม./สัปดาห์)
  • ลดชั่วโมงการทำงานคนงานกองถ่ายเหลือไม่เกิน 12 ชม. (8 ปกติ + 4 ล่วงเวลา)

สวัสดิการ

  • ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
  • แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้าง จะได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน
  • สำหรับแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ลาคลอดชดเชยรายได้ 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
  • ศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน เด็กก่อนวัยเรียนใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน
  • คูปองเสริมทักษะ เปลี่ยนอาชีพ 5,000 บาท/ปี
  • แรงงานที่ยังไม่มีประกันสังคม เข้าระบบประกันสังคมถ้วนหน้า
  • ลาพบแพทย์ชดเชยรายได้ 200 บาท/วัน ค่าเดินทางพบแพทย์ 100 บาท/วัน

สัญญาจ้าง

  • เปลี่ยนการจ้างลูกจ้างรายวันที่ทำงานลักษณะรายเดือน ให้เป็นลูกจ้างรายเดือน
  • งานจ้างเหมาบริการในภาครัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบ
  • สำหรับแรงงานสร้างสรรค์ เพิ่มความรัดกุมในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้

  • สนับสนุนให้ไทยลงนามอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการจัดตั้งและรวมตัว
  • เพื่อรับรองให้แรงงานสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ
  • กำหนดกลไกที่ชัดเจนในการต่อรองกับผู้ว่าจ้าง รวมถึงสิทธิของแรงงานในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ผลประกอบการ ความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อแรงงาน
  • นิยาม “แรงงาน” ให้ครอบคลุมคนทำงานรูปแบบใหม่ (เช่น ฟรีแลนซ์ แรงงานแพลตฟอร์ม) เพื่อช่วยคุ้มครองลูกจ้างในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีผู้ว่าจ้างคนละคน

เพื่อไทย

ค่าแรงขั้นต่ำ

  • 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570

โดย แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าจะให้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตั้งแต่ปีแรก

ขณะที่เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยอธิบายว่านโยบายนี้ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน แต่จะเป็นการทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ”

สำหรับหลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ผลิตภาพแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ

  • เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000.-/เดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย

การรวมกลุ่ม

  • สนับสนุนให้ตั้งสหภาพคนทำงานในทุกสาขา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานและคุ้มครองสวัสดิการ 

สามัญชน

ค่าแรงขั้นต่ำ

  • ค่าแรง 723-789 บาท/วัน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
  • ฝึกงานได้เงิน 
  • จัดให้มีระบบรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) 
  • เพิ่มค่าจ้างตามอายุงานในแรงงานทุกระดับ ทุกอาชีพ 2%

ชั่วโมงทำงาน

  • ลดเวลาทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ทุกสาขาอาชีพ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน

สวัสดิการ

  • สร้างพื้นที่เลี้ยงดูแลบุตรในสถานประกอบการ
  • สนับสนุนการลาเพื่อการรักษา ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการข้ามเพศโดยได้รับค่าจ้างปกติ 
  • เพิ่มเพดานวันลาระหว่างตั้งครรภ์และลาคลอด 365 วัน ครอบคลุมชายหญิงและทุกเพศสภาพ โดยคุ้มครองทั้งตำแหน่งงานและได้รับค่าจ้างตามปกติ
  • ขยายเพดานสมทบเงินประกันสังคมสูงสุด 3,000 บาท/เดือน
  • จัดตั้งธนาคารแรงงาน
  • ขยายนิยามของ “สถานที่ทำงาน” ให้ครอบคลุมรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย เช่น ไรเดอร์ พนักงานกวาดขยะ คนงานก่อสร้างบนท้องถนน
  • ให้สิทธิลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างดูแลผู้ป่วย สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และปรับปรุงระบบประกันสังคมให้เป็นการประกันสังคมถ้วนหน้า สำหรับคนทำงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงและได้รับสิทธิที่จะมีหลักประกันในการทำงานอย่างเสมอภาค เช่น เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง

การรวมกลุ่ม

  • เสนอให้ไทยลงนามอนุสัญญา ILO 87 และ 98
  • สนับสนุนตั้งสหภาพ และการเจรจาต่อรองตั้งแต่ยังไม่เป็นสหภาพ ทั้งแรงงานไทยและข้ามชาติ
  • สนับสนุนสิทธินัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม  
  • เสนอแก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
  • เสนอแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อคุ้มครองคนทำงานทุกอาชีพ ไม่ให้มีการแบ่งแยกกลุ่มคนทำงานเป็นในระบบ-นอกระบบอย่างที่เป็นอยู่ เพื่อดูแลแรงงานทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะอาชีพที่เปราะบางเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ เช่น แรงงานในระบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง คนที่ถูกจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ พนักงานบริการ

เพื่อชาติ

ค่าแรง

  • ฝึกงานต้องได้เงิน ขั้นต่ำ 50% ของเงินเดือนตามวุฒิที่กำลังศึกษาอยู่
  • ผลักดันให้การฝึกงานรวมอยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในกฎหมายแรงงาน โดยผู้ว่าจ้างจะต้องมีสัญญาค่าตอบแทนกับลูกจ้างผู้ฝึกงานอย่างชัดเจน
  • เพิ่มค่าแรงอาชีวะให้เทียบเท่าปริญญาตรี

พนักงานบริการ

  • ทำให้อาชีพพนักงานบริการไม่ผิดกฎหมาย
  • เซ็กส์ครีเอเตอร์และเซ็กส์ทอยถูกกฎหมาย

แรงงานข้ามชาติ

  • ตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานข้ามชาติ
  • ตั้งคณะอนุกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน กระจายอำนาจบริหารตามความต้องการของพื้นที่
  • เร่งรัดการจัดทำประวัติบุคคล และที่หลุดจากระบบฯ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
  • ผลักดันสิทธิในการเลือกตั้งของผู้ไร้รัฐ และผู้อพยพที่อาศัยอยู่ถาวรในไทยเกิน 10 ปี

แรงงานแพลตฟอร์ม

  • ผลักดัน พรบ.แรงงานแพลตฟอร์ม ให้เกิดความยุติธรรมกับ ไรเดอร์ แรงงานที่อยู่แพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการ และผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม ด้านประกันชีวิต ประกันการทำงาน และสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน
  • กำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มที่ให้บริการเปิดเผยการคำนวนของ Algorithm เพื่อความเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแรงงานในระบบ
  • สนับสนุนการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง

ประชาธิปัตย์

ค่าแรงขั้นต่ำ

  • ปรับอัตราค่าจ้างให้เหมาะกับค่าครองชีพ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย หรือไตรภาคีเป็นสำคัญ

การรวมกลุ่ม

  • ส่งเสริมสิทธิการรวมตัวของลูกจ้าง

สวัสดิการ

  • กำหนดสิทธิลาคลอดแก่มารดาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
  • ให้สิทธิบิดาลาหยุดเพื่อร่วมดูแลบุตรเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยได้รับเงินชดเชยค่าจ้างจากความร่วมมือระหว่างนายจ้างและสำนักงานประกันสังคม
  • ส่งเสริมศูนย์เด็กเล็กคุณภาพในสถานประกอบการ ด้วยมาตรการที่หลากหลาย เช่น ให้นำค่าใช้จ่ายมาคำนวณหักภาษีนิติบุคคลได้ เป็นต้น และส่งเสริมการจัดสวัสดิการที่จำเป็นเพิ่มขึ้นในสถานประกอบการ
  • พัฒนาการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ และจัดเก็บฐานข้อมูลกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย
  • จัดประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อดูแลแรงงานใน-นอกระบบอย่างเท่าเทียม
  • ขยายสิทธิและสวัสดิการของแรงงานนอกระบบ ในประกันสังคม มาตรา 40
  • ส่งเสริมให้มีการจ้างงานรายชั่วโมงในภาคธุรกิจบริการเพื่อเปิดโอกาสในการหารายได้จากการว่างเว้นการทำงานประจำหรือการเรียนของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา
  • จัดทำแผนแม่บทการผลิตและการจัดหาแรงงานให้ตรงความต้องการของภาคการผลิต
  • ออกกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการในการเข้าถึงแรงงานที่เพียงพอและความต้องการแรงงานไทยในต่างประเทศ
  • ยกระดับการดำเนินงานของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ในกรณีถูกเลิกจ้างจากเลิกกิจการ ให้ได้รับเงินค่าชดเชย

รวมไทยสร้างชาติ

  • อบรมเพิ่มทักษะ ฝีมือแรงงานให้ก้าวทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเพิ่มค่าจ้างแรงงาน 16 กลุ่มอาชีพ
  • ยกระดับอาชีวะให้มีศักยภาพสูงขึ้น ร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิตแรงงานอาชีวะที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ รวมทั้งยกระดับเงินเดือนในสายอาชีวะ
  • สานต่อมาตรการ 3 ขอ (ขอเลือก ขอกู้ ขอคืน) เพื่อให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • จัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

นโยบายกลุ่มแรงงานและข้าราชการ

  • ผู้ประกันตนตาม ม.33 สามารถเบิกเงินสะสมมาใช้ได้ก่อนในยามฉุกเฉินร้อยละ 30
  • เพิ่มเงินสมทบของภาครัฐเพื่อให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน วงเงินงบประมาณปีละ 29,000 ล้านบาท
  • ให้ข้าราชการนำเงินสมทบส่วนตนจาก กบข. มาใช้ได้ก่อนในยามฉุกเฉินร้อยละ 30
  • เพิ่มเงินสมทบของภาครัฐ เพื่อให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน
  • พัฒนาระบบการจ้างงานรายชั่วโมง และระบบประกันสังคมถ้วนหน้าทุกอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของคนรุ่นใหม่
  • ขยายระบบประกันสังคมให้เป็นแบบถ้วนหน้า ครอบคลุมทุกอาชีพ
  • แก้ปัญหาฉุกเฉินทางการเงินให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคม เพื่อให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินสมทบของตนเองมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินสมทบลูกจ้าง
  • สร้างความร่วมมือระหว่างกองทุนประกันสังคมและธนาคารของรัฐในการจัดระบบการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกันตน

สังคมประชาธิปไตยไทย

  • ปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระมีการบริหารแบบโปร่งใส และมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน รัฐ นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบมากกว่าลูกจ้าง (ปัจจุบันนายจ้างและคนทำงานจ่ายเท่ากันในอัตราร้อยละ 5 แต่รัฐจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าคือ ร้อยละ 2.75)
  • ขยายระบบประกันสังคมให้เป็นแบบถ้วนหน้า ครอบคลุมทุกอาชีพ
  • สงเคราะห์บุตร 0-12 ปี 1,200 บาท/เดือน
  • สร้างโรงพยาบาลประกันสังคม

แรงงานสร้างชาติ

  • ตั้งธนาคารแรงงาน
  • ตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม
  • นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตรา 40 พิเศษ 7 สิทธิประโยชน์
  • ลดความเหลื่อมล้ำด้านการจ้างงานและสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม
  • นโยบายผู้ประกันตน เลือกบำเหน็จบำนาญได้ ไม่ต้องรออายุครบ 55 ปี
  • สวัสดิการดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  • บรรจุพนักงานจ้างเหมาของรัฐเป็นพนักงานราชการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net