Skip to main content
sharethis

  ประชาชนร่วมกิจกรรม 'เดินเพื่อเพื่อน': ประจานกระบวนยุติธรรม เดินทางจากศาลเยาวชนฯ จนถึงบ้านปรานี จ.นครปฐม รวมระยะทางกว่า 51 กม. รณรงค์ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

 

3 พ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก 'ไข่แมวชีส' รายงานวันนี้ (3 พ.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. นักกิจกรรมอุ่นเครื่องก่อนเดินขบวนประจานกระบวนการ (อ)ยุติธรรม โดยการยื่นเสียงของประชาชนมากกว่า 5,000 รายชื่อที่เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว 'หยก' เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกกล่าวหาด้วย ม.112 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เขตจตุจักร

เวลา 17.00 น. กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นัดทำกิจกรรม "เดินเพื่อเพื่อน" (Walk For Friend) : ประจานกระบวนการยุติธรรม เดินเท้าจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จตุจักร ไปจนถึงศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม รวมระยะทางประมาณ 51 กิโลเมตร (กม.) เพื่อรณรงค์ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ส่วนจุดหมายว่าทำไมต้องบ้านปรานี เนื่องจากเป็นจุดที่ 'หยก' ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกควบคุมตัวอยู่ โดยเธอถูกกล่าวหาในคดีทางการเมือง ม. 112 จากการแสดงออกทางการเมืองที่ลานเสาชิงช้า เมื่อ 13 ต.ค. 2565 หยก ถูกออกหมายควบคุมตัวเมื่อ 29 มี.ค. 2566 และอยู่ที่บ้านปรานี จนถึงปัจจุบัน (4 พ.ค.) รวม 37 วัน

บรรยากาศการเดินเพื่อเพื่อน ถ่ายโดยแมวส้ม

เมื่อเวลา 19.24 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนเดินเพื่อเพื่อน เดินทางถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดแวะพักแรก โดยจะใช้เวลาพักในแต่ละจุด 20 นาที และจะเดินต่อเนื่องจนถึงบ้านปรานี 

'เก็ท' ชวนรำลึกเหตุการณ์อยุติธรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เมื่อเวลา 19.53 น. 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ กล่าวปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชวนรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นบริเวณนี้ตั้งแต่ปี 2553-2565 

'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

เก็ท กล่าวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในฐานะสถานที่เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง และถูกใช้เป็นที่นัดชุมนุมหลายครั้งทั้งในสมัยเสื้อแดง และการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ แต่แทบทุกครั้งมักจะถูกตำรวจดำเนินคดี และจับกุม รวมถึงมีเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมจนมีผู้ชุมนุมบาดเจ็บ

เก็ท นำรูปมาติดที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ที่แห่งนี้ ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมเยาวชน ถูกตำรวจหญิง หรือกองร้อยน้ำหวาน หิ้วตัวไปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยไม่มีการแจ้งข้อหา หลังเธอไปทานเฟรนช์ฟรายที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน เมื่อปี 2565 หรือการสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

เก็ท เล่าถึงการสลายการชุมนุมที่ถนนดินสอ ของตำรวจควบคุมฝูงชน ในช่วงการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 จนทำให้พายุ ดาวดิน สูญเสียดวงตา การสลายการชุมนุมหน้าศาลฎีกาเมื่อปี 2564 'สายน้ำ' นภสินธุ์ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ ถูกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ทำร้ายร่างกายที่สนามหลวงเมื่อ 5 ธ.ค. 2565 โดยที่ตำรวจบริเวณรอบๆ กลับไม่มีการห้ามหรือปกป้องแต่อย่างใด ไปจนถึงกรณีอื่นๆ

เก็ท ระบุว่า ไม่ใช่เคสแรกที่เวลาที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมจนประชาชนได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่เคยมีใครต้องรับผิดชอบเลย ตำรวจไม่มีการขอโทษว่า ตำรวจไม่สามารถควบคุมลูกน้องได้ หรือรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

"นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะแม้แต่ตำรวจที่ควรจะอยู่เคียงค้างเรา เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กลับคุกคาม และถูกใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชน หรือเขาอาจจะเป็นคนตั้งใจทำร้ายเองก็ได้

"ถ้าวันนี้ ผมพูดโดยสมัครใจ ถ้าจะมีคนง้างหมัดมาต่อยผม พุ่งเข้ามา ชักมีด หรือชักปืนมายิงหัวผมตรงนี้  ผมเชื่อว่าตำรวจที่อยู่บริเวณนี้จะไม่ปกป้องผม เขาจะอยู่นิ่งๆ และจะไปทำสำนวนว่าใครเป็นคนยิง ใครเป็นคนทำร้าย" เก็ท กล่าว  

สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ ระบุด้วยว่าไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่แย่ แต่เขาเชื่อว่าในองค์กรเกินครึ่งนี่เลว ส่วนคนส่วนน้อยกลับเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม แบบนี้เรียกว่าตำรวจได้หรือ

เก็ท ระบุว่า หลังจากนี้จะมีการเผยแพร่ภาพอื่นๆ ตามจุดเช็กพอยต์ที่เหลือ และเขาให้คำมั่นว่าเขาจะแก้ไขและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างถอนรากถอนโคน แม้ว่าตัวเขาและเพื่อนเขาถูกจับไปขังอีกกี่รอบ แต่เขาจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป

นอกจากนี้ เก็ท บอกว่า ใครที่อยู่ทางบ้านสามารถร่วมให้กำลังใจ โพสต์ข้อความสื่อโซเชียลมีเดีย 3 นิ้ว หรือแชร์การทำกิจกรรมได้ 

เวลา 20.08 น. ขบวนเดินต่อโดยมีจุดพักจุดต่อไป คือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 7 โดยระหว่างเดินมีการปราศรัยถึงปัญหาการดำเนินคดีทางการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีของ 'หยก' ธนลภย์ เยาวชนอายุ 15 ปี 

เวลา 20.54 น. ขบวนเดินทางอยู่บนถนนบรมราชชนนี เลยห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า

บรรยากาศการเดินบนถนนบรมราชชนนี ถ่ายโดยแมวส้ม

ภาพรณรงค์ปล่อยตัวหยก ขณะเดินบนถนนราชดำเนิน แยกคอกวัว ถ่ายโดยแมวส้ม

เดินทางถึงเช็กพอยต์ 2 ที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า

เวลา 21.08 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนเดินเพื่อเพื่อน เดินเท้าถึงจุดพักที่ 2 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า 

เก็ท ปราศรัยถึงปัญหาการคดีมาตรา 112 และการดำเนินคดีทางการเมืองกับเยาวชน โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2563-2566 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 284 ราย จาก 211 คดี 

ประชาชนร่วมให้กำลังใจโดยการชู 3 นิ้วให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินเพื่อเพื่อน ถ่ายโดยแมวส้ม

"ตัวเลขนี้คือตัวเลขเยาวชนที่ออกมาพูดถึงปัญหาความเป็นอยู่ ปัญหาสังคม และถูกดำเนินคดี" สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ระบุ

เก็ท ระบุต่อว่า นี่คือปัญหากระบวนการยุติธรรม และสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ รวมถึงลูกหลานของเรา วันหนึ่งเขาอาจจะออกมาส่งเสียง หรือคำถามต่อขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ก็อาจถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้

"ถ้าเราไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมวันหน้า อาจเป็นลูกหลานของเรา คนที่เรารักถูกดำเนินคดีมากขึ้น" เก็ท ระบุ

เก็ท ยังกล่าวถึงการดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563-2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 1,898 คน จากจำนวนคดี 1,187 คดี เป็นการดำเนินคดีที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมือง

นอกจากนี้ เก็ท ระบุถึงจำนวนผู้ถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองทั้งระหว่างสู้คดี และคดีสิ้นสุดแล้ว ขณะนี้มีจำนวนอย่างน้อย 13 ราย โดยเก็ทได้อ่านชื่อของผู้ถูกคุมขังทั้งหมด และกล่าวว่าเหล่านี้คือรายนามของผู้ที่ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเป็นอยู่ และเพื่อให้สังคมดีขึ้น แต่พวกเขาถูกปิดปาก บางคนคดีความสิ้นสุดแล้ว แต่บางคนมีสิทธิการประกันตัว แต่ศาลก็ยังไม่ให้สิทธิประกันตัว 

บรรยากาศการเดินทางถ่ายโดยแมวส้ม

"ทุกคนที่ออกมาพูดเรื่องเสรีภาพ ออกมาพูดเรื่องสิทธิของตัวเอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ก็ถูกดำเนินคดี นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เสรีภาพกับปากท้องเป็นสิ่งที่ต้องคู่กัน แต่ว่าเสรีภาพกับการพูดแสดงความคิดเห็นไม่มีการปรับแก้ หรือมีพื้นที่ในการพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งซ้าย ฝั่งขวา หรือฝั่งลิเบอรัล หรือฝั่งคอนเซอร์เวทีฟ ปัญหาจะไม่เกิดการแก้ปัญหา และปลายทางของประเทศนี้คือความล่มจม" เก็ท กล่าว 

เก็ท ทิ้งท้ายว่า เขาจะเดินต่อไปที่บ้านปรานี จ.นครปฐม ใครที่จะอยากเดินไปกับขบวนสามารถเข้าร่วมได้ แต่ถ้าไม่สะดวกสามารถชูสามนิ้ว หรือแชร์เรื่องราวการต่อสู้ของนักกิจกรรมเพื่อสิทธิเสรีภาพ หรือประชาธิปไตย เพื่อร่วมกันผลักดันเพื่อสังคมที่ดีกว่า 

เวลา 21.20 น. ขบวนเดินเพื่อเพื่อน เริ่มออกเดินจากห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าแล้ว และจุดหมายต่อไปคือ สน.ตลิ่งชัน 

เมื่อเวลา 22.11 น. ขบวนเดินเพื่อเพื่อน เดินทางถึงถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน

ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊กของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ รายงานว่า เมื่อเวลา 22.30 น. เดินทางถึง สน.ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นจุดเช็กพอยต์ที่ 3 แล้ว และกำลังเดินไปทางสายใต้ใหม่ 

คุยกับเก็ท ถึงจุดเริ่มต้นการเดิน 51 กม. เรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

“เหนื่อยมันเหนื่อยแหละ มันมีคำพูดแซวๆ ว่าพวกสามกีบมันซาดิสต์ พวกสามกีบมันถึกทน ถามว่ามันเหนื่อยไหม มันเหนื่อย แต่ยังไหวอยู่ วอร์มร่างกายมาพอสมควร” เก็ท กล่าว

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง วันนี้ (3 พ.ค.) หลังจากพวกเขาขบวนเดินเพื่อเพื่อน เดินเท้าถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเวลา 19.24 น. ต่อประเด็นทั้งแรงบันดาลใจการทำกิจกรรม และข้อเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เก็ท เล่าให้ฟังว่าเรื่องการเดินรณรงค์เป็นสิ่งที่อยู่ในใจเขามาตลอดว่าอยากทำมาก เพราะอยากสื่อสารกับมวลชนเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เคยคิดว่าจะอยากเดินให้ครบ 77 จังหวัด (เสียงหัวเราะ) แต่ว่าครั้งนี้ร่างกายยังไม่พร้อม เลยเอาแบบระยะสั้นกว่า 77 จังหวัด จากศาลเยาวชนฯ ไปสถานพินิจ บ้านปรานี และก็ที่ตั้งใจเดินเพราะว่ากระบวนการยุติธรรมของเรามันเน่าเฟะจริงๆ มันไม่ไหวจริงๆ เราต้องการที่จะปฏิรูป

เก็ท ระบุต่อว่า ที่เลือกบ้านปรานีเป็นจุดหมายสุดท้ายของการเดินนั้น เพราะว่าหยก ที่เป็นเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ยังอยู่ในสถานพินิจ หรือคุกเด็ก 

เก็ท ระบุด้วยว่า วันนี้บ้านปรานีกระทำเรื่องแย่ๆ กับหยกเยอะ วันนี้ซื้อข้าวไปให้หยก แต่มาทราบภายหลังว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยขโมยข้าวทาน มันก็แย่ รวมถึงว่าบ้านปรานีประกาศไม่ให้เขาเข้าเยี่ยม โดยอ้างว่าไม่ใช่ผู้ปกครองตามสายเลือด และทนายความก็เยี่ยมไม่ได้

เก็ท ยืนยันว่า วันนี้เขาจะเดินทั้งคืนจริงๆ ใครไม่ไหวให้ไปพักก่อน แต่เขายืนยันว่าจะเดินทั้งคืนจริงๆ 

ทำไมต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เก็ท ระบุว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม และการดำเนินคดีทางการเมือง ม.112 กับเยาวชนนั้นสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และเป็นการฟ้องร้องแบบสุ่ม ไม่มีหลักเกณฑ์ เช่น วันหนึ่งมีลูกหรือหลานทักมาถามว่า ทำไมต้องยืนในโรงภาพยนตร์ตอนเพลงสรรเสริญดัง เขาก็อาจจะโดนแจ้งความได้ คุณอาจจะบอกว่าไม่มีใครเขาจับเด็กหรอก แต่กรณีของหยก แสดงให้เห็นว่า เยาวชนอายุ 14 ปี ยังโดนดำเนินคดี หรือคุกคามขนาดนี้ได้ วันหน้ามันอาจจะเกิดกับคนใกล้ตัวได้เช่นกัน

สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ ฝากข้อเรียกร้องถึงกระบวนการยุติธรรม คือ ศาลและกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นกลาง และเป็นอิสระ อยากพูดออกมาเลยว่า ไม่เป็นนอมินีของกษัตริย์ มันไม่ได้แย่ และเป็นจรรยาบรรณขั้นพื้นฐาน 

สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ ระบุต่อว่า เขาอยากเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และในการพูด เพราะการอยู่ร่วมกันหรือการแก้ปัญหาสังคม มันต้องพูดได้ แต่ตอนนี้พูดอะไรไม่ได้เลย ไม่ใช่แค่ยกเลิก 112 แต่ต้องเริ่มเคลียร์พื้นที่ในการพูดคือยุติการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมดกับทุกคน และวางมาตรฐานใหม่ เพื่อนำไปสู่การซ่อมรากไม้ที่มันเสีย ปูดินใหม่ 

เก็ท ระบุต่อว่า เขาหวังว่าการแก้ไขกฎหมายจะต้องเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมือง เพราะประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ไปลงนามมาด้วย

ถึงเส้นชัยบ้านปรานี

เวลา 06.00 น. ของวันที่ 4 พ.ค. 2566 ขบวนเดินเพื่อเพื่อน จัดโดยนักกิจกรรม เดินทางถึงบ้านปรานี แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหยก เนื่องจากทางทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ไว้วางใจ ไม่ได้รับอนุญาตให้เขาเยี่ยม ประชาชนจึงไม่พอใจ และเกิดการกดดัน ทำให้สุดท้ายทางบ้านปรานี จึงอนุญาตให้เก็ท เข้าเยี่ยมเพียงคนเดียว ขณะที่นักกิจกรรมได้นำอาหารที่เสิร์ฟในบ้านปรานี ลองให้ประชาชนได้ลองชิม 

ขบวนเดินเพื่อเพื่อน เดินทางถึงบ้านปรานีเวลา 6.00 น. ถ่ายโดย แมวส้ม

แถลงการณ์จากเพจโมกหลวงริมน้ำ ระบุว่า "พอกันทีกับกระบวนการ (อ)ยุติธรรมไทย เสรีภาพ ปากท้อง และความเป็นอยู่เป็นสิ่งที่ต้องมีและผลักดันไปพร้อมกัน การจะทำอย่างนั้นได้ กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากใคร"

"กระบวนการยุติธรรมไทย ต้องถูกปฏิรูป" 

บรรยากาศการทำกิจกรรมที่บ้านปรานี และเก็ท ทานอาหารที่เสิร์ฟที่บ้านปรานี (ถ่ายโดย แมวส้ม)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net