Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่จัด “เวทีผลักดันนโยบายและกฎหมายที่คํานึงถึงเสียและสิทธิของผู้หญิง เด็กชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ” เผย แนวคิดชายเป็นใหญ่ควบคุมความคิดความเชื่อของผู้หญิงในชุมชน มีการบังคับให้แต่งงานเพื่อเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ พรรคการเมืองเสนอจัดตั้งกองทุนพลังหญิง พัฒนาศักยภาพผู้หญิง สนับสนุนให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในมิติทางการเมืองมากขึ้น

 

4 พ.ค. 2566 สำนักข่าว Lanner รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 13.00-16.30 น. โครงการจัดตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน จัดเวที “เวทีรณรงค์ผลักดันนโยบายและกฎหมายที่คํานึงถึงเสียและสิทธิของผู้หญิง เด็กชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ” สนับสนุนโดย Foundation for a Just Society ณ โรงแรม Kantary Hills Hotel จ.เชียงใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารสาธารณะในการรณรงค์ผลักดันนโยบายและกฎหมายกับพรรคการเมือง ชุมชน และสังคมไทย ที่คํานึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิง เด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในมิติสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ครอบคลุมสิทธิชุมชน สิทธิที่ดินและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการจํากัดและการละเมิดโดยกฎหมายและนโยบายของภาครัฐ การดําเนินโครงการพัฒนา ขนาดใหญ่ รวมถึงการดําเนินงานของภาคธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวแทนเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองจาก 5 ชุมชนร่วมนําเสนองานวิจัย และข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ ภัครทรินทร์ จรุงสาครเยาวชน นักวิจัยชุมชนแม่ทิยาเพอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, มะเมียะเส่ง สิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ดาวรุ่ง เวียงวิชชา เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่อมกิ จังหวัดตาก, ดํารงณ์ ราตรีคีรีรักษ์ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนแม่ปางทอง จังหวัดตาก และ อนุทัย ซารังแฮ เยาวชนนักวิจัย ชุมชนหนองคริซุใน จังหวัดเชียงใหม่

รวมไปถึงเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง นักปกป้องสิทธิฯ ที่ทํางานเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ที่มาร่วมนําเสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ มะเมียะ เส่งสิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ, ศิริวรรณ พรอินทร์ Asian Girl Aaward 2020  สาขา Human Right, ยศธูป ทองดี เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองนักป้องสิทธิมนุษยชนและครูโรงเรียนมัธยม

โดยมีพรรคการเมืองที่ตอบรับเข้าร่วมเสวนาได้แก่ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นาดา ไ ชยจิตต์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสมอภาค, สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคสามัญชน, วิภาพรรณ วงษ์ สว่าง ผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย เชียงใหม่ เขต 3

ดําเนินรายการโดยมัจฉา พรอินทร์ ผู้อํานวยการและผู้ก่อตั้งโครงการจัดตั้ง มูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และให้ความเห็นเชิงวิชาการ โดยมลิวัลย์ เสนาวงษ์ อาจารย์ภาควิชาสตรีศึกษา คณสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เสียงจากเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง นักปกป้องสิทธิ ต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น

มะเมียะ เส่งสิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการถูกเลือกปฏิบัติที่ชุมชนแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นชุมชนที่มีกรอบแนวคิดชายเป็นใหญ่ ควบคุมความคิดความเชื่อของผู้หญิงในชุมชน รวมไปถึงยังมีการใช้ความรุนแรงแม้ว่าในหลายครอบครัวจะมีผู้หญิงเป็นผู้ดูแลก็ตาม นอกจากนี้ยังมีวิธีปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศขัดหลักสิทธิมนุษยชน โดยจะมีการบังคับให้แต่งงานเพื่อเปลี่ยนรสนิยมทางเพศด้วย โดยปัญหาเหล่านี้มีมาอย่างยาวนาน และยิ่งเด่นชัดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชากรมากกว่าครึ่งถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐจากความเป็นบุคคลไร้สัญชาติ

ดาวรุ่ง เวียงวิชชา กล่าวถึงผลกระทบที่ชุมชนแม่อมกิ จังหวัดตากได้รับจากการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีคนในชุมชนมากมายถูกดำเนินคดีภายในพื้นที่ทำกิน สร้างความหวาดกลัวในการเข้าถึงทรัพยากรในพื่นที่และประกอบอาชีพเกษตรกร นอกจากนี้ยังทำให้พื้นที่ทำกินเหลือน้อยลง ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ส่งผลต่อทั้งสภาพเศษรฐกิจและทรัพยากรของคนในพื้นที่ โดยโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐนำเข้ามาได้ส่งผลเสียงต่างๆมากมายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพหรือวิถีชีวิตของคนในชุมชน

อนุทัย ซารังแฮ พูดถึงปัญหาในชุมชนหนองคริซุใน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมพืชหมุนเวียนเป็นส่วนใหญ่ แต่จากการประกาศเขตอุทยานเมื่อปี 2537 ทำให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น ตนมองว่ามีความเกี่ยวโยงกับนายทุนเพราะเป็นเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถควบคุมราคาผลผลิตของตัวเองได้ ผนวกกับการปลูกสตรอว์เบอร์รี่เป็นการปลูกพืชที่ใช้ต้นทุนสูง ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องมีหนี้สินจากการที่ต้นทุนสูงกว่าผลประกอบการ ซึ่งส่งผลกระทบหนักโดยเฉพาะกับผู้หญิงในชุมชนที่มีภาระต้องดูแลครอบครัว นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากเหมืองในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2501 ซึ่งยังดำเนินอยู่ถึงปัจจุบัน โดยรัฐไม่เคยมาตรวจสอบผลกระทบใดๆ

พรรคการเมืองร่วมดันนโยบาย-กฎหมายที่เคารพสิทธิผู้หญิงและชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ

นาดา ไชยจิตต์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสมอภาค ดันนโยบายกฏหมายรับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของพรรคเสมอภาค โดยยืนยันรูปแบบการทำงานว่ามีประชาชนเป็นศูนย์กลางผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่อาศัยพึ่งพาป่าควบคู่กับการรื้อกฏหมายป่าไม้ โดยเฉพาะการแก้ไขพ.ร.บ.ป่าชุมชนให้กลายเป็นกฏหมายกลางแทนพ.ร.บ.อุทยานต่างๆ นอกจากนี้ยังผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมการที่ชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของตัวเอง

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอยกเครื่องกฏหมายป่าไม้ คืนที่ดินและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรให้ประชาชน รักษาผืนป่าที่ยังมีอยู่ และเพิ่มพื้นที่ป่าโดยมีให้ประชาชนมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังเสนอให้ปลดล็อคการเปลี่ยนเจ้าของที่ดินผ่านการคืนสิทธิ์ให้ผู้อยู่อาศัย โดยเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นเกษตรกร และคนที่อยากเป็นเกษตรกรทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงพื้นที่เพาะปลูก ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ เลาฟั้งดันพ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หรือการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งจะส่งผลในการบังคับใช้ระเบียบในพื้นที่ รวมไปถึงการอัดฉีดงบประมาณในการพัฒนาด้านต่างๆได้ และยังเป็นการกระจายอำนาจสู่ชุมชน นอกจากนี้ยังเสนอการพัฒนาการศึกษาผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในพื้นที่และเทคโนโลยีการเรียนการสอน และนโยบายการปลดล็อคสัญญาติ

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย เชียงใหม่ เขต 3 เสนอจัดตั้งกองทุนพลังหญิง เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้หญิง สนับสนุนให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในมิติทางการเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เสนอให้มีการเก็บภาษีคาร์บอนกับอุตสาหกรรมต่างๆที่ผลิตมลพิษ รวมไปถึงการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับมือปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน 

สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคสามัญชน มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนชาติพันธุ์ เป็นผลมาจากคำสั่งของคณะปฏิวัติเมื่อปี 2557 โดยเฉพาะคำสั่งที่ 64 และ 66/2557 และนโยบายทวงคืนผืนป่า ตนและพรรคจึงเสนอการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว รวมไปถึงการนิรโทษกรรมคดีความทั้งหมดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นจากการฟ้องของกรมอุทยานป่าไม้ภายใน 4 ปี โดยตนและพรรคเสนอผลักดันประเด็นนี้เป็นวาระเร่งด่วนสำหรับทุกพรรคการเมืองที่อยู่ข้างประชาชน นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมสิทธิและโอกาสแก่คนชาติพันธุ์ คนพลัดถิ่น คนไร้รัฐ ในการใช้เสียงเลือกตั้งและการรับรองสถานะบุคคล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net