สุรพศ ทวีศักดิ์: ‘เลือกตั้ง’ ในมุมมองเชิงปรัชญา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเลือกตั้งมุ่งผลลัพธ์หรือผลแพ้-ชนะอยู่แล้ว เพราะเราต้องการให้พรรคที่เราเลือกได้เป็นรัฐบาลและนำนโยบายที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติเพื่อผลลัพธ์บั้นปลาย คือประโยชน์สุขของประชาชน 

แต่ถ้าผมตัดสินใจเลือก “พรรคสามัญชน” ทั้งๆ ที่รู้ว่าพรรคนี้ไม่มีทางเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็หมายความว่าผมตัดสินใจเลือกโดยไม่เอาผลลัพธ์มาเป็นตัวตัดสินเพียงอย่างเดียว แต่เอา “ความถูกต้องในตัวมันเอง” มาเป็นสิ่งตัดสินเป็นด้านหลัก นั่นคือผมเห็นว่านโยบาย “ยกเลิก 112” เป็นนโยบายที่ถูกต้องตามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน ผมจึงเลือกในความหมายว่า “เลือกทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง” มากกว่ายึดผลลัพธ์เฉพาะหน้ามาเป็นเงื่อนไขของการเลือก 

ในทางปรัชญา “ความถูกต้อง” มองได้สองแบบหลักๆ คือ ความถูกต้องที่ตัดสินจากผลลัพธ์ ถ้าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เราต้องการ การกระทำนั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แนวคิดนี้เรียกว่า “ผลลัพธ์นิยม” (consequentialism) แต่ผลลัพธ์นิยมอาจแบ่งได้เป็นสองแบบหลักๆ คือ ผลลัพธ์นิยมแบบไม่เลือกวิธีการว่าจะถูกหรือผิด จะทำแบบไหนก็ได้ขอให้ได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการ กับผลลัพธ์นิยมที่ถือว่าประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นเป้าหมายสูงสุดของการกระทำ แต่การกระทำต้องเป็นไปตามกฎที่ถูกต้องด้วย 

แนวคิดผลลัพธ์นิยมที่ยึดประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมเป็นเป้าหมาย แต่ต้องสร้างประโยชน์สุขเช่นนั้นขึ้นมาบนหลักการหรือกฎที่ถูกต้องด้วย คือแนวคิดปรัชญาประโยชน์นิยม (utilitarianism) แบบจอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่ถือว่าประโยชน์สุขของส่วนรวมต้องสร้างขึ้นบนหลักการหรือกฎที่ปกป้องเสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง

พูดอย่างรูปธรรม คือ “พรรคฝ่ายเผด็จการ” หมายถึง พรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร และพรรคแนวร่วม คือ “พวกผลลัพธ์นิยมแบบไม่เลือกวิธีการว่าจะถูกหรือผิด” หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เช่น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ พวกเขาจะทำรัฐประหารก็ได้ เขียนรัฐธรรมนูญทำลายหลักการประชาธิปไตยเพื่อสืบทอดอำนาจก็ได้ ใช้ 112 และกฎหมายอื่นๆ กดปราบฝ่ายคิดต่างก็ได้ หรือร่วมตั้งรัฐบาลกับกลุ่มนายทหารที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหารก็ได้ เป็นต้น 

ส่วน “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” อย่าง “พรรคเพื่อไทย” ปัจจุบันมีความโน้มเอียงมาทางประโยชน์นิยมแบบมิลล์ในบางมิติ เพราะเป็นพรรคที่หาเสียงด้วยนโยบายปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่ และยืนยันการแข่งขันเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยหลักการที่ถูกต้อง คือ “การเลือกตั้ง” ตามแนวทางประชาธิปไตย หรือสู้ตามวิถีทางประชาธิปไตย เป็นพรรคที่มีมวลชนส่วนใหญ่ที่เชื่อในการเลือกตั้งและเห็นว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญเป็นฐานเสียงมายาวนาน 

แต่ในสถานการณ์ที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อไทยถูกตั้งคำถามในเรื่อง “จุดยืน 112” ว่าจะเอาอย่างไรแน่ ดังนั้น ถ้าใช้แนวคิดประโยชน์นิยมแบบมิลล์มาจับ เพื่อไทยก็ย่อมมีปัญหาในเรื่องการยืนยัน “เสรีภาพทางการเมือง” ว่ายังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนพอ 

ส่วน “ความถูกต้อง” ในอีกความหมายหนึ่งคือ ไม่ใช่ความถูกต้องที่เอาเงื่อนไขของผลลัพธ์ที่เราต้องการหรือไม่ต้องการมาตัดสิน เพราะความถูกต้อง หมายถึง “ความถูกต้องของหลักการในตัวมันเอง” ตามแนวคิดปรัชญาแบบอิมมานูเอล คานท์ หรือแนวคิดปรัชญาแบบ Kantian 

ตัวอย่างของการกระทำที่สอดคล้องกับแนวคิดแบบ Kantian เช่น กรณี “หยก” เยาวชนอายุ 15 ที่โดน 112 แล้วปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม โดยถือว่าการปฏิเสธเช่นนั้นคือการต่อสู้แบบหนึ่ง คนที่ต่อสู้เช่นนี้รู้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์คือถูกอำนาจรัฐลงโทษ แต่เขายังต่อสู้ไม่หยุด เพราะเห็นว่า “เสรีภาพ” ทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก หรือเสรีภาพทางการเมืองเป็น “สิ่งที่ถูกต้องในตัวมันเอง” การต่อสู้เพื่อเสรีภาพจึงเป็นความถูกต้องในตัวมันเอง เพราะเสรีภาพคือความเป็นมนุษย์ของเรา ไม่มีเสรีภาพ ก็ไม่มีความเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง 

การต่อสู้แบบหยก และคนอื่นๆ อีกมากในอดีตและปัจจุบัน ไม่ใช่การต่อสู้ที่เอาผลลัพธ์มาเป็นเงื่อนไขสำคัญสูงสุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่หวังผลอะไรเลย เพราะเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยได้จริง แต่คนที่สู้มาในอดีตและปัจจุบันก็ไม่รู้ล่วงหน้าได้ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นจริงได้ในช่วงชีวิตของเขาหรือในอนาคตยาวไกลแค่ไหน ที่สู้เพราะคิดว่ามันคือ “ความถูกต้องที่ต้องทำ” แม้ว่าจะแลกด้วยอิสรภาพหรือมากกว่านั้นก็ตาม

แนวทางของ “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคสามัญชน” ก็คือแนวทางที่ถือว่าเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็น “สิ่งมีค่าในตัวมันเอง” หรือเป็น “ความถูกต้องในตัวมันเอง” ถ้าพูดแบบจอห์น รอลส์ ซึ่งเป็น Kantian อีกคนคือ ต้องสร้างและรักษา “คุณค่าแกนกลาง” (core values) ของระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคง คือ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม และหลักประกันสวัสดิการพื้นฐาน และการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เพราะพรรคก้าวไกลออกแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ยืนยัน “เสรีนิยมทางการเมือง” (political liberalism) และความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจที่โน้มเอียงไปทางรัฐสวัสดิการ

จะเห็นว่า แนวคิดประโยชน์นิยมแบบมิลล์กับแนวคิดแบบคานท์ แม้จะต่างกันโดยความคิดพื้นฐาน แต่ก็ “เหลื่อม” (overlap) กันในแง่ที่มิลล์และคานท์ต่างก็ยืนยันว่า “เสรีภาพปัจเจกบุคคและเสรีภาพทางการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี” ประโยชน์สุขส่วนรวมแบบมิลล์ และความยุติธรรมทางสังคมแบบคานท์และรอลส์จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อให้หลักประกันเสรีภาพดังกล่าว ดังนั้น จุดร่วมคือเสรีภาพ เรื่องประโยชน์ส่วนรวมและความยุติธรรมทางสังคมเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ต่อรองกันบนการยืนยันว่าเสรีภาพจำเป็นต้องมี

ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้มองว่าเพื่อไทยสมาทานแนวคิดประโยชน์นิยมแบบมิลล์ และก้าวไกลสมาทานแบบคิดแบบคานท์และรอลส์ ผมเพียงแต่ต้องการทำความเข้าใจโดยเปรียบเทียบว่าเพื่อไทยและก้าวไกล มีทั้งจุดร่วมและจุดต่างคล้ายกับแนวคิดมิลล์กับคานท์และรอลส์

จุดร่วมคือ เพื่อไทยและก้าวไกลเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ในบริบทการต่อสู้ทางการเมืองยุคนี้เหมือนกัน ทั้งสองยืนยันการต่อสู้ตามกระบวนการประชาธิปไตยเช่นกัน และทั้งสองพรรคเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นของคนส่วนใหญ่เช่นกัน แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน 

แต่ในจุดร่วมก็มี “จุดต่าง” คือ ก้าวไกลมีจุดยืนในประเด็น “เสรีนิยมทางการเมือง” หรือยืนยันเสรีภาพทางการเมืองชัดเจนกว่าด้วยการเสนอแก้ 112 และนโยบายเศรษฐกิจเพื่อไทยเน้นการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า และเชื่อมโยงตนเองเข้ากับกลุ่มผู้สนับสนุนระดับรากหญ้ามานานมากกว่า ขณะที่ก้าวไกลเน้นแก้ปัญหาโครงสร้าง ทลายทุนผูกขาด และโน้มเอียงไปในทางรัฐสวัสดิการมากกว่า จุดต่างดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ต่อรองกันได้ 

แต่การต่อรองควรคำนึงถึงปัญหาความขัดแย้งข้างหน้า คือ การแก้ 112 การทะลายทุนผูกขาดตามแนวทางของก้าวไกล มีปัญหาขัดแย้งรออยู่ข้างหน้าแน่นอน ขณะที่การใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และการ “พาทักษิณกลับบ้าน” ก็มีความขัดแย้งรออยู่ในอนาคตเช่นกัน ดังนั้น การต่อรองจึงควรเน้นปลดล็อก 112 เพื่อสร้างพื้นที่เสรีภาพทางการเมือง ความคิดเห็น การพูด การแสดงออกรองรับความขัดแย้งต่างๆ ที่ตามมา มิเช่นนั้นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็จะถูกฝ่ายเผด็จการทำลายซ้ำๆ แบบที่ผ่านมาอีกเช่นเดิม

กล่าวโดยสรุป เมื่อมองโดยภาพรวมจากโพลสำนักต่างๆ จะเห็นว่ากระแสความนิยมพรรคการเมือง โดยเฉพาะความนิยมในพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่อยากเห็น “ผลลัพธ์” ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และต้องการ “ความถูกต้อง” ของโครงสร้างทางการเมืองที่มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสของการสร้างหลักการและกติกาประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นธรรมทางสังคมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท