'พิธา' นำ 'รัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อประชาชน' แถลง MOU ข้อตกลงร่วมดันวาระ 23 ข้อ 5 แนวทางปฏิบัติ ตั้ง สสร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว สมรสเท่าเทียมและนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ยังอยู่ ส่วนสุราก้าวหน้า 'ประชาชาติ' สงวนสิทธิ ไม่ปรากฏประเด็น ม.112
22 พ.ค.2566 เวลาประมาณ 16.40 น. ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรมและพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวและลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล
"เป็นการรวบรวมวาระร่วมที่เราเห็นตรงกันและพร้อมที่จะผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา ขณะเดียวกันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการลงนาม MOU
หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนอ่านบันทึกความเข้าใจร่วม โดยระบุว่าบันทึกการจัดตั้งรัฐบาลนี้เป็นการทำขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและทำงานร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรมและพรรคพลังสังคมใหม่ ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้นต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ประกอบไปด้วยวาระร่วมดังต่อไปนี้
1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
2. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิ์สมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ตนเองนับถือ
3. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการตำรวจกองทัพและกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลัก ความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม
5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
6. ผลักดันการกระจายอำนาจ ทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
7. แก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น โดยการสร้างระบบวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยยึดหลัก เพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และ สร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากินและการดำรงชีวิตของประชาชนเช่นตัดลดหรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุญาตอนุมัติที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือหรือสภาพคล่องทางด้านการเงิน และ การสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และ สินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิโดยการไม่เห็นด้วยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา
11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้ และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดี ที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า คำนวณราคา และ การผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่โดยเน้นใช้วิธีจัดการงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting)
14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังในระยะยาว
15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการเข้าถึงตลาดเทคโนโลยีและแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยาฟื้นฟู และ พัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
20. ยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟูสุขภา
21. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพลดความเหลื่อมล้ำ และ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษรวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็น (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
23. ดำเนินการนโยบายต่างประเทศ โดยฟื้นฟูบทบาทผู้นำไทยในอาเซียน และ รักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ทุกพรรคจะต้องคุ้มครองสิทธิพลเมือง และ สิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2. ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใด มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4. ทุกพรรคมีสิทธิ์ในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5. ทุกพรรคมีสิทธิ์ในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง
นำกัญชากลับไปอยู่บัญชียาเสพติด หยุดสภาพสุญญากาศ
ผู้สื่อข่าวถามถึงผลของบันทึกฯ ฉบับนี้ จะกระทบต่อธุรกิจร้านขายกัญชาที่เปิดเป็นการทั่วไปในปัจจุบันหรือไม่นั้น พิธากล่าวว่า ปัญหาของเรื่องกัญชาที่ผ่านมา คือการไม่มีสภาพบังคับ เพราะกัญชาถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติด แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้เกิดสุญญากาศ เมื่อบันทึกฯ ฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่านำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข นั่นหมายความว่าจะมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ใครที่ทำถูกต้องตามกฎหมายมาตลอด จึงไม่ต้องกังวล
ยืนยันก้าวไกลยื่นแก้ 112 ในสภาฯ ไม่กระทบเจรจา ส.ว. โหวตนายกฯ
เมื่อถามว่า การที่พรรคก้าวไกลยืนยันจะใช้สภาฯ ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีผลต่อเสียงของ ส.ว. ในการยกมือโหวตนายกฯ หรือไม่นั้น พิธากล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะพรรคก้าวไกลมีทีมเจรจา ที่ผ่านมามีโอกาสได้ตอบเพื่อคลายข้อกังวลใจของ ส.ว. หลายเรื่องถึงเจตจำนงและเนื้อหาของกฎหมายที่ตั้งใจให้ ม.112 ไม่กลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีกลั่นแกล้งกันทางการเมือง เชื่อว่าเมื่อได้รับคำอธิบายระหว่างเนื้อหาในร่างกฎหมายที่เรายื่นไปแล้ว เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ ที่ระบุชัดเจนว่า ‘ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์’ น่าจะทำให้ ส.ว. และพี่น้องประชาชนจำนวนมาก สบายใจมากขึ้น
“ยืนยันอีกครั้งว่า ม.112 เป็นหนึ่งใน 45 ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เตรียมยื่นเข้าสู่สภาฯ เพื่อให้เกิดบทสนทนาอย่างมีวุฒิภาวะในสภาฯ ที่ผ่านมาบางครั้งอาจมีการฟังข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน จึงเป็นไปในแนวโน้มที่ดีมาก” พิธากล่าว
ทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หนักแน่น-ให้เกียรติกันและกัน
ส่วนกรณีมีการวิเคราะห์ทางการเมืองว่า ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ จะมารวมกันกับพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยมีเสียงเพิ่มเป็น 182 เสียง และจะเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ พิธากล่าวว่า “ขอพูดในฐานะผู้นำการจัดตั้งรัฐบาล เราทำงานด้วยกันมา 4 ปี และจากที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลมา 1 สัปดาห์ ยืนยันว่าทุกพรรคที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล มีความหนักแน่น ทำงานด้วยความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด”
ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยินเรื่องนี้จากการวิเคราะห์ข่าวเช่นกัน ยืนยันพรรคเพื่อไทยไม่เคยรับรู้รับทราบ และขอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคพลังประชารัฐหลังการยุบพรรคนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนที่บอกว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตนยืนยันอีกครั้งว่าเรายังยึดมั่นตามเจตนารมณ์ที่ประกาศสนับสนุนพิธาให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 และร่วมมือกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม