Skip to main content
sharethis

อดีตประธานสภาฯ ชี้ตำแหน่งนี้ไม่เกี่ยวอายุ ระบุคนอายุน้อยทำตัวเป็นผู้ใหญ่ก็มี อดีตรองประธานสภาฯ ระบุ 'ก้าวไกล' ควรได้ เหตุได้เสียงอันดับ 1 คุณสมบัติอยู่ปฏิภาณไหวพริบ มีเลขาฯสภาคอยแนะนำ

25 พ.ค.2566 สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในรายการ The Politics ของมติชนทีวีถึงประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องตำแหน่งประธานสภาระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยนั้นว่า ตำแหน่งประธานสภา ควรจะเป็นของพรรคก้าวไกล

"วันนี้ถ้าเป็นกรณีพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเป็นลำดับ 1 และคะแนนอย่างนี้ ผมถามว่าเพื่อไทยจะให้ตำแหน่งประธานสภากับพรรคก้าวไกลไหม" สมศักดิ์ กล่าว และระบุว่าพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 โดยมารยาทและกติกาโดยเฉพาะสากลก็ต้องได้ประประธานสภาอยู่แล้วเนื่องจากเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยกเว้นครั้งที่ผ่านมาที่คะแนนสูสีจึงยกตำแหน่งประธานสภาให้ ชวน หลีกภัย

สำหรับคุณสมบัติเฉพาะตัวของประธานสภานั้น อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า อยู่ที่คติ ปฏิภาณไหวพริบของคนที่มาทำหน้าที่ ไม่ได้เกี่ยวกับอายุมากหรือน้อย เพราะเมื่อนั่งอยู่บนบัลลังก์จะมีเลขาธิการสภาหรือเลขาธิการของวุฒิสภากรณีที่เป็นการประชุมร่วมจะนั่งเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ๆ เมื่อมีประเด็นถกเถียงเจ้าหน้าที่ที่เป็นเลขาฯก็จะช็อตโน๊ตขึ้นไปแจ้งถึงระเบียบข้อบังคับและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมาให้ เพื่อประกอบการตัดสินใจและวินิจฉัย ซึ่งไม่ยากในการทำงาน อีกทั้งยังมีอำนาจและเครื่องไม้เครืองมือที่จะทำให้การประชุมดำเนินต่อไปได้

กรณีตกลงกันไม่ได้แล้วปล่อยฟรีโหวตในสภานั้น สมศักดิ์ ประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะแพ้เพื่อไทย เนื่องจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองใหม่เรื่องเหลี่ยมคูทางการเมืองอาจไม่ทันพรรคเพื่อไทย และความเป็นมิตรของพรรคเพื่อไทยในระหว่าง 8 พรรคที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้นพรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบ เช่น พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อไทยรวมพลัง ก็ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย

Sanook.com รายงานว่า อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยเมื่อวัน 23 พ.ค.ที่ผ่านมาว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในอดีต ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนของรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ขับเคลื่อนและหลายอย่างต้องผ่านสภาฯ เพื่อควบคุมการผลักดันกฎหมายของรัฐบาล

อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อไปว่า โดยจรรยาบรรณและรัฐธรรมนูญกำหนดว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติต้องเป็นคนของรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าผู้ที่ทำหน้าที่บนบัลลังก์ควรจะเหมือนคอนดักเตอร์ การควบคุมอยู่ที่ไม้ในมือ หากผู้ฟังฟังจนจบได้ดีก็ประทับใจ ประธานสภาฯ ก็เช่นกัน หากควบคุมสมาชิกให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมกันนี้ ควรมีความเป็นอิสระขาดจากพรรคการเมือง และโดยมารยาทจะไม่ไปเข้าร่วมประชุมกับพรรค 

เมื่อถามว่าการควบคุมการประชุมสภาฯ ต้องใช้ประสบการณ์หรือไม่นั้น อุทัย มองว่า สมัยที่ตนทำหน้าที่ ก็เป็น ส.ส. ได้ 2 ปี ก็มาทำหน้าที่เป็น นับว่าตนก็เป็นผู้แทนใหม่เช่นกัน ส่วนจะต้องแม่นข้อบังคับการประชุมด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะคุณภาพของ ส.ส. สมัยนี้ ไม่ได้ขี่ควายเข้าสภาฯ แล้ว เป็นผู้มีการศึกษา แค่ข้อบังคับการประชุมไม่เกิน 100 หน้า เชื่อว่า สมาชิกก็สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ ส่วนพรรคจะเลือกใครมาทำหน้าที่ก็ย่อมเลือกคนที่เคยอยู่ในสภาฯ อยู่แล้ว ผ่านตาในเรื่องของการประชุม และปัญหาระหว่างการประชุม สำคัญอยู่ที่ใจต้องวางตนเป็นผู้ใหญ่

อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ส.ส. สมัยใหม่ มีความเก่ง ขยันค้นหาข้อมูล ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ถ้าค้นหาข้อมูลได้เยอะกว่าก็มีประสบการณ์เหมือนกัน เวลานี้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปในลักษณะรัฐบาลผสม ผู้ที่จะมาชิงชัยตำแหน่งประธานสภาฯ ก็ควรจะเป็นคนที่ตกลงกันในพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ย้ำว่า ส่วนตัวไม่อยากให้กังวลในเรื่องของอายุผู้มาทำหน้าที่ เพราะคนอายุน้อยทำตัวเป็นผู้ใหญ่ก็มี พร้อมกับอยากฝากถึงประธานสภาฯ รุ่นต่อไป อย่าคิดว่าบ้านเมืองต้องเป็นของเรา แต่บ้านเมืองเป็นของประชาชน ยึดประชาชนเป็นหลัก ฟังเสียงข้างมากที่มาจากประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net